วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

อะไรคือความตาย What is death ?
เริ่มแรก ก่อนที่เราจะรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความตาย เราจำเป็นต้องเข้าใจการมีชีวิตก่อน ( Living ) รวมถึงสิ่งที่สะท้อน อารมณ์ ความรู้สึก ต่อความตาย ของผู้อื่นอย่างไร รวมทั้งการรับรู้ว่าในอนาคตของเราก็จะต้องตายเช่นกัน ในช่วงวัยเด็ก เรามักจะถูกทำให้รู้สึกว่า ความตายเป็นเรื่องที่ห่างไกล เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าเด็กอย่างเราจะเข้าใจ ว่าทำไม คนเราถึงต้องตาย และทำไมตายแล้วไม่ฟื้น เราถูกกีดกันออกจากความรู้เรื่องของความตาย ความตายกลายเป็นสิ่งที่ไกลตัว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านตามวัฎจักรชีวิตของมนุษย์บนโลก
ประสบการณ์และทัศนคติของเด็กเกี่ยวกับความตาย มักจะมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองรัก เช่น พ่อแม่ หรือสัตว์ เลี้ยง ซึ่งเป็นความตายที่เหมือนกันและสร้างสร้างทัศนคติเกี่ยวกับความตายต่อเด็ก ในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะกรณีของสหรัฐอเมริกา มีความพยายามจะสร้างการมีชีวิตที่ยืนยาว ที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูงมากที่สุด ในการชะลอความตายหรือยับยั้งความตาย ดั้งนั้นชาวอเมริกันย่อมมีความรู้สึกกลัวต่อความตายมากที่สุด และสิ่งเหล่านี่ได้นำไปสู่ทัศนคติเกี่ยวกับความตายของมนุษย์ และประกอบสร้างพื้นฐานทางด้านอารมณ์ที่สำคัญต่อเรื่องความตาย ความเชื่อ คำถาม และการปฏิบัติของเราเกี่ยวกับเรื่องความตาย โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ(Health) และการประกันชีวิต (Insurrence)
ตัวอย่างที่น่าสนใจ ก็คือ
มีครอบครัวหนึ่งที่ต้องสูญเสียพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวไป เด็กชายอายุ 9 ขวบ ซึ่งเป็นสมาชิกของครอบครัวนั้น (เป็นลูกของผู้ตาย) ถามแม่ของเขาว่า
“ทำไมพ่อของผมหลับอยู่นานไม่ตื่นเสียทีละครับ”
แม่ของเขาก็ตอบว่า “พ่อของลูกเดินทางไปสบายแล้ว”
ลูกจึงถามต่อว่า “พ่อของผมเดินทางไปไหน”
แม่จึงตอบกลับไปว่า “พ่ออยู่บนสวรรค์”
ลูกถามต่อว่า “สวรรค์คืออะไร” แม่บอกลูกว่า “สวรรค์คือที่ที่มีนางฟ้า เทวดาอยุ่”
ลูกถามแม่ต่อว่า “แล้วทำอย่างไรจึงจะได้ไปที่แห่งนั้นได้”
สุดท้ายแม่ก็ตอบลูกว่า “หนูก็ต้องทำความดีเยอะๆซิ ถึงจะได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าหนูทำชั่วไม่เชื่อฟังพ่อแม่หนูก็จะทรมานอยู่ในนรก”
ถึงแม้จะได้คำตอบ แต่ลูกก็ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของความตาย แต่เชื่อว่า สวรรค์ต้องเป็นที่ที่ดีแน่ๆ พ่อถึงไปแล้วไม่ยอมกลับมา.....
สรุปว่า เด็กคนนี้ก็ยังคงงง กับสิ่งที่เรียกว่าความตาย ว่าคืออะไรกันแน่ ความตายจะเป็นเรื่องของภพภูมิที่แตกต่างกัน ที่แบ่งแยกระหว่างโลกมนุษย์ที่เป็นโลกที่ดำรงอยู่ ณ สภาวะปัจจุบัน กับโลกของชีวิตหลังความตาย ที่ทัศนะ มุมมอง และมิติเกี่ยวกับความเชื่อดังกล่าว มีอยู่ในกลุ่มสังคมของมนุษยชาติในที่ต่างๆทั่วโลก
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นของแม่กับลูกข้างต้นก็คือ ความสัมพันธ์ของผู้คน กับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติของความตาย ที่ได้สร้างกำแพงหรือข้อห้าม (Taboo) เกี่ยวกับเรื่องของความตายให้กับมนุษย์ ความตายกลายเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นลางร้าย หรือสัญญาณไม่ดี และไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเอ่ยถึงเรื่องความตายของตนเองและผู้อื่น เพราะเราก็มักจะถูกต่อว่า ว่าเป็นคน “ปากไม่ดี” “พูดไม่เป็นมงคล” และ “ไม่รู้จักกาลเทศะ”
ดังนั้น เมื่อเราขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของความตาย และรับรู้ว่าความตายเป็นเรื่องที่น่ากลัว เป็นเรื่องของการสูญเสีย เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดการตายกับบุคคลที่ใกล้ชิด หรือ รู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย ความตายจึงกลายเป็นสิ่งที่ยากจะรับได้ แม้ว่าเราจะวางเฉย (ignore) หรือปฏิเสธ ( resistance) ต่อเรื่องความตาย เช่น การหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงมัน การใช้ชีวิตแบบสนุกสุดเหวี่ยง โดยเชื่อว่า “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” “ใช้ชีวิตวันนี้ให้คุ้มค่าเพราะพรุ่งนี้จะมีหรือเปล่าก็ไม่รู้” “ใช้ชีวิตให้มีความสนุกเพราะพรุ่งนี้ก็ตายแล้ว” เป็นต้น
ทัศนะหรือมุมมองเกี่ยวกับความตาย จึงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากความตายที่สัมพันธ์กับครอบครัวและชุมชน ในอดีตเรารับรู้และเข้าใจต่อเรื่องของความตายว่าเป้นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของมนุษย์ เช่นพิธีกรรมล่าหัวมนุษย์ของพวกอินเดียน การมุงดูการประหารนักโทษในสังคมไทยโบราณ การเฉือนศพให้นกและปลากินในธิเบต การเผาศพคนตายริมฝั่งแม่น้ำคงคา ของอินเดีย เป็นต้น จนกระทั่งความตายถูกทำให้เป็นความน่าอุดจาด สะอิดสะเอียน เป็นมลภาวะ ความสกปรก ที่สัมพันธ์กับเรื่องความสะอาด เรื่องสุขภาพ ดังนั้น ศพก็ควรที่จะถูกจัดการละจัดเก็บอย่างมิดชิด และควรเป็นพิธีกรรมที่จำกัดเฉพาะบุคคลที่ใกล้ชิด ยิ่งไปกว่านั้นความตายถูกแยกออกจากการมีชีวิต ความตายคือการสิ้นสุดของสภาวะการดำรงอยู่และการทำงานของร่างกาย ในขณะเดียวกันก็เป็นการเดินทางของจิตวิญญาณไปยังอีกโลกหนึ่งตามความเชื่อทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษยชาติบนที่ต่างๆของโลก
ปรากฏการณ์เกี่ยวกับการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความตายข้างต้นเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากยิ่ง สำหรับคนรุ่นปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กที่เกิดขึ้นใหม่ มีประสบการณ์ที่ค่อนข้างยากมาก เมื่อเผชิญหน้ากับความตายของคนที่ตัวเองรัก ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ พี่น้อง หรือคนรัก เมื่อคนที่พวกเขารักถูกพรากจากไป ไม่ใช่ในแง่การพรากจากไปจากสมาชิกในครอบครัว แต่เป็นการพรากไปจากความสัมพันธ์หรือการปฏิบัติต่อกันของคนในครอบครัว ตัวอย่างเช่น การยกหน้าที่ดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นสมาชิกของคนในครอบครัว ให้กับโรงพยาบาล หรือกระบวนการดูแลรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่ หรือแม้แต่การจัดการกับศพ ที่ต้องผ่านสถาบันต่างๆ ทั้งโรงพยาบาล นิติวิทยาศาสตร์ มาจนถึงวัด ที่เข้ามาจัดการเรื่องพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศพในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น