บางกระดี่ชุมชนมอญในกรุงเทพฯ
“ไปเก็บข้อมูลที่บางกระดี่ แถวบางขุนเทียน ขึ้นรถตรงหน้าเดอะมอลล์ บางแค แล้วไปลงตรงหน้าบิ๊กซี พระรามสอง จากนั้นก็ต่อรถสองแถวไปที่บางกระดี่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่ มี 40 กว่าซอย แต่ที่เป็นบ้านมอญแท้ๆจะอยู่ที่ชุมชนที่8-9 บริเวณวัดบางกระดี่ ที่มีลำคองสองสายแยกหมู่บ้าน2 หมู่ออกจากกัน สิ่งที่พบเห็นครั้งแรกที่ไปถึงคือ สถานที่ตั้งหมู่บ้าน เป็นป่าจาก มีลำคลองไหลผ่าน และมีบ้านเรือนปลูกกันอย่างหนาแน่น ลักษณะบ้านเรือนของมอญเป็นแบบไทยโบราณ มีจั่วหางหงส์ หลังค่อนข้างใหญ่และมีการขยายต่อเติม ชั้นล่างเป็นใต้ถุนค่อนข้างโล่ง ตั้งโต๊ะ และเก็บอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ …บริเวณวัดจะเป็นวัดแบบมอญ หน้าจั่วมีสัญลักษณ์เจดีย์ชะเวดากองและมีหงส์สองตัวอยู่ซ้ายขวา มีเสาหงส์ ศาลาการเปรียญแบบมอญ มีเจดีย์เก่า ถัดไปจากวัดเป็นเป็นโรงเรียนบางกระดี่ และอยู่ใกล้กับสถานที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชน…”
จากข้างต้นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนบันทึกถึงชุมชนมอญบางกระดี่ ที่ผู้เขียนลงไปศึกษาภาคสนามครั้งแรก โดยที่ไม่เคยรู้จักหรือเคยเห็นชุมชนมอญมาก่อนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งที่ผมเห็นซึ่งเป็นสัญลักษณ์ และวัตถุที่มีความหมาย ที่ผมจะใช้อธิบายให้เข้าใจเกี่ยวกับชุมชนมอญบางกระดี่ ที่ผมสรุปจากบันทึกข้างต้นมีดังนี้คือ เสาหงส์ บ้านทรงไทย คลอง วัดมอญ สัญลักษณ์เจดีย์ชะเวดากอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับคนมอญเป็นอัตลักษณ์ ที่เราเห็นและรับรู้ซึ่งแตกต่างจากชุมชนและวัฒนธรรมของเรา ลักษณะของชุมชนมอญที่บางกระดี่และที่อื่นๆ ชอบอาศัยอยู่ริมน้ำที่การคมนาคมสะดวกโดยเฉพาะทางเรือ ดังที่คุณลุงกัลยาบอกว่า “ บ้านมอญมักอยู่ติดแม่น้ำ…เกาะเกร็ด นนทบุรี อยู่กลางน้ำเขามีเครืองปั้นดินเผา ปั้นหม้อ เมื่อก่อนก็ใส่เรือไปเร่ขาย บางไส้ไก้ก็ติดคลอง คนมอญมาอยู่ที่นี่ ชอบติดริมน้ำ มาอยู่ตอนแรกก็ติดกับแม่น้ำเลย” และแกก็เล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับจากที่พบเห็นกันอยู่มากมายว่า “เมื่อก่อนทำจาก หลังคามอญโบราณ เขามุงจาก บ้านทรงโบราณ อย่างนี้มุงจาก …เดี๋ยวนี้เอาหลังคากระเบื้อง เมื่อก่อนมุงจากเย็นสบาย… ลูกจากกินก็ได้อร่อยดี ใบมันเอามาห่อขนม ทำขนมจาก…” สิ่งที่คุณลุงกัลยาเล่าผมว่าน่าคิดที่วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธ์มอญที่นี่อยู่กับธรรมชาติ พึ่งพิงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มี แต่เมื่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปก็ต้องมีการปรับตัว และผสมผสานจากหลังคาจากมาเป็นหลังคากระเบื้องแบบคนเมือง แต่รูปทรงของบ้านเรือนก็ยังคงไว้เปลี่ยนเพียงแค่วัสดุบางอย่างเพื่อความคงทนถาวร
สำหรับวัดมอญ เสาหงส์ เจดีย์ชะเวดากอง มีความหมายและความเกี่ยวข้องกันกับคนมอญอย่างมาก ดังเช่นที่ลุงสมบูรณ์บอกกับผมว่า “ ประเพณีมอญ แห่หางหงส์ ธงตะขาบ ไหว้ผีบรรพบุรุษ หงส์นี่ละสัญลักษณ์ของมอญเลย เมืองหงสาวดี เมืองหลวงมอญ…” หงส์ถือเป็นสัญลักษณ์ของมอญ ที่มีที่มาจากตำนานพื้นบ้านมอญ ที่เกี่ยวกับการตั้งกรุงหงสาวดี ที่กล่าวถึง สองพี่น้องชาวจากเมืองสะเทิม คือเจ้าชายสามะละ และวิมะละ ได้มาตั้งเมืองหงสาวดี ขึ้นบนเกาะที่งอกออกมาจากทะเล อันเป็นบริเวณที่พระพุทธองค์ ทรงเห็นหงส์ทอง 2 ตัว เล่นน้ำอยู่และทำนายว่าบริเวณนี้จะมีความเจริญรุ่งเรือง…”
ชุมชนมอญบ้านบางกระดี่ส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขาย มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำสวนทำนา เพราะไม่มีที่ดินทำการเกษตรเหมือนดั่งเช่นอดีต เนื่องจากไดมีการขายที่ดินเป็นอันมาก เพราะที่ดินที่นี่มีราคาสูงตกราคาไร่ละล้านกว่าบาท ทำให้ชุมชนบางกระดี่ในปัจจุบัน กำลังเต็มไปด้วยบ้านหลังใหญ่แบบตะวันตก มีโครงการบ้านจัดสรร มีการสร้างโรงงาน เป็นอันมาก เนื่องจากอยู่ใกล้ถนนใหญ่ ที่การไปมาสะดวกสบายและอยู่ไม่ไกลจากทะเลแถวบางขุนเทียนมากนัก
ภาษาที่ใช้ในชุมชนบางกระดี่ ถ้าเป็นผู้ใหญ่อายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป จะพูดภาษามอญสื่อสารกันในชีวิตประจำวันในชุมชน และพูดภาษาไทยภาคกลางสลับบ้าง โดยเฉพาะเมื่อต้องติดต่อสัมพันธ์กับคนภายนอก ลุงสมบูรณ์บอกว่า “ …ภาษามอญเป็นภาษาโบราณ ที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวัน ภาษาไทยด้วย เมื่อก่อนพ่อแม่จะสอนให้ลูกพูดภาษามอญ สมัยนี้ยากเด็กๆพูดไทยชัด เกิดมาก็พูดไทยเลย แต่บางคนก็พูดได้ฟังได้ มันได้ยินพ่อแม่มันพูดทุกวัน แต่มันไปโรงเรียนเจอเพื่อนก็ไม่พูด พูดไทยหมด…”
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการใช้ภาษามอญในชีวิตประจำวันของชุมชน มอญบ้านบางกระดี่ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบัน ที่ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีบทบาทอย่างมากในการติดต่อสื่อสารต่างๆ ทำให้เด็กๆเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาก็มักจะเรียนหนังสือแบบเรียนภาษาไทยทั้งหมด ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่นอกจากจะมีโรงเรียนในระบบของรัฐแล้วยังมีโรงเรียนนอกระบบ ที่ชุมชนจะสร้างพื้นที่ของการเรียนรู้และธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเองไว้ ดังที่คุณลุงกัลยาบอกว่า “ ภาษามอญ หนังสือมอญ ก็ยังมีอยู่ เมื่อก่อนมีพระที่วัดมอญ พระมอญ ตอนหนุ่มเมื่อบวชก็ได้เรียนรู้ภาษามอญ บทสวดมอญ ตอนเด็ก เลิกจากโรงเรียน ก็จะไปเรียนหนังสือมอญ โดนตีโดนบังคับ พ่อแม่ให้ไปเรียน พระที่นี่ยังสวดมอญ ให้ศีลให้พร ก็มีทั้งภาษาไทยและมอญ ความหมายเหมือนกันแต่ออกเสียงไม่เหมือนกัน ของไทยนะโมของมอญนะเมอ…เดี๋ยวนี้ไม่มีการสอนภาษามอญแล้วมีแต่รุ่นเก่าที่พูดได้”
“ หนังสือมอญมีอยู่ของพระที่วัดมอญ เลิกจากโรงเรียน ก็ไปเรียนหนังสือมอญ ผมเข้าโรงเรียนปี2494 เข้าโรงเรียนปุ๊ป ต้องเรียนหนังสือมอญ หลังๆรุ่นผมไม่มีแล้วอ่านหนังสือมอญอ่านไม่เป็น หนังสือมอญมันสอนมันสอนไม่ได้ เด็กๆไม่มีเวลา ต้องทำการบ้าน มันเลยยากทุกวันนี้ “
จะเห็นได้ว่าวัดและศาสนาที่เคร่งครัดของคนเชื้อชาติมอญ มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการถ่ายทอดหลักคำสอน ข้อปฎิบัติ และเป็นสถานที่เก็บรักษา เรียนรู้และถ่ายทอดภาษามอญไม่ให้หมดไป ดังเช่นที่คุณ สุมิตร ปุณณะการี กล่าวว่า “ ในวัดมอญต่างๆ หากขนชาติมอญไม่มีสถาบันสงฆ์แล้ว ชาวมอญในประทศพม่าก็คงเป็นชาวพยู ที่เสียเมืองแล้วยังต้องเสียชาติด้วย เพราะได้ถูกพม่ากลืนชาติเป็นผลสำเร็จ ดังนั้นเวลาขึ้นวัด คนมอญไม่ว่าหญิงหรือชายก็จะแต่งกายสวยสดงดงาม เสื้อผ้าแบบมอญ และประดับด้วยทองแพรวพราว เพื่อจะไปทำบุญ ชาวมอญทุกคนจะตั้งใจสวดมนต์ เพราะเขาเหล่านั้นถือว่า วัดเป็นสถานที่แห่งเดียวที่คนจะมีโอกาสใช้ภาษามอญได้ โดยไม่มีใครห้าม…ผู้ชายมอญล้วนแต่ต้องการเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น เพราะเป็นโอกาสเดียวที่จะได้เรียนรู้ภาษามอญ และศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมของตนเอง…” ดังนั้นภาษา ถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการถ่ายทอด ความรู้ ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมต่างๆของคนมอญ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการผสมผสานกับการใช้ภาษาอื่นเมื่อต้องติดต่อกับคนภายนอกชุมชนที่ไม่ใช่คนมอญ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ประเพณี วัฒนธรรม ต่างๆของคนมอญนั้น ยังคงใช้ภาษามอญ ในการสื่อสารและเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมต่างๆ เช่น รำผีมอญ ทะแยมอญ สวดมนต์ การละเล่นต่างๆ มอญร้องไห้ เพลงมอญ เป็นต้น ซึ่งจะต้องใช้ภาษามอญในการสื่อสารหรือถ่ายทอดพิธีกรรมเหล่านั้นให้กับคนมอญได้รู้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทำไมคนมอญ ที่อยู่ในเมืองไทยพูดภาษาไทยและเข้าใจภาษาไทยได้กันทั้งหมด จึงยังมีความจำเป็นต้องใช้ภาษามอญในพิธีกรรมและการละเล่นต่างๆ คำตอบที่ได้จากผู้อาวุโสท่านหนึ่งก็คือ “ เราเป็นคนมอญ ต้องพูดภาษามอญ ภาษาดั้งเดิม ภาษาบรรพบุรุษ หนังสือพิมม์มอญก็เราอ่านได้” นี่คือสิ่งสำคัญ คำว่า “เราเป็นคนมอญ” ก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสำนึกในชาติพันธุ์ของตนเอง (Ethnic conciousness) ว่าตัวเองนั้นเป็นใคร ถึงพวกเขาจะอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลานานนับเป็นร้อยปี จนแทบจะแยกไม่ออกว่าเป็นคนไทยหรือมอญ แต่ความสำนึกในชาติพันธุ์ของพวกเขายังคงมีอยู่ โดยแสดงออกทางด้านภาษา การใช้ภาษามอญในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของพวกเขา และใช้มันในการติดต่อสื่อสารถ่ายทอดเรื่องราวกับคนมอญที่อยู่ในที่ต่างๆในประเทศไทย และคนมอญที่อยู่ในพม่า โดยใช้ภาษามอญเป็นสื่อ เช่นบทสวดมนต์ การละเล่นต่างๆ พิธีกรรมและหนังสือพิมพ์เป็นต้น ดังที่คุณลุงกัลยาบอกว่า “ …คือเราอยู่เมืองไทย เราแสดงออกให้ชาวโลกได้รู้ว่า ภาษามอญยังมีอยู่ วัฒนธรรมของมอญ เรายังมีอยู่ หนังสือมอญของเรายังมีอยู่ ภาษามอญยังมีอยู่ในวัฒนธรรมของมอญ หนังสือมอญนี่ชัดเจน กะคะแคะ…”
ประเพณีต่างๆของชุมชนบางกระดี่ ที่สำคัญ จะมีทั้งประเพณีที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของชีวิต ตั้งแต่การเกิด การเจ็บป่วยไปจนถึง การตาย เช่นการโกนผมไฟ การไว้ผมจุก ผมแกละ ซึ่งเมื่อมีบุตรชายคนหัวปีจะต้องทำพิธีโกนผมไฟ (จ๊ออะโป) รดน้ำขมิ้น รดน้ำส้มป่อย รดน้ำมนต์ มีการมอบแหวนผี เพราะลูกชายจะต้องถือเอาผีไว้เป็นต้น หรือการรำผีมอญ เป็นพิธีที่กระทำเมื่อมีการผิดผี เช่น มีหญิงมีท้องมานอนในบ้าน หรือคนจากผีอื่นมานอนในบ้าน หรือเมื่อมีการบนบานสานกล่าวต่อผี เช่น ให้หายเจ็บป่วยเมื่อหายก็ต้องมารำผีถวาย ซึ่งจะมีการเรียกญาติพี่น้องมา คนที่นับถือผีเดียวกันจึงจะมีสิทธิ์เข้าร่วมพิธี เช่นลูกชาย หรือลูกสาวที่ยังไม่แต่งงาน ถ้าแต่งงานไปแล้วก็ถือว่านับถือผีอื่น ขาดจากผีบรรพบุรุษเดิม ก็อาจได้รับเชิญมาเป็นแขกเท่านั้นแต่ไม่ได้ร่วมพิธีด้วยเป็นต้น นอกจากนี้ก็มีการบวชนาค งานศพ การละเล่นต่างๆ เช่น ทะแยมอญ ปี่พาทย์มอญ รำมอญ สะบ้า ประเพณีต่างๆ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่น ตักบาตรดอกไม้ในวันขึ้น15 ค่ำเดือน11 ตักบาตรน้ำผึ้ง ในวันขึ้น15 ค่ำเดือน10 งานประเพณีสงกรานต์ พิธีค้ำต้นโพธิ์ ในวันที่13-15 เมษายน คนมอญถือว่า วันที่13 เป็นวันสิ้นปี 14 เป็นวันกลาง และ15 เป็นวันสงกรานต์ของคนมอญ เมื่อวันที่15 ตรงกับวันอะไร คนวันนั้นต้องมาทำพิธีค้ำต้นโพธิ์ เป็นต้น
ระบบเครือญาติ เครือญาติที่ใหญ่ที่สุดในชุมชนบางกระดี่ก็คือ ตระกูลมะคนมอญ กับตระกูลมอญกะ ที่เป็นตระกูลของผู้ใหญ่บ้าน คนมอญจะให้ความสำคัญกับลูกสะใภ้ เพราะผีมอญชอบลูกสะใภ้ เมื่อฝ่ายหญิงแต่งงานแล้วต้องมาอยู่กับฝ่ายชาย (Parti –Local) และนับถือผีบรรพบุรุษของฝ่ายชาย ส่วนลูกสาวเมื่อแต่งงานแล้วก็ให้ไปนับถือผีทางฝ่ายชายและตัดขาดจากผีบรรพบุรุษพ่อแม่ของตนเอง เมื่อเวลามีงานประเพณีหรือ พิธีกรรมต่างๆ ก็จะแจ้งให้บรรดา ญาติพี่น้อง จากที่ต่างๆมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ซึ่งแสดงให้เห็นความเหนียวแน่นของระบบเครือญาติ การช่วยเหลือและการพึ่งพาอาศัย ซึ่งกันและกันที่ทำให้ชุมชนมอญแห่งนี้ดำรงอยู่มาถึงปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น