วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

ตำนานผาแดง-นางไอ่ แห่งลุ่มน้ำหนองหานกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี : ความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ นาคและน้ำในสังคมอีสาน

บทคัดย่อ
บทความชิ้นนี้มุ่งกล่าวถึงนิทานปรัมปราเรื่องผาแดงนางไอ่ ที่มีความสัมพันธ์กับการกำเนิดของลุ่มน้ำหนองหาน หมู่บ้านและลำน้ำสำคัญต่างๆที่ปรากฏในตำนาน รวมถึงพิธีกรรมและการปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตำนานท้องถิ่น เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ ศาลพระยาขอม ศาลปู่ผาแดง หลวงปู่ก่ำ พระธาตุบ้านเดียม และความเชื่อต่างๆ ที่ยึดโยงชาวบ้านเข้ากับหนองหาน วิถีเกษตรกรรม ความอุดมสมบูรณ์ของ ข้าว ปลาและน้ำ  จนกระทั่งการเข้ามาของโครงการพัฒนาของรัฐและกลุ่มทุนข้ามชาติ ตำนานได้ถูกนำขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ในประเด็นปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดิน และโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ที่จะนำมาสู่ความล่มสลายของชุมชน ดังที่เคยเกิดขึ้นกับหนองหานในตำนาน เมื่อความเชื่อเรื่องกระรอกเผือกพังคี ได้ถูกผนวกเข้ากับเรื่องของเกลือหินและแร่โพแทชใต้พื้นดินอีสาน ซึ่งรัฐและบริษัทข้ามชาติต้องการจะนำขึ้นมาใช้ประโยชน์โดยไม่สนใจกับเสียงชาวบ้านท้องถิ่นในพื้นที่ ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรและกำลังจะได้รับผลกระทบจาโครงการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขาและชุมชนที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ
  















Abstract
Legend of Pha-daeng Nang-ai from Nong-han River Basin, Kum-pha-wa-pee, Udorn-tha-nee: Relationship among Human Beings, Naga and Water in Isan Society.
     This article presents the legend of Pha-daeng Nang-ai.  It relates to relationship of origin of Nong-han River basin, villages and important but small rivers found in the legend.  Also, it includes rituals and everyday practices that relate to other local legends.  These rituals include Bun Bung Fai Ritual/Rocket Ritual, San/Sprit House of Pha-ya Khom/Khmer Lord, San/Spirit House of Pu/Parternal Grand-father Daeng, Luang-pu/Paternal Great Uncle Kum, and Phra-that/Pagoda Ban Diem Village.  More over,  other types of local belief  practices link local villagers with Nong-han, agricultural practices, fertile production of rice, fish and water until arrival of  development projects, initiating by the Thai government and international investment organization.  This local legend is revived and used as a weapon in fighting against using natural resources that are located underneath the ground.  This problem is known as Udon-tha-nee Potash Mining Project that is believed to bring about the local community destruction as it is predicted in this local legend.  It states that when albino squirrel known as Phun-khee becomes rock salt and potash deposit underneath the ground surface of Isan region.  Thai government and international investment organization now want to mine it for their own benefit without listening to protesting voices of local villagers whose communities shall be destroyed.








ตำนานหนองน้ำและตำนานนาคในเมืองไทย



คนไทยและคนอีสาน มีความสัมพันธ์กับน้ำมาตั้งแต่อดีต ทั้งเรื่องของการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้ลำน้ำขนาดใหญ่ เพื่อการอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะในชุมชนเกษตรกรรม ที่ต้องอาศัยน้ำฝนและแหล่งน้ำในการเพาะปลูก ดังนั้นน้ำจึงมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์ และเป็นจุดเริ่มต้นของตำนาน การสร้างเรื่องราวและจินตนาการของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับลำน้ำซึ่งถูกบอกเล่าสืบต่อกันมา ดังเช่นเรื่องของพญานาค ที่เป็นสัตว์ในตำนานของการให้ความอุดมสมบูรณ์ การสร้างลำน้ำ รวมถึงนาคเป็นสิ่งที่ถูกใช้เป็นเกณฑ์วัดปริมาณน้ำในแต่ละปี ที่คนไทยเรียกว่า นาคให้น้ำ ตั้งแต่นาคหนึ่งตัวจนถึงเจ็ดตัว  ถ้าปีไหนมีน้ำอุดมสมบูรณ์จะมีนาคให้น้ำน้อยตัว เพราะนาคจะกลืนน้ำไว้ในท้อง ถ้ามีนาคหลายตัวก็จะกลืนน้ำมาก ปริมาณน้ำจึงมีความสัมพันธ์แบบผกผันกับจำนวนนาคที่ให้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในรอบปี (อ้างจาก ละไม 2538:67)
นาคเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความอุดสมบูรณ์และแสดงถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน การอพยพเคลื่อนย้ายของชนชาติไทย จากจีน เคลื่อนลงมาทางใต้ ผ่านตำนานนาคเมืองหนองแส นาคเมืองหนองหานและนาคเมืองโยนก ที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับนาคและการก่อกำเนิดลำน้ำ เช่นตำนานนาคเมืองหนองแส  ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของพญานาคผู้ยิ่งใหญ่สองตัวที่อาศัยอยู่ร่วมกันในหนองแสคือ สุวรรณนาคหรือโยนกวตินาค ผู้อยู่หัวหนอง และธนะมูลนาคหรือสุทโธนาคผู้อยู่ท้ายหนอง   จนกระทั่งมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องการแบ่งปันอาหาร จากชิ้นเนื้อสัตว์ ที่หามาได้จึงเกิดการสู้รบกัน และแยกกันออกไปจากหนองแสง สุวรรณนาคจึงได้ขึ้นไปทางภาคเหนือของไทยสร้างแม่น้ำน่าน ส่วนสุทโธนาคลงไปทางภาคอีสานเพื่อสร้างแม่น้ำโขง (อ้างจากปรีชา พิณทอง2524:65-71)
ตำนานทั้งของโยกนกและของอีสานมีความเหมือนกันอยู่ในหลายประเด็นทั้งการกำเนิดเมืองโยนกนาคนคร หรือเวียงหนองล่ม ที่ปรากฏในตำนานสิงหนวัติ  พงศาวดารโยนก พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน รวมถึงประชุมพงศาวดารภาคที่61 ที่พูดสืบต่อกันมาถึง"ตำนานปลาไหลเผือก"ของคนพื้นเมืองล้านนา การล่มสลายของเมืองเป็นหนองน้ำ ที่คร่าชีวิตเจ้าเมืองและชาวบ้านลงไป เหลือเพียงหญิงม่ายหลังหนึ่งบนขอบหนอง (อ้างจาก สยามอาระยะ 2538:28-33) ในขณะที่ตำนานการเกิดหนองหานของภาคอีสานมีความสัมพันธ์กับตำนานอุรังคนิทาน หรือตำนานการสร้างพระธาตุพนม  ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของเมืองหนองหานหลวงและหนองหานน้อย ที่สืบเชื้อสายมาจากพญาขอม โดยพระเจ้าภิงคาระครองเมืองหนองหานหลวง และพระยาคำแดง ครองเมืองหนองหานน้อย โดยพระเจ้าภิงคาระ มีมเหสีชื่อพระนางนารายณ์เจงเวง ผู้สร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวง ที่สัมพันธ์กับอาณาจักรศรีโคตรบูร  ตำนานดังกล่าวได้พูดถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ทำให้เกิดเป็นหนองหานทั้งสองแห่งและกลายเป็นเมืองที่ไร้ผู้คนตั้งแต่นั้นมา(เติม 2499:356-358) ในขณะที่อีกตำนานหนึ่งของเมืองหนองหานน้อยที่ชาวบ้านพูดถึงในพื้นที่ลุ่มน้ำหนองหานที่กับเป็นเรื่องของตำนานรักระหว่างผาแดง นางไอ่และกระรอกด่อนหรือ กระรอกเผือกซึ่งทำให้ผู้คนในบริเวณนี้มักบอกว่า "หนองหานสกลคือหนองหานเอี่ยน ด่อน แต่หนองหานกุมภวาปีคือกระรอกด่อน" เพื่อยืนยันความจริงของตำนานดังกล่าวและบ่งบอกว่าหนองหานบริเวณนี้คือหนองหานตามตำนานที่คนอีสานเชื่อถือ เมื่อพูดถึงหนองหานก็ต้องเล่าถึงตำนานผาแดงนางไอ่เป็นต้น
    ในบรรดาเรื่องเล่าหรือนิทานปรัมปราของคนอีสาน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดก็คือ ตำนานความรักของผาแดงนางไอ่ ที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของชุมชน การตั้งถิ่นฐานบ้านเมือง การกำเนิด แม่น้ำ หนองน้ำ และลำห้วย รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมที่คนในชุมชนปฏิบัติเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและดินในการเพาะปลูก ผ่านพิธีการบูชาพญาแถน ในช่วงเดือนหกหรือเดือนเมษายน ของทุกปี ที่เรียกว่าบุญบั้งไฟ ตามพิธีกรรมฮีตสิบสองคองสิบสี่ของชาวอีสาน ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานหลายเรื่องเช่นตำนานผาแดงนางไอ่ ตำนานหนองหานและพญาคันคาก เป็นต้น(อ้างจากสุริยา 2533:6) สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นพื้นฐานความเชื่อ ค่านิยมและโลกทัศน์ของชาวอีสานต่อเรื่องน้ำเรื่องนาค  ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตเกษตรกรรม ผ่านร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ที่ยืนยันความจริงของนิทานปรัมปราดังกล่าวโดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับตำนานการเกิดหนองหานกุมภวาปีของชาวอุดรธานีที่บอกเล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ประวัติเมืองอุดรธานี
พื้นที่ในเขตจังหวัดอุดรธานี ถือได้ว่าเป็นดินแดนที่คนหลายพวกหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอยู่อย่างหนาแน่นมาช้านาน จากหลักฐานที่ขุดค้นและหลักฐานที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นเสมาหิน  ปราสาทเจดีย์ โบราณสถาน พระพุทธรูปหินทราย ถ้วยชาม หม้อดินเผา เครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องในยุคสมัยต่างๆตั้งแต่ยุคสมัยทวารวดี ลพบุรี ซึ่งเป็นอารยะธรรมของขอม มาจนถึงล้านช้าง(ศรีสัตนาคนหุต) เป็นช่วงที่คนลาวได้เข้าตั้งแว่นแคว้นล้านช้างหรือลาวเวียงขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น รวมถึงยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่เป็นอารยะธรรมในช่วง 5,000 ปี มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียง   อำเภอหนองหาน และบ้านนาดี ตำบลพังงู อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี (อ้างจากศรีศักร ธ.ค.2525-มิ.ย.2526:20-33)
เมืองอุดรธานี มีเมืองเก่าตั้งแต่ครั้งโบราณสองเมือง  คือ เมืองหนองบัวลำภูหรือนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน และเมืองหนองหารน้อย (ปัจจุบันเป็นอำเภอกุมภวาปี) เดิมเคยเป็นเมืองของเจ้าคำแดง หลานพระยาขอม ต่อมาพระยานาคบันดาลให้บ้านเมืองเกิดล่มจมน้ำจึงเป็นเมืองร้างมาช้านานดังที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ อาจกล่าวได้ว่าอิทธิพลของขอมและลาวแผ่ขยายเข้ามาบริเวณต่างๆในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่16-18 ก่อนที่ในช่วงพุทธศตวรรษที่19-23 อาณาจักรศรีอยุธยาสามารถรวมเอาอาณาจักรสุโขทัยมาเป็นอาณาจักรเดียวกันได้เรียกว่าอาณาจักรสยาม และอาณาจักรสยามก็รวมรวมเอาอาณาจักรล้านนาและล้านช้างเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันได้ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2436  ได้ทำให้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงซึ่งก็คือภาคอีสานซึ่งเคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลาวทางฝั่งซ้ายต้องแยกออกจากกัน จนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ลาวฝั่งซ้ายจึงได้รับเอกราช และตั้งขึ้นเป็นประเทศลาวในปัจจุบัน ดังนั้นบริเวณนี้จึงถูกเรียกว่าเป็น"เขตสะสม" (ศรีศักร วัลิโภดม2522:29) ที่เป็นบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยให้คนหลากหลายกลุ่มหลากหลายชาติพันธุ์มาตั้งหลักแหล่งอยู่ใกล้หรือปะปนกัน ซึ่งบริเวณดังกล่าวนั้นจะอยู่ในเขตแนวชายแดนของบ้านเมืองหรืออาณาจักรที่โดดเดี่ยวจากการควบคุมทางการเมือง  ดังนั้นอุดรธานี  จึงเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่อดีต และมีผู้คนอพยพย้ายถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานหลายยุคหลายสมัย หลายชาติพันธุ์ทั้งชนชาติเขมรและลาวในบริเวณนี้
อุดรธานี เป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตอีสานเหนือ บริเวณแอ่งสกลนครซึ่งมีเทือกเขาภูพานกั้นแบ่งพื้นที่ภาคอีสานออกเป็นสองส่วนคือ แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร อีสานเหนือและอีสานใต้ และให้กำเนิดลุ่มน้ำสำคัญหลายสายในภาคอีสานคือลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มแม่น้ำมูล ที่มีความสำคัญกับพื้นที่เกษตรกรรม และเกี่ยวข้องกับตำนานนาคผู้สร้างแม่น้ำ ตามเส้นทางที่นาคเดินทางผ่าน โดยดั้นพื้นดินกลายเป็นแม่น้ำขนาดสั้นและยาวในพื้นที่ภาคอีสาน สำหรับเมืองอุดรธานีนั้น คำว่าอุดรธานี หมายถึง เมืองในทิศเหนือ เมืองในทิศอุดร  ในอดีตเมืองอุดรธานีเป็นบ้านร้างเมืองร้าง แต่เดิมเรียกว่าบ้านหมากแข้งเพราะมีต้นมะเขือพวงใหญ่  (อีสานเรียกว่าหมากแข้ง) ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ(รศ.113) ได้ทรงบันทึกไว้ว่า
    "บ้านเดื่อหมากแข้งเปนแขวงเมืองหนองคาย มีเรือน (ร.ศ.109) ไม่เกิน 200 หลังคา เปนบ้านอยู่ในที่ราบชายเนิน ด้านตวันออกเปนที่ทุ่งนาใหญ่ตลอดมาต่อทุ่งหนองหาร เปนต้นทางร่วมที่มาจากเมืองใกล้เคียง แต่เปนบ้านป่าขับขันกันดานต้องอาไสรยเสบียงอาหารจากเมืองหนองคายและเมืองสกลนคร"
ในช่วงสมัยนั้นยังไม่เป็นเมืองอุดรธานี เป็นเพียงหมู่บ้านหนึ่งในแขวงเมืองหนองคาย ในเขตเมืองอุดรธานี มีเมืองเก่าตั้งแต่โบราณสองเมืองคือ เมืองหนองหารน้อย ปัจจุบันเป็นอำเภอกุมภวาปี  เดิมเคยเป็นเมืองของเจ้าคำแดง หลานพระยาขอม ต่อมาพญานาคดลบันดาลให้บ้านเมืองล่มจมน้ำ ตามตำนานอุรังคธาตุ จึงกลายเป็นเมืองร้างมาช้านาน  อีกเมืองคือหนองบัวลุ่มภู  (เมืองหนองบัวลำภูในปัจจุบัน) ซึ่งพระวอพระตาเคยมาตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วโบราณเป็นราชธานีอิสระอยู่  เมืองอุดรธานีเป็นเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ในช่วงรัชกาลที่5  ที่ได้ส่งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่างพระเนตรพระกัณห์ นำกองทัพใหญ่ไปปราบฮ่อที่ก่อความไม่สงบในมลฑลลาวพวน
โดยที่มณฑลลาวพวนในขณะนั้นถือว่ามีความสำคัญเพราะเป็นเมืองชายแดน เมืองที่มีความสำคัญในมลฑลลาวพวนคือเมืองหนองคาย เมืองหนองหาร เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาไสย หล่มศักดิ์ สกลนคร โดยเฉพาะเมืองหนองหาร และเมืองกุมภวาปี ที่ปัจจุบันกลายเป็นอำเภอหนึ่ง ในจังหวัดอุดรธานี  ในช่วงปี พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งบัญชาการมณฑลลาวพรวน ได้มีหนังสือขอย้ายที่บัญชาการจากบ้านหนองคายมาตั้งที่บ้านหมากแข้ง เนื่องจากในช่วงนั้นไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส  และไทยได้ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ที่กำหนดไม่ให้ไทยมีกำลังทหารในรัศมี 25 กิโลเมตรบนฝั่งขวาทางฟากตะวันตกของแม่น้ำโขง
ในช่วงปี พ.ศ.2441 ข้าหลวงเทศาภิบาลยกฐานะบ้านหมากแข้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ  และ พ.ศ.2442 เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ ในช่วงปี พ.ศ.2443 มีการแบ่งเขตการปกครองเป็นจังหวัดเช่น ขอนแก่น สกลนคร นครพนม หนองคาย และนครพนมจนกระทั่งปี พ.ศ.2450 ได้มีท้องตราประกาศยกบ้านหมากแข้งเป็นเมืองอุดรธานี และปี2489 ก็ล้มเลิกการปกครองแบบมณฑลมาเป็นจังหวัด เหตุการณ์ที่สำคัญในจังหวัดคือการเกิดเพลิงไหม้จังหวัดอุดรธานีเมื่อปี พ.ศ.2506 และในปี พ.ศ.2510 เริ่มทำการสำรวจและวางผังเมืองจังหวัดอุดรธานี เพื่อรองรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของจังหวัดอุดรธานีในอนาคต ที่เห็นได้ชัดคือช่วงหลังสงครามเวียดนาม ที่มีการตั้งฐานทัพของทหารอเมริกันในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งทำให้เมืองอุดรธานีเจริญเติบโตเร็วมาก มีโรงพยาบาล วิทยาลัยเทคนิคที่สอนวิชาช่าง มีค่ายทหารใหญ่สองแห่งคือค่ายรามสูรและค่ายเปอร์ไกเดอร์ รวมถึงการมีสนามบินอุดรธานี เป็นต้น
ปัจจุบันอุดรธานี มีเนื้อที่ประมาณ11,730.31 ตารางกิโลเมตร 7,331,438.75 ไร่ โดยมีพื้นที่ทางการเกษตรถึง 5,302,709 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 54.34% มีจำนวนประชากร ประมาณ 1,539,348คน ชาย 772,845 คน หญิง 766,503 คน  (ข้อมูลสำนักงานจังหวัดอุดรธานี ,2547) จังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่มากเป็นอันดับสี่ของภาคอีสาน จังหวัดอุดรธานีแบ่งการปกครองเป็น 18 อำเภอ และ2 กิ่งอำเภอ มี156 ตำบล 1,792 หมู่บ้าน 50 ชุมชน มีองค์การบริหารส่วนตำบล 151 แห่ง เทศบาลนคร 1 แห่ง เทศบาลตำบล 29 แห่ง พื้นที่จังหวัดอุดรธานีอยู่ในเขตลุ่มน้ำใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ
1)ลุ่มน้ำชี  บริเวณต้นน้ำพองและต้นน้ำชี ในพื้นที่เขต อำเภอกุมภวาปี อำเภอหนองแสง อำเภอโนนสะอาด อำเภอศรีธาตุ และอำเภอวังสามหมอ บริเวณนี้จะมีลำห้วยสาขาของลำน้ำปาวซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากหนองหานน้อย และลำน้ำพอง สำน้ำสาขาที่สำคัญ คือห้วยสามพาด ห้วยน้ำฆ้อง ห้วยไพจาน ลำพันชาด และลำปาว
2)ลุ่มน้ำโขง ในเขตพื้นทีอำเภอเมือง อำเภอหนองวัวซอ อำเภอกุดจับ อำเภอน้ำโสม อำเภอบ้านผือ กิ่งอำเภอนายูง อำเภอเพ็ญ อำเภอสร้างคอม อำเภอบ้านดุง อำเภอหนองหาน กิ่งอำเภอพิบูลย์รักษ์ อำเภอไชยวาน และอำเภอทุ่งฝน ซึ่งบริเวณนี้มีลำห้วยที่สำคัญคือห้วยหลวง ห้วยน้ำโสม ห้วยน้ำสวยและแม่น้ำสงคราม ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น สลับที่นา สลับที่ราบลุ่มบางส่วนเป็นเนินเตี้ย บางแห่งมีเทือกเขาสูงสลับ มีลำน้ำสำคัญหลายสาย ที่ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรเนื่องจากมีแม่น้ำหลายไหลผ่าน บางแห่งถูกพัฒนาภายใต้ระบบชลประทาน โครงการสำคัญเช่นโครงการโขง ชีมูล ฝายและเขื่อนที่สำคัญในจังหวัดอุดรธานีคือ ฝายกุมภวาปีและเขื่อนห้วยหลวง มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงมีดังนี้คือ
ทิศเหนือ  จดเขตอำเภอท่าบ่อ อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอโพนพิสัย ของจังหวัดหนองคาย มีลำห้วยทวน ลำห้วยสวย ลำห้วยหลวง และลำห้วยเจียมกั้นเป็นเขต
ทิศตะวันออก จดเขตอำเภอวานรนิวาส อำเภอสว่างแดนดิน และอำเภอวาริชภูมิของจังหวัดสกลนคร มีลำน้ำสงคราม ห้วยพันชาติ ภูเขาเหล็กกั้นเป็นเขต
ทิศใต้ จดเขตอำเภอน้ำพอง อำเภอเวียงของจังหวัดขอนแก่น มีลำน้ำพองกั้นเป็นเขต และจดเขตอำเภอสหัสขันธ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ มีลำปาวกั้นเป็นเขต
ทิศตะวันตก จดเขตอำเภอเชียงคาน อำเภอวังสะพุง ของจังหวัดเลย มีภูเขาฟ้า ภูเขาหลวงและหนองไผ่กั้นเป็นเขต และจังหวัดหนองบัวลำภู
หนองหานกุมภวาปี (ดูแผนที่ที่1.1) เป็นหนองน้ำจืดขนาดใหญ่มีพื้นที่ประมาณ 22,500 ไร่ (ในหนังสือสำคัญสำหรับที่ทางหลวงสาธารณประโยชน์ระบุว่ามีเนื้อที่ 18,025 ไร่ 3 งาน 18 3/10 ตารางวา) ครอบคลุมพื้นที่ ใน3 อำเภอ คือ  อำเภอกุมภวาปี กิ่งอำเภอกู่แก้ว และกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ไหลผ่านพื้นที่  97 หมู่บ้าน 8 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลอุ่มจาน ตำบลนาม่วง กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม  ตำบลคอนสาย ตำบลแชแล กิ่งอำเภอกู่แก้ว   ตำบลเวียงคำ ตำบลตูมใต้ และตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี หนองหานกุมภวาปีถือว่า เป็นหนองน้ำที่มีความสำคัญเพราะเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำปาว หนึ่งในลำน้ำสาขาสำคัญของลำน้ำชี และหนองหานมีลำห้วยสาขาหลายสายที่ไหลมาบรรจบกัน เช่น ห้วยสามพาด ห้วยลักนาง ห้วยหัวเลิง ห้วยไพจาน  ห้วยกองสี ห้วยหิน ห้วยวังแสง ห้วยโพนไฟ ห้วยบ้านแจ้งและห้วยน้ำฆ้อง ที่หล่อเลี้ยงผู้คนที่อาศัยอยู่รอบหนองหาน ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์ปลา และน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตร มาตั้งแต่อดีตและมีความสัมพันธ์กับมิติทางประวัติศาสตร์ชุมชน สังคมวัฒนธรรม ความเชื่อของคนลุ่มน้ำหนองหานที่เล่าผ่านนิยายปรัมปราพื้นบ้าน คือ ตำนานผาแดง นางไอ่ ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือหลักฐานทางโบราณคดี ระบุว่า บริเวณหนองหานเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าว และเป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนหนาแน่นมาตั้งแต่โบราณ และเป็นแหล่งที่ตั้งของเมืองโบราณ ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน บริเวณดอนแก้ว ตำบลตูมใต้ ซึ่งเป็นเกาะกลางหนองหาน (ศรีศักร วัลลิโภดม2519:29-30) เนื่องจากมีร่องรอยของใบเสมาหินศิลปะสมัยลพบุรี ปรากฏอยู่ที่บ้านดอนแก้ว ที่ชาวบ้านบริเวณนั้นเรียกว่า ดอนหลวง หรืออาจจะเป็นเมืองขอมตามตำนานผาแดงนางไอ่ที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมา  แต่จากข้อสันนิษฐานทางโบราณคดี ก็อาจกล่าวได้ว่า บริเวณเขตหนองหานกุมภวาปี เป็นพื้นที่ที่มีการรับเอาวัฒนธรรมและการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากต่างถิ่นเข้ามาผสมผสานเป็นของตนเอง  รวมทั้งจากหลักฐานนิยายปรัมปรา และตำนานอุรังคธาตุ ได้แสดงให้เห็นว่า ประชาชนในบริเวณนี้มีพวกที่อพยพมาจากที่อื่นๆ เข้ามาเช่นทางตอนเหนือตอนใต้ของแม่น้ำโขง ซึ่งมีคนหลายเหล่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานก่อนที่จะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวและเกิดเป็นอาณาจักรล้านช้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ดังนั้นในเขตนี้จึงมีวัฒนธรรมหลายแบบหลายสมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี ในศตวรรษที่12 ซึ่งแคว้นหนองหานน้อยที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของหนองหานหลวง ( หนองหานสกลนคร ) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของลุ่มน้ำชี ในศตวรรษที่ 12 นี้เอง ที่วัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาจากลุ่มน้ำชี ได้แผ่ขยายบ้านเมืองในเขตหนองหานกุมภวาปี  มีการรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามานับถือ และสร้างเสมาหินขึ้นปักเขตศักดิ์สิทธิ์ ดังที่พบในพื้นที่ดอนหลวง ซึ่งเป็นเกาะกลางหนองหานกุมภวาปี จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่16 ในสมัยลพบุรี ที่วัฒนธรรมขอมก็แผ่ขยายลงมาผ่านหนองหานกุมภวาปี และเข้ามาในแอ่งสกลนคร ทำให้เกิดเมืองและศาสนสถานแบบขอม ปรากฏอยู่หลายพื้นที่บริเวณแถบอำเภอหนองหาน สภาพพื้นที่ของหนองหานได้ถูกบรรยายเมื่อครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จผ่านเมืองกุมภวาปี เมื่อครั้งมาตรวจราชการมณฑลอีสานว่า
"[เมืองกุมภวาปี] เวลาบ่ายสามโมง ไปเที่ยวตามทางหมู่บ้าน ข้างหลังหมู่บ้าน ออกไปเป็นทุ่งใหญ่ แลเห็นหนองหาร ทุ่งนี้แลดูกว้างใหญ่มากโดยยาวกว่า ๑๐๐ เส้น ตกขอบหนองหารกลางทุ่งมีเนินเล็กๆ ไม้ขึ้นเป็นพุ่มอยู่สักแห่งหนึ่งสองแห่ง ราษฎรปล่อยโคกระบือและม้าออกกินหญ้าเป็นฝูงๆ หนองหารนี้มีชื่อเสียงมาในพงศาวดาร เป็นหนองใหญ่มาก มีชาวบ้านตั้งหาปลาอยู่โดยรอบ ทางเดินรอบหนองประมาณ ๒ วัน มีท่าลงหนองที่บ้านเชียงแหว ระยะห่างจากเมืองกุมภวาปี 200 เส้น มีเกาะในหนองเรียกว่าเกาะดอนแก้ว มีหมู่บ้านและวัดบนเกาะด้วย น้ำหนองหารนี้ไหลลงน้ำปาวไปตกลำพาชี..." (ดำรงราชานุภาพ 2521: 16)















ตำนานผาแดงนางไอ่ : การเกิดหนองหานกุมภวาปีจากความโกรธของพญานาค
"นิทานปรัมปรา เป็นการใช้ภาษา (parole) เพราะเป็นการเล่าเรื่องแบบหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นระบบของภาษาด้วย (language) เพราะต้องเล่าภายใต้กฎเกณฑ์โครงสร้างชุดหนึ่ง เช่นเป็นการพูดถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไปพร้อมๆกัน" (ไชยรัตน์ 2545:70)
    จากคำกล่าวข้างต้น การวิเคราะห์นิทานปรัมปรา จึงไม่ช่แค่เรื่องของการวิเคราะห์เนื้อหา หรือขอบเขตทางวัฒนธรรมแต่เพียงเท่านั้น แต่เป็นการทำความเข้าใจความคิดของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นสากล ดังเห็นได้จากตามนานปลาไหลเผือกของชาวล้านนา ที่พูดถึง โยนกนาคนคร หรือหนองหานกุมภวาปี ที่พูดถึงเรื่องของพญานาคพังคีหรือกระรอกเผือก ผ่านตำนานผาแดงนางไอ่ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของโลกทัศน์ ความเข้าใจ ต่อระบบจักรวาล ระบบธรรมชาติ ของโลกและชุมชน ของมนุษย์ตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน ต่อเรื่องของการอธิบาย เรื่องของการตั้งถิ่นฐานและอพยพย้ายถิ่นนของมนุษย์ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติและสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ที่คนในอดีตได้รวบรัดหรืออธิบายจักรวาลอย่างเป็นสากล ซึ่งเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็วหรือเรียกว่า "กระบวนการหาคำตอบของชนเผ่าดั้งเดิมที่ต้องการเข้าใจจักรวาลอย่างเป็นสากลด้วยวิธีลัดที่สุด"(อ้างจากปริตตา 2533:54) ผ่านเรื่องของ ฟ้า ดินและน้ำ หรือ สวรรค์ โลกและบาดาล ความสำคัญที่ปรากฏในนิทานปรัมปรา หาใช่เนื้อหาอันพิลึกพิสดาร ที่มีความแตกต่างกันในผู้เล่าแต่ละคน แต่คือระบบความคิด กฎเกณฑ์หรือโครงสร้างบางอย่างที่กำหนดความหมายของนิทานปรัมปรา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งหรือความจริงของคนในพื้นที่ ที่ถูกบอกเล่า และผลิตซ้ำผ่านพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรมชุดต่างๆที่สัมพันธ์กับนิทานละวิถีชีวิตของคนในชุมชน เช่นพิธีกรรม จุดบั้งไฟ เพื่อบูชาพญาแถนและสร้างความมั่นใจให้กับชาวนาในการได้รับน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ต่อการเพาะปลูก และพืชผลเจริญงอกงาม แม้ว่าจะปะทะกับวัฒนธรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบันที่พยายามเข้ามาแทรกแซงและเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมดังกล่าวก็ตาม
    ดังเช่นตำนานการเกิดหนองหานกุมภวาปี จากการศึกษาของผู้ศึกษาพบว่า แม้ว่าจะมีความพิลึกพิสดารในการอธิบายและการเล่าที่แตกต่างกันในผู้เล่าแต่ละคน ตามความทรงจำที่จดจำสิ่งที่เล่าต่อิกันมาได้มากน้อยต่างกัน ทั้งในรูปของนิทาน คำกลอน หรือหมอลำ ก็ตาม  แต่จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่เกี่ยวกับตำนานาแดงนางไอ่ ก็พบว่าในเนื้อหาของนิทานปรัมปรา มีความสอดคล้องกันหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน ชื่อหมู่บ้าน แม่น้ำต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตเกษตรกรรมและการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่ รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมต่างๆที่ยังคงสืบทอดต่อกันมาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเสมือนกฎเกณฑ์ที่คนในชุมชนใช้อธิบายความเป็นมาของตัวเองและความสัมพันธ์ต่อพื้นที่ ที่เป็นเรื่องของภูมิศาสตร์สังคม (Social Geography)  เรื่องเล่าตำนานผาแดงนางไอ่มีดังนี้คือ
    พญาขอมผู้ครองเมืองเอกชะธีตา  มีพระมเหสีชื่อนางจันดา และมีพระราชธิดาที่ทรงสิริโฉมงดงามนามว่า นางไอ่คำ  พระยาขอมทรงมีน้องชายสองคนครองเมือง เชียงเหียน  และเมืองสีแก้ว  และหลานชายอีกสองคน ครองเมือง ฟ้าแดดสงยาง  และเมืองหงษ์  โดยให้ไพร่พลไปเมืองละ 8,000 คน  ความงามของธิดาไอ่คำเลื่องลือไปทั่วทิศ จนไปถึงท้าวผาแดง พระโอรสเจ้าเมืองผาโพง  เกิดความหลงใหลใฝ่ฝันในตัวนาง จึงให้ทหารมหาดเล็กนำแก้วแหวนเงินทองไปให้นางเพื่อเป็นไมตรี และได้เดินทางไปหานางไอ่ที่เมืองเอกชะธีตา จนทั้งคู่เกิดต้องชะตาและรักชอบกัน ในอีกด้านหนึ่งพังคีผู้เป็นพญานาคและเป็นบุตรของพระยาสุทโธนาค ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งครองเมืองบาดาล ก็หลงใหลใฝ่ฝันอยากได้นางไอ่ มาครอบครองเช่นเดียวกันกับเจ้าชายจากเมืองอื่นๆ
    จนกระทั่งนางไอ่คำถึงวัยที่จะมีเหย้ามีเรือนได้พญาขอมจึงได้แจ้งข่าวให้กับบรรดาหัวเมืองต่างๆ ได้ทำบั้งไฟขึ้นมาจุดแข่งขัน บั้งไฟใครขึ้นสูงก็จะได้นางไอ่ไปครอบครอง อีกทั้งเพื่อเป็นการบูชาพญาแถนที่อยู่บนฟ้า ช่วยดลบันดาลให้ฝนตกลงมาตามฤดูกาลเพื่อให้ชาวเมืองได้ทำการเพาะปลูก และได้กำหนดให้วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 เป็นวันจัดงานบุญบั้งไฟ เพื่อให้บรรดาเจ้าชายจากเมืองต่างๆ ทำบั้งไฟเอ้ บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน มาร่วมเฉลิมฉลอง แห่เซิ้งเพื่อความสนุกสนาน และจุดแข่งขันกันโดยเอานางไอ่เป็นเดิมพัน  ทั้งท้าวผาแดง และพังคีก็มาร่วมงานด้วย โดยท้าวผาแดงได้ทำบั้งไฟมาแข่งขันด้วย  ผลการจุดปรากฏว่าบั้งไฟของพญาขอมแตก ซึ่งเป็นลางว่าบ้านเมืองอาจเกิดภัยพิบัติ ส่วนของท้าวผาแดงไม่ขึ้น ส่วนของเจ้าเมืองเชียงเหียน ฟ้าแดดสูงยางขึ้นได้สูง บางสำนวนก็ว่าขึ้นนานถึงสามวันสามคืนจึงตกลงมา  แต่เนื่องจากทั้งคู่เป็นอาของนางไอ่จึงไม่ได้นางไอ่ไป ชาวบ้านบางคนบอกว่านางไอ่ไม่ชอบคนแก่ แต่ชอบคนหนุ่มอย่างผาแดงจึงไม่ยอมแต่งงานด้วย หลังจากสิ้นสุดการแข่งขันความรักของผาแดงและนางไอ่ก็มีมากขึ้นทั้งคู่มีความสัมพันธ์ต่อกันจนกระทั่งผาแดงเดินทางกลับเมืองตนเอง ข้างฝ่ายพังคีก็หลงรักนางไอ่มากจนทนไม่ได้ ต้องปลอมเป็นกระรอกด่อน (กระรอกเผือก)แขวนขอคำ(กระดิ่งทองคำ) มาวิ่งเล่นอยู่ตามต้นไม้ใกล้ที่ประทับของนางไอ่ เพื่อให้เห็นหน้านางไอ่  และเมื่อนางไอ่ได้เห็นกระรอกพังคีก็ใคร่อยากจะได้มาเป็นของตนเองไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด หรือจับเป็น จับตายก็ตาม นางจึงได้รับสั่งให้เรียกชายฉกรรจ์และนายพรานที่มีในเมือง  มาร่วมไล่ล่ากระรอก  ชื่อของนายพรานกลายเป็นชื่อของหมู่บ้านต่างๆ เช่นบ้านกงพราน มาจากนายกงพาน บ้านพรานงัวมาจากนายพรานชื่องัว   หรือบ้านพรานงู และพรานซ่อน
การไล่ล่ากระรอกดังกล่าวเป็นที่มาของตำนานชื่อหมู่บ้านต่างๆรอบหนองหาน การไล่ล่ากระรอกเผือกเริ่มตั้งแต่ บ้านอุ่มจาน  เพราะวิ่งผ่านป่าต้นจาน(ทองกราว)  ออกจากบ้านนี้วิ่งไปบ้านโพนทอง จอมปลวกกลายเป็นทอง กระรอกวิ่งเลี้ยวไปทางอื่น เรียกว่าบ้านแชแล ชาวบ้านนายพรานที่ไล่ล่าก็เอาปืนยิงใส่กระรอก เกิดเป็นบ้านเมืองปรังเพราะเสียงปืน แต่ยิงกระรอกไม่เข้ากระรอกไม่ตาย จึงได้ชื่อว่าบ้านดอนคง ต่อจากนั้นก็เข้าไปบ้านคอนสาย เพราะนายพรานใช้หน้าไม้เล็งยิงกระรอกจนสายหน้าไม้ขาด จนต้องแบกคอนกลับไป จากนั้นก็ตามกระรอกไป โดยโยนหิน โยนพริกโยนเกลือ ปาหินใส่กระรอก กลายเป็นบ้านเมืองพรึก จนกระทั่งกระรอกเผือกมาถูกยิงตายที่บ้านพันดอน ชาวบ้านบอกว่าที่ชื่อพนดอนเพราะชาวบ้านและนายพรานวิ่งไล่กระรอกมาพันกว่าดอนแล้ว ก่อนตายกระรอกพังคี อธิษฐานขอให้เนื้อตัวเองมีมากถึง8,000 เกวียน คนทั้งเมืองกินเท่าไหร่ก็ไม่หมดสิ้น และใครที่กินก็ขอให้พบกับหายนะภัยพิบัติเป็นไปต่างๆ  จากนั้นก็นำเนื้อกระรอกมาชำแหละที่บ้านเชียงแหว โดยแจกจ่ายให้ชาวบ้านายพราน ทหาร คนในเมืองรวมถึงธิดาไอ่คำ ทั้งปิ้งย่าง ทำลาบกก้อย ต้มเลี้ยงกันรวมถึงเจ้าเมืองขอมและนางไอ่คำ ยกเว้นพวกแม่ม่ายที่ไม่มีสามีเพราะไม่ได้ช่วยทำงานจึงไม่ได้รับส่วนแบ่งหรือได้กินเนื้อกระรอก
ฝ่ายบริวารของพังคีก็นำความไปบอกแก่สุทโธนาค สร้างความโกรธแค้นให้สุทโธนาค และยกทัพจากเมืองบาดาลตั้งไพร่พลอยู่ที่ห้วยหมากแข้งปัจจุบันคือห้วยหมากแข้ง และแปลงมาเป็นขอนไม้อยู่บริเวณหนองขอนกว้างปัจจุบันคือบ้านหนองของกว้าง  บ้างก็แปลงเป็นหินกลิ้งลงมา ปัจจุบันคือบ้านคำกลิ้ง จุดนี้เองที่เป็นที่มาของการเกิดแม่น้ำสายต่างๆ รวมถึงหนองหานกุมภวาปี จากการโจมตีของไพร่พลนาค ต่อมนุษย์ โดยบ้านแรกที่ถล่มล่มจมคือบ้านเมืองหล่มในปัจจุบัน เมื่อบ้านเมืองเกิดความสั่นสะเทือนจากนาคที่ดั้นพื้นดิน บรรดาข้าวของถ้วยชามในบ้านเรือนก็หล่นลงมาแตก กลายเป็นห้วยไพจานและบ้านไพจาน  พญานาคโกรธก็พ่นไฟออกมา กลายเป็นห้วยโพนไฟ  ข้างฝ่ายผาแดง เมื่อได้ยินข่าวก็ควบม้าชื่อบักสามมาหานางไอ่เพื่อพานางหลบหนี นางไอ่รีบหยิบฉวยสิ่งของติดตัวมาด้วยสามอย่าง คือฆ้อง แหวน และกลอง  แต่ระหว่างทางเนื่องจากของมีมากเกินไปทำให้การหนีเป็นไปด้วยความยากลำบาก  ผาแดงจึงบอกให้นางไอ่ทิ้งฆ้องลงไป เกิดเป็นห้วยน้ำฆ้องในเขตตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปีปัจจุบัน และต่อมาก็ทิ้งกลองลง ปัจจุบันคือห้วยกองสี ในในเขตเดียวกับห้วยน้ำฆ้อง ระหว่างที่หนีม้าบักสามก็พาดตกลงไปทำให้อวัยวะของมันขูดดินเกิดเป็นห้วย ในปัจจุบันคือห้วยสามพาด ที่เป็นชื่อหมู่บ้านและตำบลในกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานีด้วย จนเมื่อมาถึงบริเวณที่พังคีเข้ามาชิงเอานางไอ่ลงไปใต้พื้นดิน ก็คือบริเวณห้วยลักนาง ในเขตอำเภอกุมภวาปี ในปัจจุบัน ทำให้ท้าวผาแดงเสียใจอย่างยิ่งและขี่ม้ากลับไปที่เมืองผาโพง แต่พญานาคพังคีก็มาแย่งชิงแหวนของนางไอ่จ่ากผาแดงไป เกิดเป็นหนองแหวน ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเพ็ญ บ้านเมืองต่างๆก็ล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ และมีดอนที่ไม่ถูกนำท่วมเหลือเพียงดอนเดียว ที่เรียกว่า ดอนแม่ม่ายหรือดอนแก้วในปัจจุบัน  เพราะแม่หม้ายไม่ได้กินเนื้อกระรอก ปัจจุบันก็คือหมู่บ้านดอนแก้ว ที่ตั้งวัดพระธาตุดอนแก้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของเมืองหนองหาน
ดังนั้นเรื่องเล่าดังกล่าวจึงสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของชุมชน การตั้งบ้านเมือง การเกิดเป็นหนองน้ำ ลำห้วยต่างๆ ที่ชาวบ้านบริเวณลุ่มน้ำหนองหานอธิบายถึงความเป็นมาของชุมชน และข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับหนองหาน ในฐานะแหล่งน้ำที่มีความสำคัญในตำนาน และการดำรงชีวิต ผ่านการเพาะปลูก การทำการประมง เก็บบัวและเลี้ยงสัตว์ บริเวณหนองหาน รวมถึงความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่สัมพันธ์กับลุ่มน้ำหนองหาน เช่นการไม่ร้องเพลงตำนานผาแดงนางไอ่ในหนองหาน เวลาลงเรือหาปลา การไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงหนองหาน การจัดประเพณีแข่งเรือ การทำบุญให้คนตายในหนองหาน หรือการใช้น้ำจากหนองหานพิธีกรรมสำคัญ เช่นสรงน้ำพระ ผู้อาวุโส ในบุญผะเวส การจุดบั้งไฟ บริเวณลานกว้างใกล้หนองหานหรือขบวนแห่บั้งไฟที่จะต้องมีหนุ่มสาว ชายหญิงคู่หนึ่งเพื่อแทนผาแดงนางไอ่ และการทำกระรอกเผือกเป็นสัญลักษณ์ของพังคี เป็นต้น ตำนานผาแดงนางไอ่จึงมีความสัมพันธ์กับชุมชนต่างๆรอบหนองหาน ผ่านสัญลักษณ์สิ่งศักดิ์ของพื้นที่ เช่น มหาธาตุเจดีย์ พระธาตุบ้านเดียม หลวงปู่ก่ำ พระธาตุดอนแก้ว ที่มีพิธีกรรมที่เกี่ยวพันกับน้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการทำการเกษตรและหนองหาน โดยเฉพาะการจัดบุญบั้งไฟ


ตำนานผาแดงนางไอ่ ความจริงที่ปรากฏผ่านการปฏิบัติของคนในพื้นที่
    ความจริงเกี่ยวกับตำนานหนองหาน กุมภวาปี นอกจากจะสะท้อนผ่านการบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่แล้ว  ยังถูกยืนยันผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน  ที่คนในท้องถิ่นให้ความเคารพนับถือในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางพิธีกรรมความเชื่อและความเป็นหนึ่งเดียวกันของชุมชน ที่สัมพันธ์กับหนองหานน้อยหรือหนองหานกุมภวาปี ดังเช่น ศาลพระยาขอม ผู้ครองเหมืองเอกชะธีตาหรือหนองหานน้อยในอดีต ซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านเชียงแหว ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า "พ่อใหญ่"  "พ่อใหญ่ดอนยาง" หรือ "พญาขอม" โดยสาเหตุที่เรียกว่าดอนยาง ก็เพราะว่า ที่ตั้งของศาลพระยาขอม อยู่บนดอนซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่า มีวัดเก่าที่เรียกว่าวัดดอนยาง ก่อนที่ชาวบ้านจะย้ายเข้ามาอยู่กับบ้านใหญ่หรือบ้านเชียงแหวเมื่อปี พ.ศ. 2507  เนื่องจากเป็นหมู่บ้านเล็กจึงถูกโจรขโมยวัวควายของหมู่บ้านตลอดเวลา ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ดอนยาง  ซึ่งเป็นดอนผีปู่ตาของชาวบ้าน  และอยู่ห่างจากชายฝั่งหนองหานไม่ถึง 500 เมตร นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าปู่ผาแดง ในบริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเชียงแหว ซึ่งเปรียบเสมือนกับหลักบ้าน หลักเมืองของชุมชน ดังที่ชาวบ้านเล่าว่า
"สมัยรัชกาลที่สาม มีครอบครัวอพยพมาจากเมืองมัญจาคีรี หัวหน้ากลุ่มชื่อชาญ ภรรยาชื่อนางลา ได้อพยพมาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่บ้านเชียงแหว  มีบุตรคนหัวปีชื่อตาเสริฐ  ซึ่งได้รับศักดินาเป็นหมื่นประเสริฐ  ต่อมาก็มีการอพยพมาอยู่กันมากขึ้น ทั้งจากหนองหาน จากบ้านแชแล ต่อมาก็ปรึกษากันว่าหมู่บ้านน่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน  จึงได้พร้อมใจกันเชิญเจ้ามเหศักดิ์ มาตั้งเป็นศาลเทพรักษ์ หักเมืองอยู่ที่บริเวณบ้านเชียงแหว ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของท้าวผาแดง"
หอพระยาขอม  เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนหนองหานให้ความเคารพนับถือ ก่อนที่จะลงหาปลาในหนองหาน จะต้องขอพ่อใหญ่ พญาขอมก่อน เพราะชาวบ้านเชื่อว่าใต้หนองหานมีเมืองโบราณ   จึงต้องมีการบอกกล่าวหรือขอพญาขอมผู้ดูแลหนองหาน  เพื่อให้ท่านช่วยดูแลให้ปลอดภัยและให้หาปลาในหนองหารได้มาก โดยใช้วิธีการปูผ้าขาวม้าลงบนพื้น ต่อหน้าศาลพญาขอม และกล่าวคำขอว่า
"สาธุ ข้า แก่พ่อพญาขอม  หมู่ลูกสิลงนา ไปใส่เบ็ด ใส่ดางตึกแห ในหนองหาน ลูกหลานขอแบ่งปลาไปกิน ไปขายเพื่อเลี้ยงชีพ เลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ขอให้พ่อใหญ่โผดผายแบ่งปันให้แด่ถ่อน"
นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมขอหรือบนบานกับพญาขอมอย่างเป็นทางการ โดยผ่านจ้ำซึ่งเป็นสื่อกลางติดต่อกับพญาขอม ที่เรียกว่า "บ๋ะห่อใหญ่" ซึ่งการบนบานด้วยวิธีนี้มักจะเป็นการขอในเรื่องที่ใหญ่ เช่น ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ให้มีโชคลาภ สอบเข้าเรียนต่อได้หรือขอให้ได้ไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น แต่สำหรับเรื่องของการลงไปหาปลาในหนองหานเพื่อบริโภค ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำพิธีกรรมนี้ แค่ยกมือไหว้และบอกเกล่ากับศาลพระยาขอมก็เพียงพอแล้ว
    ความเชื่อเกี่ยวกับเมืองโบราณใต้หนองหานทำให้ชาวบ้านปฏิบัติต่อลำน้ำหนองหานในฐานะที่เป็นผู้พึ่งพากับหนองน้ำ ที่ใช้ประกอบอาชีพประมงและหล่อเลี้ยงชีวิต ในฐานะของมนุษย์ที่พึ่งพิงกับธรรมชาติ ภายใต้ความเชื่อที่ยึดโยงกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้าน ไม่กล้าที่จะทำการละเมิดหรือล่วงเกินพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้ โดยการทำลายความบริสุทธ์ของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงหนองหาน การบ้วนหรือถ่มน้ำลายลงหนอง หรือแม้กระทั่งการ้องเพลงหรือตำนานผาแดงนางไอ่ ในหนองหาน เป็นต้น การปฏิบัติตามคะลำเหล่านี้จะทำให้ชาวบ้านประสบความสำเร็จในการหาปลาที่หนองหานและมีความปลอดภัยจากอุปัทวเหตุต่างๆในหนองน้ำ แม้ว่าในปัจจุบันหนองหานจะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆที่เข้ามา ทั้งของรัฐภายใต้โครงการโขง ชี มูลเพื่อจัดการน้ำ และโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ของบริษัทข้ามชาติจากแคนาดา ซึ่งจะต้องใช้น้ำจากหนองหานในกระบวนการต่างแร่ ทำให้พื้นที่หนองหาน เข้าไปสัมพันธ์ในการต่อสู้เคลื่อนไหวกับบริษัทข้ามชาติ ผ่านตำนานท้องถิ่นที่ชาวบ้านยึดถือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ตำนานกระรอกเผือก ความสัมพันธ์กับเกลือและโปแตชในแผ่นดินอีสาน กับความหายนะที่ถูกนำมาอธิบายผ่านเรื่องเหมืองแร่
นิทานเรื่องผาแดงนางไอ่ เป็นเรื่องราวที่แพร่หลายและสั่งสมกันมาจากประสบการณ์ ที่ถูกบอกเล่าถ่ายทอดสืบกันมาหลายชั่วคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นมิติที่สำคัญ 3 ด้าน คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสิ่งที่เหนือธรรมชาติ โดยจำแนกเป็น ผาแดงนางไอ่ ผู้เป็นมนุษย์เพศชายและเพศหญิง สิ่งที่เหนือธรรมชาติ คือนาคา ผู้อาศัยอยู่ในน้ำหรือใต้พื้นโลก และหนองน้ำขนาดใหญ่  โดยมีบั้งไฟเป็นตัวเชื่อม ผ่านการบูชาพญาแถนผู้ให้ฝน เพื่อเสี่ยงทาย และแข่งขันแย่งชิงนางไอ่ ดังเช่น พญาขอม จุดบั้งไฟแตก หรือบั้งไฟไม่ขึ้น ได้แสดงหรือบ่งบอกความหมายถึงหายนะที่จะเกิดขึ้นกับเมืองและนำไปสู่โศกนาฏกรรมในช่วงต่อมา  โดยธรรมชาติมนุษย์จะไม่กินสัตว์ที่ถูกห้ามไว้ไม่ให้กิน เช่นพญานาค ซึ่งเป็นกึ่งสัตว์กึ่งเทพและคนเพราะสามารถแปลงกายเป็นมนุษย์หรือสิ่งอื่นๆได้ อีกทั้งยังเป็นเจ้าบาดาล การแปลงกายเป็นกระรอกเผือกของพังคีจึงเป็นสิ่งที่สร้างให้มนุษย์สามารถที่จะฆ่าและนำมาเป็นอาหารเลี้ยงกันได้  อีกทั้งเนื้อของพังคีสามารถมีจำนวนได้มากมายกินกันได้ไม่มีวันหมด ผู้ที่ทำงานและใช้แรงงานจากการไล่ล่าก็จะได้กินเนื้อกระรอก ในขณะที่หญิงม่าย ที่เป็นเสมือนผู้ไร้ประโยชน์และไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ กลายเป็นผู้ที่ถูกกีดกันออกไปจากชุมชน นั่นคือ การไม่ได้กินเนื้อกระรอก อันนำมาสู่การสูญเสียหรือล่มสลายของที่อยู่อาศัยมนุษย์ และเปลี่ยนแปลงไปสู่การกลายเป็นหนองน้ำ
ในปัจจุบันชาวบ้านพูดถึงเรื่องเหมืองแร่โพแทชและเกลือ ผ่านตำนานพื้นบ้านผาแดง-นางไอ่และการเกิดของหนองหาน ที่ถูกนำกลับมาพูดอีกครั้งในสถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน ภายใต้โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี โดยเปรียบเทียบกับเรื่องของพญานาค ดั้นพื้นดินเป็น "อุโมงค์" ที่ทำให้บ้านเรือนถล่มจมอยู่ใต้ "บาดาล"  สาเหตุก็เนื่องจากพังคีซึ่งเป็น "กระรอกเผือก" ซึ่งเปรียบเสมือน "เกลือโพแทช"  ซึ่งเป็นทรัพยากรใต้พื้นดินที่สร้างความเสียหายให้กับคนในพื้นที่
หากเรามองว่าตำนานผาแดงนางไอ่ เป็นสนามหรือพื้นที่ของวาทกรรมชุดต่างๆที่เกาะเกี่ยวและประกอบเข้ามาเป็นตำนานที่อธิบายว่าด้วยความล่มสลายของชุมชนจนเกิดเป็นหนองหาน เราก็จะเห็นภาพสะท้อนของวาทกรรมชุดต่างๆที่กำลังต่อสู้กันอยู่ในปัจจุบันระหว่างฝ่ายบริษัทและชาวบ้านต่อโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาของตำนาน ดังนี้คือ
1.กระรอกพังคีซึ่งเป็นลูกพญานาคที่อาศัยอยู่ใต้บาดาล แทนความหมายของเกลือและโพแทช ใต้พื้นดินอีสาน
2.การแบ่งเนื้อกระรอก ซึ่งแทนนัยของการแบ่งปันผลประโยชน์  ที่ชาวบ้านกลุ่มต่างๆต้องการจะได้รับและคนที่เห็นด้วยกับบริษัทหรือช่วยผลักดันหรือสนับสนุนให้โครงการเกิดขึ้นก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ดังเช่นชาวบ้านจากเมืองต่างๆ ที่ช่วยกันล่ากระรอกเผือก
3.หายนะของเมืองเอกชะธีตา คือความหายนะ หรือความล่มจม จากการกินเนื้อกระรอกพังคี ทำให้บ้านเมืองถล่มจมลงกลายเป็นหนองหานในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของชุมชนที่เกิดจากเรื่องผลประโยชน์ของการพัฒนา
4.กลุ่มหญิงม่ายที่ไม่ได้กินเนื้อกระรอกพังคี ทำให้บ้านเมืองไม่ล่มจม ซึ่งชาวบ้านอ้างสิทธิที่จะเลือกเอาหรือไม่เอาโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี การไม่เอาก็เท่ากับการไม่กินเนื้อกระรอก ซึ่งทำให้บ้านเมืองก็ไม่เกิดการล่มจม รวมถึงการแบ่งปันส่วนแบ่งที่ไม่เท่าเทียม แต่หายนะและผลกระทบที่เกิดขึ้น กับตกอยู่กับทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ แม้จะไม่ได้กินเนื้อกระรอกก็ตาม
ดังนั้นเกลือและโพแทช จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกบอกเล่าผ่านนิทานกลอนลำ หมอลำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติ ซึ่งทำให้เรื่องของเหมืองแร่โพแทช กลายเป็นเรื่องของท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับการเมืองและนโยบายในระดับประเทศ   และกลายเป็นประเด็นที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางธรณีวิทยาและความรู้เรื่องวิศวกรรมเหมืองแร่ ไม่สามารถเข้ามาสร้างความรู้ความจริงให้กับชาวบ้านในพื้นที่โดยง่าย แต่กับถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างกว้างขวาง คำอธิบายของบริษัทข้ามที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอันทันสมัยที่บริษัทข้ามชาติเชื่อมั่นว่าจะสามารถป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ใต้ดิน แต่ในทางตรงกันข้ามความหายนะดังกล่าวชาวบ้านเชื่อว่ามันเกี่ยวข้องกับพญานาคและกระรอกเผือก ซึ่งก็คือเกลือและโพแทชใต้พื้นดิน ที่บริษัทข้ามชาติพยายามจะขุดขึ้นมาใช้  อันจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนในอนาคต
นิทานปรัมปราเรื่องผาแดง นางไอ่ จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านบอกเล่าเกี่ยวกับความหายนะและการล่มสลายของหนองหานกุมภวาปี  ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ชาวบ้านใช้เทียบเคียงกับกรณีของการขุดเจาะเหมืองใต้พื้นที่ ดังที่ผู้ศึกษาได้พบว่า ชาวบ้านมักจะพูดว่า "มันคงถล่มลงมาเหมือนหนองหาน เหมือนตำนานที่คนเฒ่าคนแก่บอกไว้" และต่อมาคำอธิบายเหล่านี้ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดย นักพัฒนา นักวิชาการท้องถิ่น และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีในบรรดาแกนนำที่ขึ้นไปพูดตามเวทีต่างๆที่ใช้อธิบายถึงเหตุการณ์ความหายนะของพื้นที่ในอดีต และผลิตซ้ำความคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับนิทานปรัมปราในสถานการณ์ปัจจุบันอีกครั้ง ดังเห็นได้จากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีและนักพัฒนาเอกชน ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับทุนข้ามชาติ และเพื่อเผยแพร่กับคนในพื้นที่โครงการ ตำนานเกี่ยวกับผาแดง นางไอ่ จึงถูกนำมาเป็นสิ่งที่บอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวผ่านหมอลำหรือกลอนลำ เพราะคนในพื้นที่มีการรับรู้และเข้าใจกับตำนานดังกล่าวอยู่แล้วและหมอลำคือศิลปะหรือความบันเทิงที่คนอีสานชื่นชอบ และคนที่นี่เชื่อว่าตำนานนี้คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของพวกเขาเมื่อครั้งอดีต ดังตัวอย่างเนื้อหาบางตอนในกลอนลำที่แต่งโดยพ่อบุญยัง แคนหนอง ขับร้องโดยแม่ติ้ม แคนหนอง ชาวบ้านบรบือ จังหวัดมหาสารคามว่า

"...ทองคำขาวในพื้นถือเป็นกระรอกด่อน นิทานมีแต่ก่อนตอนหนองหานสิล่ม เป็นย้อนไอ่คำ ชิ้นกระรอกน้อยได้แปดพันเกวียน กินเหมิดเมืองอิ่มพุงเต็มท้อง กินหมดแล้วดินพังหลุบหล่ม ยังแม่ฮ้างแม่หม้ายทั้งสิ้นบ่ได้กิน ชิ้นกระรอกนี้เปรียบดังคือเกลือมันอยู่ในบาดาลดั่งนิทานเขาเว้า พังคี เจ้าเป็นลูกนาค หากแม่นเกลืออยู่พื้นเมืองท่วมจั่งเห็น เปรียบเสมือนดังเช่นหนองหานใหญ่ เมืองอุดรธานีเป็นนครบาดาล ดั่งนิทานว่าเว้าเกลือโตต่อนเป็นชิ้นของท้าวพังคี กระรอกด่อน ตีความหมายเอาเองแม่จริงไหม ตามนิทานกล่าวไว้ โตต่อนเกลือละท่าน ระวังท่วม...มองความหมายให้แจ้งแฝงอยู่นำนิทาน…."

 เช่นเดียวกับที่ชาวบ้านในพื้นที่สะท้อนความคิด ความเชื่อ เกี่ยวกับตำนานพื้นบ้านที่พวกเขารับรู้และเชื่อมโยงกับความรู้ที่เขาได้รับจากโครงการเหมืองแร่โปแตชที่กำลังจะเกิดขึ้น ผ่านการนำประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบ้าน ที่เป็นเรื่องของพิธีกรรม สัญลักษณ์ งานเทศกาลและนิทานปรัมปรา  ดังนั้นประเพณีวัฒนธรรมใหม่ หรือประเพณีประดิษฐ์ ไม่ใช่เรื่องของการสืบทอดอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ แต่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อสร้างอัตลักษณ์กับแต่ละกลุ่มหรือรับใช้อุดมการณ์บางอย่าง  เช่นเดียวกับการเชื่อมร้อยขององค์ประกอบของวาทกรรมในสถานการณ์ที่เฉพาะหนึ่งๆ เมื่อบริบทเปลี่ยนไป คำนิยามหรือความหมายก็เปลี่ยนแปลงไป ดังเช่นที่ชาวบ้านบอกเกี่ยวกับตำนานผาแดงนางไอ่ ว่า

"เราเคยได้ยินแต่ตำนานหนองหานล่มเมื่อสมัยโบราณ ซึ่งเป็นตำนานที่เล่ากันมาช้านาน ที่มีพญานาคมุดดินเพื่อตามไล่ล่าผาแดง นางไอ่ จนทำให้แผ่นดินที่พญานาคมุดดินลงไป ล่มสลายกลายเป็นบึงหนองหานที่คงให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ก็แค่พญานาคตัวไม่ใหญ่ ตัวเดียวยังสามารถทำให้แผ่นดินถล่มบ้านเมืองจมใต้ดินได้ จนกลายเป็นบึงหนองหานที่กว้างใหญ่ไพศาล และตอนนี้จะขุดอุโมงค์ลึกลงไปใต้ดินไม่รู้กี่เมตร ไม่รู้กว้างแค่ไหน แล้วทำไมดินจะไม่ยุบ กลัวเหลือเกินว่า ขุดดินทำเหมืองแร่ครั้งนี้ จะกลายเป็นหนองหานล่มครั้งที่สองแล้วชาวบ้านจะอยู่อย่างไร"

"เขามาเจาะแร่ เป็นโพรง คงจะเหมือนพังคีดั้นพื้น พญานาคดั้งพื้น คือเมืองหนองหานแต่ก่อน เขาขุดเอาเกลือใต้ดินออกไปหลาย บ้านเรือนคือจะจมลงใต้พื้นดิน ไม่รู้ว่าจะอพยพเอาลุกเอาหลานไปอยู่ที่ไหน คงจะเป็นเมืองร้างคือจั๋งหนองหาน ตามตำนาน หรือแต่เมืองแม่ม่าย"

"เชื่อตำนานเพิ่นว่าไว้ ปู่ย่าตายายเล่าต่อกันมา ตั้งแต่เป็นเด็ก ตำนานผาแดงนางไอ่ ตำนานเมืองล่ม เมืองหนองหานย้อนเพราะว่าโลภอยากได้กระรอก อยากกินเนื้อกระรอก คือจั๋งเฮาอยากขุดแร่ เอาแร่ใต้พื้นดินเฮาไปขาย เขาขุดเจาะหมดทุกที่ เป็นรู เป็นโพรงข้างล่าง บ้านเมืองก็จะถ่มลงไป ทุกมื้อนี้ได้ยินว่าเขาสิมาขุดแร่ นอนกะน้ำตาไหล นอนบ่หลับย่านดินมันสิถล่ม ลูกหลายสิอยู่จั๋งใดจะย้ายหนีไปอยู่หม่องใด๋"

 "เป็นตำนานที่เป็นของจริง ไม่ใช่นิทานปรัมปรา ว่าหลักฐานหยังแหน่ เช่นห้วยสามพาด ถ้าสร้างเหมือง มันมีสิทธิ์ที่จะถล่มลงมา คือจั๋งผาแดง เกิดแผ่นดินไหวคือจั๋งอินโดนีเซีย คั่นขุดขึ้นมา มันเป็นโพรงเฮ็ดจั๋งใด๋มันสิบ่ถล่ม เมือกะสิถล่มคือจั๋งหนองหาน"

ตำนานผาแดงนางไอ่ เป็นสิ่งที่ถูกบอกเล่าสืบมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งความน่าสนใจของมันคือสิ่งที่มันปรากฏออกมาจากความดั้งเดิม ที่ผ่านการพูด บทสนทนา   การประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ของคนในท้องถิ่น นักพัฒนา ผ่านคำอธิบายหรือกลอนลำของหมอลำในหมู่บ้านที่เชื่อมโยงกับเรื่องเหมืองแร่เพื่อการต่อสู้ระหว่างความคิดทางวิทยาศาสตร์แบบกระแสทุนนิยม ที่เข้ามาอธิบายเรื่องการทำเหมืองในชุมชนกับโลกทัศน์แบบพื้นบ้านท้องถิ่นที่ถ่ายทอดผ่านการเล่านิทานปรัมปรา จากปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นปู่ย่าตายาย สู่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ และจากรุ่นพ่อรุ่นแม่สู่รุ่นลูกสืบต่อกันมา   ดังที่ชาวบ้านบอกว่าความเชื่อและเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานผาแดงนางไอ่มีมานานแล้ว และในปัจจุบันชาวบ้านที่หนองหานก็ยังคงเล่าเรื่องนี้ โดยเชื่อมกับความศักดิ์สิทธิ์ของตำนาน การตั้งบ้านแปลงเมือง เมืองโบราณที่อยู่ใต้น้ำ ดอนกลางน้ำ ลำห้วย และชื่อหมู่บ้านต่างๆที่มีปรากฏอยู่ในตำนานที่ถูกบอกเล่า ได้ทำให้ชาวบ้านให้ความเคารพต่อหนองหาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิต และการทำอาชีพประมง หาปลาทำปลาร้าเพื่อการบริโภคและเพื่อขาย รวมถึงการจัดประเพณีพิธีกรรมที่ทีความสำคัญต่อการทำการเกษตรของชุมชนในช่วงเดือนห้าเดือนหก (พฤษภาคม-มิถุนายน) ของทุกปี หรือบางหมู่บ้านก็จัดสามปีติดต่อกันก่อนที่จะเว้นวรรคในปีถัดไป เนื่องจากการทำบุญบั้งไฟ จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก และใช้แรงงานคนในการเตรียมงานจำนวนมาก ตั้งแต่ทำบั้งไฟจุด ตกแต่งบั้งไฟเอ้ ซ้อมรำเซิ้ง เป็นต้น อีกทั้งยังต้องใช้ความร่วมมือสามัคคีกันในการจัดงานเพราะเป็นพิธีกรรมที่จัดร่วมกันระหว่างชุมชนต่างๆ
ถึงแม้ว่าปัจจุบันการจัดงานบุญบั้งไฟ จะไม่ใช่เพื่อการเสี่ยงทายเรื่องฟ้าฝนซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นการจัดงานเพื่อการท่องเที่ยว มีการแข่งขันการจุดบั้งไฟ มีการประกวดขบวนแห่ มีประกวดนางบั้งไฟ โดยปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่เป็นงานของชุมชนหมู่บ้าน แต่องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลจะเข้ามาร่วมจัดและให้งบประมาณให้กับหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ในการจัดและตกแต่งขบวนแห่ เช่นงานบั้งไฟของตำบลอุ่มจาน ตำบลห้วยสามพาด ซึ่งอยู่ในเขตลุ่มน้ำหนองหาน หรือตำบลโนนสูง แต่ระบบสัญลักษณ์บางอย่างที่ใช้ในพิธีบั้งไฟ ไม่ว่าจะเป็นบักแด่น ปลัดขลิก บั้งไฟเอ้ บั้งไฟจุด หรือบั้งไฟเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่ สัญลักษณ์ที่ผู้ศึกษาเห็นอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ก็คือ ในพิธีดังกล่าวจะต้องมีตัวแทนของหนุ่มสาวชายหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของผาแดงและนางไอ่ ที่จะนั่งอยู่บนม้าไม้ซึ่งใช้แทนม้าบักสาม  และมีการทำกระรอกเผือกสีขาวแทนพญานาคพังคี  ที่หลงรักนางไอ่และแปลงกลายเป็นกระรอกเพื่อจะได้เข้าใกล้นางไอ่ จนเป็นที่มาของโศกนาฏกรรม บ้านเมืองถล่มล่มจมกลายเป็นหนองหานในปัจจุบัน
ความเชื่อต่อตำนานดังกล่าวได้สืบทอดสู่วิถีชีวิตประจำวันที่สะท้อนผ่านการปฏิบัติต่อแม่น้ำ การเคารพธรรมชาติโดยการไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ การไม่ร้องเพลงหนองหานที่เล่าถึงตำนานผาแดงนางไอ่ หรือไม่พูดเกี่ยวกับตำนานผาแดงนางไอ่เมื่ออยู่ในหนองน้ำ เพราะเชื่อว่าจะเกิดภัยพิบัติ  เกิดลมพายุพัดให้เรือจม ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงเชื่อและปฏิบัติกันอยู่ และทำให้ลุ่มน้ำหนองหานยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ได้ รวมถึงเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความเชื่อเกี่ยวกับตำนานท้องถิ่นซึ่งเป็นเสมือนกฎเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้คนในชุมชนอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล กำลังถูกท้าทายด้วยความรู้สมัยใหม่ที่เป็นเหตุผลในเชิงของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงตัวบท กฎหมายต่างๆที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการจัดการทรัพยากร การควบคุมความคิด โลกทัศน์และการปฏิบัติของคน ต่อวัตถุและพื้นที่ในปัจจุบันอย่างมากมายเพียงใดก็ตาม
ดังนั้นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับตำนานพื้นบ้านผาแดงนางไอ่ก็คือ ความหมายของมันไม่ได้ดำรงอยู่อย่างถาวรแต่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ในฐานะยุทธศาสตร์และเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง ความน่าสนใจของตำนานจึงไม่ใช่ในแง่ความพิลึกพิสดารของเหตุการณ์ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในผู้เล่าแต่ละคน ในรูปแบบของนิทานที่เป็นคำบอกเล่า คำกลอนหรือหมอลำ ซึ่งเป็นเสมือนความจริงที่ออกมาจากจุดเริ่มต้นที่ถูกผลิตซ้ำ กล่าวซ้ำ อยู่ตลอดเวลาในแต่ละยุคสมัย ความหมายของตำนานผาแดงนางไอ่ จึงมีความเลื่อนไหล ทั้งในนัยของประวัติศาสตร์ชุมชน การกำเนิดหนองน้ำ หมู่บ้าน ความสัมพันธ์กับประเพณีบั้งไฟ ความเชื่อในเรื่องพญานาค พญาแถน จนมาถึง ความสัมพันธ์กับเรื่องของเกลือและเหมืองโพแทช ที่เชื่อมโยงกับความเชื่อชุดต่างๆที่ถูกบอกเล่า เช่น ความรู้ที่บอกว่าใต้หนองหานเป็นโดมเกลือขนาดใหญ่ ขุดลงไปเมตรสองเมตรก็เจอเกลือ หรือ สิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทช บอกว่า กระรอกด่อน ก็คือโพแทชหรือเกลือ การเข้ามาของคนต่างชาติตะวันตกผิวขาว ที่อาจจะสร้างหายนะให้กับชุมชน  ในสถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน ตำนานพื้นบ้านถูกเชื่อมโยงเข้ากับกรณีปัญหาเหมืองแร่โพแทช ภายใต้เทคนิคการทำเหมืองแร่แบบใหม่ในทางวิศวกรรม ที่เรียกว่า "เหมืองอุโมงค์" หรือ "พญานาคกำลังดั้นพื้นดินให้บ้านเมืองสั่นสะเทือน"  ซึ่งทำให้ความเชื่อ ความรู้พื้นบ้านนี้ ได้กลายมาเป็นความจริงและความเข้าใจของคนในพื้นที่รอบๆโครงการเหมืองแร่โพแทช ที่มีความสัมพันธ์กับลุ่มน้ำหนองหาน และที่สำคัญตำนานชุดนี้ก็ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเหมืองแร่โพแทชที่จะเกิดขึ้น เป็นภัยพิบัติที่น่าหวาดกลัวของคนในพื้นที่ ที่ยังไม่มั่นใจต่อโครงการและไม่สามารถยอมรับกับโครงการที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มทุนข้ามชาติไม่สามารถที่จะดำเนินโครงการเหมืองแร่ได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้และความรู้เรื่องเหมืองแร่ วิธีการขุดเจาะที่ทันสมัย ที่บริษัทอธิบายกับชาวบ้านในพื้นที่ ได้ถูกปฏิเสธตลอดเวลาในช่วงของการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว จนทำให้บริษัทเอพีพีซี ต้องล้มเลิกแผนการลงทุนในประเทศไทยลงไปและขายหุ้นของบริษัทให้กับบริษัทอิตาเลียนไทยเข้ามาดำเนินกิจการแทนในเวลาต่อมา


หนังสืออ้างอิง
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร
2545    สัญวิทยา ,โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์  . กรุงเทพฯ : วิ  ภาษา.
ปิยะพร
2519    "นาคเมืองหนองแส นาคเมืองหนองหาน" เมืองโบราณ. ปีที่ 2 ฉบับที่4 (กรกฎาคม  -กันยายน) 61-63.
ปริตตา เฉลิมเผ่า กอ อนันตกูล
    2533 "เค้าโครงความคิดเรื่องโครงสร้าง ในการศึกษานิทานปรัมปรา ของโคลด เลวี่-เสตราส์" วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่17 ฉบับที่1 (มิถุนายน)45-79.
ปรีชา พิณทอง
2524    วรรรคดีอีสานเรื่องผาแดง-นางไอ่. อุบลราชธานี :  ศิริธรรม.
                      
นิวัฒน์ พูนศรี
2522    เรื่องไทยลาว-อีสาน . อุดรธานี:ภาคอีสานอุดรธานี.

พระอธิการอาทิตย์ อนาลโย
2543    "กำเนิดเมืองหนองหาน" และตำนานรัก ผาแดง-นางไอ่ ใน พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หลวงปู่ก่ำพันปี .อุดรธานี :ภาคอีสาน.
2544  
ศรีศักร วัลลิโภดม
2522   "เขตสะสมก่อนพุทธศตวรรษที่19 ในอีสานเหนือ" วารสารเหมืองโบราณตุลาคม-       พฤศจิกายน  2522  และ "อุดรธานี หนองคาย แหล่งโบราณคดีที่ถูกลืม."

ละไม
2538     "นาค...น้ำ ผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์แห่งชีวิต"  กินรี ปีที่12 ฉบับที่6 (มิถุนายน )         66- 70.
สยามอารยะ
2538    "ท่องตำนานเวียงหนองล่ม จมน้ำนับพันปี นามโยนกนาคบุรีศรีเชียงแสน" สยามอารยะ.  ปีที่3 ฉบับที่30  (กรกฏาคม) 28-33.

สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนากิติอาษา
2533    สัญลักษณ์สำคัญในบุญบั้งไฟ : การวิเคราะห์และตีความหมายทางมานุษยวิทยา.ขอนแก่น :ห้องปฏิบัติทางมานุษยวิทยาของอีสาน,ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา,คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์,มหาวิทยาลัยของแก่น.

1 ความคิดเห็น:

  1. คักๆๆ ลูกบ้านพันดอนแท้ๆจัั่งผมกะบ่ฮู้หลายปานนี้เด้อครับเด้อ

    ตอบลบ