เหมืองแร่โปแตส ผลกระทบกับหนองหาน
กับการล่มสลายของวิถีประมง
เรียบเรียง นัฐวุติ สิงห์กุล
โครงการอนุรักษ์ลำน้ำพอง
โปแตส หรือแร่ซิลวิไนท์ เป็นแร่ที่พบได้ในหินเกลือที่กระจายอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน ซึ่งเกลือหิน หรือ Rock Salt ก็คือโคตรเหง้าของเกลือที่เราใช้บริโภคกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสูตรทางเคมีของเกลือในภาคอีสานจะประกอบไปด้วย โซเดียมคลอไรด์ ยิปซั่ม โปแตส แมกนีเซียม และโปรไมค์ ซึ่งมีความใกล้เคียงกับเกลือทะเลเป็นอย่างมาก ดังนั้น คงไม่น่าแปลกที่จะบอกว่า เดิมพื้นที่ของภาคอีสานเคยเป็นทะเลมาก่อน แต่ถูกยกตัวให้สูงขึ้น จนกลายเป็นที่ราบสูงในปัจจุบัน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะเป็นที่ราบลอนคลื่นสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับกันไป ซึ่งคนอีสานเรียกว่า “มอ” ทางตอนกลางของภาคจะมีแก่งกะทะหงาย (Syncline) อยู่ 2 แหล่ง คือ
1.) แก่งโคราช (Khorat Basin) แก่งสกลนคร (Sakonakon Basin)
ซึ่งทั้งสองแก่งถูกกั้นให้แยกออกจากกันโดยเทือกเขาภูพาน ด้วยเหตุนี้ ใต้พื้นดินอีสานจึงมีลักษณะเป็นภูเขาเกลือ (Salt Dome) กระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นแหล่งของเกลือหินปริมาณมากกว่า 4,700 ล้านตัน ซึ่งเกลือหินเหล่านี้เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโปแตส เพื่อสกัดแร่โปแตสออกมาจากหินเกลือ
แหล่งเกลือหินที่สำคัญในภาคอีสานมีทั้งหมด 7 แหล่ง คือ 1.) แหล่งชัยภูมิ 2.) แหล่งตลาดแค 3.) แหล่งมหาสารคาม 4.) แหล่งทุ่งกุลาร้องไฮ้ 5.) แหล่งบำเหน็จณรงค์ 6.) แหล่งอุบลราชธานี 7.) แหล่งหนองคาย
จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งโปแตสและเป็นที่พื้นที่สำคัญที่ บริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตส คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ของประเทศแคนาดา ให้ความสนใจในการลงทุน และได้จ้างทีมนักวิชาการเข้ามาสำรวจแหล่งโปแตส ในเขตจังหวัดอุดรธานี เมื่อปี พ.ศ. 2536 เป็นพื้นที่ประมาณ 850 ตร.กม. และได้มีการศึกษาประเมินความเหมาะสม (EIA) จนได้รับการอนุมัติในเบื้องต้น เหตุที่จังหวัดอุดรถูกเลือกให้เป็นแหล่งผลิตโปแตส น่าจะมาจากสภาพทางธรณีวิทยาของจังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งเกลือหินที่มีปริมาณมาก จัดอยู่ในเกลือหินแหล่งหนองคายที่มีแนวพาดผ่านจากอำเภอกุมภวาปี แก่งอุดรธานีถึงหนองคาย ไปทางตะวันออกเป็นแนวกว้าง 30 – 40 กม. ตามแนวร่องต้นน้ำศรีสงคราม สว่างแดนดิน สกลนคร นครพนมคลุมพื้นที่ประมาณ 1,800 ตร.กม. มีปริมาณเกลือโดยเฉลี่ย 2,000 ล้านตัน ซึ่งเป็นเกลือที่มีปริมาณมาก และบริสุทธิ์ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งในเบื้องต้นทางโครงการได้ทำการสำรวจแหล่งที่คาดว่าจะใช้เป็นพื้นที่เหมืองโปแตส จำนวน 4 แห่ง คือ
1) Side A บริเวณบ้านหนองขอนกว้าง อ.เมือง จ.อุดรธานี
2) Side B บริเวณทางไปหนองหาน จ.สกลนคร
3) Side C บริเวณบ้านดงเค็ง บ้านดงเค็ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
4) Side D บริเวณบ้านโนนสูง บ้านหนองตะไค้ อ.เมือง จ.อุดรธานี
โดยเฉพาะ Side D บ้านโนนสูง บ้านหนองตะไค้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ที่สุด และเหมาะสมที่จะตั้งโรงงานขุดเจาะเหมืองแร่โปแตสนั้น ทางโครงการจึงได้ทำการซื้อพื้นที่จำนวน 25 ตร.กม. หรือ 3,000 ไร่ สำหรับเป็นพื้นที่สร้างเหมือง ซึ่งทางโครงการจะได้มีการขุดเจาะแร่โปแตส เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมเคมี, ปุ๋ยเคมี, กระจก, สี, การฟอกย้อม และด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ระเบิด C – 4 ซึ่งน่าสนใจตรงที่ว่า ประเทศที่ทางบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ฯ จะนำโปแตสส่งออกไปจำหน่าย คือ ประเทศจีน เป็นหลัก โดยการลำเลียงทางเรือ จากท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด ไปยังประเทศจีน ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของการผลิตอาวุธร้ายแรงทางเคมี
หากเราลองศึกษากระบวนการผลิตแร่โปแตส ก็สามารถจะอธิบายหยาบ ๆ ได้ 4 กระบวนการ คือ
1) กระบวนการขุดเจาะเอาแร่หินเกลือขึ้นมาจากชั้นใต้ดิน
2) กระบวนการแยกแร่ คือการนำแร่หินเกลือที่ได้มาทำการบดให้เล็กลง และใช้สารในการปรับสภาพก่อนที่จะนำแร่ที่บดนั้นไปใส่ในบ่อพักน้ำ เพื่อลอยแยกแร่ จากนั้นก็จะต้องทำน้ำเกลือให้ใส และแยกเอาหางเกลือออกมา จากนั้นก็นำน้ำที่ได้มาทำการอบแห้งให้เข้มข้น แล้วนำมาแยกแร่แมกนีเซียมออกมา
3) กระบวนการเก็บผลิตภัณฑ์ ก็คือการนำผลิตภัณฑ์ที่แยกได้นั้นเข้าไปเก็บไว้ในโกดังของโรงงาน
4) กระบวนการขนถ่ายผลิตภัณฑ์ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด เพื่อส่งออกไปจำหน่าย ผ่านทางเรือไปยังประเทศจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งหากจะวิเคราะห์กันดี ๆ แล้วจะพบว่า การเข้ามาของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก คอร์เบอร์เรชั่น จำกัด เป็นการก้าวเข้าของทุนนิยมข้ามชาติ เพื่อที่จะกอบโกยแย่งชิงเอาทรัพยากรซึ่งเป็นของคนไทย โดยเน้นในเรื่องของมูลค่าทางเศรษฐกิจ มากกว่าจะมองผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา ในขณะที่ประเทศไทยก็มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการเหล่านี้เพียงเล็กน้อย เพราะผลผลิตทั้งหมดกว่า 90 % จะถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ประเทศไทยรัฐบาลไทยจะได้รับประโยชน์เพียงแค่ค่าภาคหลวง จำนวนร้อยละ 7 ของมูลค่าแร่ ซึ่งถึงแม้ว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้แทนของรัฐบาลไทยในการถือหุ้นร่วมกับบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ฯ แต่ก็มีหุ้นอยู่เพียง 10 % เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบริษัทข้ามชาตินี้จึงเข้ามาลงทุนอย่างมหาศาลในประเทศของเรา เพราะผลประโยชน์ของชาติไทยจำนวนมากจะต้องสูญเสียไปให้กับบริษัทต่างชาติ โดยเราได้รับผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาในระยะยาว วิถีการผลิต การเพราะปลูก พื้นที่นาจะถูกแปรสภาพเป็นโรงงาน วัฒนธรรมการเพาะปลูกลดน้อยลง ชาวนาขายที่เพื่อสร้างเป็นโรงงาน แต่ผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการผลิตเหมืองแร่โปแตสอีกมากมาย สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
1) กระบวนการขุดเจาะเหมืองแร่ แน่นอนว่าการขุดเจาะเหมืองแร่ใต้ดินโดยทำอุโมงค์ใต้ดิน 200 เมตรลึก 2.0 เมตร จำนวนทั้งหมด 6 แห่ง ความยาวของอุโมงค์ใต้ดินแต่ละเส้นประมาณ 2,000 เมตร จะทำให้เกิดการทรุดตัวของหน้าดิน เพราะการขุดเจาะหาแร่โปแตสนั้น จะต้องขุดลึกจากพื้นดินลงไปใต้ดินประมาณ 2.0 เมตร เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ถึงชั้นโปแตสที่มีอยู่ ซึ่งจะมีผลทำให้หน้าดินทรุด เกิดการยุบตัว เป็นหลุมเป็นบ่อ และเกิดการเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างบริเวณใกล้โรงงาน
2) กระบวนการแยกแร่ ไม่ว่าจะเป็นการบดย่อยสลายแร่ การอบแห้ง ย่อมจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งจะมีก๊าซจำพวก kcl, Nacl, So3, Co2, รวมทั้งฝุ่นละอองต่าง ๆ ซึ่งอาจจะปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำกิน เช่น น้ำฝน น้ำจากลำห้วยต่าง ๆ ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศน์ ระบบชีวภาพ พืช สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำ หรือการลอยแยกแร่ โดยการแช่ลงไปในบ่อพักน้ำ น้ำที่เหลือจากกากลอยแยกแร่ ถ้ามีระบบการบำบัดที่ไม่ดี ก็อาจจะปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำได้ โดยเฉพาะพื้นบ่อ หากไม่มีการรองหรือฉาบให้น้ำไม่สามารถปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำกินน้ำใช้ของหมู่บ้านบริเวณรอบได้ ก็อาจทำให้เกิดการรั่วซึม เพราะลักษณะทางธรณีวิทยาของบ้านโนนสูงและบ้านหนองตะไค้ เป็นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 202 – 205 เมตร ในขณะที่เขตอำเภอเมืองและอำเภอกุมภวาปี กิ่งอำเภอประจักษ์ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 170 – 180 เมตร และสภาพดินของภาคอีสานเป็นดินปนทรายกักเก็บน้ำได้ไม่ดี ทำให้น้ำเกลืออาจรั่วซึมและไฮลลงสู่แหล่งน้ำบริเวณใกล้โครงการ โดยเฉพาะหนองนาตาล ห้วยลักนาง ห้วยหินตั้ง ห้วยวังแสง และที่สำคัญ หนองกุมภวาปี ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดลำปาว ซึ่งเป็นแม่น้ำหลักของเขื่อนลำปาว จังหวดกาฬสินธุ์ซึ่งทำเกลือมากกว่า 5,240 ลิตร ต่อวัน จากกระบวนการแต่งแร่ อาจปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำเหล่านี้
3) กระบวนการเก็บผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะเศษหางเกลือซึ่งเหลือจากกระบวนการผลิตโปแตส จะมีประมาณ 14,000 ตัน ในการผลิตแร่โปแตส 6,000 ตันต่อวัน ซึ่งถึงแม้ว่าลานกองเกลือจะถูกปูด้วยพลาสติก (HDPE) ขนาด 2 ม.ม. รองรับลานกองเกลือ ขนาดกว้าง 600 1,000 เมตร สูง 40 เมตร ซึ่งอาจเกิดการปนเปื้อนลงสู่ชั้นใต้ดินและแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากการชะล้างของฝนและกระแสลม
4) กระบวนการขนถ่ายผลิตภัณฑ์ นอกจากการส่งออกไปจำหน่ายทางเรือแล้ว ยังมีการกำจัดผลิตภัณฑ์เศษหางเกลือ โดยทำในรูปของเจล แล้วอัดกลับไปยังช่องอุโมงค์ใต้เหมืองซึ่งผลที่ตามมาก็คือ การไฮลซึมลงสู่ชั้นดิน แหล่งน้ำ ทำให้น้ำเค็ม น้ำกร่อย และดินเค็มในอนาคตพื้นที่บริเวณนั้น เวลาใกล้เคียงอาจทำการเพาะปลูกไม่ได้
ดังนั้น จากผลกระทบที่วิเคราะห์มา ก็น่าจะประเมินถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลา 42 ปี ของการทำเหมือง โดยเฉพาะพื้นที่โครงการและพื้นที่โดยรอบ แหล่งน้ำที่สำคัญของอีสาน ทั้งห้วยหลวง และหนองหานกุมภวาปี หากเกิดการปนเปื้อนของแร่เหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำ ระบบนิเวศน์ พันธ์พืชพันธ์ปลาก็จะถูกทำลายแน่นอนวิถีชีวิตประมง การหาปลาก็ย่อมจะได้รับผลกระทบ จำนวนปลาลดลง การหากินยากลำบาก แม้แต่ข้าวก็ยังพลอยผลิตไม่ได้ เพราะการปนเปื้อนของเกลือ “ปลาไม่มี ข้าวไม่มี” แล้ววิถีชีวิตของคนอีสาน คนอุดรธานี ชุมชนที่อยู่รอบหนองหานจะเป็นอย่างไร ตอนนี้โครงการเหมืองแร่โปแตสยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดอยู่ที่ พรบ. เหมืองแร่ ดังนั้น มันคงไม่สายหากเราจะร่วมมือกันคัดค้านการสร้างเหมืองแร่โปแตส เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ก่อนที่โครงการจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เพื่อลูกเพื่อหลาน เพื่อสิ่งแวดล้อมของเรา วัฒนธรรมสายปลาแดกก็จะยืนอยู่คู่อีสานตลอดไป ตราบที่ในน้ำยังมีปลา ในนายังมีข้าว เราในฐานะเป็นคนในชุมชนในท้องถิ่นย่อมมีสิทธิชอบธรรมในอันที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย และคุณภาพชีวิต ซึ่งรัฐจะต้องเอาใจใส่ในการให้ความคุ้มครอง และสนับสนุนกระบวนการนี้อย่างจริงจัง เพราะเราทุกคนคือเจ้าของและทรัพยากรและสมบัติของชาติ
เราได้ค่าภาคหลวง เท่าไหร่ครับ และบริษัทจะทำอย่างไร หากบ่อโปแตส มีปัญหาต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมครับ
ตอบลบสงสารชาวบ้านถ้าไม่ช่วยกันหยุดยั้ง..ทำมาหากินแบบที่เปนอยู่ก็เพียงพอแล้ว
ตอบลบ