วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

วิเคราะห์สถานการณ์และแง่มุมเกี่ยวกับหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทยในปัจจุบัน
หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทย กับการสร้างเรื่องราวให้กับสินค้า
โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จัดตั้งขึ้นโดยตราเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ พ.ศ.2544 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 11(8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2534 โดยในข้อที่6 ของมาตรานี้ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ กอ.นตผ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน คนแรกคือ นายปองพล อดิเรกสาร คนปัจจุบัน คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทของการดำเนินการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ รวมถึงการกำหนดมาตรฐาน กฎเกณฑ์ การคัดเลือกและขึ้นบัญชี ผลิตภัณฑ์ดีเด่นของตำบล เข้าสู่บัญชี1 ตำบล1ผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ถือได้ว่าเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ ที่จะนำความเป็นท้องถิ่น Local ไปสู่ระดับโลก Global โดยการสร้างหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ให้เกิดขึ้นทั้ง 75 จังหวัด โดยผลิตภัณฑ์นั้นไม่ได้เป็นเฉพาะตัวสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเพณี วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ แหล่งธรรมชาติด้วย ซึ่งนาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้พูดถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์กับการท่องเที่ยวว่า “สินค้าที่เกิดขึ้นมาจาก OTOP 75 จังหวัด ถ้าเราสามารถGenerate ขึ้นมาได้เรื่อยๆและLink กับการท่องเที่ยวสิ เร็วนี้ ผมดูสถิติการใช้จ่ายเงินต่อวันในภูเก็ต หนึ่งคนใช้แค่ 100 เหรียญ ไม่น่าเชื่อฝรั่งรวยจริงๆแต่จ่ายแค่ 100 เหรียญแปลว่าอะไร มันมีความหมายว่า เราไม่มีสินค้าให้เขาใช่มั้ย ถ้าตรงนี้เรามี OTOP ขึ้นมาจะมีรายได้อีกเท่าไหร่ และมันไม่ใช่แค่โอท็อป อย่างเดียว มันหมายความต่อไปว่า ว่าผู้ว่าฯจะบอกว่าผมจะพัฒนาเกษตรนะ ผมจะพัฒนาท่องเที่ยว ผมจะพัฒนาอุตสาหกรรมนะ ผมจะไปหาตลาดนะ แต่เดิมไม่มีแบบนี้ ZERO แต่เดิมมันมาจากส่วนกลาง ไม่มีพลัง ก็มีเฉพาะเมืองใหญ่ๆ เช่นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต แต่จากนี้ไปเป็นเรื่องของทุกจุด 75จังหวัดทั่วประเทศ” ซึ่งนายสมคิด ยังได้กล่าวถึงการเชื่อมโยง ระหว่างLocal กับGlobal ว่ามันขึ้นอยู่กับ การออกแบบสินค้าให้ดูดี เมื่อต้องการเจาะตลาดโลก การผลิตของอย่างหนึ่งขึ้นมาไม่ใช่แค่เน้นความสวยแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันต้องมีเอกลักษณ์ (Unique)ที่สามารถขายออกทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมกับระบบคุณค่า( Value Chain) โดยได้ยกตัวอย่างกรณของถ้วยชามเบญจรงค์ ว่าเราจะทำอย่างไรให้ถ้วยชามเบญจรงค์ที่ไปโชว์ตามที่ต่างๆทั่วโลก และคนที่ซื้อรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าของมัน โดยบอกว่า “เราอาจถ่ายทำวีดีโอ แสดงขั้นตอนการทำเบญจรงค์ให้คนไทยและคนทั่วโลกเห็น สินค้าไทยขาดรอยต่อตรงนี้ ไม่มีใครรู้ เรื่องราว(Story) ที่แท้จริง ถ้าคนรู้เรื่องราว มีคนอธิบายว่าเรื่องราว คืออะไร คนขายเวลาวางซุ้มขายเขาก็ไม่ได้ ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริงๆจังๆ เห็นป้ายอักษรก็นิดเดียว แต่ถ้าสร้างเรื่องราวว่าตัวนี้ผลิตอย่างนี้ ขั้นตอนอย่างนี้ หมู่บ้านนี้ทั้งหมู่บ้านทำอย่างนี้ นักท่องเที่ยวมาเขาก็จะซื้อตรงนั้นเลย”
สิ่งที่นายสมคิด เน้นย้ำ คือแนวความคิดเรื่องMarketing ว่าหัวใจสำคัญคือการบอกเล่าเรืองราว(Story) สมมติว่า ผ้าผืนหนึ่งราคา 300 บาท เพราะไม่ได้มีการขาย Story แต่ถ้าคุณขาย Story ค่าของมันก็จะเพิ่มขึ้น 10 เท่า
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การสร้างสรรผลิตภัณฑ์ของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่จริงแล้วก็มีหลายๆประเทศในเอเชียที่ดำเนินกิจกรรมนี้กันมานาน ซึ่งไม่ได้เป็นการมองสินค้าในแง่เอกลักษณ์ เพียงอย่างเดียว เหมือนที่เราเข้าใจกัน แต่เป็นสินค้าเพื่อการแข่งขัน กรผลิตตามกระแสการลงทุนของต่างประเทศที่เข้ามา เช่นการผลิตผ้า 1,000ชิ้น ตามOder ก็ต้องส่งเขาให้ทัน หรือการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขายน้อยชิ้นแต่ราคาเพิ่มขึ้นเป็นต้น
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า OTOP จงถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานของรัฐบาลไทย โดยการนำเรื่องของเอกลักษณ์มาผสมผสานกับกับการสร้างเรื่อราวงStory ให้กับมัน เพื่อสร้างจุดขาย และเป็นการสร้างมายาคติทางวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายที่แท้จริงอยู่ที่การสร้างสินค้า เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รัฐบาลได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือชุมชน โดยผ่านกลไกลระบบบริหารราชการในรูปของคณะกรรมการอำนวยหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ คณะกรรมหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับอำเภอ ประชาคมตำบล เพื่อทำการค้นหาศักยภาพของท้องถิ่น โดยดูว่าท้องถิ่นมีทรัพยากรอะไรที่อุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำขาม ไวท์หมากเม่า มีกระชายดำ ก็ทำไวท์ ทำยาบรรจุแคปซูล เป็นต้น และนอกจากจะส่งเสริมการทำการผลิต ผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ และมีศักยภาพที่จะกระทำได้แล้ว ยังมีการส่งเสริมชุมชนในเรื่องของการต่อยอดผลิตภัณฑ์ ว่า จะทำอย่างไร จึงจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ที่ชุมชนผลิตได้ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น
1.การนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ทั่วไป มาทำให้มีความแตกต่าง พิเศษกว่าที่เป็นอยู่ เช่นตัวเทียน เทียนที่เราจุดบูชา พระเทียนพรรษาต่างๆ การเพิ่มมูลค่า ให้กับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ก็อาจทำให้มันมีความแตกต่างจากเทียนทั่วไป โดยเติมน้ำหอม เป็นเทียนอะโรม่า ใส่สีสรร ใส่ภาชนะมีรูปแบบที่สวยงาม มีหลากหลายรูปทรงและรูปทรงที่แปลกตา เช่น ประดิษฐ์เป็นรูปดอกไม้ การ์ตูน หรืออาจใส่สารพิเศษ เช่น สารลอยน้ำ สารไล่ยุง หรืออาจเพิ่มอุปกรณ์ชนิดอื่นๆ เข้าไปให้เกิดเสียง เช่น เทียนสีต่างๆ เมื่อจุดแล้วก็มีเสียงเพลงเป็นต้น หรือต้นอ้อ ก็อาจทำเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกไม้กวาด แทนที่จะขายวัตถุดิบอย่างเดียว ซึ่งได้ราคาน้อย หรือสบู่ก็อาจทำสบู่สมุนไพร สบู่เพื่อสุขภาพ เอาสมุนไพรเข้ามาเป็นส่วนผสม เพื่อเพิ่มมูลค่าราคา
2.อาจเพิ่มมูลค่า โดยใช้ในเรื่องของ การใช้ประวัติศาสตร์ เรื่องราวให้กับสินค้าเพราะในยุคปัจจุบัน ผู้บริโภค ไม่นิยมเสพเฉพาะตัวสินค้าเท่านั้น แต่ยังเสพคุณค่า ความพึงพอใจ ทางด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ความเก่าแก่ ความเป็นของที่ทำจากมือชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดแนวความคิดเรื่อง Story-telling การบอกเล่าเรื่องราวของสินค้า การมี Certificate รับรองและประกอบ นอกจากตรายี่ห้อของสินค้า หรือตรารับรองมาตรฐานต่างๆ ดังเช่นคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด อาจารย์ชูศักดิ์ เดชเกรียงไกรกุล(ใสสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ในเรื่องสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์) ว่า “ถ้วยชามเบญจรงค์ ถ้าเราขายเป็นชิ้นก็จะได้ราคาหนึ่ง แต่ถ้าเราขายเป็นชุด และมีใบที่บอกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของลายนี้ ว่าเกิดขึ้นในช่วงใด รัชสมัยใด ใช้ประโยชน์อะไร ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีประกาศนียบัตร ก็สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้า เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า จากเดิมที่ขายเป็นชิ้นๆละ 150-200 บาท ก็อาจเพิ่มเป็น 2,000-3,000 บาท”
ดังนั้นการสร้างเรื่องราวให้กับสินค้า จึงเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญยิ่ง ในการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับสินค้าและผู้ผลิตเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจทั้งตัวผู้ผลิตสินค้าเองและผู้บริโภค ถึงแม้ว่าเป้าหมายหลักจริงๆ นั้นจะเน้นที่ตัวเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่การสร้างเรื่องราว สร้างประวัติศาสตร์ ได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการเคลื่อนไหวต่างๆเพื่อต่อสู้เรียกร้องในเรื่องของสิทธิชุมชน ความเป็นเจ้าของท้องถิ่น เจ้าของทรัพยากร เช่นเดียวกับสินค้าซึ่งบ่งบอกว่าเป็นของคนไทย ของท้องถิ่น ที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย เช่นหม้อบ้านเชียง ข้าวหลามหนองมน ไข่เข็มไชยา เป็นต้น
ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างบางประการของการสร้างเรื่องราว หรือประวัติความเป็นมาของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ บางจังหวัด เพื่อประกอบการวิเคราะห์
เครื่องดื่มสมุนไพร ของนายศักดิ์ชัย โภคชัชวาลย์ ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สุทรปราการที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำพืชสมุนไพรที่ปลูกในต.บางกอบัว และตำบลบางกระเช้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มาผลิตเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้
“แรกเริ่มผลิตโดยซินแสที่มาจากเมืองจีน ที่มาตั้งรกรากถิ่นฐานที่ จ.สมุทรปราการ ซินแซได้รับปริญญาบัตรเป็นแพทย์แผนโบราณ สมุนไพรไทย ได้ตระเวนรักษาคนป่วยตามสถานที่ต่างๆและได้ถ่ายทอดความรู้ให้บุตรหลานสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่อมาสมุนไพรไทยได้รับความนิยมมากขึ้น คุณศักดิชัย โชคชัชวาล ซึ่งเป็นผู้สืบทอดวิชา จึงได้คิดผลิตเป็นสมุนไพรสำเร็จรูปขึ้นมา โดยบรรจุถุงละครึ่งกิโลกรัม เริ่มออกขายกันเองตามงานต่างๆแต่ตลาดน้อยมาก จึงรวมกลุ่มขึ้นมา และให้ชาวบ้านช่วยปลูกพืชสมุนไพรให้ สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอและจังหวัด ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มด้านการผลิต การตลาด การบรรจุภัณฑ์ และวิชาการต่างๆ ทำให้ตลาดเริ่มดีขึ้น สมาชิกกลุ่มเพิ่มจำนวนจนสามารถขยายเป็นเครือข่ายภาค ปัจจุบันสมุนไพรสำเร็จรูปได้รับความนิยมมากขึ้น”
ผ้าทอมัดหมี่ ของชาวบ้านถนนแค ตำบลถนนใหญ่ จังหวัดลพบุรี ซึ่งมีประวัติวามเป็นมาดังนี้
“เดิมราษฎรตำบลถนนใหญ่ มีพื้นฐานมาจากการทอผ้ามัดหมีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ เมื่อว่างจากงานประจำ ก็ใช้เวลาว่างทอผ้าไว้ใช้เอง แต่ยังไม่ได้ทอผ้าเพื่อจำหน่าย ต่อมาเมื่อนางภิรมย์ คำดี (ประธานกลุ่มทอผ้า,กำนันตำบลถนนใหญ่) เห็นความสำคัญของการทำงานในรูปแบบกลุ่มและเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเอกลักษณ์รูปแบบการทอผ้าของกลุ่ม จึงได้รวบรวมสมาชิกจัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้า บ้านถนนแค ตงถนนใหญ่ ขึ้นในปี 2530 เพื่อให้สมาชิกมีรายได้จุนเจือครอบครัวและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หลังจากนั้นก็ได้ประสานกับสำนักงานพัฒนาชุมชน เมืองลพบุรี ขอรับงบประมาณสนับสนุนมาจำนวน 5,000 บาท มาจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ของกลุ่ม โดยให้สมาชิกของกลุ่มผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาใช้กี่ทอผ้าในช่วงแรกๆ ผ้าทีทอได้สมาชิกก็จะนำมาตัดเย็บ เป็นผ้าถุงใส่ไปทำบุญที่วัด ตัดเป็นชุดไปงานเลี้ยงใส่กันเองก่อนเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม จากนั้นเมื่อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นที่รู้จักจึงเริ่มทอผ้ามัดหมี่ออกมาเป็นจำนวนมากตามใบสั่งของลูกค้า จากนั้นศูนย์การศึกษษนอกโรงเรียนได้จัดอบรมพัฒนาฝีมือด้านการมัดหมี่ลายต่างๆ เพิ่มมากขึ้น กลุ่มทอผ้ามัดหมี่บ้านถนนแคได้ดำเนินการในรูปของกลุ่มมาอย่างต่อเนื่องจนถึปัจจุบัน มีสมาชิก20 คนกี่ทอผ้า 21 หลังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน”
ผ้าฝ้ายมัดหมี่ ต.หนองบัวแดง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ มีประวัติความเป็นมาดังนี้คือ
“การทอผ้าฝ้ายอยู่คู่กับจังหวัดชัยภูมิมาช้านาน เริ่มตั้งแต่ครั้งที่เจ้าพ่อพญาแลพาชาวลาวเวียงจันทน์อพยพมา ตั้งรกรากถิ่นฐานที่ชัยภมิ หลังจากฤดูทำนา ชาวบ้านก็จะเริ่มทอผ้าฝ้าย นำมาเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม เช่นผ้าซิ่น เสื้อ ผ้าห่ม โดยใช้วัสดุธรรมชาติ มาย้อมให้มีสี สีที่ได้เช่น สีจากโคลน ลูกมะเกลือ ครั่ง ต้นคราม เปลือกมะม่วง รากยอ แก่นขนุน ใบขี้เหล็ก ใบหูกวาง ฯลฯ และได้มีการคิดค้นเรื่อยมาและนำมาประยุกต์ใช้จนถึงปัจจุบัน น.ส. อนัญญา เค้าโนนคอก ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ และต้องการจะอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้รู้จักและสืบทอดการย้อมสีธรรมชาติให้คงไว้ อีกประการหนึ่งจังหวัดชัยภูมิได้ผลิตและทอผ้าไหมแทบทุกมู่บ้านแต่ส่วนมากจะใช้สีเคมี น้อยนักที่จะทอผ้าฝ้าย ปี2534 จึงริเริ่มให้ชาวบ้านทอผ้าฝ้ายโดยย้อมจากสีเคมีก่อนและให้ชาวบ้านเรียนรู้ถึงการย้อมสีธรรมชาติว่าได้จากอะไรบ้างและต้องย้อมอย่างไร เริ่มแรกยังไม่เป็นกลุ่มมีสมาชิกเพียง5-8 คน เมื่อชาวบ้านเล็งเห็นความสำคัญมากขึ้นจึงได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้า ปัจจุบันมีสมาชิก 140 คน และผ้าฝ้ายก็ได้มีการแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อความหลากหลาย เช่น รองเท้า กระเป๋า ที่รองจาน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เสื้อ กระโรง กางเกง ผ้าซิ่น เป็นต้น”
หัตถกรรมไม้แกะสลัก บ้านถวาย ต.ขุนดง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมาดังนี้
“หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวชาวบ้านส่วนใหญ่ ก็จะเดินทางออกไปรับจ้างทำงานก่อสร้างทั่วไป ที่ในตัวเมืองและมีบางส่วนก็ออกไปค้าขาย จนปี25000-2508 ได้มีชาวบ้านจำนวน3 คน ของบ้านถวาย ตงขุนคง องหางดง จ.เชียงใหม่ คือพ่อใจมา อิ่มแก้ว พ่อหนานแดง พันธุ์สา พ่อเฮือน พันธุศาสตร์ ไปรับจ้างทำงานก่อสร้างในเมืองที่ร้านน้อมศิลป์ บ้านวัวลาย ซึ่งเป็นร้านจำหน่าย ไม้แกะสลักที่โด่งดังในช่วงนั้น ทั้งสามคนเกิดความสนใจในการแกะสลักจึงได้ขอให้ทางร้านทดลองแกะดู ปรากฎว่าฝีมือพอทำได้และมีรายได้ดีกว่าการรับจ้างก่อสร้าง จึงได้เปลี่ยนอาชีพมารบจ้างแกะสลักไม้ที่ร้านดังกล่าวสืบมาจนกระทั่งเกิดความชำนาญ เมื่องานมากทางร้านก็จะนำงานมาให้ทำที่บ้านและเป็นจุดเริ่มต้นการถ่ายทอดงานงานการแกะสลักไม้ ให้แก่ลูกหลานญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน โดยไม่หวงความรู้แม้แต่น้อย งานที่นำมาถ่ายทอดครั้งแรกคือการแกะสลักไม้ และเริ่มลอกเลียนแบบของเก่าที่มีผู้มาซ่อมแซม มีการพัฒนาฝีมือมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน และได้รับการเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำชื่อเสียงให้อำเภอหางดง และจังหวัดเชียงใหม่และทำรายได้เข้าชุมชนหมู่บ้านปีละหลายล้านบาท”
จักรสานไม้ไผ่ บ้านกลางแดด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีประวัติความเป็นมาดังนี้
“อาชีพจักรสานเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านกลางแดด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ โดยทำเป็นกระบุงกระจาดและตระกร้า เมื่อทำเสร็จแล้วก็นำไปขายยังตลาดปากน้ำโพ บางคนก็นำไปขายหรือแลกข้าวในพื้นที่ที่มีการทำนา เช่น ต.เขาทอง อ.พยุหะคีรี และในพื้นที่อ.ท่าตะโก และต่อมาเมื่อปี2538 เกิดน้ำท่วมใหญ่เกิดวามเสียหายในพื้นที่การเกษตรเป้นอย่างมาก จึงได้มีหน่วยงานราชการได้เข้ามาส่งเสริมคุณภาพรูปแบบ โดยพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ประชาสงเคราะห์ จ.นครสวรรค์ ได้เข้ามาสนับสนุนให้เป็นค่าแรงวันละ50 บาทต่อคน ในงบประมาณฟื้นฟูหลังน้ำท่วม โดยวิทยากรที่มีความชำนาญในหมู่บ้านและหน่วยงานราชการได้นำรูปแบบใหม่ มาเสริมให้มีผลิตภัณฑ์รูปแบบแปลกใหม่ และได้หาตลาด สถานที่จำหน่ายยังงานแสดง สินค้าต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนภายในจังหวัดใกล้เคียงเช่น กำแพงเพชร พิจิตร กรุงเทพฯ”
ไข่เค็มไชยยา จ.สุราษฎร์ธานี มีประวัติความเป็นมาดังนี้
“ชาวบ้านหมู่6 ต.เสม็ด มีอาชีพทำนา และเลี้ยงเป็ดเป็นอาชีพเริมเมื่อสิ้นฤดูกาลทำนาอันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์ไข่เป็ดสดมีปริมาณมากเหลือจากการขายเป็นสาเหตุให้ไข่เป็ดเน่าเสีย ชาวบ้านจึงเริ่มคิดหาวิธีถนอมไข่เป็ดสดไม่ให้เน่าเสีย โดยนำมาพอกดิน และหมักไว้เป็นไข่เค็ม เมื่อได้รสชาติดีและเก็บได้นาน ก็เริ่มนำมาวางขายบริเวณลานบ้านและริมถนนเอเชียโดยบรรจุกล่องรองเท้าบ้าง ใส่ถุงพลาสติกบ้าง ต่อมาเมื่อมีผู้ บริโภคไข่เค็มมากขึ้นจนปริมาณการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของชาวบ้านจึงได้รวมกันจัดตั้งกลุ่ม และทำการผลิตไข่เค็มเพื่อจำหน่ายและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไชยยา ได้เข้ามาส่งเสริม และสนับสนุนด้านการจัดการกลุ่ม และพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์และสนับสนุนงบประมาณด้านต่างๆ”
ซาลาเปาทับหลี บ้านทับหลี ต.มะมุ องกระบุรี จ.ระนอง มีประวัติความเป็นมาดังนี้
“ย้อนไป70 ปี มีการเดินทางจากจังหวัดระนองไปจังหวัดใกล้เคียงและเข้ากรุงเทพฯ เป็นไปอย่างยากลำบากต้องขึ้นเรือ ลงเรือ ต่อเรือเมลล์ ที่ตลาดบ้านทับหลี ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี จ.ระนอง ตลาดทับหลีเป็นย่านชุมชนที่มีผู้คนสัญจรไปมาในขณะนั้นก็มีชาวจีนผู้หนึ่งอยู่ที่ร้านฮั่นหยาหย่วน ได้ผลิตซาลาเปาจำหน่ายเป็นอาหารว่าง ซึ่งซาลาเปามีลักษณะพิเศษ มีขนาดเล็กพอเหมาะพอคำมีไส้หลายชนิดให้เลือกซื้อและเนื้อแป้งซาลาเปานุ่มเนียน ผิวขาวผ่องน่ารับประทาน รสชาติแปลกเป็นที่นิยมของลูกค้าจวบจนปัจจุบัน ประมาณ7 ปีที่ผ่านมาระนอง ได้เปิดจังหวัดและรณรงค์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซาลาเปาทับหลีจึงเป็นสินค้าเด่นเป็นที่นิยมจากเดิมที่มีจำหน่ายเพียง2-3 ร้านปัจจุบันมีการเผยแพร่สูตรการผลิตและควาบคุมมตรฐานระดับเดียวกันจนทำให้มีร้านค้าริมทางในตลาดทับหลีจำหน่ายซาลาเปาทับหลีประมาณ 30 ร้าน จนตลาดทับหลีได้ชื่อว่า หมู่บ้านซาลาเปา ที่มีสื่อมวลชนจากทีวีช่องต่างๆมาทำสารคดีและเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์”
บ้านหัตถกรรมเป่าแก้ว บ้านโนนจั่น ต.ทุ่งทอง อ.ทรายทองวัฒนา จ.กำแพงเพชร มีประวัติความเป็นมาดังนี้
“ จุดเริ่มต้นของการประกอบอาชีพเป่าแก้ว เนื่องจากนายณรงค์ แสงอะโน ราษฎรบ้านโนนจั่น ได้ไปทำงานที่กรุงเทพฯ และได้ศึกษาหนังสือเกี่ยวกับวิชาเป่าแก้วที่ได้มาจากญาติที่ทำงานอยู่สภาวิจัยแห่งชาติ แผนกแก้วเครื่องมือทดลองทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นจึงได้ทดลองทำและดัดแปลงโดยเป่าเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เมื่อมีความชำนาญจึงได้เปิดร้านเพื่อผลิตและจำหน่ายอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้นยังไม่เป็นที่นิยมของคนทั่วไป ต่อมาเมื่อสมรสแล้วจึงพาครอบครัวมาอยู่ที่หมู่บ้าน และชักชวนให้ชาวบ้านโนนจั่นเป่าแก้วและแต่ละคนเมื่อมีความรู้ ความชำนาญ ก็ซื้ออุปกรณ์วัสดุ มาดำเนินการเป่าที่บ้านของตนเอง ปัจจุบันทั้งหมู่บ้านมีเตาเป่าแก้วประมาณ 70-80 เตาและผลิตภัณฑ์นี้ได้ส่งไปจำหน่ายทั้งภายในและต่งประเทศโดยมีนายณรงค์ แสงอะโน เป็นผู้ติดต่อด้านการตลาด”
ผลิตภัณฑ์หมวกกะปิเยาะห์ จ.ปัตตานี มีประวัติดังนี้คือ
“หมวกกะปิเยาะห์ เป็นหมวกทรงอ่อน รูปร่างกลมเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นมุสลิม ที่ซึ่งผู้ชายนับถือศาสนาอิสลามจะสวมใส่เพื่อประกอบศาสนากิจ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีพี่น้องมุสลิมอาศัยเป็นจำนวนมาก หมวกกะปิเยาะห์ จึงเป็นหมวกที่มีความสำคัญในพื้นที่แถบนี้และเป็นที่ต้องการของตลาดท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงมาก”
จากข้างต้นเป็นตัวอย่างหนึ่งของประวัติความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งยังมีอีกมากมายทั้งที่เป็นรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น กล้วยน้ำหว้า กล้วยตาก อ.สังคม จ.หนองคาย ส้มโอ จงนครปฐม มะพร้าวน้ำหอม อ.สามพราน จ.นครปฐม หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำในรูปอุตสาหกรรมขนาดเล็กในชุมชน เช่นกาแฟ ชาเขียวใบหม่อน บรรจุภัณฑ์ น้ำข้าวกล้อง เป็นต้น หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นโรงงานรองเท้ากิโต้ ผลิตภัณฑ์วิเศษนิยมของเขตวัฒนา กรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยผู้ศึกษาวิเคราะห์ว่าการสร้างเรื่องราวและประวัติศาสตร์ให้กับสินค้า มีลักษณะที่น่าสังเกตและน่าสนใจดังนี้คือ
1. สะท้อนให้เห็นทรัพยากร ศักยภาพและความอุดสมบูรณ์ ของแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างหลากหลายกัน บางท้องถิ่นอาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น Tangible Product ที่เป็นผลผลิตที่จับต้องสัมผัสได้ เป็นผลผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น ผลผลิตทางการเกษตร ผัก ผลไม้ หรือเครื่องหัตกรรมจักรสานจากหวาย ไม้ไผ่ เครื่องปั้นดินเผา ของตกแต่งจำพวกรูปปั้น ไม้แกะสลัก ที่ทำมาจากทรัยากรหรือวัตถุดิบทีร่มีอยู่ในท้องถิ่นหรือหมู่บ้านใกล้เคียง
2. สะท้อนให้เห็นความเป็นผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นหรือปราชญ์ชาวบ้าน ของคนท้องถิ่น ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ฝึกฝนตนเองและนำความรู้นั้นมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อก่อให้เกิดรายได้ รวมทั้งถ่ายทอดแนะนำคนอื่นๆที่อยู่ในชุมชน และรวมกลุ่มกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่น กรณีหมู่บ้านเป่าแก้ว ที่มีการเรียนรู้จากหนังสือ ทดลองทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญและสร้างเป็นธุรกิจในปัจจุบัน หรือกรณีช่างแกะสลักที่เริ่มต้นจากช่งก่อสร้งฝึกฝนเรียนรู้การแกะสักจากร้านในตัวเมือง และกลับมาประกอบธุรกิจในชุมชนของตนเอง
3. สะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ที่เชื่อมโยงกับบรรพบุรุษและวีรบุรุษตามตำนานหรือประวัติศาสตร์ ท้องถิ่น เช่นผ้ามัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ จังหวัดชัยภูมิ ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การตั้งบ้านแปงเมืองและชาติพันธุ์ของคนชาติภูมิ ตำนานเจ้าพ่อพญาแลที่พาผู้คนจากเมืองเวียงจันทร์เข้ามาตั้งรกรากที่นี่ หรือการทำหมวกกะปิเยาะห์ ที่ใช้ในคนมุสลิมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม
4. สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต ภูมิปัญญาที่สั่งสมมา แต่ดั้งเดิมของชุมชน โดยการชี้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์นั้นชาวบ้านได้ทำกันมาช้านาน และใช้อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมจากการทำการเกษตร ที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาจนกลายมาเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน
5. สะท้อนให้เห็นการใช้ภูมิปัญญามาผลิตเป็นตัวสินค้าเพื่อแก้ปัญหาต่างๆของคนของชุมชน เช่นผลผลิตที่มีผู้ผลิตจำนวนมาก ทำให้สินค้าล้นตลาดและมีราคาถูก อีกทั้งสินค้าบริโภคบางอย่างไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ทำให้เน่าเสีย จึงได้ใช้ความรู้ ภูมิปัญญาในการถนอมหรือแปรรูปผลผลิต เพื่อให้เก็บได้นานและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิต เช่น ผลิตภัณฑ์ แปรรูป กล้วยกวน กล้วยตาก ไข่เค็ม เป็นต้น
6. สะท้อนให้เห็นการถ่ายทอด สืบต่อความรู้ดั้งเดิมหรือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ให้สูญหายไป และเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในรูปของการรวมกลุ่ม การถ่ายทอดความรู้ เป็นเครือข่าย เช่นกรณีซาลาเปาทับหลี
7. สะท้อนให้เห็นการผสมผสานองค์ความรู้ท้องถิ่นกับกระบวนทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รวมถึง การใช้เทคนิค วิธีกร การออกแบบผลิตภัณฑ์ การบรรจุหีบห่อ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ให้กับท้องถิ่น เช่นการเป่าแก้ว การทำน้ำข้าวกล้อง กาแฟและชาเขียวบรรจุภัณฑ์
8. สะท้อนให้เห็นความสมดุลย์สอดคล้องระหว่างท้องถิ่น ชุมชนและระบบนิเวศน์ การตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นการทำผ้ามัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ การทำยาสมุนไพรพื้นบ้าน
ดังนั้นจะเห็นว่าความเป็นชุมชน ท้องถิ่นถูกแสดงออกผ่านตัวสินค้าและเรื่องราวที่แฝงอยู่ในตัวสินค้า ทั้งในแง่อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหา หรือทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงอดีตกับความเป็นปัจจุบันของชุมชน เพื่อมุ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้า การแข่งขัน และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสิ่งเหล่านั้น หากไม่มองในแง่ร้ายจนเกินไปนัก แม้บางอย่างจะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านสร้างขึ้นใหม่ อาจเป็นประวัติที่ถูกแต่งเติม จากสิ่งที่ไม่มีเหลืออยู่ หรือจากเค้าโครงเดิมที่มีพออยู่บ้างและเกือบจะเลือนหาย หรือเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดในปัจจุบัน แต่มันก็ได้ทำให้สิ่งที่กำลังจะหายได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ถึงแม้จะเป็นการรื้อฟื้นเพื่อการพาณิชย์ก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น