วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

หนองหานกุมภวาปี เมืองแห่งตำนานผาแดงนางไอ่

เรียบเรียงโดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล
หนองหานกุมภวาปี เป็นหนองน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนที่อยู่รอบๆหนองหานมากกว่า 30 ชุมชน มาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ประวัติความเป็นมาของหนองหานไม่มีใครสามารถกำหนดชี้ชัดได้ว่าเกิดขันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ชาวบ้านที่อยู่ในแถบหนองหานรู้เพียงแต่ว่าเกิดขึ้นมาพร้อมกับตำนานผาแดงนางไอ่ที่พวกเขาได้ยินได้ฟังมาจากบรรพบุรุษ คนหนองหานกุมภวาปีมักจะพูดเสมอว่า “หนองหนกุมภวาปีหนองหานน้อยหนองหานกระรอกด่อน แต่หนองหานสกลนครหนองหานเอี่ยนด่อน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความเชื่อถือความศักดิ์สิทธิ์ของตำนานผาแดงนางไอ่ ของชาวบ้านในแถบหนองหานกุมภวาปีอย่างเหนียวแน่น พ่อตู้อ่อนตาผู้เฒ่าคนเก่าแก่ของหมู่บ้านได้ถ่ายทอดตำนานผาแดงนางไอ่ให้ข้าพเจ้าฟังว่า
พระยาขอมผู้ครองเมืองเอกชะธีตา(เมืองขอม) มีพระธิดาอยู่องค์หนึ่งนามว่าไอ่คำ เป็นเจ้าหญิงที่มีพระสิริโฉมงดงาม เป็นที่เลื่องลือไปในเมืองต่างๆจนเป็นที่หมายปองจากบรรดาเจ้าชายทั้งหลาย อยากจะได้ยลโฉมและคอบครองพระธิดาไอ่คำเป็นมเหสี ท้าวผาแดงเจ้าเมืองผาโผง ได้ยินคำล่ำลือถึงความงามของพระนางไอ่คำ ก็บังเกิดความหลงไหลในตัวนาง ได้สั่งให้มหาดเล็กนำสิ่งของบรรณการแก้ว แหวน เงินทองไปให้พระนาง ซึ่งมหาดเล็กได้นำไปถวายและเล่าให้พระธิดาไอ่คำฟังถึงความเป็นชายชาตรีและความสง่างามให้พระนางฟัง จนพระธิดาไอ่คำเกิดความสนพระทัยและส่งเครื่องบรรณาการตอบให้ผาแดง ความรักของทั้งสองจึงเกิดขึ้น ฝ่ายท้าวพังคี โอรสของท้าวสุทโธนาคเจ้าเมืองบาดาล ก็หลงใหลในความเล่าลือถึงความงามของพระธิดาไอ่คำและอยากยลโฉมพระนาง
จนเมื่อพระธิดาไอ่คำทรงถึงวัยทีจะมีคู่ครอง พระยาขอมก็ได้ประกาศแจ้งข่าวไปยังหัวเมืองต่างๆให้นำบั้งไฟมามาจุดประชันแข่งขันกันที่เมืองเอกชะธีตา เพื่อเป็นการบูชาพระยาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลและที่สำคัญเพื่อเป็นการหาคู่ให้พระธิดาไอ่คำ หากเมื่องใดจุดบั้งไฟขึ้นสูงที่สุดก็จะได้พระธิดาไอ่คำมาครอบครอง
พระยาขอมได้กำหนดให้วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 เป็นวันแข่งขันบั้งไฟ เจ้าชายจากเมืองต่างๆเมื่อถึงวันงานต่างนำบั้งไฟหมื่นบั้งไฟแสนมาประชันขันแข่งกันมากมาย การแข่งขันบลั้งไฟเป็นไปอย่างสนุกสนาน บั้งไฟของพญาขอม และของท้าวผาแดงต่างก็จุดไม่ขึ้น คงมีแต่ของเจ้าเมืองเชียงเหียนและฟ้าแดดสูงยางเท่านั้นที่ขึ้นสูง เป็นเวลาสามวันสามคืนจึงตกลงมา แต่เนื่องจากทั้งสองระองค์มีฐานะเป็นอาของพระธิดาไอ่คำ การแข่งขันจึงเป็นโมฆะ
กล่าวถึงท้าวพังคีซึ่งยังหลงใหลในตัวนางไอ่และอยากที่จะยลโฉมพระนาง จึงได้แปลงกายเป็นกระรอกสีขาว(ด่อน) ซึ่งมีกระดิ่งแขวนอยู่ที่คอ ปีนป่ายอยู่บิเวณสวนดอกไม้ของพระธิดาไอ่คำ เมื่อพระธิดาไอ่คำได้เห็นกระรอกตัวนี้ก็อยากจะได้มาครอบครอง จึงได้รับสั่งให้นายพรานงู พรานซ่อน พรานบ้านกงพานและบรรดาชายฉกรรจ์ตามเมืองต่างๆไปช่วยกันจับกระรอกตัวนี้มาให้พระนาง แม้ว่าจะจับเป็นหรือจับตายก็ตาม
การไล่ล่ากระรอกได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมืองขอมและเหตุการณ์นี้นี่เองที่นำมาซึ่งความหายนะและเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านต่างๆรอบหนองหานในปัจจุบัน กระรอกด่อนหนีการไล่ล่าจากบรรดาชายฉกรรจ์และนายพรานก็กระโดดเข้าไปในป่าจาน ปัจจุบันคือบ้านอุ่มจาน จากนั้นก็วิ่งเข้าไปในโพนดินกลายเป็นบ้านโพนทองในปัจจุบัน นายพรานยังไม่ลดลการตามล่าและใช้หน้าไม้ยิงไปที่กระรอกแต่ยิงไม่เข้ากระรอกไม่เป็นอะไรปัจจุบันก็คือบ้านดอนคง เหล่านายพรานยังไม่ลดละความพยายามใช้ปืนยิงเข้าใส่กระรอกเสียงดังปังสนั่นหวั่นไหวปัจจุบันบริเวณนั้นคือบ้านเมืองปัง แต่กระรอกด่อนก็สามารถหนีรอดได้ นายพรานไล่กระรอกเข้ามาอย่างกระชั้นชิด และหยิบหน้าไม้ขึ้นเล็งยิงแต่ปรากฎว่าสายหน้าไม้ขาดจึงต้องแบกหน้าไม้ตามกระรอกไปปัจจุบันคือ บ้านคอนสาย นายพรานก็ยังคงติดตามกระรอกต่อไปและระดมยิงหน้าไม้ใส่กระรอก กระรอกด่อนหลบหน้าไม้และแชแล(เลี้ยวหรือหันในภาษากลาง) ไปทางอื่นก็เกิดเป็นบ้านแชแล นายพรานและบรรดาชายฉกรรจ์อื่นๆก็พากันพรึก(หว่าน) ก้อนหิน ดิน เกลือใส่กระรอก ปัจจุบันคือบ้านเมืองพฤกษ์ จนท้ายที่สุดกระรอด่อนก็ถูกยิงตายที่บ้านพันดอน และนำเอากระรอกมาชำแหละเนื้อที่บ้านเชียงแหว ก่อนตายกระรอกพังคีก็ได้อธิษฐานขอให้เนื้อตัวเองเมื่อชำแหละแล้วให้ได้ 8,000 เกวียน พอสำหรับเลี้ยงเมืองทั้งเมือง บรรดาชาวเมืองต่างก็ได้กินเนื้อกระรอกรวมทั้งพระธิดาไอ่คำ ยกเว้นเมืองแม่ม่ายที่ไม่ได้กินเพราะไม่มีชายฉกรรจ์ไปร่วมล่ากระรอก
ฝ่ายท้าวสุทโธนาค เมื่อรู้ว่าพังคีตายก็รู้สึกโกรธแค้นมากและได้ตีกลองระดมพลเมืองบาดาลที่ห้วยหมากแข้งบ้านหมากแข้งในปัจจุบัน และระหว่างทางที่ยกทัพมาเมื่อถึงหนองน้ำก็จะแปลงกลายเป็นขอนไม้ลอยอยู่ในน้ำ ปัจจุบันคือหนองขอนกว้าง และกลายเป็นก้อนหินกลิ้งลงมาปัจจุบันคือบ้านคำกลิ้งบริเวณที่ท้าวสุทโธนาคยกทัพเลื้อยไปก็จะเกิดเป็นคลองลำห้วยต่างๆ บ้านเมืองที่ท้าวสุทโธนาคยกทัพไปโจมตีก็พากันถล่มถลายบ้านแรกที่โดนถล่มปัจจุบันคือบ้านเมืองหล่ม เมื่อเมืองถล่มแผ่นดินก็สั่นไหวบรรดาถ้วยจานต่างๆก็ตกลงมาแตก ปัจจุบันคือห้วยไผ่จาน กล่าวถึง ท้าวผาแดงพานางไอ่ขี่ม้าหนีไปนางไอ่ได้หยิบฉวยสิ่งของไปด้วยสามสิ่ง คือ กลอง ฆ้อง แหวน ระหว่างที่หนีพญานาคก็พ่นไฟใส่เกิดเป็นห้วยโพนไฟ(ฟ่นไฟ) ผาแดงนางไอ่หนีการตามล่าของสุทโธนาคเพื่อความสะดวกในการเดินทางกได้ทิ้งสิ่งของต่างๆ ทิ้งแหวนเกิดเป็นหนองแหวน ทิ้งฆ้องก็เกิดเป็นห้วยน้ำฆ้อง ทิ้งกลองก็เกิดเป็นห้วยกองสี ในปัจจุบัน จนมาถึงบริเวณหนึ่งม้าสามหมอกก็พลาดตกหลุมล้มลงไป เกิดเป็นห้วยสามพาด แต่ผาแดงก็ประคองขึ้นมาได้จนมาถึงที่แห่งหนึ่งเพราะแรงสั่นสะเทือนนางไอ่ก็ได้ตกลงไปในรอยแยกใต้พื้นดิน เกิดเป็นห้วยลักนาง ท้าวผาแดงหนีการตามล่ามาจนถึงเมืองผาโผง พญาสุทโธนาคก็เลิกการตามล่า ท้าวผาแดงก็ได้สิ้นใจตายที่เมืองผาโผงเพราะความคิดถึงนางไอ่ บ้านพังงู พังซ่อนในปัจจุบันก็มาจากชื่อพรานงู พรานซ่อน ส่วนเมืองที่ไม่ได้กินเนื้อกระรอกก็จะไม่จมใต้บาดาล เช่นเมืองแม่ม่าย ในปัจจุบันก็มีดอนต่างๆเกิดขึ้นในหนองหาน เช่นดอนสวน เป็นดอนแม่ม่ายเพราะแม่ม่ายใช้ใบไม้ในสวนมุงหลังคาบ้าน ดอนโน เป็นดอนที่มีต้นโสนอยู่มาก ดอนเตา เป็นดอนที่มีเตาหลอมเหล็กตั้งอยู่ ดอนดินจี่ เป็นดอนที่มีเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ดอนหลวง เป็นดอนที่มีใบเสมาปรากฎอยู่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวัดโบราณของเมืองขอม ซึ่งดอนต่างๆเหล่านี้ยังปรากฎให้เห็นในปัจจุบัน
ตำนานผาแดงนางไอ่ แม้ว่าจะมีความพิลึกพิสดารและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงมิติความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่นรอบหนองหาน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม คุณค่าทางประวัติศาสตร์และหลักฐานที่ชี้ชัดว่าหนองหานเคยเป็นชุมชนที่รุ่งเรืองในอดีต ดอนต่างๆที่พบ เตาหลอม เศษเครื่องปั้นดินเผา ครกกระเดื่อง ล้วนเป็นเครื่องยืนยันว่าหนองหานเป็นชุมชนที่อุดมไปด้วยข้าว ปลา อาหาร เศษเครื่องปั้นดินเผาและไหที่พบบริเวณหมู่บ้านต่างๆและดอนต่างๆ อาจจะเป็นวัสดุทางวัฒนธรรมที่บ่งชี้ว่าชาวบ้านรอบหนองหานได้เคยอาศัยอยู่เป็นเวลาช้านาน ใช้ชีวิตในการหาปลา ทำประมง เลี้ยงชีพและที่นี่ในอดีตก็อาจจะเป็นหนึ่งในเส้นทางของการก่อกำเนิดวัฒนธรรมสายปลาแดกของเราก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น