วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

หนองหานกับการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์
มิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม

เรียบเรียง นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับแรกเมื่อปี 2540 *จนถึงปัจจุบันมีแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ภาคตัวนออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ก็มักจะถูกมองจากบรรดา นักวิชาการ นักพัฒนา และนักการเมือง ที่มีบทบาทสำคัญในการร่างแผน และกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศว่า เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค และบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง และสภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้นาน ถึงแม้ว่าภาคอีสานจะมี ลำห้วยต่างๆ แม่น้ำต่างๆ ทั้งสายใหญ่ สายเล็ก อยู่มากกว่า 30 สาย แต่ก็ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต ดังนั้นรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา จึงให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบชลประทานขนาดต่างๆ ในภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็น ฝาย อ่างเก็บน้ำ ไปจนถึงเขื่อน เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำ ในการทำการเกษตร การบริโภค การผลิตกระแสไฟฟ้าและเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
โดยเฉพาะในเรื่องของการเกษตร ตามแนวทางของระบบทุนนิยม การเปลี่ยน รูปแบบจากการผลิต เพื่อยังชีพมาเป็นการผลิตเพื่อการค้าจึงเกิดขึ้น แนวความคิดต่างๆ เกี่ยวกับ การพัฒนาระบบการเกษตรจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะแนวความคิดในเรื่องของการปฏิวัติเขียว (Green Evolution) ได้นำมาซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงระบบชลประทาน อันเป็นกลไกสำคัญ และเป็นตัวแปรหนึ่งในการผลิต ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ทุนอันมหาศาล ที่เกษตรกรจะต้องแบกรับ ทั้งในเรื่องของพันธุ์พืช สารเคมี ปุ๋ย เงินทุน และความรู้ทางวิชาการใหม่ๆ ทางหนึ่งที่รัฐบาลจะช่วยเกษตรกรเหล่านี้ได้ก็คือ การสร้างระบบชลประทานขึ้นมารองรับ เพื่อสร้างฐานการผลิตให้สอดคล้อง กับกระแสทุนนิยม และตลาดโลก
โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจัดว่าเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำสายใหญ่ สายหลักที่สำคัญอยู่ 3 สาย คือ 1) แม่น้ำโขง 2) แม่น้ำมูล 3) แม่น้ำชี โครงการชลประทานต่างๆ ของรัฐจึงได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ของคนในท้องถิ่น เฉพาะเขตลุ่มน้ำชี ซึ่งครอบครองพื้นที่อีสานตอนบนบางส่วน และตอนล่างบางส่วน ใน 10 จังหวัด คือ อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม เลย ยโสธร ขอนแก่น ศรีษะเกษ ร้อยเอ็ด อุดรธานี และหนองบัวลำภู ในปี 2536 มีโครงการขนาดใหญ่และขนาดเล็กรวมทั้งสิ้น 1,184 โครงการ พื้นที่ชลประทานทั้งสิ้น 1,246,620 ไร่ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน และกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน (พ.พ) กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
พื้นที่หนองหาน กุมภวาปี จ.อุดรธานี ก็เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาระบบชลประทาน ของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ซึ่งมีทั้งสิ้น 2 โครงการ คือ
1) โครงการก่อนสร้างฝายบ้านท่าม่วง อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เพื่อทำการสูบน้ำ
ด้วยไฟฟ้า จากแหล่งน้ำเข้าคลอง ในพื้นที่ชลประทาน ตั้งแต่ 500-30,00 ไร่ และอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ 1 km
2) โครงการโขง ชี มูล ซึ่งเป็นโครงการที่ขุดคันไดรพ์รอบหนองหาน และคลอง
รอบหนองหาน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจัดหาน้ำเพิ่มเติมในฤดูแห้ง และลดปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่มี 2535-2538 ซึ่งโดยสรุปทั้ง 2 โครงการมีวัตถุประสงค์ ก็เพื่อ 1) เก็บกักน้ำจากหนองหาน กุมภวาปี โดยการทำคันดินกั้นและปล่อยลงที่พื้นที่ที่มีระบบชลประทาน 2)เพื่อผันน้ำจากหนองหานไปอ่างลำปาว และระบบชลประทานริมคลอง
จากข้อมูลของโครงการศึกษาข้อมูล และศักยภาพการพัฒนาลุ่มน้ำชี ระบุว่า
การสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ของกรมพัฒนา และส่งเสริมลุ่มน้ำชี และมูล ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการจำนวน 802,200 ไร่ แต่สามารถผลิตและส่งน้ำได้เพียง 385,210 ไร่
ดังนั้นหากจะมองในแง่ของการใช้ประโยชน์จากหนองหาน กุมภวาปี กับงบประมาณที่ลงทุนไป ความคาดหวัง และความจริงที่เกิดขึ้นกลับไม่สอดคล้องและสมดุลย์กันดังที่คาดเอาไว้ เพราจากการศึกษาพบว่า โครงการดังกล่าว ชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ และวิถีชีวิตในด้านต่างๆ ของชาวบ้านที่อยู่รอบหนองหาน ซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายาม เปลี่ยนแปลง และควบคุมธรรมชาติของมนุษย์ ผลที่ตามมาคือ
1) ในปี 2538 หลังจากโครงการแล้วเสร็จ ชาวบ้านในเขต อ.กุมภวาปี และ
กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม (ในปัจจุบัน) ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อน จากโครงการโขง ชี มูล และโครงการสร้างฝายกุมภวาปี เพื่อกั้นแม่น้ำลำปาว โดยการขุดคลองรอบหนองหานรวม ทั้งสิ้น 13 คลอง ทำคันคูดิน (คันไดรพ์) รอบหนองหานเป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 97 หมู่บ้าน 8 ตำบลประกอบด้วย ต.กุ่มวาน ต.เชียงแหว ต.ดงเมือง ต.นาม่วงบางส่วน ต.แชแล ต.ดอนสาย ต.เวียงคำ และต.พันดอน ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างก็มีลำห้วยธรรมชาติ และฝายน้ำ ซึ่ง ชาวบ้านในอดีต ได้ขุดเพื่อลำเลียงและส่งน้ำฝนลงสู่พื้นที่ไร่นาเพื่อทำการเกษตร และน้ำจาก ลำห้วยต่างๆ ก็จะไหลรวมกันลงสู่หนองหาน ซึ่งเป็นหนองน้ำที่รองรับน้ำจากลำห้วยต่างๆ เข้ามา เพื่อส่งต่อไปยังลำน้ำปาว ลงสู่เขื่อนลำปาวต่อไป แต่เมื่อมีการสร้างคันคูดิน รอบหนองหาน (Service road) สำหรับเก็บกักน้ำ และใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ทำให้ปิดกั้นเส้นทางน้ำ จากลำห้วยต่างๆ ที่จะไหลลงสู่หนองหาน ตามธรรมชาติโดยตรง กลับต้องไหลลงสู่คลองที่อยู่รอบคันคูดิน ก่อนที่จะไหลไปสู่ประตูเปิดปิดน้ำเข้าไปในหนองหาน ทำให้การระบายน้ำค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในลำห้วยที่มากและแรง ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้น และท่วมพื้นที่นาของเกษตรกรที่อยู่รอบหนองหาน โดยเฉพาะพื้นที่ติดคันคูดิน ซึ่งอยู่ใกล้คลอน้ำ ซึ่งมีประชาชนเดือดร้อน ทั้งสิ้น 1,016 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 9,848 ไร่ ทำให้ผลผลิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะข้าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก แม้ว่าในอดีตพื้นที่ที่อยู่รอบหนองหานก็มักจะเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ แต่ก็ลดลงอย่างรวดเร็วไม่ท่วมเป็นเวลานานจนพืชผลเน่า ตาย และเสียหาย
2) การสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินของชาวบ้าน ที่เคยจับจองครอบครองมาในอดีต
ตั้งแต่ครั้งปู่ ย่า ตา ยาย โดยเมื่อปี 2498 ชาวบ้านได้มีการแจ้งถือครองที่ดิน สค.1 บางแปลงก็เป็น นส3 (และภบท. 5 แต่เมื่อเกิดโครงการโขง ชี มูล ขึ้น ก็ต้องถูกเวนคืนที่ดิน และกำหนดให้ เป็น พื้นที่สาธารณประโยชน์ ทำเล……. ชาวบ้าน 1,016 ราย ต้องถูกคลองทับที่นา เป็นพื้นที่ 4,385 ไร่)
3) วิถีการผลิตการเพาะปลูกเปลี่ยนไป
การเพาะปลูกในอดีต สามารถแบ่งพื้นที่ในการทำการเกษตรได้ 3 ส่วนคือ
1) บริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ซึ่งในฤดูฝนน้ำจะท่วม ฤดูแล้งน้ำจะลด
จนสามารถลงไปจับจองทำพื้นที่เพาะปลูกได้ รวมถึงบริเวณดอนต่างๆ ที่โผล่ขึ้นมาด้วย พื้นที่ เหล่านี้ ชาวบ้านเรียกว่า นาทาม ใช้สำหรับทำการเพาะปลูกพืชจำพวกข้าว ที่มีลักษณะขึ้นน้ำ เช่น ข้าวจ้าวพันธุ์ลอยน้ำ ปิ่นแก้ว ข้าวจ้าวมะลิ
2) บริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมไม่ถึง ซึ่งอยู่บริเวณใกล้หนองหาน แต่น้ำท่วม
ขึ้นมาไม่ถึง หรือท่วมเพียงเล็กน้อย ชาวบ้านจะเรียกนาท่ง ใช้สำหรับปลูกข้าวนาปี นาดำ ทั้งข้าวเหนียว กข. ข้าวจ้าวมะลิ ข้าจ้าวเกษตร การทำนาอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก
3) บริเวณที่โคก หรือนาโคก จะอยู่บริเวณท้ายหมู่บ้านออกไป อยู่ติดกับ
พืชที่ป่า ซึ่งในอดีตชาวบ้านได้หักร้างถางพง ตัดไม้ เพื่อทำเป็นพื้นที่เพาะปลูก การทำนาและอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก
ในปัจจุบันพื้นที่ในการทำการเกษตรของชุมชนรอบหนองหาน ก็ยังมีอยู่เช่นใน
อดีต แต่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง หรือนาทาม ชาวบ้านไม่นิยมทำกันแล้ว เนื่องจากผลผลิตไม่ คุ้มค่า และยังได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมข้าวเสียหายทุกปี เพราะเมื่อทำคันคูดินโขงชีมูล แล้ว น้ำในหนองหานก็จะคงที่ตลอด ชาวบ้านไม่สามารถลงไปจังจองทำพื้นที่เพาะปลูกได้ ยกเว้นตามดอนต่างๆ แต่ก็ทำกินส่วนน้อย ปัจจุบันก็มีเพียงบ้านเคี่ยม ต.เชียงแหว เท่านั้นที่ทำนาทามบริเวณดอนใกล้หมู่บ้าน
ประเภทของการทำนา ของชาวบ้าน บริเวณรอบหนองหาน จำแนกได้ดังนี้
1) นาดำ หรือนาปี จะเริ่มทำช่วงประมาณ ปลายเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน
โดยจะเริ่มตั้งแต่การไถฮุด เพื่อพลิกหน้าดิน และทำให้วัชพืชและแมลงตาย 2 ไถกลบ หรือไถคราด เพื่อกลบหน้าดินและทำให้ดินย่อยละเอียด เพื่อเตรียมการหว่านกล้า จากนั้นช่วงเดือนมิถุนายน ฝนเริ่มจะตก ก็จะทำการไถฮุดหน้าดินไว้ เพื่อเตรียมการพักดำ จนเมื่อครบ 20-30 วัน กล้าเริ่ม โตเต็มที่ ก็จะถอนกล้าเพื่อนำไปปักดำ การทำนาปีในปัจจุบันจะแตกต่างจากในอดีตซึ่งไม่ค่อยใช้ปุ๋ยเคมี และแรงงานก็ใช้ในครัวเรือนเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันชาวบ้านนิยมใช้สารเคมีมากขึ้น ปุ๋ยก็ใส่ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง อีกทั้งใช้การจ้างแรงงานเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบัน นาที่อยู่ติดคันคู มักจะได้ผลกระทบมากที่สุด เพราะถูกน้ำท่วมปีหนึ่งต้องหว่าน 2-3 ครั้ง จนกว่าฝนจะน้อย น้ำจะลด หากปีใดน้ำท่วมมากก็จำเป็นต้องซื้อข้าวกิน เพราะปลูกไม่ได้ จำนวนชาวบ้านที่ปลูกข้าวนาปี ประมาณ 80%
2) ข้าวนาผาย การไถก็จะเหมือนกับนาปี เพียงแต่จะหว่านข้าวลงบนที่นา แล้ว
ปล่อยให้เจริญเติบโตขึ้นโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยมาก เพราะนาผายมักจะทำบริเวณที่ติดคันคู โขงชีมูล ซึ่งเป็นดินดำมีอินทรียวัตถุมาก ซึ่งเกิดจากการทับถมกัน ซึ่งแต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงมาก่อน ผลิตข้าวจึงงอกง ผลิตข้าวจึงงอกงก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศด้วย หากปีใดปริมาณฝนมาดี ข้าวก็จะได้ผลผลิตดี หากปีใดน้ำท่วมผลผลิตก็จะเสียหาย ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่ต้องการเสี่ยงปลูกข้าวนาดำ เพราะใช้ต้นทุนสูง และอาจขาดทุน เนื่องจากสภาพพื้นที่อยู่ใกล้คันคู มีโอกาสถูกน้ำท่วมทุกปี จำนวนชาวบ้านที่ปลูก ข้าวนาผาย มีเพียง 10 ครัวเรือน เนื่องจากพื้นที่ติดคันคูโขงชีมูล จึงเลือกที่จะทำนาผาย
3) การทำนาปรัง เป็นการทำนาในช่วงฤดูแล้ง โดยอาศัยน้ำจากคลองชล
ประทาน ที่มาจากสถานีสูบน้ำ ในปี 2543 …………..มีชาวบ้านทำนาปรังเพียง 3 รายเท่านั้น เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และชาวบ้านที่อยู่นอกเขตชลประทาน คลองส่งน้ำไปไม่ถึง ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 60% ไม่สามารถใช้น้ำในการทำนาปรังได้
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สรุปได้ดังนี้คือ
1) การใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มมากขึ้น แต่ก่อนแทบจะมีต้องใช้สารเคมีอะไร ใช้ปุ๋ยคอก
และอินทรียวัตถุต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา เช่น ……ที่….ขึ้นมาในไร่นา ชาวบ้านก็จะตากแล้วเผาจาก นั้นก็ไถกลบเพื่อเป็นปุ๋ย แต่ปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ อันเนื่องมาจากการสร้างคันคู ทำให้ชาวบ้านต้องใช้สารเคมีเพิ่มมากขึ้น ในการเพาะปลูก เนื่องจากอินทรียวัตถุและ
แร่ธาตุในดินลดน้อยลง
2) พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่น้อยลง แต่พันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้น เป็น
ผลให้ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิต ทั้งปุ๋ย สารเคมี ส่วนข้าวที่มีในอดีต เช่น ข้าวจ้าวลอยปิ่นแก้ว ที่เหมาะกับพื้นที่ คนไม่นิยมปลูกเพราะราคาต่ำ แต่การดูแลรักษาง่ายกว่า ข้าวพันธุ์ กข. ต่างๆ ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องใช้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ไม่คุ้มกับผลผลิตที่ได้
3) การจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น รวมถึงต้นทุนในการผลิตต่างๆ จากการศึกษา
กรณีตัวอย่าง พ่อบุญมา จันทรเสนา ทำให้เราสามารถจำแนกรายจ่าย และต้นทุนในการทำนาได้ดังนี้
3.1 ค่าไถนา แบ่งเป็น ไถฮุด ราคาไร่ละ 150 บาท จำนวน 20 ไร่ รวม
เป็นเงิน 3,000 บาท
3.2 ค่าจ้างถอนกล้า มัดละ 1 บาท ใช้แรงงาน 5 คน คนหนึ่งตกประมาณ
150 มัด / วัน รวมเป็นเงิน 7,500 บาท
3.3 ค่าจ้างดำนา 120 บาท / วัน / คน ใช้คน 15 คน ระยะเวลา 12 วัน
รวมเป็นเงิน 15,000 บาท
3.4 ค่าปุ๋ย จะใส่ทั้งหมด 3 ครั้ง
- ใส่รองพื้นช่วงที่ดำนา สูตร 16-8-8 กระสอบละ 350 บาท จำนวนปุ๋ยที่ใช้ 2 ไร่ ต่อ 1 กระสอบ 20 ไร่ใช้ 10 กระสอบ เป็นเงิน 3,5000 บาท
- ใส่ตอนต้นกล้าโตประมาณ 7 วัน ใส่ปุ๋ยสูตรเดียวกัน ขนาดเท่ากัน เป็นเงิน 3,500 บาท
- ใส่ตอนต้นข้าวตั้งท้อง หลังจากดำนาได้ 40 วัน เป็นเงิน 3,500 บาท
3.5 ค่าจ้างเกี่ยวข้าว วันละ 120 บาท ใช้แรงงาน 15 คน เวลา 4 วัน รวม
เป็นเงิน 7,200 บาท
รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 46,200 บาท ตกแล้วเฉลี่ยไร่ละ 4,620 บาท ซึ่งนับว่า เป็นต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างสูง
ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงน่าจะสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของชาวนาว่าทำไมชาวนาจึงต้องเป็นหนี้และไม่สามารถหลุดจากวงจรนี้ออกมาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น