วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

Ferdinand De Saussure
เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์(1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกแนวคิดโครงสร้างนิยม ในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่19 และช่วงต้นศตวรรษที่20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์(Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยมแบบที่โซซูร์นำเสนอ แต่สร้างโครงสร้างใหม่ภายใต้แนวคิดเรื่องวาทกรรม ที่สร้างทิศทางใหม่ของนักคิดสกุลหลังโครงสร้างนิยม(Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916 ภายใต้ชื่อ Course de linguistique Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี1960
เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile Derkhiem ในหนังสือสำคัญของเขาชื่อ Rule of the Sociologies method) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่กำลังมีอิทธิพลในการศึกษาสังคมโดยมองว่าสังคมมีฐานะเหมือนวัตถุทางวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ที่สามารถศึกษาได้ ทำให้โซซูร์ ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์กับการศึกษาภาษาศาสตร์แบบใหม่ โดยแยกภาษาออกเป็น 3 ส่วน คือ Le Language ที่เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆในภาษา Le Langue ที่เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์หรือไวยากรณ์ ที่เป็นผลผลิตของสังคม ซึ่งสร้างแบบแผนให้ประทับอยู่ในสมองของสมาชิกแต่ละคนในชุมชนทางภาษา(Language Community) และLa Parole เป็นเรื่องความสำนึกรู้ในการกระทำของปัจเจกบุคคล ที่เป็นเรื่องของการใช้ภาษาและการออกเสียง การสร้างประโยค การเลือกคำ เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ภายใต้ไวยากรณ์ กฎเกณฑ์ในภาษา ที่มีอยู่ในตัวบุคคลแต่จะไม่ขึ้นอยู่กับการใช้ภาษาของแต่ละบุคคล สำหรับโซซูร์แล้ว ระบบหรือ Langue เป็นส่วนที่เป็นนามธรรม ที่สามารถศึกษาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคคล เป็นแบบแผนกฏเกณฑ์ร่วมกัน เนื่องจากการศึกษาปัจจเจกบุคคลนั้นประกอบด้วยส่วนอัตวิสัยและมีความแตกต่างและมีความเฉพาะในแต่ละบุคคล ทำการศึกษาได้ยากกว่า รวมทั้งในความคิดของโซซูร์ก็สนใจศึกษาภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน เพราะถือว่าภาษาเขียนไม่ใช่ภาษา แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ใช้แทนคำพูดเท่านั้น โซซูร์ ได้นำเสนอสมมติฐานของปรากฏการณ์ทางภาษาศาสตร์มีลักษณะ 2 ด้านที่สัมพันธ์กัน โดยสิ่งหนึ่งได้รับความหมายหรือคุณค่ามาจากสิ่งอื่นๆ(อ้างจากSuassure:1966,P.8) ซึ่งมีลักษณะสำคัญมีดังนี้คือ
1.การเชื่อมต่อพยางค์ตัวอักษร (Syllable) ที่เป็นภาพประทับของเสียงที่เราได้รับโดยหู แต่เสียงจะไม่มีอยู่ถ้าปราศจากอวัยวะในการออกเสียง(Vocal Organ)
2.ถ้อยคำเป็นทั้งด้านปัจเจกบุคคล (Individual) และด้านสังคม(Social) ซึ่งทำให้พวกเราไม่สามารถคิด จินตนาการ เกี่ยวกับสิ่งหนึ่งโดยปราศจากสิ่งอื่นได้
3.เสียงเป็นเครื่องมือทางความคิดโดยตัวของมันเอง ที่ไม่ได้มีอยู่จริง ทำให้เราต้องกลับมาตั้งข้อสังเกตกับความสัมพันธ์ของเสียง หน่วยของเสียงพูดที่ความซับซ้อน การเชื่อมโยงในกระแสความคิด ไปยังรูปแบบที่ซับซ้อนที่เป็นหน่วยทางจิตวิทยาและทางฟิสิกส์กายภาพ ซึ่งยังคงไม่ใช่ภาพที่สมบูรณ์
4.ถ้อยคำ (Speech) เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสร้างระบบและวิวัฒนาการเสมอ คือสถาบันที่มีอยู่จริง และเป็นผลผลิตของอดีต กับการแบ่งแยกระบบและประวัติศาสตร์ของมันเอง
จากพื้นฐานแนวความคิดข้างต้นเกี่ยวกับปรากฎการณ์ของภาษา ทำให้เรามองเห็นความคิดแบบคู่แย้ง ของโซซูร์ในเรื่องของภาษา ที่เป็นทั้งเรื่องของปัจเจกบุคคล-สังคม เสียง-ความคิด พยางค์ตัวอักษร-เสียง ลักษณะทางจิตวิทยา-ลักษณะฟิสิกส์กายภาพ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องพึ่งพาระหว่างกันโดยที่สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นได้จากสิ่งหนึ่ง นอกจากนี้แนวความคิดดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างภาษาศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ เช่นการศึกษาเกี่ยวกับการออกเสียง(Philology) การศึกษาเชิงฟิสิกส์กายภาพเกี่ยวกับอวัยวะในการออกเสียง การศึกษาทางประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการของภาษาเชิงนิรุกติศาสตร์ (history) การศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยา(Psychology) และการศึกษาเกี่ยวกับสังคมและปัจเจกบุคคลในเรื่องระบบภาษา การใช้ภาษาและความคิด การให้ความหมาย ที่สัมพันธ์กับการศึกษาทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ที่นำมาประยุกต์ใช้ศึกษาเกี่ยวกับสัญวิทยาและสัญญะที่แพร่หลายในปัจจุบัน ดังที่ จูเลีย คริสเตวา (Julia Kristeva) ได้กล่าวว่า
“เฟอร์ดิน็องต์ เดอ โซซูร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การยึดจับทั้งหมดเช่นเดียวกับ ภาษา คือสิ่งที่มีหลายๆด้านและมีความแตกต่างหลากหลาย มี่แผ่กว้างไปยังสนาม ศาสตร์ทางกายภาพ กายภาพสังคมและจิตวิทยา ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับทั้งปัจเจกบุคคลและสังคม พวกเราไม่สามารถจับวางมันไปยังประเภทความจริงของมนุษย์ และพวกเราไม่สามารถค้นพบความเป็นเอกภาพของมัน เพราะว่ามันซับซ้อนและมีความแตกต่างทางปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น ภาษาจึงถูกกล่าว กับการวิเคราะห์เกี่ยวกับปรัชญา จิตวิเคราะห์ สังคมวิทยา ที่ไม่ได้อ้างถึงระเบียบวิธีทางภาษาศาสตร์ที่หลากหลาย” (Kristeva:1989,P.8-9)
จากข้อสมมตติฐานข้างต้นโซซูร์ ได้สรุปลักษณะของภาษาออกเป็น 4 ประเด็นคือ
1.ภาษาเป็นด้านสังคมของการใช้ถ้อยคำ ที่อยู่นอกขอบเขตของปัจเจกบุคคล ผู้ซึ่งไม่สามารถที่จะเคยสร้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยตัวของเขาเอง ดังนั้น ภาษาจึงเป็นวัตถุที่ถูกให้คำนิยามอย่างดีในมวลสารที่หลากหลายของความจริงแห่งถ้อยคำ
2.ภาษา(Language)ไม่เหมือนการพูด(Speaking) เป็นบางสิ่งที่พวกเราสามารถศึกษาโดยแยกจากกันได้

3.การใช้ถ้อยคำ(speech) เป็นสิ่งที่มีความแตกต่างหลากหลาย ภาษา(Language) เป็นสิ่งที่เป็นแก่นแท้เท่านั้น ในความเป็นเอกภาพของความหมาย (Meaning)และจินตภาพแห่งเสียง(Sound-Image) ซึ่งเป็นส่วนของสัญญะที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา

4.ภาษาเป็นรูปธรรมไม่น้อยไปกว่า การพูด และนี่เป็นสิ่งที่ช่วยในการศึกษาของเราเกี่ยวกับมัน สัญญะทางภาษาศาสตร์ นำไปสิ่งที่เกี่ยวกับสู่จิตวิทยาที่เป็นพื้นฐาน ที่ไม่ใช่เรื่องนามธรรม แต่มันสัมพันธ์กับการยึดถือการประทับของมติหรือการยอมรับร่วมกัน และสัญญะทางภาษาเป็นสิ่งที่จับต้องได้

โซซูร์ได้สรุปความคิดของเขา โดยนำวิธีการศึกษาแบบคู่แย้ง มาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์เกี่ยวกับภาษาของเขาที่เป็นเรื่องของคำพูด ถ้อยคำ(Speech) ซึ่งแสดงให้เห็นเป็น 2 ขั้วคือ 1) ความเป็นวัตถุแห่งภาษา(Object of Language) ที่เป็นด้านสังคมอย่างบริสุทธิ์และเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาที่เฉพาะ และเป็นอิสระจากปัจเจกบุคคล 2) ความเป็นวัตถุในด้านของปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับถ้อยคำเช่นการพูด การเปล่งเสียง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตวิทยากายภาพ ทั้งสองขั้วเป็นสิ่งที่ติดต่อเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดและพึ่งพาอาศัยอยู่บนสิ่งอื่นๆ ความแตกต่างตรงกันข้ามหรือลักษณะในทางลบ(Negative) เป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งหนึ่งมีความหมาย
แนวความคิดดังกล่าวทำให้เราเห็นทิศทางของโซซูร์ในการศึกษาเกี่ยวกับภาษา โดยเน้นที่การศึกษาระบบ ความคิด ที่ปรากฎผ่านการพูด หรือการใช้ภาษา ที่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่พวกเขาก็ใช้มันอยู่ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกันในชุมชนทางภาษานั้น การศึกษาภาษาจึงเป็นการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ความคิด วัตถุสิ่งของ ซึ่งสัมพันธ์กับภาษา โซซูร์ มองว่า เราสามารถที่จะจับวางความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ ที่สัมพันธ์กับภาษาไปยังรูปแบบของรูปภาพ (Graphic Form) ที่ยอมรับโดยดิชชันนารี่และไวยากรณ์กับการแสดงความถูกต้องของสิ่งนั้น สำหรับภาษาเหมือนคลังข้อมูลของภาพประทับแห่งเสียงและการเขียนเป็นสิ่งที่เป็นรูปแบบที่สามารถสัมผัสได้เกี่ยวกับจินตนาการเหล่านั้น (Suassure:1966,P.15) นั่นคือ การตระหนักรู้จินตนาการแห่งเสียงในการพูด สามารถถูกแปลไปยังจินตนาการของการมองเห็น(Visual Image) แต่เป็นส่วนประกอบที่จำกัดของหน่วยเสียง ซึ่งตอบสนองกับจำนวนของสัญลักษณ์ทางการเขียน โซซูร์ ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับภาษาว่า
“ภาษาเป็นระบบของสัญญะที่แสดงความคิด และเป็นสิ่งที่เปรียบเทียบได้กับระบบของการเขียน อักษรของคนหูหนวกเป็นใบ้ หรือตาบอด สัญลักษณ์ทางพิธีกรรม มารยาท สัญญาณทางทหารและสิ่งอื่นๆ แต่มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดของระบบทั้งหมดเหล่านี้” (Saussure:1966, P.16)
สัญวิทยา(Semiology มาจากภาษากรีก “Semeion” “Sign”) ของโซซูร์ เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของสัญญะภายในสังคม ที่เป็นสิ่งที่สามารถจินตนาการเกี่ยวกับมันได้ โดยมันมีลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของจิตวิทยาสังคม และจิตวิทยาทั่วไป เขาถือว่า ภาษาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์ที่เฉพาะทางสัญวิทยาและกฎเกณฑ์ที่ถูกค้นพบโดยสัญวิทยาเป็นสิ่งที่สามารถนำไปใช้กับภาษาศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของวิธีการศึกษาเชิงสัญวิทยา ที่ใหญ่กว่าเรื่องของภาษา ทำให้เป็นสิ่งที่ถูกโต้แย้งและโจมตี โดยนักสัญวิทยารุ่นต่อมาอย่าง โรล็องต์ บาร์ธ(Roland Barthes) ว่า “ภาษาศาสตร์ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของศาสตร์ที่ค่อนข้างเฉพาะของสัญญะ ในส่วนที่เป็นเอกสิทธิ์พิเศษ แต่มันเป็นสัญวิทยา ที่เป็นส่วนหนึ่งของภาษาศาสตร์”(Floyed Merrell:1992) นั่นคือถ้าทุกๆสิ่งมีโครงสร้างที่คล้ายหรือเหมือนภาษา ก็แสดงว่าไม่มีอะไรเลยที่สามารถจะเป็นหรืออยู่เกินขอบเขตของภาษา ความพยายามก้าวข้ามอยู่เหนือขอบเขตดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สำหรับโซซูร์แล้ว เขาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกับมายาคติและความเชื่อที่ผิด เกี่ยวกับความคิดเรื่องสัญญะทางภาษาศาสตร์ ว่ามันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุสิ่งของ(Thing) และชื่อ(Name) แต่เขาก็มิได้ปฎิเสธการดำรงอยู่ของวัตถุและชื่อ หรือ ธรรมชาติของสัญญะ/สัญลักษณ์ ซึ่งเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องของความคิด(Concept) และจินตภาพแห่งเสียง(Sound-image)มากกว่า อันนำมาซึ่งปัญหาของสัญญะทางภาษาศาสตร์ กับความสัมพันธ์กับธรรมชาติของวัตถุ สถาบันทางสังคม วัฒนธรรมของชาติ และภูมิศาสตร์เชื้อชาติ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกภาษา
สัญวิทยาของโซซูร์ ได้แสดงให้เห็นว่า อะไรที่ประกอบสร้างสัญญะและอะไรที่เป็นกฎเกณฑ์ควบคุมพวกเขา ซึ่งเป็นระบบกฎเกณฑ์ที่อยู่ภายในภาษา(Internal Linguistic) แม้ว่าเขาจะบอกว่า การศึกษาเกี่ยวกับปรากฎการณ์ภายนอกภาษา(External Linguistic) เป็นสิ่งทีมีความสมบูรณ์มากที่สุด แต่เขาก็ให้ความสำคัญและต้องการแยกการศึกษาเกี่ยวกับระบบภายในภาษาออกมาต่างหาก ดังที่เขากล่าวว่า
“ฉันเชื่อว่า การศึกษาเกี่ยวกับปรากฎการณ์ภายนอกภาษา เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด แต่กับการพูดว่า พวกเราไม่สามารถเข้าใจ การดำรงอยู่ของระบบภายในภาษา โดยปราศจากการศึกษาปรากฏการณ์ภายนอก เป็นสิ่งที่ผิดพลาด การยึดจับเช่นเดียวกับ ตัวอย่างการขอยืมคำศัพท์จากต่างประเทศ พวกเราสามารถสังเกตได้ในระยะเริ่มต้น ในการขอยืมคำศัพท์ เป็นสิ่งที่ไม่มีอำนาจพลังอย่างสม่ำเสมอในการดำรงอยู่ของภาษา ในหุบเขาที่ถูกแยกตัวอย่างโดดเดี่ยว นั่นคือภาษาท้องถิ่นที่ไม่เคยจับยึดกับชุดคำที่ประดิษฐ์หรือเลียนแบบ จากภายนอก”(Saussure:1966,P.22)
ภาษา ในทัศนะของโซซูร์ จึงเป็นเสมือนระบบที่จัดการตัวมันเอง เช่นเดียวกับ เกมส์หมากรุก(Chess) ซึ่งสามารถแยกความสัมพันธ์ของสิ่งที่เป็นภายนอก ในความจริงทางประวัติศาสตร์ของเกมส์หมากรุกที่ส่งผ่านมาจากเปอร์เซียสู่ยุโรป และสิ่งที่เป็นภายใน ในเรื่องของระบบและกฎเกณฑ์ของมัน ที่ทำให้การเล่มเกมส์หมากรุกสามารถดำเนินไปได้ ระบบไม่ใช่ ชนิดประเภทของวัสดุที่ทำตัวหมากรุกแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป้น ไม้ เหล็ก พลาสติก งาช้าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของวัสดุดังกล่าวไม่มีผลต่อระบบ แต่ถ้ามีการลดหรือเพิ่มจำนวนของตัวหมากรุก ย่อมมีผลกระทบต่อระบบกฎเกณฑ์ หรือไวยากรณ์(Grammar) ของเกมส์ที่ทำให้เกมส์สามารถดำเนินไปได้ ซึ่งสะท้อนว่า ภาษาเหมือนกับวัสดุหรือเครื่องมือทางความคิด ที่ซึ่งมันเป็นพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารในสังคม ก่อนที่เราจะเล่นเกมส์เราจึงต้องรู้และเข้าใจกติกาก่อนเราถึงจะเล่นมันได้ หมากรุก จึงเป็นเสมือนสัญญะ ที่เป็นเครืองหมาย หรือความสามารถของการยอมรับรูปแบบและแสดงความหมายจากส่วนประกอบที่แตกต่าง ความเข้าใจความหมายเกี่ยวกับตัวขุนในเกมส์หมากรุกที่มาจากส่วนประกอบอื่นๆ เข่น ตัวโคน ตัวเบี้ย ตัวเรือ ตัวม้า อันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ของการอ้างอิงในความแตกต่างอย่างบริสุทธิ์ (Purely Differential) ซึ่งทำให้เราเข้าใจและตระหนักรู้การแสดงออกของมัน

จากจุดดังกล่าวนี้เองที่โซซูร์ ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์สองด้าน (Dyadic) ในชุดของ รูปสัญญะ(signifiant/signifier) กับความหมายสัญญะ(signifie/signified) ระบบกฎเกณฑ์(langue)กับการเปล่งเสียง(speech/parole) นามธรรม(abstract)กับรูปธรรม(concrete) สังคม(Social)กับปัจเจกบุคคล(individual) ความคิด(concept)กับจินตภาพแห่งเสียง(sound-image/acoustic-image) ที่เป็นเสมือนกับสองด้านของความสัมพันธ์ซี่งสามารถทำการแยกศึกษาได้

ความแตกต่างของ Parole หรือด้านของปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ ที่ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในตัวของมันเอง นอกจากเป็นการแสดงแต่ละชิ้นส่วนของถ้อยคำที่สามารถจะจัดหาได้ มนุษย์จึงเป็นเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่ถูกจัดวาง วางแผน และลงทุนในภาษาซึ่งเป็นระบบที่ซับซ้อน หรือโครงสร้างที่สอดคล้องระหว่างสัญญะและความคิดที่แตกต่าง ภายใต้ความสัมพันธ์อันหลากหลาย เครื่องมือทางเสียง( The Vocal Apparatus) ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนทางภาษา โดยกระบวนการทำให้เป็นความจริงในรูปธรรม บนโลกที่แท้จริงของการติดต่อสื่อสารในสังคม(Hawkes:1977) ซึ่งนำไปสู่คำถามที่สำคัญว่า อะไรคือธรรมชาติของมนุษย์ ที่ไม่ใช่ถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับปากหรือการพูด แต่เป็นความสามารถเกี่ยวกับการสร้างภาษา ซึ่งเป็นระบบของความแตกต่างทางสัญญะที่ตอบสนองกับความแตกต่างทางความคิดของมนุษย์
โดยที่Langue เป็นผลผลิตทางสังคม ในความสามารถทางถ้อยคำ คำพูด และการรวบรวมสะสม ธรรมเนียม แบบแผน กฎเกณฑ์สำคัญ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยกลุ่มทางสังคมหรือชุมชนทางภาษากับการยินยอม อนุญาตของแต่ละปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับการใช้ ที่เป็นความสามารถที่ติดตัวมาของมนุษย์

Parole เป็นส่วนที่เล็กที่สุด ที่อยู่ในหน่วยทางภาษา(Langue) ที่เป็นมวลสารที่ใหญ่ที่สนับสนุนส่งเสริมมัน และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมัน ทั้งโดยผู้พูด ผู้ฟัง แต่ไม่เคยปรากฎตัวของมันเอง ภาษาเป็นวัตถุเชิงนามธรรม ที่เราไม่สามารถจับได้ และไม่เคยปรากฎทั้งหมดของมัน รูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นคู่ระหว่างรูปสัญญะและความหมายสัญญะ มันค่อนข้างจะเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมชาติน้อยมาก เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากการกำหนดให้เป็น(Arbitrary) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างจิตภาพของเสียง (Sound-image) และความคิด(Concept) เช่นเดียวกับรูปสัญญะ(Signifier) และความหมายสัญญะ(Signified) เช่นคำศัพท์ว่า TREE (ต้นไม้) ที่เป็นตัวอย่างของโซซูร์ ซึ่งเป็นรูปสัญญะ และเป็นความหมายสัญญะในเรื่องของความคิดเกี่ยวกับต้นไม้ ลักษณะความจริงทางกายภาพของต้นไม้ที่เจริญเติบโตในพื้นดิน คำศัพท์คำว่า “TREEหรือต้นไม้” ไม่ได้เป็นธรรมชาติหรือคุณสมบัติที่เท่าเทียมกันกับต้นไม้จริงๆ ซึ่งโซซูร์ก็ไม่ได้สนใจกับความจริงที่อยู่พ้นขอบเขตหรือนอกเหนือเรื่องของภาษา ที่อยู่ภายใต้การรับรองเกี่ยวกับมันเท่านั้น

ดังนั้นการถูกกำหนดให้เป็นของสัญญะ (The Arbitrary of sign)เป็นเสมือนสิ่งที่ป้องกันรักษาภาษาจากความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงมัน (Saussure:1966,P.73) ดังที่โซซูร์กล่าวว่า
“คำศัพท์ การกำหนดให้เป็น(Arbitrary) เป็นสิ่งที่กล่าวสำหรับการวิจารณ์แนะนำด้วย ชุดคำที่ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ซึ่งทางเลือกของรูปสัญญะเป็นสิ่งที่ออกมาอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ กับผู้พูด (เราจะเห็นว่า ปัจเจกบุคคล ไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสัญญะในหนทางอื่นๆมากมาย ที่มันได้กลายเป็นการถูกจัดตั้งในชุมชนทางภาษา) ฉันหมายถึง มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกเคลื่อนย้าย/เคลื่อนไหว เป็นการกำหนดให้เป็น ที่มันไม่ได้เชื่อมต่ออย่างเป็นธรรมชาติที่แท้จริงกับความหมายสัญญะ”(Saussure:1966,P.68-69)

การถูกกำหนดให้เป็น จึงไม่ใช่เหตุผลหรือธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงระหว่าง2ส่วนของสัญญะ ที่ถูกทำให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้รูปแบบกฎเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกันในชุมชนทางภาษา ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องภายในตัวของปัจเจกบุคคล รูปสัญญะที่แตกต่างหลากหลายของคำศัพท์ เกี่ยวกับต้นไม้ Arbre ,Baum Arbor และTree ไม่มีอะไรเลยที่จะเหมาะสมกว่าหรือมีเหตุผลกว่าสิ่งอื่นๆ แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การรักษาและการันตี จากโครงสร้าง ธรรมชาติของระบบที่เกิดขึ้นในชุดคำที่แน่นอน คำศัพท์ของต้นไม้ จึงมีความหมายถึงลักษณะทางกายภาพเกี่ยวกับใบ สิ่งที่เจริญเติบโตในดิน เพราะว่าโครงสร้างของภาษาได้สร้างความหมายของมันและทำให้มันถูกต้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิทธิพลทางภาษาในการสร้างความเข้าใจของมนุษย์ เกี่ยวกับโลกและสิ่งต่างๆรอบตัว สำหรับโซซูร์แล้ว สัญญะทางภาษาศาสตร์ เป็นสิ่งที่กำหนด นิยามความสัมพันธ์ของรูปสัญญะและความหมายสัญญะ วัตถุเป็นสิ่งที่ถูกกีดกันจากความสัมพันธ์นี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ระบุหรือกำหนดการอ้างอิง(Referent) ซึ่งภาษาไม่เกี่ยวข้องกับการอ้างอิง มันเป็นความสนใจในความสัมพันธ์ของรูปสัญญะและความหมายสัญญะเท่านั้น(Kristeva:1989,P.14)

ภาษาจึงเป็นสิ่งที่นิยามและจัดวางกฎเกณฑ์ให้กับตัวมันเอง รวมทั้งการสร้างความจริงในตัวมันเอง และการเป็นตัวแทนที่บรรจุความสัมพันธ์ทางโครงสร้างกับตัวมันเอง ที่ประกอบด้วยสิ่งที่ไม่มีความหมาย จนกระทั่งสิ่งเหล่านี้มารวมตัวกันภายในขอบเขตชุมชนของมัน ภาษาจึงเป็นระบบที่พึ่งพากันระหว่างชุดคำ ที่ซึ่งความหมายและคุณค่าของสิ่งหนึ่งเป็นผลลัพธ์จากความสัมพันธ์ที่แตกต่างของชุดคำอื่นที่อยู่ในโครงสร้าง การปรากฎของสิ่งหนึ่งจึงมาจากสิ่งอื่นๆที่ไม่ปรากฎ หรือการดำรงอยู่การเป็นอยู่ ของมัน โดยที่สิ่งอื่นไม่ได้เป็น ความหมายของสิ่งหนึ่งจึงไม่ได้ดำรงอยู่ในเนื้อแท้ของมัน และไม่ได้มีนัยในเชิงบวก แค่ค่อนข้างจะเป็นความสัมพันธ์ในเชิงลบ ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายระหว่างเขาและชุดคำอื่นๆภายในโครงสร้าง สัญญะจึงเป็นเหมือนหน่วยเสียง(Phonemes) ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งคุณค่าความหมายของมัน มาจากความสัมพันธ์ในความแตกต่างตรงกันข้าม ที่จำแนก แบ่งแยก จัดประเภท สัญญะหนึ่งจากสัญญะอื่นๆ ที่ประกอบสร้างความหมายของมัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจุดเน้นที่สำคัญของโซซูร์ ในเรื่องของความคิด รูปแบบ กฎเกณฑ์ (Form) มากกว่าเนื้อหาสาระ(Content) การแสดงให้เห็นความสัมพันธ์และการดำรงอยู่ของความคิดในความหมาย ที่เชื่อมโยงและเน้นย้ำถึงการมีอยู่เบื้องต้นในความคิดของผู้พูด เกี่ยวกับภาษา ความคิดเป็นจินตนาการทางจิตใจเกี่ยวกับวัตถุที่แท้จริงบางอย่าง ผ่านทางน้ำเสียง คำพูด ดังเช่นเขาพูดถึงเรื่องแนวคิด คำศัพท์ของต้นไม้ ม้า (Tree, Horse) จินตภาพแห่งเสียง(Sound Image) ไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูปแบบของเสียง คำพูดที่แท้จริง เมื่อเราออกเสียงคำศัพท์ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับวัตถุ แต่มันเป็นเรื่องของภาพประทับ จินตนาการที่กดประทับทางจิตวิทยา ซึ่งพึ่งพาอยู่บนความรู้สึกเข้าใจของเรา การศึกษาทางภาษาจึงเป็นการศึกษาลักษณะทางความคิดของมนุษย์ ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างจินตภาพแห่งเสียงและความคิด ที่เป็นเรื่องของสัญญะอันเป็นพื้นฐานของหน่วยทางภาษาศาสตร์(Kistevs:1989,P.33 Saussre :1966,P.66 และSharpman:2000)
ความสัมพันธ์ในทางลบ(Negative)ที่เป็นเรื่องของความแตกต่างตรงกันข้าม ดังเช่น ที่โซซูร์ได้นิยามสัญญะ ว่า เป็นสิ่งที่กำหนด พิจารณาความแตกต่างตรงกันข้ามของสัญญะทั้งหมดในระบบของสัญญะ(อ้างจาก Hugh J.Silverman:1994) สัญญะของต้นไม้จึงเป็นสัญญะของต้นไม้ โดยความแตกต่างจากสัญยะอื่นๆ เช่น บ้าน (House) นก (Bird ) และท้องฟ้า (Sky) สัญญะของต้นไม้ ก็แตกต่างกันในรูปสัญญะ Arbre ,Baum.Arbor และArbol สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างจากระบบสัญญะอื่นๆ เช่น arbre ในฝรั่งเศส Baum ในภาษาเยอรมัน Arbol ในภาษาสเปน เพราะว่าพวกเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบสัญญะเดียวกัน พวกเขาเป็นสัญญะหนึ่งเท่านั้นในลักษณะทางสัญญะทางภาษาที่เฉพาะของพวกเขา ที่นำไปสู่การเลือกใช้พวกเขาของปัจเจกบุคคลในการพูด (Parole) ภายในบริบทและช่วงเวลาที่แน่นอนที่สามารถกำหนดได้

Equus
ㄇㄚˇ

Horse
ม้า













woman
woman
woman
woman


นี่คือ กฎเกณฑฑ์ที่นำไปสู่ความคิดเรื่อง Syntagm และParadigm ในความคิดเกี่ยวกับรื่องของกระแสความหรือการเชื่อมต่อ กับแนวคิดเกี่ยวกับการทดแทน แทนที่ สวมรอย และการคัดเลือก โดยกระบวนชุดของการเชื่อมต่อ (Syntagm) เป็นเสมือนการจัดเรียงคำในประโยค ที่มีความต่อเนื่องของหน่วยทางภาษาที่เรียงกันในแนวราบ ในชุดของความสัมพันธ์ ระหว่าง ประธาน กริยา กรรม เช่น เขากินข้าว
ในขณะที่ความสัมพันธ์ในกระบวนชุดของการแทนที่ คัดเลือก หรือทดแทน (Paradigm) เป็นความสัมพันธ์ของหน่วยทางภาษาหนึ่งกับหน่วยอื่นๆ ที่สามารถแทนที่ในตำแหน่งเดียวกันได้ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในแนวตั้ง เช่น เขากินข้าว เธอดื่มน้ำผลไม้ เราชิมขนม ในชุดของประธาน ประกอบด้วย เขา เธอ และเรา ในชุดของกริยา กิน ดื่มและชิม ในชุดของกรรม คือ ข้าว น้ำผลไม้และขนม ที่สามารถใช้แทนกันได้ในความสัมพันธ์ของประโยค เช่น เขาดื่มน้ำผลไม้ เขากินน้ำผลไม้ หรือเขาชิมน้ำผลไม้ เป็นต้น
mat
bat
I bought my hat in an antique store.
cat
rat



hotel
shed
hut
Mr. Su lives in a house.
apartment
mansion
palace

ความคิดดังกล่าวคล้ายคลึงกับแนวคิดในวิธีการศึกษาภาษาศาสตร์ 2 แบบ แบบแรกคือการศึกษาแนวนิรุกติศาสตร์(Philology) หรือการศึกษาเชิงรากเหง้า วิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของภาษา ซึ่งเป็นการศึกษาในแนวตั้งหรือระนาบที่ต่างกัน ที่โซซูร์ เรียกว่า Diachrony ความสัมพันธ์ในเชิงข้ามเวลา แบบที่สอง เป็นการศึกษาเชิงโครงสร้าง ที่ปราศจากมิติทางด้านเวลา และเป็นความสัมพันธ์ในระนาบเดียวกัน เรียกว่า Synchrony หรือเป็นความสัมพันธ์เชิงร่วมเวลา โดยที่โซซูร์ไม่ได้สนใจกับการศึกษา แบบวิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงภายในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใดที่เฉพาะของภาษาหนึ่ง แต่เขาสนใจศึกษาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปของภาษา โดยไม่คำนึกถึงมิติเงื่อนไขด้านเวลาเพื่อดูโครงสร้าง ระบบการทำงานในกระบวนการทางภาษา โดยให้ความสนใจกับการแยกศึกษาวิวัฒนาการ ที่เป็นเรื่องของการใช้ภาษา กับโครงสร้างพื้นฐานทางภาษา ที่เป็นเรื่องของระบบกฎเกณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การที่เราจะเข้าใจความหมายหรือรหัสทางวัฒนธรรม เราจะต้องเข้าใจระบบโครงสร้างของมันก่อน เราถึงจะสามารถถอดรหัสหรือตีความหมายของมันได้
แม้ว่าโซซูร์ จะให้ความสำคัญกับระบบภายในภาษา และความคิด ระบบ แบบแผนและกฎเกณฑ์ ที่เขาเรียกว่า “Langue” แต่ก็เป็นเพียงคำจำกัดความด้านหนึ่งของหน่วยทางภาษาศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์เชิงเดี่ยวในการอธิบาย และเขาค่อนข้างโต้แย้งกับการปราศจากการอ้างอิงกับหน้าที่ทางสังคมของภาษา ดังนั้นภาษาไม่เคยอยู่อย่างแยกเป็นชิ้นจากความจริงทางสังคม มันเป็นธรรมชาติของสังคม ที่เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะภายใน ที่เป็นการติดต่อสื่อสารของปัจเจกบุคคล ที่สัมพันธ์กับเรื่องของเสียง และกฎเกณฑ์ที่อยู่ในระดับของความสำนึกรู้ทางจิตวิทยา หรือแนวคิด ซึ่งเป็นเรื่องของสัญญะ อันเป็นกระบวนการใส่รหัส(Encoding) และถอดรหัส(Decoding) ในกระบวนการติดต่อสื่อสาร ที่มีการแบ่งปันและใช้ร่วมกันในชุมชนของผู้พูดภาษา การวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางสังคม จึงเป็นการศึกษาที่เคลื่อนย้ายจากระดับของความสำนึกรู้(Conscious) ไปยังการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานระดับล่างของความไร้สำนึก(Unconscious infrastructure)
สัญญะคืออะไร? โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล
การศึกษาเกี่ยวกับสัญญะ เป็นสิ่งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องของภาษาและความคิด ภายใต้ข้อถกเถียงกันว่า เราเรียนรู้ภาษาก่อนที่เราจะพัฒนาความคิด ที่แสดงให้เห็นความสำคัญว่า ภาษากำหนดความคิดในหนทางของเราเกี่ยวกับโลกที่เป็นเหมือนโครงสร้าง หรือความคิดของเราเองต่างหากที่กำหนดโลกและสร้างสัญลักษณ์ทางภาษาขึ้นมา อันนำไปสู่การตั้งคำถามทางปรัชญาเกี่ยวกับเรื่องความคิดของมนุษย์ที่เป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ที่เป็นคุณสมบัติธรรมชาติของการเรียนรู้ของเราที่พึ่งพาอยู่บนประสบการณ์ อันมีรากฐานมาจากแนวความคิดของเพลโต(Plato)เรื่องรูปแบบทางความคิด(Ideal Forms) ที่เรารับรู้ก่อนประสบการณ์อื่นๆมากมาย ของวัตถุที่แท้จริงของธรรมชาติมนุษย์ เช่นเดียวกับความรู้แรกเริ่มที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด ในอีกแนวทางอริสโตเติล(Aristotle) บอกว่า ความรู้แห่งโลก (Knowledge of World) เป็นสิ่งที่ได้รับจากภาพประทับ ที่เราได้รับมาจากความรู้สึกความเข้าใจของเรา ซึ่งแตกต่างจากเรื่องความคิดที่ติดตัวมาแต่กำเนิดที่อ้างอิงกับการมีอยู่ของความรู้ที่แน่นอนในตัวของมนุษย์ ที่เป็นคนละด้านกับ อริสโตเติล อธิบายเกี่ยวกับความคิดของเด็กเกิดใหม่ที่เรียกว่า “Tabula Rasa” ในภาษาละติน ที่มีความหมายเหมือนคำว่า Blank Tablet ( อ้างจากChapman:2000 ) ที่แปลว่าแผ่นกระดานที่ว่างเปล่า หรือกระดาษที่สะอาด เช่นเดียวกับเด็กเกิดขึ้นมาพร้อมกับการปราศจากความรู้ติดตัว ความรู้ของเขาได้มาจากประสบการณ์ในภายหลัง อันนำไปสู่แนวทางการศึกษาที่แตกต่างของพวกเหตุผลนิยม(Rationalist) เช่นความคิดของไลป์นิซ(Leibniz) ที่มองว่าข้อมูลจากความรู้สึกเข้าใจของเรา ไม่เพียงพอในการให้ความรู้เกี่ยวกับโลก ที่ต่อมาเอมมานูเอล ค้านท์(Kant) ได้อ้างว่า องค์ความรู้ที่แน่นอนเริ่มแรกที่มนุษย์ได้รับจะมีมาก่อนประสบการณ์ ในขณะที่อริสโตเติลค่อนข้างจะมีอิทธิพล กับนักคิดสายประสบการณ์นิยม(Empiricist) อย่างเช่น จอห์น ล็อค(John Lock) ที่มองว่าพื้นฐานส่วนหนึ่งทางความคิด ความเข้าใจของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่ความรู้ทั้งหมดได้รักษาไว้ในประสบการณ์ของพวกเขา อันนำไปสู่การศึกษาเกี่ยวกับภาษาและสัญญะที่มีอิทธิพลมากในปัจจุบัน ในฐานะที่สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนดความคิด และสร้างความหมายให้กับมนุษย์
การศึกษาเกี่ยวกับสัญศาสตร์หรือสัญวิทยา มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรีก ที่คำศัพท์ของสัญญะ ถูกใช้ว่า “Semeion” หรือ ในภาษาละตินว่า “Pural ta semeia” คำว่า “Semiotikos” หมายถึงการสังเกตเกี่ยวกับสัญญะ โดยมี ฮิปโปเครต(Hippocrates) และพาเมนิเดส(Parmenides) ที่เขียนเริ่มต้น ในศตวรรษที่5 ที่นำไปสู่การบรรยายของนักเขียนโรมัน ชื่อซิเซโร(Cicero)และแควงติเลียน(Quintillian) ที่อ้างถึงคำว่า Semeion เช่นเดียวกับคำเหมือน (Symnonym ) และคำว่า Tekmerion กับความหมายถึง เอกสารหลักฐาน(Evidience) ข้อพิสูจน์(proof) หรือการบ่งชี้อาการของโรค(Symptom) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มั่นคงถาวร มีลักษณะชั่วคราว มีแนวโน้มที่จะขาดหรือไม่ปรากฎ(Absent) ซึ่งปิดปังอำพรางทัศนะมุมมองอันแท้จริง(Chapman:2000) ดังเช่นตัวอย่างเช่น ควัน (Smoke) ซึ่งเป็นสัญญะของไฟ หรือเมฆ ที่เป็นตัวบ่งชี้พายุฝนที่กำลังจะเกิดขึ้น สำหรับกะลาสีเรือ หรือร่างกายที่อุณหภูมิร้อนขึ้น ผิวที่มีสีแดง เป็นสิ่งที่บ่งบอกความเจ็บป่วยของร่างกาย ตัวอย่างเหล่านี้เป็นวัตถุที่เราสามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง และเป็นสิ่งที่แสดงความรู้สึกด้วย เช่นหน้าแดงเพราะอาย หน้าบูดเบี้ยวเพราะความเจ็บป่วย สิ่งเหล่านี้ถูกบรรยายอย่างแพร่หลายในยุคกลาง เช่นเดียวกับการบ่งชี้หรือวินิจฉัยอาการของโรคของหมอหรือนักฟิสิกส์ในยุคกลาง
ในช่วงต่อมาความคิดเกี่ยวกับสัญญะ ได้เน้นไปที่การศึกษาภาษา การแสดงออกทางภาษาและการติดต่อสื่อสาร โดยอิทธิพลของนักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ และนักปรัชญาชาวอเมริกัน ที่ได้ประกาศชัยชนะของกระบวนการศึกษาเชิงสัญญะในปรัชญาความรู้ปัจจุบันที่ แวงซ็องต์ เดสก๊อมต์(Vincent Descomb:1986) ได้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านแนวความคิดทางปรัชญาใน 3 ระดับคือ
1.ความคิดเรื่องปรากฎการณ์วิทยา(Phenomenological) ที่มีชัยชนะอยู่บน ปรัชญาของการเป็นตัวแทน (Philosophy of representation) ที่ความคิด ความรู้เป็นสิ่งที่ถูกเข้าใจในวัตถุสิ่งของ(Know thing) ที่นำไปสู่การเป็นตัวแทน
2.ความคิดเรื่องศาสตร์เกี่ยวกับการตีความ (Humeneutic) ที่มีชัยชนะอยู่เหนือการดำรงอยู่ของเทววิทยา(onto-theology) ซึ่งเชื่อว่า มนุษย์ไม่ได้มีความคิดที่บริสุทธิ์ที่นำไปสู่ขอบเขตทางความจริงที่นิรันดร์ เหตุผลของเราไม่สามารถที่จะมีส่วนร่วมกับความเข้าใจที่สมบูรณ์ได้ มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความก้าวหน้าของกระบวนการตีความหมาย การตัดสินใจทุกสิ่งของเราไม่ว่าอะไรก็ตาม
3.ความคิดเรื่องสัญวิทยา(Semiological) ที่มีชัยชนะอยู่เหนือ อภิปรัชญาของการอ้างอิง (Referent) ที่เชื่อว่าความหมาย ไม่ใช่ความสัมพันธ์กับวัตถุที่เป็นอิสระจากการอ้างอิง แต่มาจากความสัมพันธ์ของมันกับสัญญะอื่นๆในระบบปิด เราสามารถสรุปว่า สัญญะอ้างอิงถึงสภาวะความคลุมเครือ ไม่แน่นอนตายตัวของความสมบูรณ์ พร้อมกับสัญญะอื่นๆ
การเปลี่ยนผ่านทางปรัชญาความรู้ทั้งสามระดับ มีความสัมพันธ์กับการถกเถียงความคิด เกี่ยวกับเรื่องความเป็นองค์ประธานของมนุษย์ (The Human Subject ) ที่ถูกครอบงำโดยแนวความคิดทางปรัชญาแบบเดสการ์ต ที่บอกว่า เพราะฉันคิดจึงมีตัวฉัน แต่ปรัชญาของนักสัญวิทยา ที่เน้นลงไปที่ตัวโครงสร้างทางภาษา ได้ทำลายความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ ที่ตัวของมนุษย์เคลื่อนไหว และมีชีวิตท่ามกลางสัญญะหรือภายใต้โครงสร้างทางภาษา ตัวของมนุษย์จึงไม่ใช่องค์ประธานที่คิดได้ในตัวเอง แต่ตัวมนุษย์กลายเป็นร่างทรงของสัญญะ(Sign)หรือบทความ(Text) ที่ถูกเขียนอยู่ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่มีอิทธิพลมาจากแนวคิดเรื่องภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างของนักสัญวิทยาทั้งสองท่านคือ โซซูร์ และเพิร์ซ ที่ผู้เขียนจะได้แสดงให้เห็นฐานรากทางความคิดของทั้งสองท่าน ความเหมือนและความแตกต่างในการนำมาประยุกต์ใช้ศึกษาและวิเคราะห์ในเรื่องของสัญญะ
ทำไมต้องศึกษาเกี่ยวกับความตาย ( why we are study about death ? )
ความตาย ไม่ใช่เรื่องที่ไกลจากตัวมนุษย์ เพราะความตายเป็นเสมือนวงจรชีวิตของมนุษย์ ที่เปลี่ยนผ่านมาเป็นลำดับ ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บตาย ดังปรากฏในงานข้อเขียนชิ้นสำคัญของป๋วย อึ้งภากรณ์ ในเรื่องจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ว่า
“เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก.....เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ
เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใจในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้ เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่างฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตอง ในงานศพให้วุ่นวายไป นี่แหละคือความหมายของชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน…”
ดังนั้นความตายจึงสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้าง หรือสถาบันทางสังคมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย ร่างกายของมนุษย์ได้ถูกจัดวางหรือจัดระเบียบ ผ่านวงจรชีวิตของมนุษย์ ทั้งทางด้านการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย สถาบันต่างๆทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ โรงเรียน วัด ได้เข้ามาจัดการต่อเรื่องดังกล่าว ภายใต้ระบบกฎหมาย จารีตประเพณีทางสังคม ที่สร้างอำนาจและบทบาทหน้าที่ให้กับสถาบันดังกล่าวข้างต้น เช่น การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การทำใบส่งตัวคนไข้ การใช้บัตรทองสามสิบบาท การเข้าโรงเรียน และอื่นๆ เป็นต้น

ความตายกับธรรมชาติ ( Death is Nature )


ความตาย คือธรรมชาติ เพราะความตายเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเราไม่สามารถสร้างเงื่อนไขใดๆ เกี่ยวกับ ภาวะใกล้ตาย ( Dying ) หรือภาวะการณ์ตาย ( Death ) ของตัวเราหรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ หรือได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากประสบการณ์เกี่ยวกับความตายนี้ .ในการจัดการกับตัวเองและคนรอบข้าง
ในชีวิตปัจจุบัน เราสามารถเผชิญหน้ากับความตายได้บ่อยมากที่สุด จากการจับจ้อง มองดูรูปภาพ หรืออ่านบทความ ข่าว เกี่ยวกับความตาย ในหนังสือพิมพ์ นิตยสารหรือรายการโทรทัศน์ ที่เน้นย้ำหรือให้ความสำคัญกับผลกระทบทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมหรือผู้อ่าน ทำให้ภาพความตายถูกเสนอและผลิตซ้ำ
บทบาทและหน้าที่ของความตาย เช่นเดียวกับ ส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลงและสร้างทัศนคติของเราต่อมัน ทัศนคติของเราเป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลหรือผลกระทบโดยประสบการณ์ในอดีต เกี่ยวกับความตาย ทัศนคติของครอบครัว ความเชื่อทางศาสนา การศึกษา และปัจจัยอื่นๆ
ความตายเช่นเดียวกับกับการทำลายอย่างสมบูรณ์ (Total Destruction ) และเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ (Inevitability) ปรากฏการณ์เกี่ยวกับความตายได้สร้างการรับรู้ จดจำ และตระหนักเกี่ยวกับความตายของตัวเองและคนรอบข้างความตายจึงเป็นเสมือนการทำลายล้าง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสีย รวมทั้งความโศกเศร้าเสียจี่เป็นความรู้สึกและประสบการณ์ด้านอารมณ์
ความตาย ที่สัมพันธ์กับตัวเราและสังคม ( Individual and Society )
มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามลำพัง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นความสัมพันธ์ของวงจรชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่การเกิดจนถึงการตาย มีความสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกทางสังคม เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งสัมพันธ์กับระบบของเครือญาติ ความเป็นพี่น้อง ภายใต้กลุ่มวงศ์วานว่านเครือ
นอกจากนี้ความตาย ยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นกับคนตาย ผ่านความเชื่อในเรื่องผี ทั้งผีบรรพบุรุษ ผีตระกูล ผีวีรบุรุษ หรือผีฟ้าเทวดา ต่างๆ ที่มนุษย์เคารพนับถือและปฏิบัติพิธีกรรมอย่างเคร่งครัด เรื่องของคนตาย จึงสัมพันธ์ทั้งในแง่ของบุคคล ครอบครัวและชุมชน อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้


คำถามเกี่ยวกับความเป็นอมตะของชีวิต (Immortality)
ซึ่งมีความเป็นไปได้ส่วนหนึ่งในทางปรัชญาเกี่ยวกับความตาย และการตั้งคำถามกลับเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย
1.จิตวิญญาณตายพร้อมกับร่างกาย (The Soul dies with the body) เชื่อว่าไม่มีบุคคลใด (Person) หรือองค์ประธานใด (Subject) ที่ดำรงอยู่หรือเหลือรอดหลังความตาย (Death)
2.การกลับมาเกิดใหม่หรือดำรงสภาวะใหม่ บางครั้งเรียกว่า Re-Birth หรือ Re – Incarnation ที่การแตกดับนำไปสู่สภาวะการเกิดใหม่หรือเปลี่ยนรูปใหม่
3.จิตวิญญาณ (Soul) เป็นอมตะหรือเป็นนิรันดร์โดยตัวของมันเอง (The immortality of the soul by itself)
4.The resurrection of the body on the last day คือการกลับมาเกิดอีกครั้งหนึ่งภายหลังวันสิ้นสุดโลกหรือวันที่พระเจ้าพิพากษามวลมนุษย์พร้อมกัน
5.The immediate resurrection of the body เป็นการกลับฟื้นคืนชีพอย่างทันทีทันใด เช่น กรณีของพระเยซูคริสต์ เป็นต้น
ความเชื่อในเรื่องของจิตใจ และร่างกาย ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และแยกออกจากกันในบางสภาวการณ์ เช่น สิ่งที่คนไทยเชื่อกันว่าในร่างกายมีขวัญ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอาการตกใจ ขวัญก็จะออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นการออกไปแบบชั่วคราวและสามารถเรียกกลับคืนมาได้ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า เรียกขวัญ ส่วนวิญญาณนั้นสัมพันธ์กับการมีชีวิต วิญญาณออกจากร่างกายก็คือ การหมดลมหายใจ หรือสิ้นลม
ประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตและความตายดังกล่าว ทำให้มนุษย์อ้างถึงหรือสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับผี และสิ่งเหนือธรรมชาติอื่นๆ รวมถึงพิธีกรรมความเชื่อ ศาสนาต่างๆ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของความกลัว และความตาย ที่มนุษย์จะต้องเผชิญ และในยุคแรกเริ่มดั้งเดิม มนุษย์ไม่สามารถหาเหตุผลหรือคำอธิบายเกี่ยวกับการกำเนิด หรือ สาเหตุของความตายของมนุษย์ได้ ความเชื่อทางด้านศาสนาตำนานเทพเจ้าและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมนุษย์จึงถูกสร้างขึ้น เช่น ความเชื่อของอียิปต์ เกี่ยวกับสุริยะเทพ ซึ่งเป็นผู้สร้างมนุษย์ หรือคนัม มนุษย์เพศผู้ มีเศียรเป็นแพะ ที่ปั้นมนุษย์ขึ้นมาจากดินเหนียว หรือเทพเจ้าอนูบิส เทพเจ้าของคนตาย ที่มีเศียรเป็นหมาใน และเป็นเทพผู้ทำมัมมี่ให้กับมนุษย์ รวมถึงเทพเจ้าโอซิรีส เทพเจ้าแห่งความตายและการฟื้นคืนชีพ โลกและใต้พิภพ หรือแม้แต่ความเชื่อของคนไทย เกี่ยวกับท้าวยมราช หรือท้าวผู้ดูแลยมโลกและพิพากษาความดี ความชั่วของมนุษย์ และยมทูตซึ่งเป็นผู้นำวิญญาณคนตายลงมายังนรก เป็นต้น
โลกทัศน์และความเชื่อต่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ดังกล่าว ได้นำมาสู่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ เรื่องความตาย และชีวิตหลังความตายของมนุษย์ เป็นเช่นไร โดยหลักๆ แล้วอาจจะแบ่งได้เป็นได้เป็น 4 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ
1. ความตาย(Death) และสภาวะใกล้ตาย (Dying) กับ ความเป็นอมตะหรือชีวิตที่นิรันดร
2. ชีวิตที่นิรันดร์หรือความเป็นอมตะ(Immortality) และความเชื่อในพระเจ้า (God)
3. ความคิด จิตใจ และร่างกาย และความเป็นอมตะ หรือนิรันดร
4. อัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล และความเป็นอมตะหรือนิรันดร (Immortality)

ปรัชญาเกี่ยวกับความตาย

1. ความตาย คือ การหยุดชะงักหรือขัดขวาง การมีชีวิต (Death an interruption to life) เหมือนกับการนอน (Sleep) การเจ็บป่วย (Disease) ที่ถาวร เปรียบเสมือนกับการสิ้นสุดโครงการที่ดำเนินงานมายาวนาน หรือเป็นโครงการระยะสั้น ดังนั้นความตายจึงเป็นเสมือนสิ่งที่แทรกแซง กับทุกๆคน ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเองหรือคนที่เรารัก
2. ความตาย(Death)หรือสภาวะใกล้ตาย(dying) ควรเป็นสิ่งที่ถูกจ้องมอง พิจารณาว่า เป็น การกระทำที่เราต้องคิดคำนวณ หรือคาดคะเนไว้ล่วงหน้า (The Culminating act of Life) เกี่ยวกับชีวิต ที่บุคคลแสดงออกมาทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเขาและเธอหมายถึง หรือให้ความหมายกับชีวิตอย่างไร และชีวิตของเขาและเธอเป็นอย่างไร
3. ความตายเป็นสิ่งที่ถูกพิจารณาเช่นเดียวกับ ส่วนหนึ่งของชีวิต (Part of Life) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องสัมผัสหรือทำความรู้จักกับคำคำนี้ (คือ คำว่า ความตายหรือตาย) และต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมัน ในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิต หรือวงจรชีวิต ที่จะมาถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ จะเร็วหรือว่าช้าไม่มีใครกำหนดหรือรู้ได้ชัดเจน ดังนั้นคนทุกคนต้องเตรียมพร้อมและยอมรับมัน ถ้าในภาษาของไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) บอกว่า มันคือ “Human being is being toward-Death” ดังนั้นความตายจึงเป็นส่วนหนึ่งของลักษณะทางโครงสร้างในการดำรงอยู่ของมนุษย์
4. ความตายคือสิ่งที่ควรพิจารณาเช่นเดียวกับการส่งผ่าน (Transition) จากชีวิตที่นับได้อย่างแท้จริง หรืออาจกล่าวให้ง่ายก็คือ ชีวิตที่เคลื่อนไหว ชีวิตที่ประกอบด้วยเนื้อหนังมังสา ชีวิตของมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่นิรันดร์ (Eternal Life) เป็นอมตะ ไม่มีที่สิ้นสุด หรือการเปลี่ยนแปลงจากสถานภาพเดิมไปสู่สถานภาพใหม่ ซึ่งในความเชื่อของแตะละสังคมหรือแต่ละศาสนา ก็มักจะมองว่า ร่างกายเป็นสิ่งที่แตกดับ หรือเสื่อมสลายได้ง่ายมากกว่า จิตวิญญาณ ซึ่งเป็นลักษณะทางนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ซึ่งสามารถเข้าไปรวมหรือเป็นอันหนึ่งเดียวกับพระเจ้าได้ ดังเช่น ศาสดาเยซู หรือจิตวิญญาณสามารถเดินทางไปดินแดนของพระเจ้า หรือโลกอันศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เบื้องบนได้ ในทางพุทธศาสนาก็พูดเรื่องนิพพาน และสภาวะสูญตา
ดังนั้น ปรากกฎการณ์เหล่านี้ จึงเป็นเสมือนองค์ความรู้ หรือแบบแผนของการรับรู้และการสำนึกของมนุษย์ ที่มีต่อเรื่องของความตาย ความเชื่อในเรื่องการดำรงอยู่หรือการหลงเหลือของจิตวิญญาณ (Soul) ที่ไม่ได้เสื่อมสลายไปพร้อมกับร่างกาย แต่ยังดำรงอยู่ในอีกภพภูมิ หรือดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์อื่นๆที่คนธรรมดาเข้าไปไม่ได้ นอกจากคนตายเท่านั้น
5. ความตาย คือ สิ่งที่ควรพิจารณาเช่นเดียวกับ การส่งผ่านจากชีวิตที่ Eventually ไปยังชีวิตอื่น ที่อาจจะเหมือนเดิม แบบเดียวกัน ดีกว่า หรือแย่กว่า ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องกรรม หรืออผลของการกระทำในชาตินี้ต่อชาติหน้า หรือผลจากอดีตมาสู่ภพภูมิปัจจุบัน ซึ่งเป็นความคิดของพวกลัทธิชื่อในการกลับมาเกิดใหม่ (Doctrines of Re-Incarnation)

บรรณานุกรมอ้างอิง

วัฒนธรรม ความตาย กับวาระสุดท้ายของชีวิต คู่มือเรียนรู้มิติสังคมของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยนายแพทย์ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์และคณะ กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ,2550.
ความตายกับภาวะใกล้ตาย / by Elisabeth Kubler Ross ; ผู้แปล มาลินี วงศ์พานิช.กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2525.
คติวิจารณ์เรื่องความตาย.โดยหลวงวิจิตรวาทการ, 2441-2505.พระนคร, โรงพิมพ์จิตร์วัฒนา, 2476.
Death and afterlife by David Stephen T,Hampshire : Macmillan, 1989
Death and dying : a reader / edited by Thomas A. Shannon. Lanham, Md. : Sheed & Ward Book, c2004.
Death and dying , life and living / Charles A. Corr, Clyde M. Nabe, Donna M. Corr. Belmont, Calif., U.S.A. : Thomson/Wadsworth, c2003
Death and dying : understanding and care / Barbara A. Backer, Natalie Hannon, Noreen A. Russell. Albany, N.Y. : Delmar, c1994
Death and disease in Southeast Asia : explorations in social, medical, and demographic history / edited by Norman G. Owen. Singapore ; Oxford University Press, 1987
Death and eternal life, Hick, John. Hamplshire Macmillan Press (1985)
Death and philosophy / edited by Jeff Malpas and Robert C. Solomon. London : Routledge, 1998
Death and the afterlife : a cultural encyclopedia / Richard P. Taylor. ABC-CLIO, c2000
Death and the afterlife in ancient Egypt / John H. Taylor. London : Published for the Trustees of the British Museum by the British Museum Press, 2001
Death and the Christian, tr. from the French by P.J. Hepburne-Scott. New York, Hawthorn Books (1961)
Death and western thought. by Choron, Jacques.New York, Collier Books (1963)
Death as a socio-cultural fact toward a sociology of death. by Nakano, Hideichiro. Nishinomiya, Kwansei Kakuin Univ., 1983.
Celebrations of death : the anthropology of mortuary ritual / Peter Metcalf, Richard Huntington. by Metcalf, Peter, 1941-, Huntington, Richard. Cambridge : Cambridge University Press, 1993.
Is there life after death? by Kastenbaum, Robert J.,London, Rider (1984)
Foucault, health, and medicine / edited by Alan Petersen and Robin Bunton. by London : Routledge, 1997
The body in health and social care / Julia Twigg. Basingstoke [England] : Palgrave Macmillan, 2006.
Death and Dying A Sociological introduction /Glennys Howarth,polity press2007
อะไรคือความตาย What is death ?
เริ่มแรก ก่อนที่เราจะรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความตาย เราจำเป็นต้องเข้าใจการมีชีวิตก่อน ( Living ) รวมถึงสิ่งที่สะท้อน อารมณ์ ความรู้สึก ต่อความตาย ของผู้อื่นอย่างไร รวมทั้งการรับรู้ว่าในอนาคตของเราก็จะต้องตายเช่นกัน ในช่วงวัยเด็ก เรามักจะถูกทำให้รู้สึกว่า ความตายเป็นเรื่องที่ห่างไกล เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าเด็กอย่างเราจะเข้าใจ ว่าทำไม คนเราถึงต้องตาย และทำไมตายแล้วไม่ฟื้น เราถูกกีดกันออกจากความรู้เรื่องของความตาย ความตายกลายเป็นสิ่งที่ไกลตัว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านตามวัฎจักรชีวิตของมนุษย์บนโลก
ประสบการณ์และทัศนคติของเด็กเกี่ยวกับความตาย มักจะมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองรัก เช่น พ่อแม่ หรือสัตว์ เลี้ยง ซึ่งเป็นความตายที่เหมือนกันและสร้างสร้างทัศนคติเกี่ยวกับความตายต่อเด็ก ในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะกรณีของสหรัฐอเมริกา มีความพยายามจะสร้างการมีชีวิตที่ยืนยาว ที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูงมากที่สุด ในการชะลอความตายหรือยับยั้งความตาย ดั้งนั้นชาวอเมริกันย่อมมีความรู้สึกกลัวต่อความตายมากที่สุด และสิ่งเหล่านี่ได้นำไปสู่ทัศนคติเกี่ยวกับความตายของมนุษย์ และประกอบสร้างพื้นฐานทางด้านอารมณ์ที่สำคัญต่อเรื่องความตาย ความเชื่อ คำถาม และการปฏิบัติของเราเกี่ยวกับเรื่องความตาย โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ(Health) และการประกันชีวิต (Insurrence)
ตัวอย่างที่น่าสนใจ ก็คือ
มีครอบครัวหนึ่งที่ต้องสูญเสียพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวไป เด็กชายอายุ 9 ขวบ ซึ่งเป็นสมาชิกของครอบครัวนั้น (เป็นลูกของผู้ตาย) ถามแม่ของเขาว่า
“ทำไมพ่อของผมหลับอยู่นานไม่ตื่นเสียทีละครับ”
แม่ของเขาก็ตอบว่า “พ่อของลูกเดินทางไปสบายแล้ว”
ลูกจึงถามต่อว่า “พ่อของผมเดินทางไปไหน”
แม่จึงตอบกลับไปว่า “พ่ออยู่บนสวรรค์”
ลูกถามต่อว่า “สวรรค์คืออะไร” แม่บอกลูกว่า “สวรรค์คือที่ที่มีนางฟ้า เทวดาอยุ่”
ลูกถามแม่ต่อว่า “แล้วทำอย่างไรจึงจะได้ไปที่แห่งนั้นได้”
สุดท้ายแม่ก็ตอบลูกว่า “หนูก็ต้องทำความดีเยอะๆซิ ถึงจะได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าหนูทำชั่วไม่เชื่อฟังพ่อแม่หนูก็จะทรมานอยู่ในนรก”
ถึงแม้จะได้คำตอบ แต่ลูกก็ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของความตาย แต่เชื่อว่า สวรรค์ต้องเป็นที่ที่ดีแน่ๆ พ่อถึงไปแล้วไม่ยอมกลับมา.....
สรุปว่า เด็กคนนี้ก็ยังคงงง กับสิ่งที่เรียกว่าความตาย ว่าคืออะไรกันแน่ ความตายจะเป็นเรื่องของภพภูมิที่แตกต่างกัน ที่แบ่งแยกระหว่างโลกมนุษย์ที่เป็นโลกที่ดำรงอยู่ ณ สภาวะปัจจุบัน กับโลกของชีวิตหลังความตาย ที่ทัศนะ มุมมอง และมิติเกี่ยวกับความเชื่อดังกล่าว มีอยู่ในกลุ่มสังคมของมนุษยชาติในที่ต่างๆทั่วโลก
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นของแม่กับลูกข้างต้นก็คือ ความสัมพันธ์ของผู้คน กับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติของความตาย ที่ได้สร้างกำแพงหรือข้อห้าม (Taboo) เกี่ยวกับเรื่องของความตายให้กับมนุษย์ ความตายกลายเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นลางร้าย หรือสัญญาณไม่ดี และไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเอ่ยถึงเรื่องความตายของตนเองและผู้อื่น เพราะเราก็มักจะถูกต่อว่า ว่าเป็นคน “ปากไม่ดี” “พูดไม่เป็นมงคล” และ “ไม่รู้จักกาลเทศะ”
ดังนั้น เมื่อเราขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของความตาย และรับรู้ว่าความตายเป็นเรื่องที่น่ากลัว เป็นเรื่องของการสูญเสีย เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดการตายกับบุคคลที่ใกล้ชิด หรือ รู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย ความตายจึงกลายเป็นสิ่งที่ยากจะรับได้ แม้ว่าเราจะวางเฉย (ignore) หรือปฏิเสธ ( resistance) ต่อเรื่องความตาย เช่น การหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงมัน การใช้ชีวิตแบบสนุกสุดเหวี่ยง โดยเชื่อว่า “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” “ใช้ชีวิตวันนี้ให้คุ้มค่าเพราะพรุ่งนี้จะมีหรือเปล่าก็ไม่รู้” “ใช้ชีวิตให้มีความสนุกเพราะพรุ่งนี้ก็ตายแล้ว” เป็นต้น
ทัศนะหรือมุมมองเกี่ยวกับความตาย จึงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากความตายที่สัมพันธ์กับครอบครัวและชุมชน ในอดีตเรารับรู้และเข้าใจต่อเรื่องของความตายว่าเป้นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของมนุษย์ เช่นพิธีกรรมล่าหัวมนุษย์ของพวกอินเดียน การมุงดูการประหารนักโทษในสังคมไทยโบราณ การเฉือนศพให้นกและปลากินในธิเบต การเผาศพคนตายริมฝั่งแม่น้ำคงคา ของอินเดีย เป็นต้น จนกระทั่งความตายถูกทำให้เป็นความน่าอุดจาด สะอิดสะเอียน เป็นมลภาวะ ความสกปรก ที่สัมพันธ์กับเรื่องความสะอาด เรื่องสุขภาพ ดังนั้น ศพก็ควรที่จะถูกจัดการละจัดเก็บอย่างมิดชิด และควรเป็นพิธีกรรมที่จำกัดเฉพาะบุคคลที่ใกล้ชิด ยิ่งไปกว่านั้นความตายถูกแยกออกจากการมีชีวิต ความตายคือการสิ้นสุดของสภาวะการดำรงอยู่และการทำงานของร่างกาย ในขณะเดียวกันก็เป็นการเดินทางของจิตวิญญาณไปยังอีกโลกหนึ่งตามความเชื่อทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษยชาติบนที่ต่างๆของโลก
ปรากฏการณ์เกี่ยวกับการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความตายข้างต้นเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากยิ่ง สำหรับคนรุ่นปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กที่เกิดขึ้นใหม่ มีประสบการณ์ที่ค่อนข้างยากมาก เมื่อเผชิญหน้ากับความตายของคนที่ตัวเองรัก ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ พี่น้อง หรือคนรัก เมื่อคนที่พวกเขารักถูกพรากจากไป ไม่ใช่ในแง่การพรากจากไปจากสมาชิกในครอบครัว แต่เป็นการพรากไปจากความสัมพันธ์หรือการปฏิบัติต่อกันของคนในครอบครัว ตัวอย่างเช่น การยกหน้าที่ดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นสมาชิกของคนในครอบครัว ให้กับโรงพยาบาล หรือกระบวนการดูแลรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่ หรือแม้แต่การจัดการกับศพ ที่ต้องผ่านสถาบันต่างๆ ทั้งโรงพยาบาล นิติวิทยาศาสตร์ มาจนถึงวัด ที่เข้ามาจัดการเรื่องพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศพในปัจจุบัน
2.2 แนวคิดเกี่ยวกับความตายของนักจิตวิทยา
ในความคิดเห็นของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Frued) ตรรกะหรือเหตุผลพื้นฐานของเขาก็คือ สิ่งหนึ่งเราไม่สามารถจะจินตนาการได้ว่ามันคืออะไร เมื่อเราไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งนั้น ฟรอยด์เชื่อว่า ในจิตใต้สำนึกของเรา พวกเราเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับ ความเป็นอมตะของตัวเราเอง ดังนั้นมันยากมากที่เราจะเข้าใจและรับรู้เกี่ยวกับการตาย
แต่สิ่งที่น่าสนใจในทฤษฎีของฟรอยด์ ก็คือสิ่งที่เขาพูดถึงพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ทุกๆคน เป็นสิ่งที่ถูกควบคุถมและจัดการโดยชุดของความขัดแย้งทางสัญชาตญาณ ในท่ามกลางพวกเขาประกอบด้วย สิ่งที่เรียกว่า สัญชาตญาณความตายที่เป็นสากล หรือ Thanatos และหลักการของชีวิตหรือสัญชาตญาณ ที่เรียกว่า Eros
สัญชาตญาณทั้งสองแบบนี้ ถูกฝังอยู่ในตัวตนที่หยาบที่ฟรอยด์เรียกว่า Id ที่เป็นส่วนหนึ่งของจิตหรือวิญญาณ (Psyche)หรือสิ่งที่ละเอียดกว่าร่างกาย
2.3 แนวคิดเกี่ยวกับการแยกกาย (Body)กับจิต (Soul)ออกจากกัน
แนวความคิดนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก นักปรัชญาทวินิยมหรือDualism อย่าง เคอเน่ เดการ์ต (Rene Decart) ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและวิญญาณ ในแง่ที่เป็นเรื่องของเจตจำนง ความตั้งใจและความคิด ในปฎิกริยาหรือความสัมพันธ์ต่อกัน ระหว่างร่างกายและวิญญาณ ในแง่ของประสาทสัมผัส อารมณ์และตัณหา วิญญาณก็มีผลกระทบต่อร่างกาย ในระดับของการเคลื่อนไหว จิตที่คิดได้ มีความเป็นอิสระ มั่นคงและมีอำนาจ ดังคำกล่าวที่ว่า เมื่อฉันคิดจึงมีตัวฉัน I Think Therefore I am ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศว่าจิตที่สมบูรณ์ของพระเจ้าไม่ได้มีอยู่จริง แต่พระเจ้าได้ตายแล้ว ดังเช่นที่นักปรัชญอย่าง เฟรดิก นิชเช่ ได้กล่าวเอาไว้
คุณูปการในการแยกระหว่างร่างกายกับจิตใจ ก็คือ การตื่นตัวที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิต และความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ ที่ส่งผลให้เกิดการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์จึงเปรียบเสมือนกับเป็นเครื่องจักรกลสมัยใหม่ ที่สามารถถอดชิ้นส่วนหรือชำแหละหาสาเหตุอาการของการเจ็บป่วย รวมถึงการซ่อนแซมฟื้นฟูให้กลับสู่สภาวะปกติได้ ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่าย หรือปลูกอวัยวะ เหมือนกับชิ้นส่วนของรถยนต์ที่มีความเสียหายก็ต้องนำอะไหล่ชิ้นใหม่เข้ามาเปลี่ยนแทนเป็นต้น
1.5 ความคิดเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณของนักปรัชญากรีกและตะวันตกสมัยใหม่คนสำคัญ
การถกถียงกันของนักปรัชญาในยุคทางปัญญาของกรีก เป็นการถกถียงในประเด็นปรัชญาเรื่องของความรู้ ว่า ความรู้ของคนเรามีจริงหรือไม่? เช่น เฮราดิตุส (Heraditus) สอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้น แล้วเราจะยึดถืออะไรเป็นความรู้ที่คงที่ได้ ในขณะเดียวกันไพทรากอรัสก็สอนเรื่องสัดส่วนต่างๆ ว่ามีความสำคัญมากกว่าเนื้อธาตุ ทำให้นักปรัชญากรีกหลายคนพยายามหาคำตอบของปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะเพลโต(Plato)และอะคาเดมี่ (Academy) เป็นลูกศิษย์ของโสเครตีส และทำให้โลกรู้จักโสเครตีสเกี่ยวกับงานและความคิดของโสเครตีสที่เขาบันทึกไว้ ได้เสนอว่า ความรู้ที่แท้จริงนั้นเรามีได้ แต่ไม่ใช่ความรู้สามัญที่มาจากความจัดเจน เชี่ยวชาญ (Experience) ซึ่งได้มาจากผัสสะ หากแต่ว่าเป็นความรู้ที่อยู่เหนือผัสสะ ที่เพลโตเรียกว่า “แม่พิมพ์” หรือรูปแบบสมบูรณ์ (Forms) ซึ่งในความหมายนี้ก็คือ ความรู้ในรูปสมบูรณ์ (Knowledge of Form)
ดังนั้นเพลโตเชื่อในรูปที่สมบูรณ์และไม่เปลี่ยนแปลง สรรพสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนแปลงแท้จริงแล้วต่ำกว่า และเป็นเพียงรูปเสมือนที่ใกล้เคียง กับรูปสมบูรณ์เท่านั้น เช่นดอกกุหลาบที่เปลี่ยนผ่านจากสภาวะดอกตูมไปสู่ดอกบาน จากตุ่มเล็กๆสีเขียวใบไม้ จนกระทั่งแย้มบานออกเป็นสีแดง หรือขาวเต็มที่ ต่อมาก็เหี่ยวเฉาร่วงโรย อย่างนี้ เพลโตตั้งคำถามว่า อะไรที่เรียกว่าดอกกุหลาบ คนทั่วไปย่อมถือว่าดอกกุหลาบคือดอกที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว บานเต็มที่ นั่นก็คือ รูปแบบ (Form) ของมัน เวลามัยตูมเราเรียกว่ากุหลาบตูม เวลาบานเราก็เรียกว่า กุหลาบธรรมดา เวลาร่วงโรยก็เรียกกุหลาบโรยหรือกุหลาบแห้ง ดังนั้นมโนภาพหรือความรู้เกี่ยวกับกุหลาบ ก็คือกุหลาบบาน เป็นมาตรฐานรูปแบบที่สมบูรณ์ตามแบบเพลโต
เพลโตปฏิเสธว่า สรรพสิ่งที่เราประจักษ์ต่อสายตาตนเองหรือการรับรู้ทางผัสสะ ล้วนเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น แต่รูปสมบูรณ์ของมัน คือ ความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ ความรู้ในความสมบูรณ์ของมัน ดังเช่น ความรู้เกี่ยวกับกุหลาบและความเป็นกุหลาบซึ่งเป็นความสมบูรณ์ทางรูปธรรม ความงดงามของดอกกุหลาบก็คือ ความสมบูรณ์ทางนามธรรม เช่นเดียวกับศีลธรรมจรรยา
โลกจึงมีสองส่วนที่เชื่อมกันทั้งหมด คือรูปธรรมและนามธรรม ความคิดกับวัตถุสสาร เช่นเดียวกับที่ เพลโต เชื่อว่า วิญญาณ (Soul หรือPsyche) ในร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวตัวเอง มันเป็นสิ่งที่ให้ชีวิต และบัญชาให้มองดู รับรู้ และตั้งเจตจำนง ดังนั้นวิญญาณ จึงมีสามระดับ คือ1.ระดับของเหตุผล หรือระดับการรู้เหตุผล 2.ระดับอารมณ์ หรือระดับที่กล้าหาญ แกล้วกล้า และ3.ระดับที่เป็นไปตามความต้องการของร่างกาย ระดับการเกิดความรักใคร่ ซึ่งตั้งอยู่บนส่วนต่างๆของร่างกายตามลำดับคือ ศีรษะ หัวใจ และท้อง
วิญญาณที่มีความยุติธรรมก็จะต้องมีทั้งสามส่วนนี้สมดุลกัน แต่ละส่วนมีหน้าที่และเชื่อฟัง ในส่วนที่ควบคุมเหนือขึ้นไป ได้แก่เหตุผล เหตุผลจึงเป็นผู้ปกครองอารมณ์ และอารมณ์ก็เป็นส่วนช่วยในการกระทำที่มีเหตุผล เป็นผู้ส่ง ถ้าส่วนที่อยู่ภายใต้เหตุผล มีอิทธิพลอยู่เหนือจิตวิญญาณ มนุษย์ก็จะอ่อนแอ และขาดความสมดุลไปในที่สุด ปรัชญาเรื่องนี้ มีความเชื่อมโยงกับแนวความคิดว่าด้วยรัฐ ของโสเครตีส ในความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวรัฐ เราจำเป็นต้องดูรูปแบบความสัมพันธ์ของวิญญาณและรัฐร่วมกัน ในแง่นี้รัฐ หรือ Polity คือ วิญญาณในวงกว้างและคนในรัฐคือส่วนย่อยในวงแคบ เนื่องจากวิญญาณที่สมบูรณ์ยุติธรรม ย่อมปกครองด้วยเหตุผล เช่นเดียวกับแบบที่อมตะ เป็นที่มาของความรู้ และมีแบบอย่างของความดีงามสูงสุด ดังนั้นวิญญาณที่เรียนรู้ย่อมมีการดำรงอยู่ที่ดี คือ การไตร่ตรองในรูปแบบของความดี (Form of the God)
ดังนั้นวิญญาณในระดับของเหตุผลเท่านั้นจึงจะเป็นวิญญาณอันอมตะ ที่มีเจตจำนงอย่างอิสระ และเป็นรูปแบบสมบูรณ์ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้น การซ้อนทับกันของโลกแห่งรูปและโลกของเรา ซึ่งในโลกแห่งรูป บรรดารูปสมบูรณ์และนามธรรม อันไม่เปลี่ยนแปลงทั้งหลายจะอยู่ร่วมกันกับวิญญาณอมฤตของมนุษย์ ผู้ใดได้เข้าไปอยู่ในโลกแห่งรูปสมบูรณ์นั้น จะประสบความนิรันดร์ แห่งสรรพสิ่งทั้งปวงและจะเป็นสุขสมบูรณ์ การที่ในชาตินี้ คนเราเห็นสรรพสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป แต่รู้ว่ามันมีรูปสมบูรณ์ที่คงกระพันนั้น เพลโตว่าเนื่องจากชาติก่อนๆ เราเคยอยู่ในรูปแห่งรูปสมบูรณ์มาแล้ว นี่เป็นข้อคิดเกี่ยวกับการระลึกชาติของพวกกรีกอย่างในพระพุทธศาสนา แต่ในกรีกไม่ได้มีการระบุเรื่องเกี่ยวกับกรรมของส่วนบุคคลแต่อย่างใด
โซเครตีส (Socretes) มีข้อคิดเกี่ยวกับเรื่อวิญญาณ (Soul) ของมนุษย์ว่า
“วิญญาณเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดชีวิตและเป็นลมปราณซึ่งเกิดขึ้นเองและเป็นอมฤต” ดังคำสอนของโซเครตีสที่เคยให้ไว้กับชาวเอเธนส์ให้ ระวังรักษาจิตวิญญาณของตนเอง ซึ่งวิญญาณในทัศนะของโซเครตีสนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ (Divine) ซึ่งผูกพันกับส่วนของมนุษย์ที่เป็นอมตะ วิญญาณเป็นที่ตั้งของบุคลิกลักษณะ(Character) และความรู้ (Knowledge)ของมนุษย์ ดังเช่นที่ศาสตราจารย์ A.T. Tylor กล่าวว่า ตามคำสอนของโสเครตีสแล้ว วิญญาณของคนคือ ตัวคนนั้นเอง ต่อมาภายหลังจึงมีความเชื่อว่า วิญญาณคือสิ่งที่ซึ่งอาศัยร่าง
แนวคิดของอริสโตเติล ซึ่งมีพ่อเป็นนายแพทย์ของพระเจ้าฟิลิปแห่งรัฐ Macedonia ต่อมาเขาได้กลายป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แม้ว่าอริสโตเติลเคยเข้าไปเป็นศิษย์ของเพลโตที่อะคาเดมีก็ตาม แต่แนวความคิดทางปรัชญาของเขาทั้งสองคนก็มีความแตกต่างกันมาก
ในเรื่องของผัสสะ เพลโตมองว่า “ผัสสะลวงตาเราแต่ความคิดได้ให้ความจริงแก่เรา” และเราสามารถเอาความรู้เหล่านี้ไปขยายเป็นความคิดอื่นๆได้ ในขณะที่อริสโตเติล วิจารณ์ความคิดเรื่องรูปสมบูรณ์ของเพลโต เขามองว่ามันเป็นเสมือนจินตนาการ หาได้มีอยู่จริงไม่ เขาเชื่อในความมีอยู่ของแต่ละสิ่ง เมื่อเพลโตพูดถึงเรื่องกุหลาบดอกหนึ่ง ว่ารูปสมบุรร์ของดอกกุหลาบมีอยุ่จริง แต่ดอกกุหลาบดอกหนึ่งมีอยู่ไม่จริงนั้น อริสโตเติล แย้งว่า ดอกกุหลาบดอกหนึ่งเป็นของจริง ส่วนรูปสมบูรณ์ของมันนั้นไม่มีอยู่จริง เป็นจินตนาการหรือความฝันเท่านั้น
จากวิวาทะหรือข้อถกเถียงทางปรัชญาดังกล่าว นำไปสู่คู่ของความขัดแย้งทางปรัชญาในยุคปัจจุบันหลายประเด็น ทั้งแนวความคิดเรื่องสสารนิยม (Materialism) กับจิตนิยม (Idealism) และแนวคิดเรื่องของร่างกาย (Body ) กับจิต (Soul) โดยเฉพาะการแยกระหว่างร่างกายกับจิตของนักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่อย่าง เคอเน่ เดคาร์ต (Rene Decart) ที่ให้ความสำคัญของมนุษย์ที่รู้ได้เอง คิดได้เอง เพราะมนุษย์คิดได้จึงทำให้มีตัวมนุษย์ หาใช่ความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า พระวจนะของพระเจ้า หรือเจตจำนงของพระเจ้าแต่อย่างใด
แต่ในประเด็นเรื่องของจิตวิญญาณ แนวความคิดของกรีกในยุคนั้นก็ก้ำกึ่งกันระหว่างความเชื่อแบบสสารนิยม กับจิตนิยม และมีความโน้มเอียงไปในทางชีวิตนิยม (Hylozoism) ที่เชื่อว่า มีชีวิตที่ใดก็มีวิญญาณที่นั่น วิญญาณทำให้สิ่งมีชีวิตแสดงออกมาซึ่งกัมมันตภาพหรือกิจกรรม (Activity) วิญญาณของมนุษย์ซึ่งรู้คิด มีเหตุผล เป็นวิญญาณขั้นสูงสุดของชีวิต ในความเห็นของอริสโตเติล ก็ยังมองว่า พืชก็มีวิญญาณเช่นกัน นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ จึงไม่ใช่พวก ทวิลักษณ์นิยม (Dualist) ที่มองว่า ร่างกายกับวิญญาณเป็นคนละสิ่งกัน แต่พวกเขามองว่า เป็นสิ่งเดียวกัน โดยเชื่อว่านามรูปของพระเจ้า วิญญาณของมนุษย์ก็ต้องอยู่ในร่างมนุษย์ จะอยู่ในร่างสัตว์ไม่ได้ และวิญญาณจะตั้งอยู่เป็นเอกเทศโดยตัวเองไม่ได้ ซึ่งแนวความคิดของอริสโตเติลก็คล้ายๆกับนิพพานทางพระพุทธศาสนา หรือนิรวาณของพราหมณ์ ว่า ธาตุอันสูงส่งในวิญญาณของมนุษย์อันก่อให้เกิดการระลึกเหตุและผลนั้นมาจากภายนอก แล้วเข้าไปภายใน ธาตุนี้จะยังคงอยู่หลังจากร่างกายดับขันธ์ไปแล้ว แล้วจะอยู่ในสภาพเป็นบุคคล หรือไปรวมกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น แต่อริสโตเติลไม่ได้กล่าวไว้ตรงๆ เช่นเดียวกับเพลโต ที่เชื่อว่า สรรพสิ่งมีทั้งรูป(โครงสร้าง)และเนื้อ ของสิ่งเดียวกันต้องมีทั้งรูปและเนื้อตรงกัน เช่น แจกันและเชิงเทียนทำจากทองเหมือนกัน หากผิดรูปหรือรูปผิดกันก็เป็นของสองสิ่ง รูปและเนื้อนี้แยกออกจากกันไม่ได้ คือ ไม่มีเนื้อที่ไร้รูป และไม่มีรูปที่ไร้เนื้อ แต่อาจมีรูปที่เนื้อคนละอย่าง หรืออาจมีเนื้อคนละรูป เป็นต้น
2.จากจิตวิญญาณสู่ความคิดเรื่องความตาย
2.1 แนวคิดเรื่องความตายของนักปรัชญา
โสเครตีส (470-399 B.C) กล่าวว่า ไม่มีปัจเจกบุคคลที่ดำรงชีวิตอยู่คนใดสามารถที่จะรู้เกี่ยวกับความตาย (No living Individual could know death) เขาได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับความตายที่สามารถจะเป็นไปได้ คือ ความตาย เป็นทั้ง การนอนหลับที่ไร้ความฝัน (Dreamless Sleep) หรือการเดินทางของจิตวิญญาณไปยังโลกอื่น (Dale V. Hardt , 1946 : 3-4 ) เขาอ้างถึงว่า ความตาย เช่นเดียวกับ การแช่แข็ง (Freezing) และการแยกของจิตวิญญาณออกจากร่างกาย ความตายคือกระบวนการปลดปล่อยจิตวิญญาณที่เสรี จากความรู้สึกเหล่านี้และนำไปสู่ความสามารถที่จะค้นพบความจริง เช่นเดียวกับนักปรัชญาอย่าง เพลโต เชื่อว่า ความตายเป็นวิธีการที่ง่ายที่จะปลดปล่อยจิตวิญญาณ (Soul) ออกจากร่างกาย จิตวิญญาณไม่มีวันที่จะถูกทำลาย แต่มันเป็นสิ่งที่เป็นอมตะ (Immortality) ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ร่างกายมีการตาย ในขณะที่จิตวิญญาณของพระเจ้า (Divine Soul) เป็นสิ่งที่นิรันดร์ ในความปรารถนาของมัน ที่จะเป็นอิสระ จากความกลัว (Fear) ความรู้สึกเจ็บปวด (Passion) และความชั่วร้ายที่ดำรงอยู่ของมนุษย์ โดยดำเนินการไปยังการดำรงอยู่พร้อมกับพระเจ้า สิ่งที่เพลโตพูดถึงเกี่ยวกับการพิจารณาเกี่ยวกับความตาย และชีวิตหลังความตาย เป็นสิ่งที่ถูกกล่าวซ้ำ โดยพระเยซูคริสต์ ในช่วง 400 ปีต่อมา
สำหรับอริสโตเติล (384-322 B.C) ในอีกด้านหนึ่ง ทัศนะของความตายเกี่ยวกับมนุษย์ เช่นเดียวกับการสิ้นสุดของทุกๆสิ่งยกเว้นเหตุผลของเขา เหตุผลอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกนิยามหรือให้คำจำกัดความ เช่นเดียวกับบางสิ่งที่ถูกเรียนรู้ โดยมนุษย์ทุกคน และเป็นสิ่งที่มีอยู่ในพวกเขาเสมอ และ ไม่มีวันตาย
ในสังคมของเพลโตและอริสโตเติล มีความแตกต่างจากสังคมอื่นๆปัจจุบัน ในสังคมของเพลโตทัศนะเกี่ยวกับความตาย เขามองว่า สังคมของเขาปฏิเสธเกี่ยวกับการระลึกหรือเข้าใจความตาย ว่าเป็นเช่นเดียวกับกระบวนการ ปฏิเสธความเชื่อว่าคนทุกคนหรือสัตว์โลกจะต้องตาย ปฏิเสธกับการยอมรับความตายเป็นสิ่งสุดท้าย และพวกเขากลัวความตายเช่นเดียวกับสิ่งชั่วร้าย
ซึ่งนักปรัชญายุคต่อๆมา ก็แผ่ขยายแนวความคิดของอริสโตเติล เพลโตและโสเครตีส จนกระทั่ง มาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ ซึ่งเป็นนักปรัชญาแนว Existentialist ชาวเยอรมัน ได้พิจารณาความตายในทางปรัชญาซึ่งแตกต่างจาก เพลโตและอริสโตเติล โดยเขาเชื่อว่าการตายไม่ได้แยกจิตวิญญาณออกจากร่างกาย แต่ค่อนข้างจะ Bind พวกเขาเข้าด้วยกัน และเป็นการสร้างความสมบูรณ์ของการดำรงอยู่ทั้งมวลของมนุษย์
มาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ (Martin Heidegger) มองว่า ความตายไม่ใช่เหตุการณ์ที่ซึ่งเป็นความสิ้นสุดของชีวิต (Ends Life) แต่มันคือส่วนหนึ่งของชีวิต (Part of Life) รวมทั้งความตายไม่ใช่สิ่งที่วางอยู่ในอนาคต (Future) แต่มันอยู่กับเราที่นี่และตอนนี้ ดังนั้นปรัชญาของมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ในเรื่อง Being and Times ก็คือ
• 1.ให้ความสำคัญกับความหมายของความเป็นอยู่หรือการดำรงอยู่ของมนุษย์ ในแง่ที่มันคือความมีชีวิตชีวามากที่สุด เพราะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต
• 2.การตระหนักถึงตัวเองของมนุษย์ ที่ขึ้นอยู่กับเรื่องความรู้สึกและเรื่องเวลา ว่าวันหนึ่งเราต้องตาย ซึ่งเป็นธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ การที่มนุษย์รู้ว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตาย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้มนุษย์มองตัวเองและจัดการกับตัวเอง เผื่อว่าวันพรุ่งนี้สำหรับตัวเองอาจจะไม่มีก็ได้
• 3.การกังวลต่อความตายและความกลัวต่อความตาย ส่วนนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกและเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ ที่สัมพันธ์จากประสบการณ์เกี่ยวกับความตายที่ได้รับ จากคนรอบข้าง จากสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เพลง และวรรณกรรมต่างๆ
1.3 อิทธิพลของสสารนิยม(Materialism)ในยุคแรก
ในยุคทางปัญญาของกรีก แนวความคิดเรื่องสสารนิยม ก็มีอิทธิพลมาจากแนวคิดเรื่องการบูชา น้ำและไฟของอินเดีย ความเชื่อในเรื่องธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลมและไฟ ในช่วงเวลา640-550 ปีก่อนคริสตกาล ทาเลส (Thales) ได้นำเสนอเกี่ยวกับการกำเนิดของมนุษย์บนโลก ที่เขาเชื่อว่าน้ำ เป็นส่วนประกอบ พื้นฐาน หรือเป็นต้นตอของทุกๆสิ่ง เช่นเดียวกับอียิปต์มีความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าแห่งเมืองบาดาล ที่ชื่อโอซิรีส (Osiris) หรือแนวคิดของ Anaximenes (590-525 B.C) เชื่อว่าอากาศประกอบขึ้นเป็นสากลของโลก ในยุคแรกเริ่มแม้จะบอกว่า ธาตุดั้งเดิมเป็นสิ่งที่เรารู้ไม่ได้ หยั่งไม่ถึง แต่ธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้เกิดการระเหยและการกลั่นตัวเป็นกระบวนการซึ่งทำให้เกิดสรรพสิ่งขึ้นจากธาตุดั้งเดิมนั้น
นักคิดกลุ่มนี้ เลิกอ้างว่าวิญญาณอันเป็นเทพเจ้า เป็นเหตุบังเกิดสากลโลก แต่ยืนยันและไล่เลียงกำเนิดไปจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติด้วยกัน แต่นักคิดเหล่านี้ก็ไม่ได้พ้นไปจากทรรศนะวิญญาณนิยม และค่อนข้างเชื่อมั่นว่า สสารกับจิตอยู่ร่วมกันอย่างแยกไม่ออก ดังนั้นพวกเขาจึงเป้นพวกชีวิตนิยม (Hylozoist) มากกว่าพวกสสารนิยม
1.4 ปรัชญาของพวก โซฟิสท์ (Sophists) และสโตอิก (Stoicism)

แนวคิดของนักปรัชญาของพวกกลุ่มนี้ ไม่เหมือนแนวคิดพวกกรีกโบราณที่เน้นไปในแนวทางของพวกสสารนิยม ที่เน้นศึกษาธรรมชาติ แม้ว่าแนวคิดของสองกลุ่มนี้จะอยู่ก้ำกึ่งระหว่างสสารนิยมและจิตนิยมแต่ก็โน้มเอียงไปทางจิตนิยม โดยพวกโซฟิสท์มองว่า แนวความคิดเป็นเหตุให้คนเรากระทำสิ่งต่างๆ โลกนี้ก็เป็นโลกแห่งมโนภาพหรือจินตนาการของมนุษย์ไม่ได้มีอยู่เองโดยปราศจากมนุษย์ คือไม่เชื่อความจริงในวัตถุนั้นเอง ในขณะที่พวกสโตอิก มองว่า ความรู้ได้มาด้วยผัสสะ และความรู้สึกทางผัสสะ (Sense Impression) ก็สร้างความจริงขึ้นมา โดยพวกเขามองว่า วิญญาณ (Soul) เป็นที่ตั้ง แห่งกระบวนการทางความรู้สึกโดยทั่วไป และให้คำสอนตามเฮราคริตุส ที่ว่าไฟเป็นธาตุแท้ดั้งเดิมที่สุด ทำให้พวกนี้มองว่า ธรรมชาติเป็นสสาร เป็นเอกภาพที่มีชีวิตและเคลื่อนไหวอยู่เสมอ
รากฐานของจิตนิยม(Idealism) ดังกล่าวพัฒนามาจากวิญญาณนิยม (Animism) ของพวกมนุษย์ถ้ำซึ่งเชื่อว่า คนตายไปแล้วไม่สูญ เพราะวิญญาณของเขาจะมีอยู่ต่อไป ดังนั้นวิญญาณจึงเป็นความแท้จริงอย่างหนึ่ง ที่มีอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่เกี่ยวกับสสารวัตถุ (Matter) ถือได้ว่าเป็นแนวคิดพื้นฐานสำคัญของปรัชญาจิตนิยม และเป็นปรัชญาเริ่มแรกที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีปรัชญาเกี่ยวกับวัตถุนิยมเข้ามาโต้แย้งก็ตาม แต่ความเชื่อของมนุษยชาติบนโลกเกี่ยวกับการกราบไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ บรรพชนก็ยังปรากฏอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความยิ่งใหญ่ของจิตที่ไม่แตกดับไปพร้อมกับร่างกาย
1.2 ปรัชญาในยุคกรีกเกี่ยวกับวิญญาณ (Soul) และร่างกาย (Body) จากสสารนิยม materialism ถึง จิตนิยม Idealism
ก่อนเพลโต้ แนวคิดของพวกสสารนิยม นับได้ว่ามีความสำคัญมาก อิทธิพลของตะวันออก เช่น อินเดีย จากหลักฐานคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกเกี่ยวกับรากฐานทางศาสนา ที่บันทึกไว้ เรียกว่า คัมภีร์พระเวท (Vedas) ที่บันทึกศาสนาของเทพเจ้า ที่เทพเจ้าเป็นคนด้วย เป็นสัตว์ด้วย บางครั้งอาจกล่าวได้ว่ายุคนี้เป็น ยุคของเทววิทยา การเกิดขึ้นของระบบกษัตริย์หรือระบบราชะ ทำให้เกิดความคิดเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าองค์เดียว (The one God) แม้ว่าศาสนาพราหมณ์จะพูดถึงเทพเจ้าสามองค์คือ พระศิวะ พระวิษณุและพระพรหม แต่ก็มีความเชื่อว่าทั้งสามองค์คือองค์เดียวกัน แต่ปรากฏกายออกเป็นสามภาค และแบ่งแยกกันคุ้มครองโลก ซึ่งความเชื่อเรื่องของเทพระเจ้าองค์เดียวก็ทีปรากฏในทุกสังคม ในสังคมไทยเราอาจนึกถึง อินทร์หรือพระอินทร์ที่เป็นใหญ่บนสรวงสวรรค์ ในกรีซก็มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าบนยอดเขาโอลิมปัส ซึ่งมีเทพซีอุส (Zeus) เป็นเทพเจ้าสูงสุดหนึ่งเดียวของสวรรค์ ในสังคมโรมัน ก็มีเทพจูปิเตอร์ (Jupiter) ซึ่งเป็นใหญ่ที่สุด หรือยะโฮวา (Jehovah ) เทพเจ้าองค์เดียวของยิว เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีลัทธิบูชาธรรมชาติ โดยนำเรื่องของเทพเจ้ามาเชื่อมโยง เช่นการนิยมบูชาไฟ ของพวกนอร์แมดอริยัน ในพวกอริยันเปอร์เซีย มีศาสนาบูชาไฟเรียกว่า Zoroastrisnism ทั้งนี้เนื่องมาจากทางใต้ของทะเลสาบแคสเปี้ยนต่อกับประเทศอิหร่านนั้น มีแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมใหญ่ใต้ดิน และแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่แหวกตัวขึ้นมาเหนือพื้นโลก บางแห่งสามารถลุกติดไฟได้ ทำให้พวกอริยันที่เห็นเปลวไฟดังกล่าวลุกตลอดเวลา ได้นำมาขบคิดและตั้งคำถามเชื่อมโยงกับปรัชญาแบบวิญญาณนิยมที่มีอิทธิพลมาอย่างช้านาน ว่าเป็นอภินิหารของเทพเจ้าแห่งไฟและแสงสว่าง จึงเกิดเทพเจ้าแห่งไฟและเทพอัคนีขึ้นมา
หรือลัทธิบูชาน้ำ เช่นการนับถือเทพวรุณ และการเกิดขึ้นของการบูชาโสม หรือ น้ำเมาชนิดหนึ่ง ที่พวกอริยัน เป็นอารยะชนพวกแรกที่รู้จักกลั่นและกินสุรา การดื่มสุราได้ทำให้เกิดจิตใจฮึกเหิม กล้าหาญที่จะเข่นฆ่าศัตรูโดยไม่เกรงกลัว อันนำมาซึ่งความเชื่อในเรื่องน้ำอมฤต ที่ทำให้คนไม่กลัวตายเพราะความมึนเมา และใช้ปรัชาญาแบบวิญญาณนิยม และคำอธิบายเกี่ยวกับการสร้างเทพเจ้าที่เรียกว่าโสม ซึ่งปรากฏในคัมภีร์พระเวท ที่มีบทสรรเสริญว่า
“ข้าได้ดื่มโสม ข้าได้พบอมฤตภาพ ข้าได้พบแสงสว่าง ข้าได้พบเทพเจ้าทั้งหลาย”
การเกิดขึ้นของเทพเจ้า นำไปสู่ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ดังที่ได้มีการบันทึกไว้ในคัมภีร์ยชุรเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยคำสวดมนต์ ที่ใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ ได้นำไปสู่แนวคิดในเรื่องของหมอไสยศาสตร์ เป็นผู้ที่ติดต่อ หรือเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า (ที่เป็นวิญญาณของคนที่ตายหรือสัตว์ที่ตาย) และสามารถอันเชิญวิญญาณมาใช้ประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาในเรื่องศาสนาในเวลาต่อมา ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ก็ได้สร้างเรื่องราวและจินตนาการเกี่ยวกับโลกและการสร้างโลก ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการเกิดน้ำท่วมโลก เช่น เรือโนอาร์ ในพระคัมภีร์เก่า หรือนารายณ์สิบปาง ในตอนปางมัตสยาวอวตารของอินเดีย หรือในจีนและอินเดียนแดงในอเมริกาก็มีเป็นต้น
1 ปรัชญาและแนวคิดเกี่ยวกับความตาย การมองความตายจากยุคสมัย
1.1ปรัชญาก่อนประวัติศาสตร์ ปรัชญาประเภทวิญาณนิยม (Animism)

การเกิดขึ้นของมนุษย์ลิงหรือมนุษย์วานร ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ อาจจะเป็นตัวเดียว เป็นคู่หรือเป็นกลุ่มครอบครัวขนาดเล็ก ซึ่งนักมานุษยวิทยากายภาพได้ศึกษาเปรียบเทียบกับลิงอุรังอุตัง กอริลล่าและลิงชิมแปนซี ที่แสดงให้เห็นการครอบครองอาณาเขต และการป้องกันไม่ให้คนอื่นมาล่วงล้ำ การหากินก็จะหากินตามต้นไม้ ผลไม้ บางทีก็ลงมาบนทุ่งหญ้าพื้นราบ หาปลาหรือจับสัตว์เล็กๆกินเป็นอาหาร เมื่อมนุษย์วานรลงมาจากต้นไม้เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของอาหารบนต้นไม้ลดลง อวัยวะบางอย่างก็ต้องปรับตัว เช่นขาที่ใช้ในการเดินตั้งฉากกับพื้นดินมากขึ้น มือไม่ได้ใช้ในการปีนป่ายต้นไม้ แต่ใช้ในการหยิบจับอาหาร นอกจากนี้สมองก็ยังมีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ ระบบสัญลักษณ์และสร้างวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต โดยมีพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของศิลปะ ภาษา ความอุดมสมบูรณ์ การบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติ และความตาย เป็นต้น
มนุษย์วานรนีแอนเดอทรัล ( Homo Neanderthal) มนุษย์ยุคแรกเริ่ม ที่มีร่างกายคล้ายลิง ตัวใหญ่มีขนเต็มตัว แต่มันสมองมีขนาดเล็กมากได้ปรากฏตัวขึ้นเมื่อประมาณ 450,000 ปี ลักษณะของนีแอนเดอทรัล เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดจินตนาการทางวรรณคดีเกี่ยวกับ ยักษ์ ที่กินเนื้อเป็นอาหาร ในช่วงนี้อาจจะเรียกว่ายุค Palaeolithic หรือยุคมนุษย์ถ้ำ (หินเก่า) ที่สามารถทำเครื่องมือหิน (หินเหล็กไฟ) อย่างง่ายได้ ทำให้สามารถต่อสู้และล่าช้างแมมมอธซึ่งตัวใหญ่ได้ คนกลุ่มนี้มกอาศัยอยุ่ตามถ้ำ โดยการขับไล่สัตว์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำให้ออกมา เช่น หมาใน หมี และเข้ามาอยู่แทน รู้จักใช้ไฟ
จนเมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลง มนุษย์ก็ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวตามกระบวนการดังกล่าว มนุษย์ที่สามารถปรับตัวได้ดีจึงจะสามารถดำรงอยู่รอดได้ตามทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน สภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพอากาศ ความหนาวเย็น ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร อันตรายของสัตว์ร้าย เช่น งู หรือสัตว์ขนาดใหญ่อื่นๆก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ มนุษย์วานรในยุคโบราณ สูญพันธุ์ ดังจะเห็นว่าในช่วงเวลาระหว่าง 40,000-25,000 ปี ได้ปรากฏมนุษย์อีกพวกหนึ่งที่เรียกว่า โครมันยอง (Cro-mangnon) หรือ Homo Sapien อพยพมาจากเอเชียใต้ หรือแอฟริกาเข้ามาในยุโรป ทั้งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะตามสัตว์ที่ตัวเองล่า จนเข้ามาพบดินแดนทุ่งหญ้าที่อบอุ่น อันเนื่องมาจากน้ำแข็งละลาย พวกนี้ชอบอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าโล่งแจ้ง ใช้ชีวิตโดยการล่าสัตว์มาเป็นอาหาร
มนุษย์โครมันยองเมื่อล่าสัตว์มาได้ก็จะนำมาแบ่งปันแก่กัน โดยส่วนใหญ่จะกินกันบริเวณถ้ำ ดังที่ได้พบซากสัตว์ จำพวกวัวกระทิง ควายป่า กวางเรนเดียร์ ม้าป่าและแมมมอธ ในถ้ำ การล่าสัตว์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ได้นำมาสู่มโนภาพหรือจินตนาการความเป็นศิลปิน ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะภาพเขียนบนผนังถ้ำ รวมถึงงานศิลปะ หัตถกรรมอื่นๆ ดังหลักฐานที่ปรากฏว่ามนุษย์กลุ่มนี้ มีการประดิษฐ์ เข็มเย็บผ้าจากกระดูกสัตว์ ทำเบ็ดตกปลาและฉมวก รวมถึงการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง และเริ่มรู้จักทำการเพาะปลูก จนพัฒนามาเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ที่ไม่ได้อยู่ถ้ำ แต่สร้างที่อยู่เป็นหลักแหล่งภายนอกถ้ำ และเปลี่ยนผ่านจากยุค Neolithic ราว 10,000-12,000 ปีมาสู่ยุคสมัยใหม่
สิ่งที่น่าสนใจของมนุษย์ถ้ำก็คือ ถึงแม้ว่า พวกเขาจะไม่มีภาษาพูด รวมทั้งความรู้ของพวกเขาก็เป็นความรู้ในธรรมชาติเกี่ยวกับสัตว์ป่าต่างๆ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดบนผนังถ้ำ และเป็นภาษายุคแรกเริ่มที่สุด ซึ่งเรียกว่า “ภาษาภาพ” และมนุษย์ถ้ำก็ใช้กริยาท่าทางในการแสดงออกหรือทำความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งลักษณะเหล่านี้ก็อาจสะท้อนให้เราเห็นหลักคิดของมนุษย์กลุ่มนี้ในทางปรัชญาได้บ้าง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ประเพณี พิธีกรรมบางอย่างของมนุษย์ถ้ำกลุ่มนี้ ก็สะท้อนโลกทัศน์และความคิดเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาและเรื่องวิญญาณของมนุษย์ ดังเช่น ที่สมัคร บุราวาศ กล่าวไว้ว่า
“นักธรณีวิทยาได้ค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์ในหลุมฝังศพเดิม มีเครื่องมือหิน สีทาตัวและอาหารใส่ไว้ด้วย แสดงว่ามีประเพณีและความคิดเกี่ยวกับความตายนี้ มนุษย์นีแอนเดอธัล เป็นมนุษย์ประเภทแรกเริ่มที่สุด ฉะนั้นประเพณีแรกเริ่มที่สุดของมนุษย์ก็จะเป็นประเพณีในการฝังศพ”
จากการศึกษาของ Imthrun เกี่ยวกับชนเผ่าอินเดียนแดง ที่เมือง Guiana ในอเมริกาใต้ พบว่า เมื่อคนกลุ่มนี้ฝันไปว่า เพื่อนคนใดคนหนึ่งหนึ่งทำร้ายเขา พอตื่นขึ้น เขาไปลงโทษเพื่อนคนนั้นเป็นการตอบแทน เราจะอธิบายไปในทางที่ว่า มนุษย์โบราณมีความฝันแจ่มชัดมาก และพวกเขาเข้าใจว่าเป็นความจริง โดยระหว่างความฝัน ตัวเขาส่วนที่เป็นวิญญาณได้ออกจากร่างท่องเที่ยวไป คนที่เห็นในฝันก็ถูกเข้าใจว่าเป็นวิญญาณที่ท่องเที่ยวไปเหมือนกัน มนุษย์โบราณเข้าใจว่าในตัวคนเรามีวิญญาณสิงอยู่ เป็นสิ่งแทนตัวผู้นั้นที่เรียกว่าตัวตน (Self) ในยามหลับสิ่งนี้(วิญญาณ)จะออกจากร่างกายและกลับเข้าร่างเมื่อตื่น
มนุษย์คืออะไร?
ในการศึกษาของนักมานุษวิทยา และนักโบราณคดี ก็มีความความคิดตรงกันประการหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเป็นสมัยใหม่ หรือก่อนประวัติศาสตร์ ก็มักจะเชื่อว่า สิ่งที่อยู่รอบตัวเขา ก็มีชีวิตเช่นเดียวกับที่เขามี ตัวอย่างเช่น เมื่อเขาได้รับความเจ็บปวดจากก้อนหินหรือกิ่งไม้ที่ที่ตกหล่นลงมา เขาก็จะเชื่อว่าเป็นเพราะสิ่งที่เหนือธรรมชาติที่เรียกว่า มานา (Mana) หรือวิญญาณร้ายของก้อนหินและต้นไม้ นอกจากความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ มนุษย์ชนเผ่าก็จะมองตัวเขาเองสัมพันธ์กับสังคม ชุมชนหรือกลุ่มคนที่เขาอยู่ รวมทั้งการตระหนักถึงตัวเอง มนุษย์เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราคือใคร มนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร จนมาถึง ความร้ายแรงของความตาย ทำไมมนุษย์ต้องตาย และปัญหาชีวิตหลังความตาย ตายแล้วไปไหน คำถามเหล่านี้มนุษย์ก็พยายามหาคำตอบมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ดังที่ปรากฏในเทพนิยาย ในหลายพื้นที่ เกี่ยวกับการกำเนิดโลกทั้งอียิปต์ บาบิโลเนียน ซูมาเรียน และฮิบรูว์ เช่นในพระคัมภีร์ เกี่ยวกับเรือโนอาห์ น้ำท่วมโลก เป็นต้น
ในเทพนิยายทั้งหมดมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันหลายประการ โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างมนุษย์โดยพระเจ้า เพื่อรับใช้พระเจ้า เช่นการสร้างมนุษย์จากดินเหนียวของเทพคนัม เทพเจ้าแห่งหม้อดิน(Khnum) ในอียิปต์ ที่จะพบการวาดภาพคนบนเครื่องปั้นดินเผา หรือชาวบาบิโลเนียน มีนิยายปรัมปราเกี่ยวกับการสร้างมนุษย์ที่ทำจากก้อนดินผสมกับเลือดของพระเจ้าที่ถูกฆ่า ในนิยายเทพของฮิบรูว์ (จากเรื่องเจเนซิสแห่งพระคัมภีร์ดั้งเดิม) กล่าวถึงพระเจ้าเวห์ ที่สร้างมนุษย์จากดินเผา และประทานชีวิตให้ด้วยเพื่อว่ามนุษย์เป็นวิญญาณที่มีชีวิต
หรือในเทพนิยายของชนเผ่าซูมาเรียน เรื่อง กิลกาเมซ (Gilgamesh) เมื่อกิลกาเมชพระเอกของเรื่องเผชิญหน้ากับความตายของเอนคิดู เพื่อนของเขาซึ่งเป้นประสบการณ์ที่อธิบายได้อย่างงน่ากลัวและเป็นสิ่งใหม่ กิลกาเมชกลัวว่าเขาจะเหมือน เอนคิดู ที่ปราศจากลมหายใจหรือการเคลื่อนไหว เขาอธิบายอย่างชัดเจนว่ามนุษย์รู้สึกอย่างไร เมื่อเผชิญหน้ากับความจริงของความตาย กิลกาเมซได้กระทำพิธีกรรมบางอย่าง โดยได้รับอนุญาตจากเทพเจ้าแห่งความตาย เพื่อให้วิญญาณเอนคิดูมาบอกเขาเกี่ยวกับภาวะของความตาย เอนคิดูบอกว่า
“เขา(เทพเจ้าแห่งความตาย) ได้นำตัวพวกเราไปสู่อาณาจักรแห่งความมืดมน บนถนนไม่มีทางกลับ และผู้ที่ย่างก้าวเข้าไป ไม่มีทางออกมาได้ ไปยังดินแดนที่ปราศจากแสงสว่างโดยมีหนทางที่เต็มไปด้วยฝุ่นและมีดินเป็นอาหาร พวกเขาใส่เสื้อเหมือนปีกนก ไม่อาจเห็นแสงสว่าง อยู่แต่ในความมืด”
ดังนั้นมนุษย์ยุคโบราณก็มีความเชื่อในเรื่องของวิญญาณ การรักษาเอกลักษณ์ของเขาหลังจากที่ตายไปแล้ว แม้ว่ารูปแบบอาจจะแตกต่างกัน เช่นมีปีก ดังเช่นภาพวาดของชาวอียิปต์ บนหลุมศพ ก็จะพบสิ่งที่คล้ายคลึงกันในการแสดงสัญลักษณ์รูปคา (Ka) หรือวิญญาณของผู้ตายบินอยู่เหนือซากศพของตนแบบนกเล็กๆที่มีใบหน้ามนุษย์ แม้ในตราประทับของพวกครีตันยุคแรก ที่เรียกว่า วงแหวนแห่งเนสเตอร์ ได้แสดงให้เห็นวิญณาณของคนตายในรูปของผีเสื้อที่เกิดจากตัวด้วง หรือในยุคหิน มนุษย์ถ้ำก็มีการฝั่งศพ ไปพร้อมกับเครื่องมือ อาวุธ อาหารไปพร้อมกับผู้ตาย เพื่อชีวิตหลังความตาย
ความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย ก็สัมพันธ์กับความคิดที่ว่าวิญญาณของผู้ตายมีความสัมพันธ์กับความดีความชั่วด้วย ขณะที่มีชีวิตอยู่ ในตำราของชาวบาบิโลเนียน ได้กล่าวถึงวิญญาณของอีติมมู(Etimmu) หรือวิญญาณแห่งความตาย โดยเฉพาะคนที่ตายอย่างกะทันหัน หรือผู้ที่ไม่ไดรับการฝังโดยพิธีกรรมการทำศพอย่างถูกต้อง ที่ได้สร้างความกลัวให้กับชนเผ่า ในแอฟริกาและบาบิโลเนียนในปัจจุบัน แสดงให้เห็นความกลัวตายที่มีอยู่แบบดั้งเดิมที่เป็นสากล ชาวเผ่าเชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายพยายามที่จะกลับโลก และอาจจะเข้าไปสู่ร่างของสิ่งมีชี่วิตได้ นอกจากจะมีการป้องกันไว้ บางเผ่าของมาลานีเซียน แขวนเบ็ดตกบาไว้รอบๆกระท่อม เพื่อขจัดวิญญาณไม่ให้เข้ามา หรือประเพณีการไว้ทุกข์ ตัดผม ฉีกเสื้อผ้า ทำบาดแผลที่ใบหน้า ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงแสดงความโสกเสร้า แต่ยังป้องกันการจำได้จากวิญญาณของผู้ตาย
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า วิญญาณผู้ตายมีความรู้เกี่ยวกับอนาคตที่สามารถจะถูกเรียกมาจากเบื้องล่างได้โดยทำพิธีกรรมบางอย่าง เพื่อสอบถามหรือตักเตือนผู้มีชีวิตอยู่ ซึ่งความเชื่อนี้ยังปรากฏอยู่ในสังคมสมัยใหม่ ทั้งการพยายามควบคุมวิญญาณองคนตาย ความกลัววิญญาณ หรือการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาและวิญญาณ ที่สะท้อนให้เห็นรากฐานทางด้านแนวคิดปรัชญาและศาสนายุคปัจจุบัน
ทะแยมอญในกระแสสังคมปัจจุบัน
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและวัฒนธรรมของ กลุ่มชาติพันธุ์มอญภายใต้รัฐชาติของไทย อีกทั้งกระแสของกระบวนการทำให้ทันสมัยแบบตะวันตก และการผสมผสาน การกลืนกลายทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอิทธิพลของภาษา และระบบการศึกษาของรัฐที่มุ่งให้เกิดการหลอมหลวมเป็นหนึ่งเดียว และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี สื่อต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ได้สร้างแนวคิดและการรับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆอย่างรวดเร็ว อัตลักษณ์บางอย่างที่เคยเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์เกิดการผสมผสานกันจนแยกและหาต้นตอไม่ได้ อย่างกรณีของชุมชนมอญบ้านบางกระดี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพ จากการทเกษตรกรรมทำนา มาเป็นการรับจ้าง การขับรถสองแถว การทำอาชีพอื่นในโรงงาน อุตสาหกรรม ซึ่งเกิดจากการขายที่ดินให้กับนายทุน เพื่อสร้างโรงงาน บ้านจัดสรร หรือการสูญหายไปของประเพณีบางอย่าง เช่นรำมอญ มอญร้องไห้ แต่พวกเขาก็เลือกที่จะรักษาวัฒนธรรมการละเล่นบางอย่างไว้ เช่นปี่พาทย์มอญ ทะแยมอญ ที่ยังทำให้ความเป็นมอญ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ยังคงดำรงอยู่ ดังจะเห็นได้จากการพยามรักษาการละเล่นพื้นบ้านระเภทนี้ไว้นอกเหนือจากประเพณี ขนบธรรมเนียมที่ปฎิบัติอยู่เป็นประจำ เพื่อไม่ให้การละเล่นชนิดนี้สูญหายไป ดังที่หัวหน้าคณะหงส์ฟ้ารามัญกล่าวว่า “ ทะแยมอญมีมาตั้งแต่เล็กๆเลย เวลาเลิกจากนา เขาก็รุมคนนี้ชิ้นคนนั้นชิ้น เวลามีงานเขาก็มีทะแยมอญมาร้องรำ เป็นประจำหมู่บ้านเลย คนเฒ่าคนแก่ก็รักษากันต่อๆมา ตอนนี้เกือบไม่มีแล้ว ผมก็ต้องมาจัดทำ มารวมไว้ ผมก็กลัวว่ามันจะสูญหายไป จะสูญแน่เราก็ต้องรักษาไว้วัฒนธรรมยังมีอยู่ ของมอญเรา เด็กๆเดี๋ยวนี้ไม่มีใครแนะนำ สมัยก่อน ไม่ได้ชักชวนเหมือนสมัยนี้ ใครจะเล่นก็เล่น ใครจะหัดก็หัด ใครเป็นก็เป็น ผมเจอเด็กๆ นี่หนุ่มจะปิดเรียนแล้วนะมานะ ดีด สี ตี เป่า ได้หมด ร้องก็ได้ ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน อย่างร้องก็ต้องเรียนภาษามอญเป็นการอนุรักษ์สืบทอด สำหรับเด็กๆในหมู่บ้าน…” คุณลุงกัลยายังได้กล่าวถึงความนิยมทะแยมอญว่า “ เดี๋ยวนี้ผู้ใหญ่ ก็น้อยลงแล้ว นี่เหลือแต่ผู้อาวุโสอายุ80 สองคน ดีดจระเข้กับเป่าขลุ่ย แล้วก็มารุ่นลุง 2-3 คน แต่คนแก่ชอบนะ ชอบฟัง ได้ยินเสียงก็บอกชื่นใจ เขาจะต้อนรับขับสู้เราอย่างดี และดีใจมากที่เราไป”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือความสนใจและนิยมฟังของคนมอญรุ่นเก่า และความสนใจเข้ามาศึกษาและอนุรักษ์ศิลปพื้นบ้านของมอญนี้ในคนรุ่นใหม่ ที่คุณลุงกัลยากำลังทำอยู่มิให้การแสดงชนิดนี้สูญหายไปโดย แกบอกว่า “ฝึกเด็กใหม่ๆ หนุ่มๆสาวๆกำลังเรียนอยู่ ฝึกมาใหม่ได้อีกคู่ ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ยังไม่จบเลยเรียนไปด้วย แสดงไปด้วย ผสมกันทั้งคนแก่ คนหนุ่มคนสาว ทั้ง ร้อง รำ สีซอ ฝึกกับผมหมด โรงเรียนปิด มีเด็ก10 คนมาเรียนดนตรี เราก็ฝึกให้ไม่เสียเงิน ทั้งเครื่องสายมอญ-ไทย เขียนโน้ตให้ไปฝึก 2 วันก็เป็น ต้องฟื้นฟูแบบนี้ อะไรเราช่วยได้ก็ช่วยฟื้นฟู”
หนุ่มสาวอายุ15-18 สองคนที่เรียนร้องรำ ในการแสดงทะแยมอญคณะหงส์ฟ้ารามัญ ได้เล่าถึงความตั้งใจที่มาเรียนรำของพวกเขาว่า “ มาหัดรำ ร้องทะแยมอญ เพราะต้องการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะพื้นบ้านและประเพณีวัฒนธรรมมอญ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ หารายได้พิเศษระหว่างเรียน และที่สำคัญคือความรู้เหล่านี้ก็นำไปใช้ในการศึกษาต่อที่วิทยาลัยนาฎศิลป์ กรมศิลป์หรือมหาวิทยาลัยศิลปากรที่สนับสนุนด้านนี้ “
การแสดงทะแยมอญในปัจจุบัน ยังคงได้รับความนิยมว่าจ้างให้ไปแสดงตามที่ต่างๆที่มีคนมอญอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ที่สุมทรปราการ ลพบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นนทบุรี ปทุมธานี และชุมชนมอญอื่นๆในประเทศไทย และยังข้ามพรมแดนไปแสดงถึงเมืองมะริด ทางเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังทหารมอญและชาวมอญกู้ชาติทางฝั่งพม่าอาศัยอยู่บริเวณนั้น
ในการแสดงก็จะมีทั้งงานส่วนรวมของหมู่บ้านที่มักจะจ้างวงทะแยมอญไปแสดงการขับร้องที่วัด หรือสาลเจ้า เช่นงานกฐิน ผ้าป่า แก้บน ถวายพระพุทธรูป งานสงกรานต์ หรือเป็นงานส่วนบุคคลก็จะแสดงที่บ้านเจ้าภาพ เช่นงานแต่งงาน งานบวช งานศพ เป็นต้น
ในเรื่องของรายได้ในการแสดงทะแยมอญ ถือได้ว่าค่อนข้างสูงเพราะต้องใช้ทั้งฉาก เครื่องดนตรี ไฟประดับ และคนแสดงร่วมเกือบ 20 คน ราคาค่าจ้างจึงตกอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท ซึ่งบางช่วงอย่างเทศกาลสงกรานต์ก็มีถึง 4-5 งาน บางช่วงก็น้อยอย่างปีนี้มีประมาณ 10 งาน นอกจากนี้ก็มีค่าที่ได้จากการตบรางวัลของคนดุ เป็นสินน้ำใจให้ศิลปินที่พวกเขานิยมชมชอบ เช่นที่คุณลุงกัลยาบอกว่า “มีรางวัล มีแบงค์ 500 แบงค์100 คนที่ฟังส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ บางทีเด็กหนุ่มๆรุ่นๆนี่เขาก็ฟัง ถ้าออกทำนองไทยเพลงมอญกรูเข้ามาเลย…”
การแสดงใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ แสดง3 ทุ่มเลิกเที่ยงคืนตีหนึ่ง ถ้าเป็นงานแก้บนก็ใช้เวลา ประมาณ 1 ชั่วโมง เหตุผลที่การแสดงทะแยมอญของคณะหงส์ฟ้ารามัญไม่แสดงดึกมาก คุณลุงกัลยาบอกว่า “ไม่ดึกมาก เพราะเช้าๆหลายคนต้องไปทำงาน แต่ละคนมีงานประจำ การแสดงทะแยมอญไม่ใช่อาชีพ เป็นงานอดิเรกเพื่อรักษาวัฒนธรรมประเพณี มอญเราไว้ จุดนี้แหล่ะสำคัญ” ผมว่าสิ่งที่คุณลุงกัลยาพูดน่าคิดว่าทำไมการแสดงชนิดนี้จึงดำรงอยู่และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เพราะสิ่งเหล่านี้คือความรู้สึกร่วมกันที่จะรักษา การละเล่นชนิดนี้ไว้ไม่ให้สูญหาย การฝึกฝนก็เกิดจากความสนใจ ไม่ใช่การบังคับ และไม่คิดว่ามันคืออาชีพ หากจะเปรียบเทียบว่า อัตลักษณ์ของความเป็นคนมอญ ของชุมชนบ้านบางกระดี่ ก็คือการธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของมอญที่กำลังจะสูญไป โดยเฉพาะทะแยมอญที่เป็นศิลปะ ที่ใช้ภาษามอญเป็นตัวถ่ายทอดเรื่องราว และสำนึกทางชาติพันธุ์ และเป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์มอญ โดยผ่านระบบสัญลักษณ์ ที่ใช้ฉาก เนื้อหา และการแต่งกาย เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่สร้างความทรงจำและชุมชนในจินตนาการร่วมกันระหว่างคนมอญ ทั้งที่เป็นความทรงจำที่เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์มอญ ดินแดน กษัตริย์ และบรรพบุรุษ และเป็นความทรงจำที่เป็นสิ่งที่ถูกตีความหมายและนำมาใช้ในปัจจุบัน เช่นเรื่องขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะหงส์ฟ้ารามัญ ได้ธำรงรักษาการแสดงพื้นบ้านมอญแขนงนี้ไว้ ไม่ให้สูญหายไป
วิเคราะห์สัญลักษณ์ที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญ ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ การธำรงชาติพันธุ์ การสร้างความทรงจำร่วมและการสร้างชุมชนในจินตนาการ
1.ฉากที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญ
การแสดงทะแยมอญของคณะหงษ์ฟ้ารามัญในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาปรับปรุงองค์ประกอบต่างๆในการแสดง ซึ่งสะท้อนให้เห็นพื้นฐานและแนวคิดเรื่องของชาติและชาติพันธุ์ เนื่องจากการแสดงทะแยมอญมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์และสภาพสังคมต่างๆที่อยู่รอบตัว ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยี วัฒนธรรมตะวันตก และวัฒนธรรมไทยเองก็ไหล่บ่าเข้ามาในชุมชนมอญอย่างรวดเร็ว การแสดงทะแยมอญของคณะหงษ์ฟ้ารามัญเลยต้องมีการเปลี่ยนแปลง และปรับรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฉาก ทำนอง เนื้อร้อง ที่มีทั้งของมอญและไทยผสมกัน เป็นต้น
ในเรื่องของฉาก ที่คณะหงษ์ฟ้ารามัญใช้ในการแสดงทะแยมอญ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่จะไม่มีฉาก ในการแสดง จึงมิใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจที่จะสร้างชุมชนในจินตนาการที่เกือบจะสูญหายไป พร้อมกับประวัติศาสตร์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ถึงแม้ว่าปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ถือได้ว่าเป็นชนชาติที่ไร้แผ่นดิน และมีความหลังทางประวัติศาสตร์อันเจ็บปวด ในการสูญเสียเอกราชให้กับพม่า แต่ความคิดเกี่ยวกับชาติพันธุ์และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของพวกเขาก็ยังอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยเชื้อสายมอญอยู่ตลอดเวลา และมันได้ถูกสร้างขึ้นอีกครั้งโดยใช้การแสดงทะแยมอญ เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการถ่ายทอดความรู้ทางประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีและตอกย้ำถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์มอญให้ดำรงอยู่ต่อไป
ฉากของการแสดงทะแยมอญ ของคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ที่ผมพบเห็นในการแสดงมีอยู่ 2 ฉากคือ
1.1 ฉากเจดีย์ชะเวดากอง ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญของคนมอญ โดยมีประวัติว่า “หลังจากพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว ตะปุสสะ และกิลลิกะ สองพี่น้องชาวมอญที่เป็นพ่อค้ามาจากเมืองสะเทิม ได้เข้าไปนมัสการและอันเชิญพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จำนวน 8 เส้น เพื่อเป็นอนุสรณ์และเครื่องสักการะของคนมอญ จึงนำกลับมาถวายให้แก่พระเจ้าโอกลาปะ เพื่อสร้างเจดีย์ ไกยักแหล่ะเกิง หรือชะเวดากอง ตามชื่อเรียกของพม่า ซึ่งในตอนแรกพระเจ้าโอกลาปะ ทรงสร้างไว้สูงเพียง 4 วา เดิม (ราว 27 ฟุต) ต่อมาก็ได้มีการบูรณะเรื่อยๆ สุดท้ายเจดีย์ชะเวดากอง มีความสูง 56 วา 1 ศอก หรือราว 370 ฟุต “ ซึ่งปัจจุบันเจดีย์ชะเวดากอง ที่เป็นทีเคารพสักการะของคนมอญก็ได้กลายเป็นของที่พม่าใช้อวดอ้างถึงความเจริญรุ่งเรืองต่อชาวโลก แต่เจดีย์ชะเวดากองก็ยังเป็นที่เคารพนับถือของคนมอญและคนทั่วไปอยู่เสมอ
คุณลุงกัลยาหัวหน้าคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ได้พูดถึงฉากเจดีย์ชะเวดากองว่า “เจดีย์ชะเวดากอง สวยนะ เราได้ภาพมาติดอยู่ทุกบ้าน ข้างบนมีอัฐิพระพุทธเจ้า พระธาตุพระพุทธเจ้า เมื่อก่อนผมทำฉากแสดงทะแยมอญเป็นรูปเจดีย์ชะเวดากอง มารุ่นหลังก็มีเจดีย์สามองค์ มารุ่นหลังก็อนุรักษ์ไว้ มีฉากด้วย…” ความผูกผันระหว่างคนมอญกับเจดีย์ชะเวดากอง ในปัจจุบันยังคงมีอยู่อย่างมิเสื่อมคลาย ซึ่งชาวมอญในชุมชนบางกระดี่และชุมชนมอญต่างๆในประเทศไทย ยังคงระลึกถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองในอดีตของคนมอญอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากการที่คนไทยเชื้อสายมอญ มักจะไปเที่ยวและนมัสการพระเจดีย์ชะเวดากองที่ประเทศพม่า อย่างไม่ขาดสายเป็นประจำทุกปี ดังที่ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านบางกระดี่บอกว่า “ทุกๆปี มีเงินมีทอง คนบางกระดี่ มีญาติไม่มีญาติ แต่ยังคิดถึง เขาไปนมัสการองค์พระธาตุชะเวดากอง นั่นของมอญสร้างโดยตรง ไม่ใช่พม่านะ สร้างมาแต่ดั้งเดิม ประวัติศาสตร์มี พม่ามันไม่เคยซ่อม ต่อเติม มันกลัวมอญยึดได้อีก…”
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์มอญ ในชุมชนบางกระดี่ยังคงระลึกถึง ความเจริญรุ่งเรืองศิลปวัตถุที่บรรพบุรุษของเขาได้สร้างขึ้น สำนึกของความเป็นเจ้าของ และความเคารพนับถือสักการะของคนมอญทุกคน ถึงแม้ว่าปัจจุบันพวกเขาจะอยู่ในผืนแผ่นดินไทยและผสมผสานจนเป็นคนไทยและมีสัญชาติไทย ภายใต้รัฐไทย จนแทบจะมองไม่เห็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์ดั้งเดิมของพวกเขา แต่สิ่งที่คณะหงษ์ฟ้ารามัญได้สะท้อนให้เห็นผ่านฉากของการแสดงทะแยมอญ ที่เป็นรูปของเจดีย์ชะเวดากอง ก็คือสัญลักษณ์ที่ทำให้เราเห็นภาพดินแดนสมมุติ ซึ่งเป็นชุมชนในจินตนาการ ที่เคยเป็นของพวกเขาในอดีต ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่สามารถเคลื่อนที่ข้ามพรมแดนทางแผนที่ และสามารถที่จะอยู่ในทุกพื้นที่ ทั้งที่มีคนมอญอาศัยอยู่และที่ไม่ใช่คนมอญ เป็นชุมชน ที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และเป็นชุมชนที่เชื่อมความรู้สึกนึกคิดและจิตสำนึกทางชาติพันธุ์ ของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต “ชะเวดากอง” ก็คือตัวแทนหรือภาพสะท้อนของสิ่งที่เรียกว่า ความเจริญรุ่งเรืองของมอญ ภาพทุกภาพฉากทุกฉากล้วนมีความหมาย และสะท้อนให้เห็นระบบคิดของผู้สร้าง โดยการสร้างสรรค์งานศิลปะทางวัฒนธรรม ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ แต่เป็นการกระทำที่มีเหตุผลมีความหมาย และให้คนทั่วไป และคนเชื้อชาติมอญ ได้นึกถึงความเจริญรุ่งเรืองและเกิดสำนึกทางชาติพันธุ์ ซึ่งผู้ชมทุกคนล้วนสามารถเข้าถึงชุมชนในจินตนาการนี้ ด้วยการตีความหมายและให้คุณค่าของสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเอง ดังเช่นที่ผู้อาวุโสสองท่านได้พูดถึงความประทับใจและความคิดเกี่ยวกับฉากการแสดงทะแยมอญ ของคณะหงษ์ฟ้ารามัญว่า “ ฉากเจดีย์ชะเวดากอง เอะอันนี้ของคนมอญนี่ เจอปุ๊ปรู้เลย ของมอญดั้งเดิม” “ ทะแยมอญ เป็นการแสดงของคนมอญ ฟังแล้วคิดถึงบ้าน คิดถึงอดีต ถ้าเราไม่ถูกพม่ายึดครองคงได้อยู่บ้านเรา ฟังทะแยมอญ แล้วก็ช่วยให้คลายเหงา ให้ความเพลิดเพลิน เรารู้ว่าอันนี้ของมอญ เจดีย์ชะเวดากอง ก็บอกลูกหลานเวลาไปดู ให้เขารู้จักชาติมอญ ของเก่าแก่เรา รักษาไว้ สืบทอดต่อไป”
ดังนั้นฉากในการแสดงทะแยมอญ จึงเสมือนเรื่องเล่าที่สามารถสื่อความหมายด้วยตัวมันเองกับคนที่มีประสบการณ์ร่วมกันชุดหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ความเป็นมา และความเป็นเจ้าของร่วมกัน และเป็นเรื่องเล่าที่ถูกถ่ายทอดและตีความจากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่ง ดังเช่นคนรุ่นหลังที่เกิดมาใหม่เขาอาจไม่รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติมอญและเจดีย์ชะเวดากองเลย ถ้าไม่มีผู้ให้คำแนะนำหรือบอกเล่าโดยการสะท้อนผ่านภาพที่เห็น ความทรงจำที่มี เพื่อธำรงรักษาสำนึกนี้ไว้ไม่ให้สูญหายไป
1.2 ฉากรูปเจดีย์สามองค์
“ฉากรูปเจดีย์สามองค์ เป็นฉากไม้ ขนาด 4 แผ่น ยาวประมาณ2.5 ฟุต กว้าง ประมาณ 0.8 ฟุต พื้นฉากเป็นสีขาว องค์ประกอบของภาพเขียนในฉาก มี รูปเจดีย์สามองค์อยู่ตรงกลาง เจดีย์เป็นสีขาวเหลือง มีสะบงจีวรสีน้ำตาลพันรอบ มีรูปภูเขา และมีหงษ์สองตัวบ นอยู่เหนือท้องฟ้า นอกนั้นก็เป็นรูปต้นไม้ ดอกไม้ ด้านบนมีอักษรมอญเขียนอ่านว่า “ปัว แก๊ก กวาน บางกระดี่” แปลเป็นไทยว่า “ทะแยมอญบางกระดี่” …“
เจดีย์สามองค์เป็นเจดีย์ที่อยู่ระหว่างชายแดน ไทย-พม่า แทบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางที่มอญใช้อพยพเข้ามาในเมืองไทยเมื่อครั้งอดีต เพื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ไทย และกษัตริย์ไทยก็เคยแต่งตั้งให้คนมอญเป็นเจ้าเมืองคอยคุมเมืองหน้าด่าน เวลาที่พม่าจะรุกเข้ามาฝั่งไทยบริเวณนั้น วึ่งไทยก็ได้ใช้เส้นทางนี้ในการเข้าไปทำสงครามกับพม่าและกวาดต้อนเฉลยศึกเข้ามาในแผ่นดินไทย ความเป็นมาและความคิดที่ใช้รูปเจดีย์สามองค์เป็นฉากคุณลุงกัลยาบอกว่า “ เจดีย์สามองค์ มอญหนีออกมาทางนั้น อพยพมา และอาศัยอยู่ทางนั้น เยอะ เจดีย์สามองค์มีความหมาย องค์หนึ่งแทนฝั่งไทย องค์หนึ่งฝั่งมอญ องค์หนึ่งของพม่า หงส์ก็แทนหงสาวดี ธงก็มีรูปหงส์ ธงสีแดง อันนี้ธงมอญ สัญลักษณ์มอญ”
ด่านเจดีย์สามองค์ถือเป็นเส้นทางสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชนชาติมอญเป็นเส้นทางที่ใช้อพยพเมือถูกรุกรานจากพม่าและแม้ในปัจจุบันจะสูญสิ้นเเอกราชไปแล้วแต่ขบวนการมอญกู้ชาติก็ยังปักหลักอยู่บริเวณแนวชายแดนนี้ สำหรับหงส์สองตัวของคณะหงส์ฟ้ารามัญนี้ มีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่าสัญลักษณ์ที่ใช้แทนเมืองมอญหรือหงสาวดี หากเราจะสืบหาที่มาของหงส์ เราจะพบว่ามันมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การตั้งบ้านแปลงเมืองและความเชื่อเกี่ยวพระพุทธศาสนาว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้เสด็จผ่านมายังดินแดนที่มีคนมอญอาศัยอยู่นี้ ได้ทรงพบเห็นหงส์ทองสองตัวผัวเมีย และทรงทำนายว่าดินแดนแห่งนี้จะมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต และในปี1368 พระเจ้าสามะละก็ได้เสวยราชสมบัติและตั้งกรุงหงสาวดีขึ้นที่บริเวณที่ราบลุ่มสามเหลี่ยม ริมแม่น้ำอิระวดี ความเชื่อในพระรัตนตรัย พระพุทธศาสนา ของมอญจึงมีความเข้มแข็งมาก เชื่อในพุทธทำนาย เชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด เชื่อว่าสักวันหงส์ทองจะต้องกลับมา มอญจะต้องได้เอกราชคืนจากพม่าและสร้างความเจริญรุ่งเรืองได้อีกกครั้ง ดังที่คุณลุงสมบูรณ์บอกว่า “เมืองของปู่ย่าตาทวดตั้งรกราก สัญชาติมอญอยู่นั่น นี่แหละคนไทยเชื้อสายมอญ คนมอญเรียกร้องเอกราชได้ไปแน่ เราทำเพื่อประเทศชาติเรา บุญกุศลอย่างหนึ่งที่ได้กอบกู้ชาติ”
สำหรับรูปภูเขาที่อยู่ด้านหลังเจดีย์สามองค์ ก็คือเทือกเขาตะนาวศรี ที่เป็นสิ่งที่กั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า คนมอญจะอาศัยอยู่แนวบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี เขตรอยต่อกับ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ของไทย ดังที่สุมิตร ปุณณะการี ได้เขียนบรรยายเกี่ยวกับ การอพยพของชาวมอญว่า “ชาวมอญส่วนใหญ่ที่อพยพที่อพยพมาจากประเทศพม่า เมื่อมาถึงด่านเจดีย์สามองค์ และบ้านป๊อปจู่ (แปลว่า หงส์พัก) แล้วข้ามายังอำเภอสังขละบุรี พร้อมกับนมัสการหลวงพ่ออุตตมะ ผู้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร แก่ชนทุกชาติทุกภาษา หลวงพ่อจะแนะนำว่าให้มาทำมาหากินอยู่ที่อำเภอสังขละบุรี เมื่อทางสหประชาชาติรู้ถึงข่าวความทุกข์ยาก ของชาวมอญที่อพยพมาจากประเทศพม่า จึงได้จัดตั้งหน่วยบรรเทาสาธารณภัยกับประชาชนมอญ โดยจัดให้ผู้อพยพรวมกันอยู่ที่บ้านป๊อบจู่ ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า8,000 คน และเป็นค่ายใหญ่ที่รัฐบาลพม่าบีบให้รับบาลไทยผลักดันคนมอยอพยพเหล่านี้กลับสู่พม่า…”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเจดีย์ชะเวดากอง ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอารยธรรมทางศิลปวัตถุ และความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของคนเชื้อชาติมอญ และเจดีย์สามองค์ซึ่งถือเป็นพรมแดนที่เป็นประตูเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมอญ เมื่อถูกรุกรานจากพม่า ที่ได้กลายมาเป็นที่พักพิงอาศัยของผู้อพยพชาวมอญ ที่หนีภัยการสู้รบเข้ามายังฝั่งไทย และสัญลักษณ์ของหงส์ ที่เป็นสิ่งที่ใช้แทนคนมอญ และเมืองหงสาวดี อาณาจักรแรกเริ่มของมอญ และความสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฎให้พบเห็นได้ทั่วไป ในชุมชนมอญที่มีวัดมอญตั้งอยู่ สิ่งนี้คือสิ่งที่Brian L. Foster บอกว่าคือ “เสาหงส์คือสิ่งที่ใช้นิยามลักษณะและเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ” ซึ่งภาพหงส์ที่ปรากในฉากการการแสดงทะแยมอญ จึงเป็นเสมือนเป็นสื่อหรือสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ของความเป็นคนมอญที่เป็นสิ่งที่คนมอญทุกคนรับรู้ว่าหงส์ มีความหมายแทนเมืองหลวงของมอญในอดีต (หงสาวดี) เป็นสัญลักษณ์แทนคนมอญ ประเทศมอญ (ธงชาติสีแดงมีรูปหงส์ทองอยู่ตรงกลาง) เป็นทางประเพณีวัฒนธรรม (การแห่เสาหงส์ธงตะขาบ) และเป็นสัญลักษณ์แทนสถานที่ ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนมอญเคารพนับถือ (วัดมอญต้องมีหงส์คู่)
สิ่งที่คณะหงษ์ฟ้ารามัญ ได้สร้างขึ้นในฉากอันสวยงามที่ใช้ในการแสดง ล้วนสะท้อนให้เห็นความหมายทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ความเชื่อ ในสิ่งที่บรรพบุรุษของพวกเขาได้ถ่ายทอดสืบต่อมา และยังสะท้อนให้เห็น เรื่องราวการต่อสู้ การเรียกร้องเอกราชของคนชาติมอญ ฉากในการแสดงทะแยมอญนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยตอกย้ำ และสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน เป็นเครื่องหมายและเป็นสื่อที่ทำให้เกิดสำนึกทางชาติพันธุ์และสร้างชุมชนในจินตนาการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้ในช่วงเวลาปัจจุบัน เพราะมันคือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของคนมอญ และเป็นความทรงจำเป็นประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์ที่เชื่อมโยงความรู้สึกจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน ดังเช่นที่คุณลุงกัลยากล่าวว่า “ ไม่ว่าจะแสดงที่ไหนก็เอาฉากไปถ้าสถานที่เขาอำนวย เป็นการแสดงออกว่า นี่คือสัญลักษณ์ของคนมอญอย่าลืม …”

2. เครื่องแต่งกาย

เครื่องแต่งกายที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญ เป็นการแต่งกายแบบพื้นบ้านของมอญ ที่เราสามารถพบเห็นได้เมื่อเวลามีงานเทศกาลสำคัญต่างๆเช่นงานประเพณีสงกรานต์ ตักบาตรน้ำผึ้ง ตักบาตรดอกไม้ และอื่นๆ การแต่งกายของคนมอญ ดังที่ผู้อาวุโสท่านหนึ่งของหมู่บ้านบางกระดี่บอกกับผมว่า “ สิ่งที่แสดงถึงความเป็นมอญ ก็คือ แต่งชุดมีสไบเฉียง สีไหนก็ได้ มีไม้ปักผม เกล้ามวยผม นุ่งผ้าซิ่น ผู้ชายเสื้อธรรมดาทั่วไป นุ่งผ้าขาวม้า ผ้าสโร่ง ผ้าไหม ผู้หญิงเวลาไปวัดต้องมีสไบ…”
ในการแสดงทะมอญนั้น การแต่งกายของนักร้องรำชาย-หญิง และนักดนตรี มีการแต่งกายดังนี้ คนร้องผู้ชายใส่เสื้อแขนสั้น คอกลม ลายดอกไม้ มีผ้าสไบพาดคอหรือ พาดบ่า นุ่งผ้าคล้ายๆโจงกระเบนแบบไทย แต่นุ่งแบบโสร่ง เป็นผ้าผืนเดียวไม่เย็บเป็นวง มีสีเดียวเป็นพื้น เวลานุ่งอาจคาดเข็มขัด หรือใช้ผ้าขาด มีการแต่งหน้าแต่งตา ปะกระแจะ(ทาปากแดง)และถัดอกไม้ที่หู คนร้องผู้หญิงจะใส่เสื้อแขนกระบอกทั้งแบนสั้นแขนยาว นุ่งผ้าซิ่นผ้าไหม คาดเข็มขัดเงิน-ทอง มีผ้าสไบเฉียงไหล่ เกล้ามวยผม มีปิ่นและดอกไม้ปักที่มวยผมมีการแต่งหน้าแต่งตาให้ขาวผ่องทาปากกะแจะเหมือนผู้ชาย สำหรับนักดนตรีก็แต่งกายคล้ายคนร้องชาย แต่ผ้านุ่งอาจจะเป็นโสร่ง หรือผ้าขาวม้าก็ได้และไม่ต้องแต่งหน้าทัดดอกไม้ ทุกอย่างก็เหมือนกัน
การแต่งกายที่สะท้อนให้ผู้ชมได้เห็น ในการแสดงทะแยมอญ ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์และอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่สะท้อนให้เห็น ในเรื่องการแต่งกาย เสื้อผ้า ที่เราไม่สามารถพบเห็นได้บ่อยนักในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและอิทธิพลของการแต่งกายแบบตะวันตกที่ทันสมัย เครื่องแต่งกายเหล่านี้เราสามารถที่จะพบเห็นเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ และผู้ใหญ่ที่มักจะแต่งไปในวัด เมื่อมีงานประเพณีสำคัญต่างๆ แต่ในการแสดงทะแยมอญนี้อัตลักษณ์ของชาติพันธุ์มอญ ที่ปรากฎในการแต่งกาย ไม่จำกัดแค่เพียงช่วงเวลาตามบุญประเพณี และสถานที่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นวัดมอญหรือ ชุมชนมอญ แต่ทุกที่ทีพวกเขาไปแสดงก็คือการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ทำให้คนที่พบเห็นได้รับรู้ ว่านี่คือคนไทยเชื้อสายมอญที่อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมและการแต่งกาย แบบดั้งเดิมไว้ไม่ให้สูญหายไป
ดังนั้นความทรงจำในเรื่องเครื่องแต่งกายก็คือความทรงจำที่ถูกถ่ายทอดและแสดงออกให้เห็นในชีวิตประจำวัน และคนในกลุ่มชาติพันธุ์มอญก็ยังเห็นว่ามีความสำคัญ เพราะมันคือสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของความเป็นคนมอญ และควรที่จะมีการธำรงรักษาและการสืบทอดไว้ในปัจจุบัน โดยปัจเจกชนแต่ละคนก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความเหมาะสม แต่ก็ยังคงปฎิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งที่คณะหงส์ฟ้ารามัญ ได้แสดงให้เห็นถึงถึงการแต่งกายแบบมอญ ในการแสดงการละเล่นพื้นบ้านแขนงนี้ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาและตอกย้ำความทรงจำร่วมในกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่กำหนดอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนมอญ
3. เนื้อหาในการแสดงทะแยมอญ
อย่างที่กล่าวไปในช่วงต้นว่า ทะแยมอญเป็นศิลปะชั้นสูงของชนชาติมอญที่ใช้การร้องรำโต้ตอบกันระหว่างชายกับหยิง โดยที่แต่ละคนจะมีบทร้องเป็นของตัวเอง ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝน ดังที่คุณลุงกัลยาหัวหน้าคณะและผู้ฝึกสอนเด็กรุ่นใหม่ๆบอกว่า “มีบทของแต่ละคน เวลาร้อง เช่นเรื่องพระเวสสันดร ผู้หญิงก็ร้องไป เป็นนางมัทรี ผู้ชายก็เป็นพระเวสันดร ร้องตอบกันไป มีชูชก บทใครบทมัน ออกมา2-3 คน สมมุตินามตามท้องเรื่องก็แสดงพูดโต้ตอบกัน…”
ทะแยมอญเป็นการะเล่นพื้นบ้านที่ใช้แสดงในทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นงานขึ้นมงคล งานอวมงคล เช่นงานบุญ งานบวช งานแต่งงาน งานโกนจุก งานแก้บน งานกฐินผ้าป่า งานทำบุญให้คนตาย งานวันชาติ และอื่นๆ การแสดงทะแมอญก็มักจะถูกจัดหาไปให้กลุ่มชาติพันธุ์มอญที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้ชมอยู่เป็นประจำ ซึ่งเนื้อหาที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญของคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ก็จะมีการปรับเปลี่ยนไปไปตามวัตถุประสงค์และรูปแบบของงานแต่ละประเภท ว่าเป็นงานชนิดไหน แต่โดยหลักๆแล้วจะเน้นที่ความสนุกสนานและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ มากกว่าที่จะโศกเศร้าเหมือนการแสดงทั่วๆไปของมอญเช่นมอญร้องไห้ ปี่พาทย์มอญ รำมอญ เป็นต้น ลักษณะที่สำคัญของการแสดงประเภทนี้คือ การร้องโต้ตอบกัน ระหว่างชายหญิง ตามเนื้อหาเรื่องราวต่างๆที่ได้ฝึกฝนและการใช้ปฎิภาณไหวพริบเฉพาะหน้าของแต่ละคน ในแต่ละงานที่แสดงเนื้อหาในการแสดงก็จะแตกต่างกันดังนี้คือ
งานบุญ งานกฐิน ผ้าป่า เพลงที่ใช้เล่นก็จะเป็นเพลงที่มีเนื้อหา เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ เรื่องราวความรู้พระพุทธศาสนา การบวช การทำบุญทำทาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า การเสวยชาติของพระพุทธเจ้า ที่นิยมเล่นคือตอนพระมหาเวสันดรชาดก กับนางมัทรี “คนมอญชอบฟังกันมาก เพราะเนื้อหากินใจและซาบซึ้งถึงการบริจาคทานบารมี การต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง มาบำเพ็ญเพียรที่เขาวงกต และการต้องสูญเสียสองกุมารให้กับชูชก ให้ความรู้สึกเศร้าโอดครวญ ถึงการพลัดพรากจากบ้านเมือง ซาบซึ้งมาก คนติดอกติดใจ ถูกใจคนเฒ่าคนแก่ “ ซึ่งในท้ายที่สุดด้วยความเพียรบารมีของพระเวสสันดร ก็สามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง ได้สองกุมารกลับคืนและได้กลับสู่บ้านเมืองตนเอง นี่เป็นสิ่งที่ผมมองว่าเป็นความรู้สึกร่วม ความทรงจำร่วมกันโดยใช้ทะแยมอญเป็นสื่อ ในการแสดงออกทางวัฒนธรรมและเชือมความรู้สึกทางประวัติศาสตร์และสำนึกทางชาติพันธุ์ที่อยู่เบื้องหลัง หากจะมองว่า ชูชกก็คือตัวแทนของพม่า ที่เอาสองกุมารซึ่งก็เปรียบเสมือนตัวแทนชาติพันธุ์คนมอญไป จากพระเวสันดรและพระนางมัทรี ทำให้ทุกคนต้องพลัดพรากจากกันไปคนละทิศคนละทาง แต่สุดท้ายด้วยความเพียรพยายามและความดีที่สร้างไว้ก็ทำให้พระเวสันดร พระนางมัทรี และกัณหา ชาลี ได้พบหน้ากันอีกครั้งหนึ่ง และได้กลับไปอยู่บ้านเมือง เช่นเดียวกับความรู้สากของคนมอญทุกคนที่มีความทรงจำและความรู้สึกทางประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดร่วมกัน แต่พวกเขาก็ยังมีความหวังว่าสักวันหนึ่งก็คงจะมีโอกาสกับไปอยู่ในดินแดนของบรรพบุรุษ ซึ่งการแสดงทะแยมอญของคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ก็ได้ทำหน้าที่ในการสะท้อนความคิดเรื่องชุมชนในจินตนาการ การธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และสำนึกทางชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ไม่ให้สูญหายไป
งานแต่งงาน ซึ่งเป็นงานอีกประเภทหนึ่งที่นำเอาทะแยมอญ ไปใช้เป็นมหรสพเพื่อสร้างความรื่นเริงบันเทิง เนื้อหาในเพลงที่ใช้ในการแสดง ก็จะเป็นเรื่องหนุ่มสาว เรื่องรักใคร่ การเกี้ยวพาราสี ของหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแต่งงานของคนมอญ ดังที่คุณลุงกัลยาเล่าว่า “ ถ้าเป็นงานแต่งงาน เราก็จำลองภาพหนุ่มสาว มีคนถามว่าถามกันว่า เจอกันอย่างไร สินสอดเท่าไร คนที่แสดงเป็นหนุ่มสาวก็ตอบ เรือนหอมีอะไร ข้อปฏิบัติหญิงชายมีอะไร ทำนองนี้ งานแต่งงานแสดงช่วงกลางคืนกินเลี้ยง งานแต่งงานส่วนใหญ่จะเป็นงานคนมอญ คนไทยก็มี อย่างปลัดบางกระดี่บางขุนเทียน แกเป็นคนไทย แต่งกับผู้หญิงมอญ แกเอาทะแยมอญไปแสดง อนุรักษ์ของหมู่บ้านเรา…” ทะแยมอญมีความหมายที่สำคัญที่มากไปกว่าความสนุกสนานรื่นเริง ก็คือการสะท้อนภาพชีวิตในอดีตของหนุ่มสาวชาวมอญ ข้อปฏิบัติของหนุ่มสาว การใช้ชีวิตคู่ ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญในการถ่ายทอด อบรมธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามของคนมอญไม่ให้สูญหายไป
งานศพ เป็นงานที่เกี่ยวกับการตายและความโศกเศร้า ก็นิยมมีนำการแสดงทะแยมอญไปแสดงเพี่อคลายความเศร้าโศกเช่นกัน โดยเนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับสังขาร อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การทำบุญสุนทาน แล้วก็จะได้อานิสงส์ติดตัวไป ความไม่เที่ยงแท้ของสังขารของร่างกาย การสร้างบุญสร้างกุศล เพื่อจะได้ติดตัวไปเมื่อละสังขารและการเกิดใหม่ในภพหน้า ซึ่งมักจะแสดงหลังจากสวดอภิธรรมเสร็จแล้วประมาณ 3 ทุ่ม
งานวันชาติ ถือเป็นงานที่ใหญ่และสำคัญงานหนึ่งของคนมอญที่อยู่ทั่วโลก ที่จะแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ของชนชาติมอญ ความเป็นมาของชนชาติ กษัตริย์วีรบุรุษของคนมอญ เช่น มะกะโท ราชาธิราช ดังที่หัวหน้าคณะหงษ์ฟ้ารามัญกล่าวว่า “ ประวัติเกี่ยวกับราชาธิราช ชนช้าง คนมอญหนีพม่ามา ..หนีเข้ามาเมืองไทย มอญโกรธพม่า เหลือเกิน เจอกันก็ฆ่ากัน กษัตริย์มอญมี กษัตริย์ที่ชนช้าง ราชาธิราช เมืองย่างกุ้ง เมืองหลวงของมอญเดิม เจดีย์ชะเวดากองของมอญสร้าง ถูกพม่ายึดหมดแล้ว มอญต้องรวมตัวกัน…” เนื้อหาของเพลงที่ใช้ในการทะแยมอญในงานวันชาติจะเห็นได้ว่าเป็น เนื้อหาที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ และสำนึกของความเป็นชาติและความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ในประเทศไทย ที่มักจะถูกใช้ในการแสดงเกือบทุกงานของวงทะแยมอญคณะหงส์ฟ้ารามัญ ของชุมชนมอญบ้านบางกระดี่ สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อรักษาเรื่อราวประวัติสาสตร์ทางชาติพันธุ์ในอดีตไม่ให้สูญหายไป ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของผู้คิดค้น และความสามารถทางวรรณกรรมที่จะสร้างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผ่านการขับร้อง ผ่านภาษามอญซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น และนำมาใช้บอกเล่าหรือบรรยายเรื่องราวทางสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มอญให้คนรุ่นหลังได้รู้และเข้าใจ
งานสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญของคนมอญและมีชื่อเสียงมาก ตัวอย่างเช่นการไปแสดงที่พระประแดง จ.สมุทรปราการ เนื้อหาก็เป็นเร่องการท่องเที่ยวประเพณีวัฒนธรรม เช่นการละเล่นพื้นบ้านสะบ้า ประเพณี12 เดือน ความเป็นมาของสงกรานต์ ประวัตินางสงกรานต์ คุณลุงกัลยาบอกว่า “เราก็พูดและร้องไปตามบท แห่นกแห่ปลา ข้อมูลหมู่บ้าน สถานที่สำคัญ เชิญชวนว่า บ้านเรามีงานสงกรานต์ปีละครั้งหนุ่มสาว ก็กลับมารดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ไปอยู่ที่อื่นบ้านใกล้บ้านไกลก็กลับมา รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่แสดงมุทิตาต่อผู้ใหญ่ “ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเนื้อหาที่ใช้แสดงช่วยย้ำถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญและมีชื่อเสียงของคนมอญ ที่สมุทรปราการคือ ประเพณีสงกรานต์ และความความรู้เกี่ยวกับประเพณีและวิถีชีวิตของชาวมอญให้ผู้อื่นที่มิใช่คนมอญและคนมอญรุ่นใหม่ให้ทราบด้วย
จากเนื้อหาที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญ สามารถแบ่งได้ เป็น 2 ประเภทคือ 1.เนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และอดีต ที่เป็นตำนาน ประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์ เกี่ยวกับ พระพุทธเจ้า กษัตริย์ของมอญ และ2. เนื้อหาที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความทรงจำในลักษณะที่เป็นความทรงจำที่ไกลออกไปจนแทบจะไม่หลงเหลือ กับความทรงจำที่ใกล้ตัว ที่ยังปฎิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเนื้อหาที่คณะหงส์ฟ้ารามัญ ได้นำมาใช้ในการแสดงจึงน่าสนใจ ตรงที่ว่า ความหมาย ที่อยู่เบื้องหลังในการแสดงเรื่องนั้น และทำไมคนจึงนิยมฟัง เรื่องนั้น ซึ่งผมจะวิเคราะห์ เนื้อหาในเรื่อง พระเวสสันดร ซึ่งเป็นเรื่องของการเสวยชาติของพระพุทธเจ้า เป็นกษัตริย์ที่ยึดมั่นในมหาทานบารมี กับ มะกะโท กษัตริย์ของคนมอญที่กอบกู้ชาติคืนจากพม่า ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวมอญ ในเนื้อเรื่องและวาทกรรมที่ปรากฎในเนื้อเรื่อง ที่สะท้อนให้เห็นความคิดและวาทกรรมที่มีลักษณะเป็นคู่ตรงกันข้าม ระหว่างความดี /ความชั่ว พระเอก / ผู้ร้าย กรพลัดพราก/ การกลับคืน ซึ่งวิเคราะห์ได้ดังนี้
พระเวสสันดร มะกะโท
- พระเอกเป็นกษัตริย์ คนชั้นสูง มีความดี - มะกะโทสามัญชนธรรมดา
- พระเอกยึดมั่นในทานบารมีในพระพุทธศาสนา - พระเอกเดินทางมาค้าขายในสยาม
- พระเอกเป็นที่รักของประชาชน - เกิดฟ้าผ่าที่คานหาบสินค้า
- พระเอกบริจาคช้างเผือกให้เมืองอื่น - เป็นคนทำความสะอาดโรงช้าง
- บ้านเมืองแห้งแล้ง อดอยาก - ใช้ปัญญาเอาเมล็ดผักจากแม่ค้า
- ประชาชนต่อต้านและขับไล่จากเมือง - ถวายผักที่ปลูกแก่กษัตริย์ไทย
- พระเอกออกจากบ้านเมืองมาอยู่ป่า - ได้รับตำแหน่งสูงขึ้นในราชวัง
- ชูชกมาขอสองกุมาร - พาธิดากษัตริย์ไทยหนีไปพม่า
- พระอินทร์ขอนางมัทรี - รวบรวมสมัครพรรคพวกกู้ชาติ
- ชูชกตายและสองกุมารอยู่กับปู่ย่า - กู้ชาติได้สำเร็จและได้เป็นกษัตริย์
- พระเอกได้กลับบ้านเมือง - กลับมาตอบแทนคุณกษัตริย์ไทย
จะเห็นได้ว่า ทั้งสองเรื่อง มีเนื้อหาคล้ายกัน ตรงที่การต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง และการกลับคืนสู่บ้านเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกใช้เชื่อมความทรงจำร่วมของคนมอญ ในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในอดีตกับสภาพที่แท้จริงในปัจจุบัน และจินตนาการเกี่ยวกับชุมชนของพวกเขา ความรู้สึกถึงแผ่นดินเกิด ความหวังและการได้กลับสู่บ้านเมืองของตนเอง ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับความดีที่ย่อมชนะความชั่วร้าย และอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งความสำนึกในพระคุณของแผ่นดินไทย และกษัตริย์ไทยที่ช่วยเหลือ และให้พักพิงอาศัย ซึ่งมะกะโท ถึงแม้จะกอบกู้บ้านเมืองคืนจากพม่าได้ ก็ได้ถวายเครื่องบรรณาการต่อพระมหากษัตริย์ไทย เพื่อแสดงถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระมหากษัตริย์ไทยต่อชาวมอญคนนี้ และเป็นสิ่งที่คนเชื้อชาติมอญทุกคนที่อยู่ในเมืองไทยก็รู้สึกเช่นเดียวกัน สิ่งที่คณะหงส์ฟ้ารามัญนำมาใช้ในการแสดงและร้อยเรียงเป็นถ้อยคำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ให้คนได้ชม จึงเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่มีความหมายในการสร้างสำนึกทางชาติพันธุ์ และย้ำถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ที่เป็นเรื่องราวเนื้อหาเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ต่างๆเช่น การแต่งกาย การครองเรือน บุญสงกรานต์ การโกนผมไฟ การปลูกเรือนเป็นต้น ที่บอกเล่าผ่านการแสดงทะแยมอญ ซึ่งถือเป็นความทรงจำร่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมอญทั่วไปได้ปฎิบัติสืบต่อกันมาในชีวิตประจำวัน


4.เครื่องดนตรีและทำนองที่ใช้ในการแสดง


ในการแสดงทะแยมอญ เครื่องดนตรีหรือวงปี่พาทย์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์เคยกล่าวว่า “ มอญแพ้พม่าด้านแสนยานุภาพแต่สามารถชนะพม่าได้อย่างแท้จริงด้านวัฒนธรรม” โดยเฉพาะวงปี่พาทย์มอญ ที่ในอดีตผู้บรรเลงมักจะเป็นชาวรามัญจนเมื่อนักดนตรีปี่พาทย์ไทยเริ่มที่จะเรียนเพลงมอญ ปัจจุบันจึงได้เห็นการผสมผสานกันระหว่างวงปี่พาทย์มอญและวงปี่พาทย์ไทย มีการใช้เพลงทั้งทำนองมอญและไทยในการบรรเลง
ทำนองที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญโดยทั่วไปมีอยู่2 ทำนองคือ เพลงของฝ่ายชาย ที่เรียกว่า “เจิ้ก-มั่ว” เป็นเพลงที่ฝ่ายชายร้องนำขึ้นก่อนและผู้หญิงร้องแก้ หรือร้องตอบฝ่ายชาย ให้เข้าเรื่องเข้าราวกัน อีกอันคือเพลงของฝ่ายหญิงที่เรียกว่า “โป้ต-เซ่” เป็นเพลงที่ฝ่ายหญิงร้องนำขึ้นก่อนแล้วฝ่ายชายเป็นผู้ร้องแก้หรือตอบเช่นกัน ซึ่งการแสดงประเภทนี้ต้องใช้ปฎิภาณและไหวพริบเฉพาะตัวในการแสดงอย่างมากจึงต้องมีการฝึกฝน ดังที่หัวหน้าคณะหงส์ฟ้ารามัญบอกว่า “ทะแยมอญ ร้องเพลงมอญต้องฝึก ต้องท่องตามบทไป จะได้แก้กันถูก ไม่อย่างนั้นเนื้อหาสาระมันจะไม่เข้ากัน ถ้าคนหนึ่งร้องไปอย่างหนึ่ง คนหนึ่งตอบมาอย่างหนึ่ง…”
เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นทะแยมอญประกอบด้วย 1.ซอมอญ ที่มีรูปร่างคล้ายซอสามสาย และมีการแกะสลักลวดลายหางหงส์ที่ตรงปลาย 2. ขลุ่ย 3. กลองเล็กสองหน้าหรือเปิงมาง 4. จระเข้ 5. ฉิ่ง ที่เป็นเครื่องดนตรีบางชิ้นในวงปี่พาทย์มอญ และเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นจระเข้ หรือซอสามสาย คุณลุงกัลยา ปรุงบางกระดี่ หัวหน้าทะแยมอญคณะหงส์ฟ้ารามัญ เป็นผู้สร้างและประดิษฐ์เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นด้วยด้วยตนเอง
เนื้อร้องและทำนองในอดีตจะใช้เนื้อร้องมอญและทำนองมอญ ปัจจุบันเมื่อเพลงสมัยใหม่เพลงไทยได้รับความนิยม ก็มีการประยุกต์นำเอาทำนองเพลงไทยที่ไพเราะและคุ้นหูมาใส่เนื้อร้องภาษามอญ เช่นเพลงทำนองออกแขกของสุรพล เพลงหนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ เป็นต้น นักดนตรีในวงทะแยมอญของคณะหงส์ฟ้ารามัญ มีประมาณ6-7 คน อายุประมาณ50-80 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่อายุมากเท่านั้นเล่นได้ คุณลุงกัลยาเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงทำนองเพลงว่า “ ตอนนี้เราประยุกต์เอาทำนองไทย ใส่เนื้อร้องมอญเข้าไป เดิมเขามีแต่แบบที่เปิดให้ฟัง(เปิดเทปทะแยมอญทำนองมอญเนื้อมอญ) นั่นแบบเก่าดั้งเดิม ประยุกต์ใหม่ เพราะบางคนบอกว่า ร้องเพลงไทยมั่ง เอ้าได้ เขาขอมา…” การประยุกต์เนื้อร้องใส่ทำนองไทยถือว่ามีความน่าสนใจ ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนและการผสมผสานทางวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับความนิยมในสังคมปัจจุบัน ที่อิทธิพลของเพลงไทยและวัฒนธรรมบางอย่างเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวัน ซึ่งคนที่พูดและฟังภาษามอญได้ก็มีน้อยลง ยกเว้นคนเฒ่าคนแก่ ทำนองเพลงมอญที่เป็นเพลงลักษณะคล้ายเพลงไทยเดิม เช่น มอญรำดาบ มอญชมจันทร์ มอญดูดาว มอญกะ มอญแปลง มอญร้องไห้และอื่นๆ อันมีความไพเราะและลักษณะอันโดดเด่น เศร้าสร้อยเป็นส่วนมาก ซึ่งแตกต่างจากเพลงไทยสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากเพลงลูกทุ่ง ที่มีจังหวะคึกคัก สนุกสนาน เร้าใจ และคุ้นหูคนฟังทั่วไปมากกว่า ดังนั้นการประยุกต์ที่นำทำนองเพลงไทย เนื้อร้องไทยบางส่วนเข้ามา ก็เพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและสร้างความนิยมให้กับคนฟังทุกเพศทุกวัย ดังที่หัวหน้าคณะหงส์ฟ้ารามัญ ได้ร้องเพลงออกแขกทำนองเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ โดยใส่เนื้อร้องมอญเข้าไปให้ผมฟังว่า “อะลาง อะลาง อะลาง แปะมนตุตัน ละเล รอป๋วย กะรอฮาเฮ ตุไนปะเล ปะวาจะหิการัง “ แปลว่า “ ฟัง ฟัง ฟัง เชิญมาฟังเพลงทะแยมอญ จะร้องให้ฟัง พี่ป้าน้าอาอย่าอยู่เฉยๆ เดี๋ยวเราจะเปรยให้ฟัง…ให้สาวมอญร้องทะแยมอญให้ฟัง…” หรือเพลงหนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ ก็เป็นเพลงที่เอาทำนองเพลงไทยและใส่เนื้อร้องมอญเข้าไป แต่ความหมายก็ยังคงเดิม และเป็นเพลงคู่ที่ใช้แสดงบ่อยๆ เพราะสะท้อนภาพชีวิต การทำนาทำการเกษตร คนมอญ ดั้งเดิมทำไร่ทำนา
สำหรับเนื้อร้องไทยใส่ทำนองมอญ (มอญดูดาว) ก็มี เช่นเรื่องราชาธิราช ตอนพระยาน้อยชมตลาด ซึ่งจะมีบทร้องทั้งชายหญิง ร้องว่า
ชาย ร้องนำว่า“ พญามอญ กระดุมทอง เขาเดินเมียงมอง เพื่อชมตลาด พ่อค้าและแม่ค้า มากหน้าหลายตา ช่างดาระดาษ ขายฝักขายแฝงแตงกวา นั่นขายคะน้า นั้นขายผักกาด นี่เงาะ นู่นลางสาด เสียงร้องประกาศให้ก้องเอย
หญิง ก็ร้องแก้ “เชิญแวะ ละพี่นะ มนต์ขลัง ค้าแป้งน้ำมัน ขัดแล้วผ่องใส หอมระรื่นชื่นใจ ตลอดวัน…”
นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความสามารถทางด้านวรรณกรรม ในการถ่ายทอดศิลปะการแสดงของการขับร้องบทกลอน ที่มีทั้งท่วงทำนองแบบมอญและท่วงทำนองแบบไทย ทั้งเนื้อร้องของมอญและไทย ที่คนทุกคนสามารถฟังได้ และรับรู้ถึงความความเป็นไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี โลกทัศน์ ความคิด ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ที่ผ่านการแสดงศิลปะพื้นบ้าน ในรูปแบบวรรณกรรมมุขปาถะ ที่น่าสนใจและน่าอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สืบไป ซึ่งการทะแยมอญก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเช่นมีการนำทำนองไทยและเนื้อร้องไทยเข้ามา เพราะคนที่พูดและฟังภาษามอญได้ก็มีน้อยลง แต่ภาษาไทยที่คนส่วนใหญ่เข้าใจและรับรู้กันได้ทั่วไป คณะหงส์ฟ้ารามัญจึงต้องมีการผสมผสานกันและปรับรูปแบบเพื่อให้ศิลปะแขนงนี้ดำรงอยู่ และทำหน้าที่ในการสร้างความทรงจำร่วมในประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และสร้างชุมชนในจินตนาที่เกี่ยวกับชาติ ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่อยู่ในชุมชนต่างๆ และทำให้เกิดการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนมอญต่อไป
ทะแยมอญคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ของชุมชนบางกระดี่
ความเป็นมาของทะแยมอญ
ทะแยมอญ เป็นการละเล่นพื้นบ้านของคนมอญ ที่มีความเก่าแก่ และมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาภาคสนาม พบว่า ไม่มีใครที่สามารถจะระบุถึงต้นกำเนิดของทะแยมอญได้ชัดเจน ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด บอกได้แค่เพียงว่า เมื่อเกิดขึ้นมาจำความได้ ก็ได้พบเห็นการแสดงชนิดนี้แล้ว จากการค้นหาเอกสารที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์มอญ พบว่า การละเล่นทะแยมอญนี้ มีมาตั้งนานแล้ว และปรากฎในพงศาวดารเรื่องราชาธิราช ที่กล่าวถึงชาวบ้านในสมัยนั้น ร้องเพลงทะแยมอญกล่อมเด็ก หรือบอกนิมิตรต่างๆที่ปรากฎในบางตอนของเรื่องราชาธิราชนี้ ซึ่งคาดว่าการละเล่นชนิดนี้คงเป็นการละเล่นที่มีมานานแล้ว เป็นการละเล่นพื้นบ้านของคนมอญ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ทางสังคมและวัฒนธรรมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มอญตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
สำหรับการละเล่นทะแยมอญ ในชุมชนมอญหมู่บ้านบางกระดี่ เกิดขึ้นจากความสนใจและความชอบร่วมกัน โดยใช้ใช้เวลาว่างจากการทำการเกษตร ทำไร่ทำนา ก็หยิบเครื่องดนตรีที่ตนถนัดมาคนละชิ้น มานั่งเล่นรวมกัน ดังเช่นที่คุณลุงกัลยา หัวหน้าคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ซึ่งเป็นวงทะแยมอญวงเดียวที่ยังเหลืออยู่และก่อตั้งมาประมาณ20กว่าปีแล้ว บอกกับผมว่า “ ทะแยมอญมีมานานตั้งแต่ผมเล็กๆ เลย เวลาเลิกจากนาเขาก็มารุม คนนั้นชิ้นคนนี้ชิ้น เวลามีงานเขาก็มีทะแยมอญมาร้องรำ เป็นประจำหมู่บ้านเลยละ ทะแยมอญ คนเฒ่าคนแก่ก็รักษา สืบทอดกับลูกหลานต่อๆมา… รุ่นเก่าๆเหลือไม่กี่คนแล้ว ที่เป็นเครื่องสาย เห็นแกสีซอดีดจระเข้ ก็สนใจ …เมื่อก่อนผมทำงานการไฟฟ้านครหลวงมีซอด้วงอันเดียว เล่นไม่เป็น ขึ้นสายก็ไม่เป็น มีคนแก่เขียนโน้ตให้เพลงหนึ่ง ลาวเชิงเทียน ง่ายๆสั้นๆหน่อย ก็เป็น ต่อมาตามผู้ใหญ่ไปแสดงบ่อยๆ ก็จำเอา ดีดเอาเองสีเอาเอง เมื่อก่อนไม่ต้องจ้างมีงานอะไร ก็มีทะแยมอญแสดงแล้ว งานบวช งานแต่งงาน …”
ดังนั้นการละเล่นทะแยมอญ จึงถือเป็นวัฒนธรรมและวรรณกรรมมุขปาถะ ที่ใช้ภาษามอญในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ และใช้เครื่องดนตรีในการให้จังหวะขับกล่อมบรรเลงอย่างน่าฟัง ซึ่งมีผู้ศึกษางานวรรณกรรมและประเพณีต่างๆหลายท่าน ได้วิเคราะห์ทางจิตวิทยาการเมือง เชื่อมโยงกับความคิดทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจว่า การเป็นชนชาติไร้แผ่นดิน ทำให้วิถีแห่งศิลปะในชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้น ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในท่วงทำนอง และเนื้อหาที่เศร้าสร้อย โศกสลด ท่วงทำนองที่โหยหวน เศร้า ชวนวังเวง เช่นการละเล่นของมอญ ดังเช่น เพลงมอญ มอญร้องไห้ มอญรำ ซึ่งมักจะนำไปใช้ในงานศพเป็นหลัก แต่ในทางตรงกันข้ามทะแยมอญ กลับเป็นการละเล่น ที่ใช้ศิลปะไหวพริบและทักษะทางด้านดนตรีของผู้ขับร้องและผู้แต่ง ประพันธ์วรรณกรรมในเวลาเดียวกัน โดยการแต่งกลอนสดด้นไป และประกอบการร่ายรำไปพร้อมกัน โดยมีดนตรีประกอบจังหวะ โต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง สาระเนื้อหา ที่สื่อออกมาก็มีการปรับเปลี่ยน ตามสถานการณ์และตามปฎิภาณไหวพริบของแต่ละคน และเนื้อหายังสอดคล้องไปกับสภาพของงานแต่ละงาน ว่าเป็นงานบุญ งานบวช งานแต่งงาน หรืองานศพ เป็นต้น อีกทั้งดนตรีที่บรรเลงสอดประสานก็มีความพริ้วไหว บีบคั้นอารมณ์ สนุกสานรื่นเริงคละเค้ากันไป ที่ใช้ได้ในทุกๆโอกาสด้วย

ลักษณะของการละเล่นทะแยมอญ

การละเล่นทะแยมอญคือการละเล่นที่เป็นการร้องรำโต้ตอบกันระหว่างสองฝ่าย คือชายหญิง ซึ่งจะมี4-6คน เวลาแสดงก็จะแต่งตัวพื้นบ้านแบบมอญ และออกมาร้องเป็นคู่ ชาย-หญิง สลับกัน คล้ายๆลำตัดหรือเพลงฉ่อยซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านของภาคกลางที่ใช้ร้องโต้ตอบกันระหว่างชายกับหญิงตามเนื้อหาตามบทของแต่ละคน เช่น เล่นเรื่องพระเวสันดร ก็อาจมีบทของพระเวสสันดร นางมัทรี ชูชก นางอมิตดาก็มี4 คน เป็นต้น การละเล่นทะแยมอญ นอกจากจะประกอบด้วยผู้ร้องและรำทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงแล้ว ยังประกอบด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านมอญ อันประกอบด้วย “ซอสามสาย (โกร้) ขลุ่ย(กะโอ้ต) จระเข้ (จยาม) กลองเล็กสองหน้า(เปิด-ตัง)และ ฉิ่ง(ขะเด)เล่นคลอจังหวะประกอบ
ลักษณะการละเล่นของทะแยมอญ ดังที่กล่าวข่างต้นว่าคล้ายกับลำตัด เพลงฉ่อยที่เป็นเพลงพื้นบ้านภาคกลางที่ใช้ร้องโต้ตอบกัน ระหว่างชายหญิง คล้ายหมอลำกลอนใส่แคนเต้าเดียว ของคนอีสานหรือคนลาว ที่ร้องเพลงโต้ตอบถามปัญหากัน เพื่อวัดปฎิภาณไหวพริบระหว่างชายและหญิง สิ่ง ที่น่าสังเกตและสนใจก็คือ ความเป็นวรรณกรรมมุขปาถะที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการสืบต่อและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี เหตุการณ์ในปัจจุบันต่างๆ ให้คนภายในชุมชนและคนภายนอกได้รับรู้ โดยเฉพาะในชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ ดังนั้นทะแยมอญ จึงไม่ใช่แค่เพียงการละเล่นรื่นเริงสนุกสนานเท่านั้น แต่มันเป็นเครื่องมือสำคัญในการธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และปลุกเร้าสำนึกทางชาติพันธุ์ของคนกลุ่มชาติพันธุ์มอญในที่ต่างๆ ที่วงทะแยมอญได้ไปแสดงโดยใช้ภาษามอญ ในการสืบทอดและการแสดงออกทางวัฒนธรรมโดยผ่านการละเล่นพื้นบ้านนี้


โอกาสและเนื้อหาในการแสดง
กลุ่มชาติพันธุ์มอญนิยมการละเล่นทะแยมอญในทุกๆโอกาส เพราะการแสดงประเภทนี้ ไม่ได้มีเฉพาะเนื้อหา และท่วงทำนองในเชิงที่เศร้าสร้อย โศกสลด ดังเช่นการแสดงมอญรำ มอญร้องไห้ ปี่พาทย์มอญ ที่นิยมเล่นในงานอวมงคลเช่นงานศพ ในขณะที่การละเล่นทะแยมอญนั้น ใช้ได้แทบทุกโอกาส ทั้งมนงานมงคลและงานอวมงคลต่างๆ เช่นโกนจุก บวชนาค แต่งงาน ฉลองพระ ขึ้นบ้านใหม่ ดังที่คุณลุงกัลยา กล่าวว่า “ ทะแยมอญ เพลงที่ใช้เล่นได้ทั้งนั้น ทุกโอกาส ทั้งพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้า พิมพา พระเวสสันดร มัทรี ตอนพระเวสสันดรจะไปเขาวงกต ถ้างานบวชก็จะเล่นพวกสิทธัตถะ พระนางพิมพา ตอนออกบวช งานศพก็ได้ เช่น เล่นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำบุญสุนทาน เขาก็จะได้อานิสงส์ติดตัวไป วิญญาณจะออกจากร่างกายและทิ้งสังขารไว้อะไรพวกนั้น…” “งานวันชาติมอญกล่าวถึงเรื่องพม่าตีเมืองมอญดั้งเดิม แต่ปู่ย่าตาทวด ก็มาอาศัยอยู่ในเมืองไทย ร่มโพธิสมภารกษัตริย์ไทยเรา…”
ทะแยมอญถือเป็นการละเล่นและศิลปะชั้นสูงของคนมอญ ที่อาศัยปฎิภาณไหวพริบในการโต้ตอบกัน ซึ่งนอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วยังเป็นการถ่ายทอดสำนึกทางชาติพันธุ์ของคนมอญ ทั้งในเรื่องของชาติ วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆของคนมอญ มิให้สูญหายไป และใช้การแสดงทะแยมอญนี้ในการตอกย้ำถึงอัตลักษณ์ ทางชาติพันธุ์ของคนมอญ ที่แสดงออกมาผ่าน ฉาก เนื้อหา การแต่งกายและดนตรี ที่จะได้กล่าวถึงต่อไป
ทะแยมอญ ยังคงเป็นการละเล่นที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนมอญ ที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ทั้งในเมืองไทยและในพม่า ดังจะเห็นได้ว่าประเพณีต่างๆไม่ว่าจะเป็น กฐิน ผ้าป่า งานสงกรานต์ โกนจุก งานศพ งานบวช ก็จะมีการจ้างวงทะแยมอญคณะหงส์ฟ้ารามัญไปแสดงให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่อาศัยอยู่จังหวัดต่างๆในเมืองไทย และในประเทศพม่าที่มีกลุ่มคนมอญกู้ชาติอาศัยอยู่ด้วย เช่นในงานวันชาติมอญเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 ซึ่งเป็นการฉลองวันชาติมอญปีที่47 ที่บ้านอองชะเนเดิง เขตจังหวัดมะริด ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตปลดปล่อยของคนชาติมอญ ที่ติดกับอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คณะหงษ์ฟ้ารามัญ ซึ่งเป็นวงทะแยมอญของชุมชนบางกระดี่ได้เข้าไปแสดงการละเล่นพื้นบ้านมอญนี้ด้วย ซึ่งการละเล่นชนิดนี้นับวันยิ่งจะสูญหายเนื่องจากไม่มีคนที่จะสืบต่อ ในชุมชนมอญที่อยู่ในประประเทศไทย การแสดงทะแยมอญ มีอยู่ที่ชุมชนมอญพระประแดง จ.สมุทรปราการ และชุมชนมอญบ้านบางกระดี่ บางขุนเทียน กรุงเทพฯ ที่คนมอญมักจะพูดถึง แต่ที่พระประแดง ทะแยมอญได้สูญหายไปแล้ว เพราะงานเทศกาลประเพณีที่สำคัญของคนมอญ เช่นงานสงกรานต์ ก็ยังเอาวงทะแยมอญของบางกระดี่ไปแสดง ดังที่คุณลุงกัลยาบอกว่า “นอกจากคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ทะแยไม่มีเลยละประเทศไทย …อย่างพระประแดงก็หายไปหมดแล้ว พูดภาษามอญก็ยังไม่ค่อยมีแล้ว เป็นอย่างนั้น เราก็เลยต้องอนุรักษ์ไว้เดี๋ยวหายสาปสูญ” เพราะงานสงกรานต์ที่พระประแดงถือว่ามีชื่อเสียงมาก ดังที่ Brian L.Foster บอกว่า “At Prapadaeng …just sort of Bangkok which is well Known for it colorful songkran festival “ หรือดังที่ Holliday กล่าวถึงคนมอญที่อยู่ปากเกร็ดว่า “ At Pakert where course pottery is made” ซึ่งอัตลักษณ์ของคนมอญที่ปากเกร็ดที่คนทั่วไปรู้จักก็คือ การปั้นหม้อ สิ่งเหล่านี้คือการแสดงออกทางวัฒนธรรม (cultural expressions) และเป็นสัญลักษณ์ที่กำหนดอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์(symbolic Formulative of ethnic identity ) ดังที่คายส์เสนอ
ดังนั้นถ้าผมจะกล่าวว่า อัตลักษณ์ของคนมอญที่บ้านบางกระดี่ ที่เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรม อันสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์มอญชุมชนบ้านบางกระดี่ที่มีความโดดเด่น และมีความสำคัญ ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในชุมชนมอญในประเทศไทย ก็คือการละเล่นทะแยมอญ ก็น่าจะกล่าวได้ว่า “ At Bangadee where is well know for it Tayae-Mon Dancing and Folk Song “ นั่นก็คือ เมื่อพูดถึงชุมชนบางกระดี่ก็ย่อมนึกถึงการแสดงทะแยมอญ
ในการแสดงทะแยมอญ ของคณะหงษ์ฟ้ารามัญ (คณะหงษ์ฟ้ารามัญก่อตั้งมาประมาณปี 2525-2526 เมื่อก่อนยังไม่มีชื่อและเป็นวงทะแยมอญของหมู่บ้านก่อนที่คุณลุงกัลยาจะสืบทอดต่อมาและตั้งชื่อขึ้นเพื่อให้เป็นที่รู้จัก เลยใช้คำว่าหงษ์ฟ้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนมอญ กับคำว่ารามัญ ซึ่งเป็นคำเรียกคนมอญมาเป็นชื่อวง ) ที่บ้านบางกระดี่ การแสดงชนิดนี้ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะคนในชุมชนมอญ หรือคนกลุ่มชาติพันธุ์มอญเท่านั้น แต่การแสดงประเภทนี้ สามารถแสดงได้ทั่วไปและเชื่อมพรมแดนของความแตกต่างทางชาติพันธุ์ โดยอาศัยการแสดงทะแยมอญเป็นตัวเชื่อม ซึ่งสามารถพบได้ในปรากฎการณ์ทางความเชื่อของผู้คน ที่มีต่อเทพเจ้า ต่างๆทั้งของพราห์ม จีน ฮินดู พุทธ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรมของไทย ของมอญก็เช่นกัน มอญก็มีเทพ มีกษัตริย์ มีผีบรรพบุรุษที่พวกเขานับถือ และตั้งศาลคารพบูชา เพื่อกราบไหว้ เคารพบูชา บนบานศาลกล่าว แก่ผู้คนทั่วไป หรือเป็นผู้ประทับทรงเทพต่างๆ และเมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาเคารพนับถือได้ดลบันดาลให้พวกเขาตามความประสงค์ มหรสพที่สำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการแก้บนเพื่อตอบแทนบุญคุณและถวายสักการะก็คือ การละเล่นทะแยมอญ ดังที่คุณลุงกัลยาบอกว่า “คนที่อื่นที่ไม่ใช่คนมอญอยากจะดูทะแยมอญ ก็ได้ แสดงได้ เหมือนตอนไปแสดงอยู่ที่ศูนย์มนุษย์เพื่อการศึกษาอนุรักษ์ งานทั่วๆไป คนทั่วๆไป นี่ก็ไป เขาจะแก้บนอะไร ศาลเจ้า เขาบนบานไว้ เดิมก็เป็นมอญเจ้าองค์นั้น เจ้าก็บอกเอาทะแยมอญไปแก้บน ทั้งที่ไม่รู้จักไม่เข้าใจภาษา คนไทยละเอาไป… บนวันนั้นวันนี้ หายเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เอาของเราไป หงษ์ฟ้ารามัญไปแสดง คนไทยก็มี เขาไปบนบานให้ลูกเต้าเขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และได้จริงๆขึ้นมา เขาก็มาแก้บนทะแยมอญ เพราะที่ศาลประทับเป็นคนมอญ …ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนมอญ ได้ทุกงาน ทุกสาขาอาชีพ ทุกภาษา” คำพูดของหัวหน้าคณะหงษ์ฟ้ารามัญท่านนี้น่าคิดและน่าจะนำมาวิเคราะห์ต่อถึงความเชื่อทั้งทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่แต่ละบุคคลก็นับถือเฉพาะแตกต่างกันไป เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่ซับซ้อน สิ่งที่ผมสนใจ ก็คือ เมื่อเวลาที่ผู้ขอประสบความสำเร็จดั่งที่ขอไว้ ก็จะนำมหรสพประเภทต่างๆตามสัญชาติและเชื้อชาติของเทพเจ้านั้นๆมาแสดง เช่น ศาลเจ้าจีนก็นำงิ้วมา ย่าโมก็นำเพลงโคราช หรือลิเก ของอีสานก็อาจเป็นหมอลำ ศาลมอญก็ทะแยมอญ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่เป็นเช่นนี้เสมอไป เราอาจเห็นงิ้วแสดงที่วัดไทยก็ได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือการสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางความคิดและการแสดงออกเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของคนธรรมดาทั่วไป ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีเชื้อชาติ นั้นๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้พิธีกรรม การแสดงทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์หรือเทพเจ้าต่างๆที่พวกเขาเคารพกราบไหว้ โดยผ่านการแสดงที่ใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น วึ่งแสดงให้เห็นสำนึกทางชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญ อย่างเช่นในทะแยมอญก็จะมีการใช้ภาษามอญ ก่อนเริ่มแสดงก็มีการบรรเลงเพลงเปิดโรง ต้องมีการเชิญครู มีน้ำมนต์ประพรม มีคาถา “ มีค่ายกครู 12 บาท พานดอกไม้ธูปเทียน บุหรี่และเหล้าขวด เป็นของเซ่นไหว้” และบอกกล่าวเล่าแจ้งแทนเจ้าภาพว่าเป็นงานอะไร และใครเป็นคนจัดหามา ภาษามอญจึงเป็นส่วนสำคัญ ที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์นั้นใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารภายในกลุ่ม และในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ซึ่งภาษามอญก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากในการแสดงทะแยมอญ โดยปรากฎในเนื้อร้อง ที่เป็นบทสนทนาโต้ตอบระหว่างกัน และภาษาเหล่านี้ก็ยังถูกใช้ในชีวิตประจำวันของชุมชนมอญด้วย สิ่งเหล่านี้ก็คือการธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ที่ใช้ภาษาเป็นเครื่องบ่งชี้ทางสังคมวัฒนธรรมและใช้เป็นรากฐานทางประเพณีบางอย่างร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขายืนยันถึงเอกลักษณ์ของความเป็นคนมอญ