วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

ทุนทางวัฒนธรรมกับแนวทางจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดและกระบวนการทำวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า
แนวคิดในเรื่องของระบบทุนนิยม ที่เน้นรูปแบบการผลิตและการค้าเชิงพาณิชย์ โดยนำปัจจัยการผลิตที่สำคัญต่างๆมาใช้และมีการเชื่อมโยงกับระบบตลาด ระบบโลก ได้เข้าสู่ประเทศไทยอย่างเต็มตัว เป็นครั้งแรก ในช่วงของสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 ที่กระแสของลัทธิล่าอาณานิคม (Colonaillization)เข้ามาพร้อมกับกระบวนการทำให้เป็นตะวันตก (Westernization)และกระบวนการทำให้ทันสมัย(Modernization) สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยมิอาจหลีกเลี่ยงในการรับแนวคิดและอารยธรรมตะวันตกมากขึ้น ภายใต้นโยบายการเปิดประเทศ (Free Trade) เพื่อติดต่อค้าขายกับตะวันตก และส่งออกสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรรมของไทย โดยมีนัยทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องรอง แต่ประเด็นหลักก็คือ เรื่องของเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ดังนั้นไทยจึงต้องสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศตะวันตก ซึ่งภายใต้นโยบายเปิดประเทศนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังทำให้สังคมไทย มีการเปิดรับอารยธรรมและแนวคิดจากตะวันตกมากขึ้น มีการเรียนรู้จากการเดินทางค้าขายกับต่างประเทศ การส่งลูกหลานไปเรียนต่อต่างประเทศของชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย หรือเรียนรู้จากชาวต่างประเทศที่เข้ามา ทำให้วัฒนธรรมไทยเริ่มมีการปรับตัว มีการรับและผสมผสานทางวัฒนธรรมอื่น อยู่ตลอดเวลาซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะผ่านทางชนชั้นผู้นำของไทยก่อนเป็นลำดับต้นๆ ก่อนที่จะกระจายมาสู่ประชาชนทั่วไป
ภายใต้การเติบโตของระบบทุนนิยมโลก ซึ่งได้มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สืบเนื่อง มาจากการปฎิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากระบบเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม โดยมีประเทศต้นแบบ หรือประเทศเจ้าของอาณานิคม ที่เป็นModel ที่ทุกประเทศที่อยู่ในโลกจะต้องก้าวตามอย่าง เพื่อยกระดับตัวเองสู่มาตรฐานที่ประเทศพัฒนาเหล่านั้นได้กำหนด ประเทศต่างๆในซีกโลกโลกออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา อันนี้นับได้ว่าเป็นแรงขับที่สำคัญ ในการผลักดันให้ประเทศต่างๆ มุ่งไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม นำทรัพยากรธรรมชาติต่างๆที่มีภายในประเทศเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว มีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยจำพวกเครื่องจักร มาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น แทนการใช้แรงงานมนุษย์ ทำให้เกิดอัตราการว่างงานสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ได้นำมาซึ่งปัญหาในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และสังคมของประเทศพัฒนาเหล่านี้ ทำให้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของสังคมอุตสาหกรรมให้กับประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาอื่นๆ ก็เริ่มที่จะคิดและตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ในประเทศของตนมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้มันมีความสัมพันธ์กับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของมนุษยชาติ ดังนั้นประเทศอุตสาหกรรมต้นแบบเหล่านี้ จึงได้ย้ายฐานการผลิตออกสู่ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศดาวบริวาร และประเทศอาณานิคม ที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมบูรณ์มากมาย หรือมีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในกระบวนการผลิต ที่มีผลสำคัญต่อการลดต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้ทำให้เกิดประเทศตัวแทนของประเทศอุตสาหกรรม เช่นญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ก็ได้มีบทบาทในการผลิตสินค้าอุปโภค บริโภคแทนสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก จนในช่วงจนในช่วงปี 2510 ญี่ปุ่นจึงก้าวเข้ามาเป็นผู้นำเอเชีย ในการเป็นแบบอุตสาหกรรม ที่ใช้เครื่องจักรแบบเข้มข้น และได้ส่งผลเกิดประเทศคลื่นลูกใหม่ในการพัฒนาของเอเชีย คือ ฮ่องกง , สิงค์โปร์,ไต้หวัน และเกาหลีใต้ หรือที่เรียกว่า NICs (Newly Industrialized Countries) หรือ Gange of Four เข้ามาทำหน้าที่แทนญี่ปุ่น ในการเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค และดำเนินการด้านยุทธศาสตร์ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้ามาเป็นการผลิตที่เน้นการส่งออก ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้ได้รับอานิสงส์ จากการลงทุนของบริษัทข้ามชาติหรือบรรษัทระหว่างประเทศ และเปลี่ยนโฉมหน้ามาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New Industry Country: NICs)
ในขณะที่กลุ่มประเทศต้นแบบหรืออุตสาหกรรมเก่า ก็ก้าวข้ามจากสังคมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(Industrial Economy) มาเป็นสังคมเศรษฐกิจบริการ(Service Economy) ที่เน้นภาคบริการในการสร้างผลผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลถึงการจ้างงานภายในประเทศด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นการลดทอนภาคอุตสาหกรรม (De-Industrialization) เพื่อให้ภาคบริการเติบโต และเน้นการผลิตที่มีสารสนเทศและเครือข่ายอีเลคทรอนิคเป็นสำคัญ ซึ่งในสภาวะปัจจุบันทุกประเทศต้องเผชิญกับกลยุทธ์ ของการแข่งขัน นโยบายการค้าเสรีและการกีดกันทางการค้า ระหว่างประเทศ อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ได้กล่าวถึงพัฒนาการของทุนหลัก ในระบบทุนนิยมโลก อย่างน่าสนใจว่า การเติบโตของทุนนิยมได้ก่อกำเนิดขึ้นมาในศตวรรษที่15 โดยจุดเริ่มต้นมาจากทุนพาณิชย์ (Commercial Capital) ซึ่งต่อมาเมื่อมีการปฎิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่18 ที่กลุ่มทุนหลักได้พัฒนาจากทุนพาณิชย์ มาเป็นทุนอุตสาหกรรม(Industrail Capital) ซึ่งกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ได้พัฒนากลุ่มการเงิน เนื่องจากอิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่ โดยมีสถาบันการเงินระดับโลก อย่าง ธนาคารโลก( WORLD BANK) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( IMF) เป็นตัวผลักดัน ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศได้อย่างเสรี โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมเก่าหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศในโลกที่3 หรือประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทำให้เกิดแนวนโยบายเสรีทางการเงิน การเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลกและรวดเร็ว เพราะความก้าวหน้าทางด้านสารสนเทศ ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ทุนทางการเงิน ได้ถูกอิทธิพลของทุนที่เหนือกว่า เข้ามาแทนที่คือ ทุนด้านนบริการ ซึ่งทุนการเงินก็เข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของทุนบริการด้วย ซึ่งทุนดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับทุนทางวัฒนธรรมด้วย เนื่องจากทุนทางวัฒนธรรม ก็เป็นทุนที่ฝังรากลึกลงไปทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้วย
ความหมายของทุนทางวัฒนธรรมและการก่อกำเนิดแนวความคิดในประเทศไทย
ทุนทางวัฒนธรรมอาจกล่าวอย่างกว้างๆได้ว่า เป็นสิ่งที่กำเนิดมาพร้อมกับกระบวนการโลกาภิวัฒน์Globalization กระบวนการสากลานุวัตร(Internationalization Universalization) และกระบวนการทันสมัยนิยม(Modernization)ซึ่งทั้ง4 อย่างเกิดขึ้นมาพร้อมกัน เพราะเป็นกระบวนการที่โลกกำลังเข้าสู่ความทันสมัย และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสารถึงกันอย่างรวดเร็ว จนอาจกล่าวได้ว่า โลกกำลังจะเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ระบบทุนนิยม ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภายใต้สภาวะการต่อสู้ ของกลุ่มคนที่พยายามรักษาอัตลักษณ์สร้างอัตลักษณ์ ของตนเองขึ้นมาเพื่อต่อสู้ ต้านทาน กระแสของระบบทุนนิยมโลกที่พัดเข้ามาอย่างเชี่ยวกรากและรุนแรง ภายใต้ความเป็น ชุมชนาภิวัฒน์ หรือท้องถิ่นนิยม ( Localism/Localization) ที่กำลังกล่าวถึงกันอย่างมากมาย ทั้งในวงวิชาการและการเคลื่อนไหว เพื่อค้นหาภูมิปัญญา รากเหง้าของตนเอง เพื่อให้สามารถปรับตัวทางวัฒนธรรม โดยการผสมผสานวัฒนธรรมเดิมเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ หรือรักษาของเดิมที่มีคุณค่าไว้ไม่ให้สูญหายไป โดยนัยของคำว่าทุนทางวัฒนธรรม ดูจะมีนัยที่มีความแตกต่างกัน ในแต่ละสำนักคิด หลักๆ คือสายเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่มองทุนวัฒนธรรมในเชิงเศรษฐกิจ ที่เป็นสินค้า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้เกิดรายได้ ในขณะที่สายวัฒนธรรมชุมชน มองว่าทุนทางวัฒนธรรมก็คือ ต้นทุนแห่งชีวิตที่เป็นจารีต ประเพณี ฮีตสิบสองคองสิบสี่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถทำให้มนุษย์ ชุมชน สังคมเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน
อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึง การก่อเกิดและเติบโตของทุนทางวัฒนธรรมว่า มีปัจจัย 4 ประการคือ
1.กระบวนการแปรวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า (Commmodification /Commoditization of Culture) การทำให้วัฒนธรรมเป็นสินค้าถือว่ามีความสำคัญ เพราะทำให้อุตสาหกรรมสินค้าทางวัฒนธรรมเติบโต โดยการทำให้วัฒนธรรม เป็นสินค้า มีราคา เป็นที่ต้องการของตลาด และผู้บริโภคมีความต้องการที่จะซื้อ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการผลิต สิ่งสำคัญที่จะทำให้วัฒนธรรมเป็นสินค้าโดยสมบูรณ์ก็คือพลังของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่จะผลักดันให้วัฒนธรรมเป็นสินค้าและออกสู่ตลาด ซึ่งตลาดก็เป็นปัจจัยสำคัญ ในการกำหนดราคาของวัฒนธรรม ซึ่งจะผันผวนไปตามระบบกลไกลตลาด และความต้องการของตลาด รวมถึงอรรรถประโยชน์ที่ผู้ซื้อพึงได้ มีการใช้กลยุทธ์ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการขาย เกิดการเลียนแบบการบริโภค และความต้องการวัฒนธรรมใหม่ ที่ต้องผ่านกระบวนการปลูกฝังในสังคมซึ่งเป็นกระบวนการภายใน นอกเหนือจากกระบวนการจากภายนอกที่พยายามทำให้เกิดความเป็นสากลานุวัตรทางวัฒนธรรม(Internationalization of Culture) เพื่อครอบงำวัฒนธรรม
2.พาณิชยานุวัตรของวัฒนธรรม (Commercialization of Culture) คือวัฒนธรรมจะต้องเป็นการผลิตเพื่อขาย ไม่ใช่กินหรือใช้เองเท่านั้น กระบวนการพาณิชยานุวัตร จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ถือว่ามีความสัมพันธ์กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมสินค้าวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถกล่อมเกลาให้ประชาชนยอมรับ
หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การทำทุนวัฒนธรรมให้เป็นสินค้ากับการจัดการของภาครัฐ ภายใต้กระแสทุนนิยมวัฒนธรรมนั้น เช่นการโฆษณาส่งเสริมการขาย การสร้างยี่ห้อ ให้เป็นยี่ห้อระดับโลก (Global Brandname) และการกล่อมเกลาให้ผู้บริโภคมีความจงรักภักดีต่อยี่ห้อ (Brand Royalty) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ
3.เทคโนโลยานุวัตรของวัฒนธรรม(Technologization of Culture) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแลงเรื่องของเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ที่มีผลต่อการถ่ายทอด ความคิดและแบบแผนการดำรงชีวิต ความก้าวหน้าของการปฎิวัติเทคโนโลยีวัสดุภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการประดิษฐ์หรือการสร้างสรรค์วัตถุภัณฑ์สมัยใหม่เข้ามาแทนที่วัสดุภัณฑ์ดั้งเดิม เช่นการผลิตพลาสติก ซีเมนต์ เซรามิก ซึ่งมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และสิ่งแวดดล้อมของมนุษย์ ในเรื่องของสถาปัตยกรรม ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ต่างๆ และเทคโนโลยีชีวภาพ ความก้าวหน้าทางด้านพันธุวิศวกรรม(Genetic Engineering) ที่มีผลต่อการสร้างและปรับโฉมประเภทของอาหาร พืชพันธ์ สัตว์เลี้ยง ที่มนุษย์บริโภค อันเป็นวัฒนธรรมการบริโภค
4.โทรทัศนานุวัตร (Televisionalization of Culture) ซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการคมนาคม และเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้เกิดบริการโทรทัศน์ระหว่างประเทศ อย่างรวดเร็วในทศวรรษที่2510 เป็นต้นมา ความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร ที่สื่อสารถึงกันได้ทั่วโลก โดยใช้ดาวเทียม ผนวกกับเทคโนโลยีการบันทึกภาพที่รวดเร็ว สามารถส่งข่าวข้ามซีกโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่เครือข่ายโทรทัศน์ (Global Network) ซึ่งกระบวนการนี้ได้ทำให้เกิดความเป็นสากลานุวัตรของวัฒนธรรมอเมริกันและยุโรป ในการเผยแพร่ ถ่ายทอด วัฒนธรรมการดำรงชีวิต วิถีการบริโภค ต่างๆ ที่มีผลทำให้ทุนทางวัฒนธรรมแพร่ขยายมากยิ่งขึ้น
ซึ่งอ. รังสรรค์ได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ทุนวัฒนธรรมต้องมีลักษณะ 7 ประการดังนี้
1.เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีนัยทางวัฒนธรรมแฝงฝังอยู่ (Embodied Culture) ซึ่งสินค้าวัฒนธรรมยังรวมถึงบริการด้วย ซึ่งรวมถึงสินค้าทุกชนิดที่มีนัยเกี่ยวกับวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นจารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณี ระบบความเชื่อ ศรัทธา คุณค่า บรรทัดฐาน จริยธรรม แบบแผนในการดำรงชีวิต การบริโภค การพักผ่อน การเล่นกีฬา การแต่งกาย วรรณกรรม สิ่งพิมพ์ เป็นต้น
2.ทุนทางวัฒนธรรมจะมีความสัมพันธ์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ
3.กิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะมีกลุ่มอุตสาหกรรมหยั่งรากถึง มักจะมีการกระจุกตัวของทุนแบบผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติ โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของนโยบายการค้าเสรี
4.กลุ่มทุนวัฒนธรรมมีการผนึกตัวตลอดเวลา เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ด้วยการควบและครอบกิจการ มีการสร้างพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์และทำสัญญาพันธมิตรข้ามประเทศ
5.กลุ่มทุนวัฒนธรรมมีความสำคัญ และมีบทบาทในการผลักดันและทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี การทุ่มรายจ่ายในการวิจัย และพัฒนาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่
6.กลุ่มทุนวัฒนธรรมต้องสร้างอุปสงค์ ต่อสินค้าของตนเสมอ เพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดเอาไว้ โดยการสร้างยี่ห้อระดับโลกและความภักดีต่อยี่ห้อ โดยอาจใช้กลยุทธ์การโฆษณา การสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมต่างๆ เช่นการจัดกีฬา เป็นต้น
7. กลุ่มทุนทางวัฒนธรรม จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศและเป็นผู้นำในกระแสโลกาภิวัฒน์ แต่มักจะมีการทำสัญญาพันธมิตรกับประเทศโลกที่สาม ซึ่งเป็นกลุ่มทุนท้องถิ่น เพื่อให้Localization เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่Globalization
สิ่งที่น่าสนใจในแนวคิดของอ.รังสรรค์ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ในสำนักชิคาโก สาย Neo-classic ที่นำมาปรับใช้กับการวิเคราะห์เรื่องทุนทางวัฒนธรรมก็คือ แนวความคิดเรื่องการฝังตัวทางวัฒนธรรม(Cultural embodiement)และการฝังตัวของเทคโนโลยี(Teachnology embodiement) ซึ่งผูกติดกับการผลิตสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ซึ่งหนังสือเรื่องทุนทางวัฒนธรรมของอ.รังสรรค์ ถือได้ว่ามีความโดดเด่น ในแง่ของวัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องของเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอาจารย์เรียกว่าเป็นทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งคำว่าทุนทางวัฒนธรรมของอาจารย์รังสรรค์ นั้นมีความหมายครอบคลุมทั้งในเรื่องของวรรณกรรม การ์ตูน หนังสือ แฟชั่น ภาพยนตร์ ดนตรี กีฬา อาหาร ภาษา สื่อสารมวลชน การโฆษณา ทางหนังสือพิมพ์ วิทยุหรือทางโทรทัศน์รวมถึงสิ่งที่ถ่ายทอดผ่านทางสื่อเหล่านี้ เช่นการพิพากษาคดี ก็สามารถถูกทำให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมได้ แม้แต่นักวิชาการ ก็ถูกทำให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมด้วย ทั้งที่อาจจงใจหรือไม่จงใจ แต่เมื่อผ่านระบบตลาดแล้ว ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการกลายสภาพเป็นสินค้าไปโดยปริยาย
ดังนั้นคำว่าทุนทางวัฒนธรรมในความคิดเห็น ของผู้ศึกษาก็คือ สิ่งที่ประกอบด้วยความหมายทางเศรษฐศาสตร์ คือคำว่าทุนหรือ Capital ซึ่งเป็นคำที่นักเศรษฐศาสตร์สายมาร์กซิสต์ ใช้กันมากในความหมายของปัจจัยทางการผลิต คือเรื่องของที่ดิน เงินทุน แรงงานและเครื่องจักร สิ่งเหล่านี้ก็คือทุนรวมถึงตัวมนุษย์เองด้วยในฐานะผู้ใช้แรงกายและสติปัญญาในกระบวนการผลิต ทุน คือสิ่งที่นำมาซึ่งความแตกต่างทางชนชั้น เพราะเป็นปัจจัยที่กำหนดอำนาจ ในการผลิต เจ้าของทุนก็คือ กระดุมพี ชนชั้นกลาง ชนชั้นเจ้าของปัจจัยทางการผลิต ในขณะที่คนที่มีทุนน้อยหรือไม่มีทุนเลย ก็เป็นเพียงชนชั้นกรรมาชีพ หรือชนชั้นแรงงาน ในกระบวนการผลิต ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว บุคคลเหล่านี้ก็คือทุน ในทางเศรษฐศาสตร์ด้วย ทุนในทางเศรษฐศาสตรืก็คือ อะไรก็ได้ที่จะนำมาใช้ทำให้เดการเพิ่มมูลค่า หรือสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่วนคำว่าวัฒนธรรรม เป็นมโนทัศน์ที่สำคัญในการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยา ซึ่งมักจะหมายถึงรูปแบบหรือวิถีการดำรงชีวิต ในแวดวงวิชาการแล้ว มีการใช้คำว่าวัฒนธรรมในความหมายที่กว้างและครอบคลุมชีวิตของมนุษย์ในแทบจะทุกด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ซึ่งนักมานุษยวิทยาหลายท่านได้พยามจำแนก อธิบายและให้ความหมายของคำว่าวัฒนธรรมเช่น
Edward B.Tylor “ cultural or civilization is that complex whole which in knowledge,belief ,art,moral,law,customs,and any other capabilities and habits acquired by man as a member of society” ซึ่งความหมายนี้ค่อนข้างที่จะครอบคลุม วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมแทบจะทุกเรื่อง ทั้งความเชื่อ กฎหมาย ประเพณี ศิลปะ ความรู้ รวมถึงความสามารถอื่นๆ นิสัยและพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นสมาชิกของสังคม และที่สำคัญวัฒนธรรมก็คือกระบวนการของการมีอารยธรรม มีความศิวิไลท์ด้วย ซึ่งทำให้ทุกคนมองวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ต้องถ่ายทอดให้กับลูกหลานต่อไปเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้สูญหาย ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เป็นหัวใจสำคัญ ของนักวิชาการ นักพัฒนาและนักเคลื่อนไหว ในสมัยปัจจุบันว่า เรื่องของวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่มีคุณค่า เป็นภูมิปัญญา เป็นวิถีชีวิตที่ดีงามของคนกลุ่มชนหนึ่ง และทำให้วัฒนธรรมเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายในเชิงอำนาจและเป็นพลังในการต่อรองกับกระแสวัฒนธรรมภายนอก ที่จะเข้ามาทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ภายในชุมชน
หรือวัฒนธรรมในมุมมองขององค์กรระหว่างประเทศระดับโลก อย่าง องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้กำหนดประเภทของศิลปะและวัฒนธรรม เมื่อปี 2523 ว่ามีดังนี้คือ
1.มรดกทางวัฒนธรรม
2.ผลผลิตทางการพิมพ์และวรรณกรรม
3.ดนตรี
4.ศิลปการแสดง
5.ประดิษฐ์ศิลป์
6.ภาพยนตร์และการถ่ายภาพ
7.วิทยุและโทรทัศน์
8.กิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม
9.กีฬา
10.การอนุรักษ์ภูมิประเทศและธรรมชาติ
12.การบริหารวัฒนธรรมและกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ
ดังนั้นคำว่าวัฒนธรรมของยูเนสโก้ จึงมีความหมายค่อนข้างที่จะกว้างและครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง
อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เสนอแนวคิดในการมองวัฒนธรรมในลักษณะที่เป็นสังคมวัฒนธรรม/ชีวิตวัฒนธรรม เพราะการมองเช่นนี้จะนำไปสู่ความสนใจในการวิเคราะห์สังคม ชีวิตของกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมพร้อมกับความเข้าใจในลักษณะของวัฒนธรรมที่ต้องปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ซึ่งวัฒนธรรมนั้นไมใช่ภาพเดียว ชุมชนเดียวแต่เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์อย่างสลับซับซ้อนทั้งในระดับหมู่บ้าน ท้องถิ่นและในระดับโลก (2536:15-26)
อ.อานันท์ กาญจนพันธ์ ได้นำเสนอมิติทางวัฒนธรรมที่ประกอบไปด้วย ความหมายของวัฒนธรรม ในเชิงชีวิตวัฒนธรรม ว่ามีลักษณะเป็นองค์รวมของชีวิต คุณค่าและอุดมการณ์ของสังคมที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น ในการพยายามออกที่จะแสดงจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์และการปรับตัวกับระบบความสัพันธ์ทางสังคมและธรรมชาติภายใต้เงื่อนไขและบริบทที่แตกต่างกันไป ซึ่งวัฒนธรรมนั้นจะประกอบด้วยสามระบบคือ 1)ระบบคุณค่า ที่แสดงออกมาในรูปความคิด การกระทำ ที่สัมพันธ์กับความยั่งยืนของสังคม ธรรมชาติ และการพึ่งพากันระหว่างมนุษย์ ที่แสดงออกมาในรูปศาสนา ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นต้น 2) ระบบภูมิปัญญา คือ สิ่งที่ครอบคลุมวิธีคิด ของสังคมการจัดการความสัมพันธ์ในสังคม ซึ่งสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และปรากฎออกมาในรูปของการเรียนรู้ การผลิต การสร้างสรรค์ 3) ระบบอุดมการณ์ อำนาจ หมายถึงศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิตามธรรมชาติที่จะเสริมสร้างพลังอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อน การเรียนรู้ สร้างสรรค์ ผลิตใหม่ และการถ่ายทอดทางภูมิปัญญา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
จากข้างต้นเป็นความหมายของการศึกษาเรื่องวัฒนธรรม ในเรื่องของทุนทางวัฒนธรรมโดยงานของอ.อานันท์ กาญจนพันธ์ ได้กล่าวถึงเรื่องของทุนทางวัฒนธรรมไว้อย่างมากมาย โดยการมองและจำแนกทุนวัฒนธรรมออกจากทุนทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างดังนี้
“ …หากจะอธิบายตามนัย ของแนวการศึกษาแบบอัตถประโยชน์นิยมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จะมีนัยเสมือนหนึ่งเป็นทุนทางเศรษฐกิจ ในแง่ที่มีมูลค่าเชิงอรรถประโยชน์ โดยเฉพาะระบบตลาด เพราะจะมีราคาค่างวดทางเศรษฐกิจ และสามารถนำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้ แต่ในมุมมองของการศึกษานิเวศน์วิทยาวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ว่าจะอยู่ในรูปป่าชุมชน ระบบไร่แบบย้ายที่ ระบบเหมืองฝายหรือระบบการประมงพื้นบ้านก็ดี ล้วนหมายถึงทุนชีวิตซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบคุณค่าและวิถีชีวิต ทั้งในแง่ของการสร้างหลักประกันให้กับความต่อเนื่องของอุดมการณ์ชีวิตทั้งในปัจจุบัน และโอกาสในอนาคตตลอดจนความยั่งยืนของทรัพยากร สำหรับในเชิงสถาบันจะมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในเบื้องต้นว่าเสมือนเป็นทุนทางสังคม เพราะประกอบขึ้นด้วยกฎเกณฑ์เชิงสถาบันและภูมิปัญญา สำหรับการจัดการในรูปขององค์กรทางสังคมซึ่งเป็นกลไกลร่วมกันของสังคม ในการกำหนดความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศน์ ระบบสังคมและเศรษฐกิจ “ และในหนังสือมิติชุมชน วิธีคิดท้องถิ่นว่าด้วยสิทธิ อำนาจ และการจัดการทรัพยากร (2544)อ.อานันท์ ได้เน้นย้ำถึงเรื่องนี้ว่า
“หากเรามองการพัฒนา เศรษฐกิจของรัฐจากมิติทางวัฒนธรรม แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการพัฒนาที่วางอยู่บนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์ จากต้นทุนทางวัฒนธรรมเดิมในสังคมในลักษณะของการกินของเก่าอย่างเดียว แต่ไม่ได้ส่งเสริมให้เข้มแข็งขึ้น ตรงกันข้ามกับทำลายวัฒนธรรมเสียด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้จากนโยบายส่งเสริ้มการส่งออกและนโยบายส่งเสริมกรรมสิทธิ์เอกชน มีส่วนผลักดันในการทำลายป่า ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมในฐานะเป็นพื้นที่ของส่วนร่วม และส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ…ในการลงทุนทางด้านวัฒนธรรม ต้องคิด เพื่อให้มิติทางวัฒนธรรมแบบองค์รวมเป็นพลังชี้นำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ทางสังคมและการเมืองได้นั้น ควรต้องเริ่มจากการเข้าใจเสียก่อนว่า ทุกสังคมมีต้นทุนทางวัฒนธรรม สะสมอยู่แล้วทั้งสิ้น ในรูแบบที่หลากหลาย หากสูญเสียต้นทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไป สังคมก็ล้มละลาย…ดังนั้นประเด็นสำคัญในการแสวงหาทางเลือกในการพัฒนาในมิติทางวัฒนธรรมจึงไม่ใช่ การทำให้ทันโลก ทันสมัยเท่านั้นหากแต่อยู่ที่กระบวนการต่างๆ 4 ประการคือ การเสริมสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรม(Cultural Space) การเสริมสร้างประชาสังคม(Civil Society) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชุมชน และการเคารพสิทธิของความแตกต่างหลากหลายของทุนทางสังคม( Plural Society)
ดังนั้นแนวความคิดของนักวิชาการแนวนี้ คือการมองเรื่องของวัฒนธรรมที่เป็นวิถีการดำรงชีวิตที่สอดคล้องสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เป็นพลังที่สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน เป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็อาจเรียกได้ว่ามันมีความสำคัญเหมือนกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมวัฒนธรรม ที่เป็นเรื่องของการศึกษา เป็นจิตสำนึกที่ทีปลูกฝังให้กับคนรุ่นต่อไป ดังนั้นจิตสำนึกจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพระเป็นเรื่องของความภูมิใจในความมีตัวตน มีความสำนึกทางวัฒนธรรมของตนเอง หากไม่มีสำนึกวัฒนธรรมนั้นก็ย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น