วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

ทำไมต้องศึกษาเกี่ยวกับความตาย ( why we are study about death ? )
ความตาย ไม่ใช่เรื่องที่ไกลจากตัวมนุษย์ เพราะความตายเป็นเสมือนวงจรชีวิตของมนุษย์ ที่เปลี่ยนผ่านมาเป็นลำดับ ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บตาย ดังปรากฏในงานข้อเขียนชิ้นสำคัญของป๋วย อึ้งภากรณ์ ในเรื่องจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ว่า
“เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก.....เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ
เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใจในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้ เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่างฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตอง ในงานศพให้วุ่นวายไป นี่แหละคือความหมายของชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน…”
ดังนั้นความตายจึงสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้าง หรือสถาบันทางสังคมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย ร่างกายของมนุษย์ได้ถูกจัดวางหรือจัดระเบียบ ผ่านวงจรชีวิตของมนุษย์ ทั้งทางด้านการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย สถาบันต่างๆทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ โรงเรียน วัด ได้เข้ามาจัดการต่อเรื่องดังกล่าว ภายใต้ระบบกฎหมาย จารีตประเพณีทางสังคม ที่สร้างอำนาจและบทบาทหน้าที่ให้กับสถาบันดังกล่าวข้างต้น เช่น การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การทำใบส่งตัวคนไข้ การใช้บัตรทองสามสิบบาท การเข้าโรงเรียน และอื่นๆ เป็นต้น

ความตายกับธรรมชาติ ( Death is Nature )


ความตาย คือธรรมชาติ เพราะความตายเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเราไม่สามารถสร้างเงื่อนไขใดๆ เกี่ยวกับ ภาวะใกล้ตาย ( Dying ) หรือภาวะการณ์ตาย ( Death ) ของตัวเราหรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ หรือได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากประสบการณ์เกี่ยวกับความตายนี้ .ในการจัดการกับตัวเองและคนรอบข้าง
ในชีวิตปัจจุบัน เราสามารถเผชิญหน้ากับความตายได้บ่อยมากที่สุด จากการจับจ้อง มองดูรูปภาพ หรืออ่านบทความ ข่าว เกี่ยวกับความตาย ในหนังสือพิมพ์ นิตยสารหรือรายการโทรทัศน์ ที่เน้นย้ำหรือให้ความสำคัญกับผลกระทบทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมหรือผู้อ่าน ทำให้ภาพความตายถูกเสนอและผลิตซ้ำ
บทบาทและหน้าที่ของความตาย เช่นเดียวกับ ส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลงและสร้างทัศนคติของเราต่อมัน ทัศนคติของเราเป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลหรือผลกระทบโดยประสบการณ์ในอดีต เกี่ยวกับความตาย ทัศนคติของครอบครัว ความเชื่อทางศาสนา การศึกษา และปัจจัยอื่นๆ
ความตายเช่นเดียวกับกับการทำลายอย่างสมบูรณ์ (Total Destruction ) และเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ (Inevitability) ปรากฏการณ์เกี่ยวกับความตายได้สร้างการรับรู้ จดจำ และตระหนักเกี่ยวกับความตายของตัวเองและคนรอบข้างความตายจึงเป็นเสมือนการทำลายล้าง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสีย รวมทั้งความโศกเศร้าเสียจี่เป็นความรู้สึกและประสบการณ์ด้านอารมณ์
ความตาย ที่สัมพันธ์กับตัวเราและสังคม ( Individual and Society )
มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามลำพัง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นความสัมพันธ์ของวงจรชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่การเกิดจนถึงการตาย มีความสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกทางสังคม เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งสัมพันธ์กับระบบของเครือญาติ ความเป็นพี่น้อง ภายใต้กลุ่มวงศ์วานว่านเครือ
นอกจากนี้ความตาย ยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นกับคนตาย ผ่านความเชื่อในเรื่องผี ทั้งผีบรรพบุรุษ ผีตระกูล ผีวีรบุรุษ หรือผีฟ้าเทวดา ต่างๆ ที่มนุษย์เคารพนับถือและปฏิบัติพิธีกรรมอย่างเคร่งครัด เรื่องของคนตาย จึงสัมพันธ์ทั้งในแง่ของบุคคล ครอบครัวและชุมชน อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้


คำถามเกี่ยวกับความเป็นอมตะของชีวิต (Immortality)
ซึ่งมีความเป็นไปได้ส่วนหนึ่งในทางปรัชญาเกี่ยวกับความตาย และการตั้งคำถามกลับเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย
1.จิตวิญญาณตายพร้อมกับร่างกาย (The Soul dies with the body) เชื่อว่าไม่มีบุคคลใด (Person) หรือองค์ประธานใด (Subject) ที่ดำรงอยู่หรือเหลือรอดหลังความตาย (Death)
2.การกลับมาเกิดใหม่หรือดำรงสภาวะใหม่ บางครั้งเรียกว่า Re-Birth หรือ Re – Incarnation ที่การแตกดับนำไปสู่สภาวะการเกิดใหม่หรือเปลี่ยนรูปใหม่
3.จิตวิญญาณ (Soul) เป็นอมตะหรือเป็นนิรันดร์โดยตัวของมันเอง (The immortality of the soul by itself)
4.The resurrection of the body on the last day คือการกลับมาเกิดอีกครั้งหนึ่งภายหลังวันสิ้นสุดโลกหรือวันที่พระเจ้าพิพากษามวลมนุษย์พร้อมกัน
5.The immediate resurrection of the body เป็นการกลับฟื้นคืนชีพอย่างทันทีทันใด เช่น กรณีของพระเยซูคริสต์ เป็นต้น
ความเชื่อในเรื่องของจิตใจ และร่างกาย ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และแยกออกจากกันในบางสภาวการณ์ เช่น สิ่งที่คนไทยเชื่อกันว่าในร่างกายมีขวัญ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอาการตกใจ ขวัญก็จะออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นการออกไปแบบชั่วคราวและสามารถเรียกกลับคืนมาได้ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า เรียกขวัญ ส่วนวิญญาณนั้นสัมพันธ์กับการมีชีวิต วิญญาณออกจากร่างกายก็คือ การหมดลมหายใจ หรือสิ้นลม
ประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตและความตายดังกล่าว ทำให้มนุษย์อ้างถึงหรือสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับผี และสิ่งเหนือธรรมชาติอื่นๆ รวมถึงพิธีกรรมความเชื่อ ศาสนาต่างๆ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของความกลัว และความตาย ที่มนุษย์จะต้องเผชิญ และในยุคแรกเริ่มดั้งเดิม มนุษย์ไม่สามารถหาเหตุผลหรือคำอธิบายเกี่ยวกับการกำเนิด หรือ สาเหตุของความตายของมนุษย์ได้ ความเชื่อทางด้านศาสนาตำนานเทพเจ้าและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมนุษย์จึงถูกสร้างขึ้น เช่น ความเชื่อของอียิปต์ เกี่ยวกับสุริยะเทพ ซึ่งเป็นผู้สร้างมนุษย์ หรือคนัม มนุษย์เพศผู้ มีเศียรเป็นแพะ ที่ปั้นมนุษย์ขึ้นมาจากดินเหนียว หรือเทพเจ้าอนูบิส เทพเจ้าของคนตาย ที่มีเศียรเป็นหมาใน และเป็นเทพผู้ทำมัมมี่ให้กับมนุษย์ รวมถึงเทพเจ้าโอซิรีส เทพเจ้าแห่งความตายและการฟื้นคืนชีพ โลกและใต้พิภพ หรือแม้แต่ความเชื่อของคนไทย เกี่ยวกับท้าวยมราช หรือท้าวผู้ดูแลยมโลกและพิพากษาความดี ความชั่วของมนุษย์ และยมทูตซึ่งเป็นผู้นำวิญญาณคนตายลงมายังนรก เป็นต้น
โลกทัศน์และความเชื่อต่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ดังกล่าว ได้นำมาสู่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ เรื่องความตาย และชีวิตหลังความตายของมนุษย์ เป็นเช่นไร โดยหลักๆ แล้วอาจจะแบ่งได้เป็นได้เป็น 4 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ
1. ความตาย(Death) และสภาวะใกล้ตาย (Dying) กับ ความเป็นอมตะหรือชีวิตที่นิรันดร
2. ชีวิตที่นิรันดร์หรือความเป็นอมตะ(Immortality) และความเชื่อในพระเจ้า (God)
3. ความคิด จิตใจ และร่างกาย และความเป็นอมตะ หรือนิรันดร
4. อัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล และความเป็นอมตะหรือนิรันดร (Immortality)

ปรัชญาเกี่ยวกับความตาย

1. ความตาย คือ การหยุดชะงักหรือขัดขวาง การมีชีวิต (Death an interruption to life) เหมือนกับการนอน (Sleep) การเจ็บป่วย (Disease) ที่ถาวร เปรียบเสมือนกับการสิ้นสุดโครงการที่ดำเนินงานมายาวนาน หรือเป็นโครงการระยะสั้น ดังนั้นความตายจึงเป็นเสมือนสิ่งที่แทรกแซง กับทุกๆคน ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเองหรือคนที่เรารัก
2. ความตาย(Death)หรือสภาวะใกล้ตาย(dying) ควรเป็นสิ่งที่ถูกจ้องมอง พิจารณาว่า เป็น การกระทำที่เราต้องคิดคำนวณ หรือคาดคะเนไว้ล่วงหน้า (The Culminating act of Life) เกี่ยวกับชีวิต ที่บุคคลแสดงออกมาทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเขาและเธอหมายถึง หรือให้ความหมายกับชีวิตอย่างไร และชีวิตของเขาและเธอเป็นอย่างไร
3. ความตายเป็นสิ่งที่ถูกพิจารณาเช่นเดียวกับ ส่วนหนึ่งของชีวิต (Part of Life) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องสัมผัสหรือทำความรู้จักกับคำคำนี้ (คือ คำว่า ความตายหรือตาย) และต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมัน ในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิต หรือวงจรชีวิต ที่จะมาถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ จะเร็วหรือว่าช้าไม่มีใครกำหนดหรือรู้ได้ชัดเจน ดังนั้นคนทุกคนต้องเตรียมพร้อมและยอมรับมัน ถ้าในภาษาของไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) บอกว่า มันคือ “Human being is being toward-Death” ดังนั้นความตายจึงเป็นส่วนหนึ่งของลักษณะทางโครงสร้างในการดำรงอยู่ของมนุษย์
4. ความตายคือสิ่งที่ควรพิจารณาเช่นเดียวกับการส่งผ่าน (Transition) จากชีวิตที่นับได้อย่างแท้จริง หรืออาจกล่าวให้ง่ายก็คือ ชีวิตที่เคลื่อนไหว ชีวิตที่ประกอบด้วยเนื้อหนังมังสา ชีวิตของมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่นิรันดร์ (Eternal Life) เป็นอมตะ ไม่มีที่สิ้นสุด หรือการเปลี่ยนแปลงจากสถานภาพเดิมไปสู่สถานภาพใหม่ ซึ่งในความเชื่อของแตะละสังคมหรือแต่ละศาสนา ก็มักจะมองว่า ร่างกายเป็นสิ่งที่แตกดับ หรือเสื่อมสลายได้ง่ายมากกว่า จิตวิญญาณ ซึ่งเป็นลักษณะทางนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ซึ่งสามารถเข้าไปรวมหรือเป็นอันหนึ่งเดียวกับพระเจ้าได้ ดังเช่น ศาสดาเยซู หรือจิตวิญญาณสามารถเดินทางไปดินแดนของพระเจ้า หรือโลกอันศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เบื้องบนได้ ในทางพุทธศาสนาก็พูดเรื่องนิพพาน และสภาวะสูญตา
ดังนั้น ปรากกฎการณ์เหล่านี้ จึงเป็นเสมือนองค์ความรู้ หรือแบบแผนของการรับรู้และการสำนึกของมนุษย์ ที่มีต่อเรื่องของความตาย ความเชื่อในเรื่องการดำรงอยู่หรือการหลงเหลือของจิตวิญญาณ (Soul) ที่ไม่ได้เสื่อมสลายไปพร้อมกับร่างกาย แต่ยังดำรงอยู่ในอีกภพภูมิ หรือดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์อื่นๆที่คนธรรมดาเข้าไปไม่ได้ นอกจากคนตายเท่านั้น
5. ความตาย คือ สิ่งที่ควรพิจารณาเช่นเดียวกับ การส่งผ่านจากชีวิตที่ Eventually ไปยังชีวิตอื่น ที่อาจจะเหมือนเดิม แบบเดียวกัน ดีกว่า หรือแย่กว่า ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องกรรม หรืออผลของการกระทำในชาตินี้ต่อชาติหน้า หรือผลจากอดีตมาสู่ภพภูมิปัจจุบัน ซึ่งเป็นความคิดของพวกลัทธิชื่อในการกลับมาเกิดใหม่ (Doctrines of Re-Incarnation)

บรรณานุกรมอ้างอิง

วัฒนธรรม ความตาย กับวาระสุดท้ายของชีวิต คู่มือเรียนรู้มิติสังคมของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยนายแพทย์ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์และคณะ กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ,2550.
ความตายกับภาวะใกล้ตาย / by Elisabeth Kubler Ross ; ผู้แปล มาลินี วงศ์พานิช.กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2525.
คติวิจารณ์เรื่องความตาย.โดยหลวงวิจิตรวาทการ, 2441-2505.พระนคร, โรงพิมพ์จิตร์วัฒนา, 2476.
Death and afterlife by David Stephen T,Hampshire : Macmillan, 1989
Death and dying : a reader / edited by Thomas A. Shannon. Lanham, Md. : Sheed & Ward Book, c2004.
Death and dying , life and living / Charles A. Corr, Clyde M. Nabe, Donna M. Corr. Belmont, Calif., U.S.A. : Thomson/Wadsworth, c2003
Death and dying : understanding and care / Barbara A. Backer, Natalie Hannon, Noreen A. Russell. Albany, N.Y. : Delmar, c1994
Death and disease in Southeast Asia : explorations in social, medical, and demographic history / edited by Norman G. Owen. Singapore ; Oxford University Press, 1987
Death and eternal life, Hick, John. Hamplshire Macmillan Press (1985)
Death and philosophy / edited by Jeff Malpas and Robert C. Solomon. London : Routledge, 1998
Death and the afterlife : a cultural encyclopedia / Richard P. Taylor. ABC-CLIO, c2000
Death and the afterlife in ancient Egypt / John H. Taylor. London : Published for the Trustees of the British Museum by the British Museum Press, 2001
Death and the Christian, tr. from the French by P.J. Hepburne-Scott. New York, Hawthorn Books (1961)
Death and western thought. by Choron, Jacques.New York, Collier Books (1963)
Death as a socio-cultural fact toward a sociology of death. by Nakano, Hideichiro. Nishinomiya, Kwansei Kakuin Univ., 1983.
Celebrations of death : the anthropology of mortuary ritual / Peter Metcalf, Richard Huntington. by Metcalf, Peter, 1941-, Huntington, Richard. Cambridge : Cambridge University Press, 1993.
Is there life after death? by Kastenbaum, Robert J.,London, Rider (1984)
Foucault, health, and medicine / edited by Alan Petersen and Robin Bunton. by London : Routledge, 1997
The body in health and social care / Julia Twigg. Basingstoke [England] : Palgrave Macmillan, 2006.
Death and Dying A Sociological introduction /Glennys Howarth,polity press2007

1 ความคิดเห็น: