อะไรคือทุนทางวัฒนธรรม?
แนวความคิดหรือConcept เกี่ยวกับเรื่องทุนทางวัฒนธรรมย่อมแตกต่างกันในนัย ของความหมายและแนวปฎิบัติในแต่ละสำนักคิด เช่น
อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธ์(2539) มองว่า ทุนทางวัฒนธรรม คือ “…ทุนที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการที่มีนัยทางวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เรียกว่าทุนวัฒนธรรม…” ซึ่งทุนวัฒนธรรมของอ.รังสรรรค์ ก็คือทุนการเงิน ทุนบริการ ที่มีความสำคัญในระบบทุนนิยมโลกปัจจุบัน ที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่สื่อถึงนัยทางวัฒนธรรม ที่เรียกว่า อุตสาหกรรมสินค้าวัฒนธรรม ที่ผลิตสินค้าวัฒนธรรม(Cultural Product) และบริการที่มีวัฒนธรรมฝังตัวอยู่ในสินค้าและบริการนั้น ในขณะที่นักรัฐศาสตร์อีกท่านหนึ่ง คือ อ.ชัยอนันต์ สมุทวาณิช ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องทุนวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงในแง่ของการทำให้วัฒนธรรมเป็นทุน เป็นสินค้าและบริการ แต่ที่แตกต่างจากแนวคิดของอ.รังสรรค์ ก็คือจุดเน้นในการให้ความสำคัญกับเรื่องของวัฒนธรรมเป็นหลัก เรื่องสินค้าและบริการคือเรื่องรอง อ.ชัยอนันต์ มองว่า วัฒนธรรมคือทุน (Cultural as Capital) ซึ่งเมื่อวัฒนธรรมตัวนี้มีลักษณะเป็นทุนแล้ว ก็มีสิ่งที่เรียกว่า โกดังหรือคลังเก็บวัฒนธรรม(Cultural Stacle) เพื่อรักษาคุณค่า และความมั่งคั่งในทางวัฒนธรรมเอาไว้ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับทุนเดิมหรือมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนหลักของสังคม ซึงแนวคิดของอ.ชัยอนันต์ ก็คือว่า การทำวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้สินค้า มีราคามีรายได้ ทางเศรษฐกิจ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการวัฒนธรรมกลายเป็นผู้ถูกกระทำ(Passive) วัฒนธรรมมีบทบาทเป็นแค่พระรองจากสินค้า ดังนั้นจึงมีแนวความคิดที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้วัฒนธรรมได้มีการปรับบทบาทจากผู้ถูกกระทำ ให้เป็นฝ่ายกระทำ มีบทบาทในเชิงรุกมากขึ้นและเป็นการกระทำ การรุก ที่ไม่สูญเสียเอกลักษณ์ และกลายสภาพเป็นแค่สินค้าและบริการเท่านั้น แต่ให้วัฒนธรรมสามารถดำรงอยู่และเป็นทุนทางสังคม ซึ่งจะเป็นหนทางสำคัญในการรักษารากเหง้าและธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม โดยไม่ต้องสร้างใหม่หรือปลูกฝังใหม่ ภายใต้กระบวนการทางเศรษฐกิจที่เข้ามาทำลายเค้าเดิมของมันในสังคมอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นหากจะจำแนกจริงๆแล้ว คำว่าทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นแนวคิดที่นำมาใช้ในปัจจุบัน น่าจะมีอยู่ 2 สาย คือสายเศรษฐศาสตร์การเมือง และสายวัฒนธรรมชุมชน ที่มองในเชิงของระบบเศรษฐกิจ การค้าขาย โดยเอารายได้เป็นตัวตั้ง อะไรที่น่าจะขายก็เอามาขายได้ทั้งหมดรวมทั้งวัฒนธรรม และการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม Cultural Industry ทั้งผลิตัณฑ์ที่เป็นสินค้าและการท่องเที่ยว ที่ประเทศในุโรปและเอเชียหลายประเทศก็ดำเนินกิจกรรมโดยใช้แนวความคิดนี้ ในขณะที่นักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยาและนักวิชาการที่เคลื่อนไหวเช่นอ. อานันท์ มองทุนวัฒนธรรม /ทุนทางสังคม เป็นเรื่องของพื้นที่ทางวัฒนธรรม พื้นที่ทางอำนาจเพื่อเป็นเวทีให้ชุมชนมีวิถีชีวิตและการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีความยั่งยืน เป็นการเสริมสร้างพลังของประชาสังคมและ การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน
ผู้ศึกษาคิดว่า แนวความคิดหนึ่งที่น่าจะนำมาเคราะห์เรื่องของทุนทางวัฒนธรรมก็คือ แนวความคิดเรื่องระบบวัตถุ(System of Object) การบริโภคนิยม(Consumer Society) และสัญญะทางเศรษฐกิจ-การเมือง(Political Economy of Sign)ของ Jean Baudrillard นักมานุษยวิทยาสายPostmodernที่พูดถึง สินค้าและบริการ ที่มีนัยทางวัฒนธรรมแฝงฝังอยู่ในตัวสินค้าและบริการนั้น ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องทางวัฒนธรรม ทั้งการบริโภค พฤติกรรมความคิด ความเชื่อ ค่านิยม เขามองว่าการทำความเข้าใจการบริโภคในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีอรรถประโยชน์(Utility) หรือทฤษฎีความพึงพอใจ(Pleasure) แต่ควรทำความเข้าใจในเรื่องของการสร้างคุณค่าและความหมายแก่วัตถุที่เรียกว่า การบริโภคเชิงสัญญะ ของการสื่อความหมายและสร้างความแตกต่างของมนุษย์ในสังคมซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ได้นำไปสู่การบริโภคอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ Baudrillard ได้แบ่งตรรกะของการบริโภค(Logic of Consumption) ออกเป็น4 ประเภทคือ
1)ตรรกวิทยาเชิงหน้าที่ของการใช้ (A Functional Logic of Use Value ) เป็นตรรกวิทยาเชิงปฎิบัติของวัตถุหรือเป็นLogic of Utility
2)ตรรกวิทยาเชิงเศรษฐศาสตร์ของมูลค่าการแลกเปลี่ยน(An Economic Logic of Exchang Value) ซึ่งก็คือตรรกวิทยาเชิงเปรียบเทียบ (Equivalenceหรือ Logic of Market)
3)ตรรกวิทยาของการแลกเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์ (A Logic of Symbolic Exchange) ซึ่งก็คือตรรกวิทยาของความหมายหลายนัยAmbivalenceหรือ Logic of Gift
4)ตรรกวิทยาของค่าเชิงสัญญะ (A Logic of Sign Value)ซึ่งก็คือตรรกวิทยาของความแตกต่าง(Difference) หรือLogic of Status
เขามองว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ทำให้พรมแดนที่กั้นและแบ่งประเภท ระบบคุณค่าที่แตกต่างกันเริ่มจางลง และสูญหายไปในที่สุด ทำให้เกิดกระบวนการที่ทำให้ทุกสรรพสิ่งของประเทศ กลายเป้นสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันได้(Commodisation) ในระบบทุนนิยม การแลกเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์จึงถูกเคลื่อนย้ายมาสู่มูลค่า การแลกเปลี่ยนทางเศรฐกิจ ในระบบทุนนิยมที่ Baudrillard เชื่อว่าแนวความคิดเรื่องการบริโภค(Consumtion)สินค้าและบริการ เป้นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการตามธรรมชาติ และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดหรือสร้างขึ้นมาจากระบบทุนนิยม ภายใต้ภาพของการตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจ บนภาพลวงตาของการแสวงหาความสุข(Hedonistic illusion) ความต้องการจึงเป็นการทำงานของวาทกรรมภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งถูกทำให้มีความน่าเชื่อถือ (The Concept of Need is Consecration) โดยสิ่งเหล่านี้มีเป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อรักษาระบบทุนนิยม ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ดังนั้นทฤษฎีของ มาร์ซ ที่พูดถึงเรื่องอรรถประโยชน์และความพึงพอใจในการบริโภค จึงไม่สามารถอธิบายและเข้าใจสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันได้ Baudrillard เห็นด้วยกับแนวความคิดของมาร์ซ ในประเด็นของระบบทุนนิยม คือกระบวนการที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้กลายสภาพเป็นสินค้า (Commodisation) ที่ต้องการกำหนดมูลค่าของการแลกเปลี่ยน(Exchange Value) ที่มีเงินตราเป็นสื่อกลางเป็นมาตรฐานและกำหนดคุณค่าของสินค้าในระบบและทำให้ภาพของความเป็นแรงงานมนุษย์ที่แฝงอยู่ทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต เลือนหายไป มูลค่าจึงเกิดจากตัวสินค้าเอง(Value Seems Inherent in Commodities ,Natural to them as thing) ทำให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้สิ่งที่มาร์ซ เรียกว่าเป็นความหลงใหลในตัวสินค้า (Commodity Fetishism) ซึ่งทำให้มนุษย์ต้องกลายสภาพเป็นทาสของสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้น สังคมทุนนิยม ในทรรศนะของ Baudrillard ซึ่งเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับมูลค่าในการแลกเปลี่ยน มากกว่ามูลค่าของการใช้สอย(Use Value)ของมาร์ซ ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่แท้จริงเป็นแหล่งอ้างอิงเบื้องต้นที่อยู่เบื้องหลังคุณค่าของวัตถุที่มนุษย์ผลิตขึ้น มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมกว่า โดยที่ Baudrillard บอกว่า ความพยายามที่จะหวนกลับไปอ้างอิงให้ความสำคัญกับมูลค่าในการใช้สอย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องเรื่องที่คลุมเคลือของมนุษย์ เพราะในตัวมนุษย์เองก็ยังไม่รู้ว่าเป็นความต้องการที่แท้จริงตามธรรมชาติ ของตนเองหรือไม่ ในเมื่อสังคมปัจจุบัน ความต้องการบริโภคสินค้านั้นเป็นรหัสหมายที่สังคม(ทุนนิยม)กำหนดขึ้นมาเอง โดยเฉพาะการบริโภคที่ถูกกระตุ้น จากสื่อการโฆษณาจะไม่สามารถกลับไปค้นหาแหล่งอ้างอิง(Alibi)ใดๆได้ การบริโภคสำหรับ Baudrillard จึงเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับมูลค่าในการใช้สอยและมูลค่าการแลกเปลี่ยนไปสู่การให้ความสำคัญกับมูลค่าเชิงสัญญะ นั่นคือสินค้าไม่มีหน้าที่ของการใช้(ในส่วนของวัตถุ)อีกต่อไป แต่เป็นการเปลี่ยนมามีหน้าที่ให้ความหมาย ในเชิงสัญญะแทน โดยในความคิดของ Baudrillard แล้วสัญศาสตร์(Semiotics) เป็นการพิจารณาถึงการสื่อความหมายหรือการสื่อสาร ของรหัสหมายของคุณค่าใดคุณค่าหนึ่ง โดยการนำสินค้าและการบริโภคสินค้า มาเป็นกระบวนการสื่อคุณค่าหรือความหมายทางวัฒนธรรม ที่ถ่ายทอดไปยังผู้บริโภค ในสังคม ดังนั้นสินค้าที่เป็นตัววัตถุในปัจจุบัน จึงไม่ได้มีประโยชน์ในการใช้สอยแต่เพียงอย่างเดียวในคุณสมบัติทางธรรมชาติของมัน แต่ยังได้ถูกกำหนดให้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่า หรือรหัสหมายที่แฝงอยู่ด้วย
การบริโภคสัญญะ จึงเป็นเสมือนระบบที่เต็มไปด้วยการสร้างสัญยะและคุณค่าต่างๆอย่างมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการ สร้างความแตกต่างในความเป็นปัจเจกบุคคลในสังคม ที่สะท้อนให้เห็นความต้องการทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นมนุษย์สามารถทำการบริโภคได้ตลอดเวลา และไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งหากจะวิเคราะห์ให้ดีแล้ว กระบวนการบริโภคคือกระบวนการครอบงำทางอำนาจอีกรูปแบบหนึ่ง สังคมบริโภคนิยมในปัจจุบันได้ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของการแลกเปลี่ยนเชิงสัญญะ ที่มีการไหลเวียนของสัญญะกับความหมาย ที่แผ่กระจายครอบคลุมไปทั่วสังคม ไม่เฉพาะกับสัญญะที่เป็นรูปของสินค้าและวัตถุเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญะที่เกี่ยวกับการเมือง ศีลธรรม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี เรื่องเพศ และวัฒนธรรมในแง่มุมต่างๆด้วย
โลกในพื้นที่ทางสัญญะจึงเป็นโลกเสมือนจริง ยุคของการจำลองถอดแบบ(Simulacrum) ที่ไม่ได้มีความหมายอ้างอิงถึงความเป็นจริงอีกต่อไปแต่กลับไปสร้างความเป็นจริงใหม่อันเป็นมายาภาพของตนขึ้นมา (Myth)เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งเป็นเพียงความสัมพันธ์เชิงสัญญะ บนพื้นที่ปริมณฑลทางสัญญะ กับแหล่งอ้างอิงในสภาพความเป็นจริง ที่มีความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิง ถูกแทรกแซง บิดเบือน และสูญหายไปจนหมดสิ้น สัญญะทั้งหลายจึงสะท้อนความหมาย ระหว่างกันเองโดยไม่ต้องมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับโลกแห่งความเป็นจริง จนกระทั่งในที่สุดเราไม่สามารถสื่อหากลับไปสู่ความหมายที่แท้จริงของสัญญะเหล่านั้น ซึ่งอาจสรุปได้ว่าแนวคิดของ Baudrillard สะท้อนให้เห็นอุบายหรือมายาภาพของสังคมทุนนิยมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเรื่องการบริโภคสินค้า โดยอาศัยเครื่องหมายทางสัญญะต่างๆที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแหล่งอ้างอิงหรือความเป็นจริงสัจธรรมใดๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น