วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

คำบอกเล่าจากชาวบ้าน “ผลกระทบจากการสร้างฝายกุมภวาปี” และบทวิเคราะห์


นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายถึงลักษณะทางกายภาพของหนองหานให้เข้าใจพอสังเขปก่อนว่า หนองหานเป็นหนองน้ำจืด ที่มีลักษณะเป็นรูปแอ่งกระทะหงาย เพื่อรองรับน้ำฝนและน้ำจากลำห้วยสาขาต่างๆที่ไหลลงสู่หนองหาน หนองหานมีพื้นที่ประมาณ 22,500 ไร่มีความลึกเฉลี่ย 2.10 เมตร ซึ่งในอดีตเคยลึกสูงสุด ประมาณ3-4 เมตร มีลำห้วยต่างๆที่ไหลลงสู่หนองหาน คือ ห้วยโพนไฟ ห้วยบ้านแจ้ง ห้วยโนนสา และห้วยเชียงเครือ ไหลลงหนองหานทางด้านทิศเหนือ ห้วยสามพาดซึ่งเป็นห้วยน้ำสายใหญ่ ต้นกำเนิดน่าจะมาจากเทือกเขาภูพาน ไหลผ่านบ้านหนองขอนกว้างลงมาตามถนนมิตรภาพ มีแม่น้ำอื่นไหลมาบรรจบ คือ ห้วยหิน ห้วยลักนาง ห้วยน้ำฆ้อง ห้วยกองสี ไหลลงหนองหานด้านทิศตะวันออก ห้วยวังแสง ห้วยน้ำเค็ม ไหลลงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และห้วยหัวเลิง หวยนาโน ห้วยไผจานและห้วยหนองกุด ไหลลงทางด้านทิศตะวันตก
หมู่บ้านต่างๆที่อยู่โดยรอบหนองหานมีมากกว่า 30 ชุมชน แต่อยู่ติดจริงๆประมาณ20กว่าชุมชนโดยแยกได้เป็น 2 อำเภอ คือ กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม อำเภอกุมภวาปี
กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม มี 2 ตำบล คือ ตำบลอุ่มจานและตำบลนาม่วงบางส่วน
ตำบลอุ่มจาน มี 5 หมู่บ้านคือ บ้านอุ่มจาน บ้านดอนคง บ้านดอนกลาง บ้านเมืองปรัง บ้านโพนทอง
ตำบลนาม่วงมี2 หมู่บ้านคือ บ้านโนนสา บ้านนกขะบา
อำเภอกุมภวาปี มี 4 ตำบลคือ ตำบล เชียงแหว ตำบลแชแล ตำบลตูมใต้และตำบลพันดอน
ตำบลเชียงแหว มี 2 หมู่บ้านคือ บ้านสวนมอญและบ้านเดียม
ตำบลพันดอนมี 3 หมู่บ้านคือ บ้านน้ำฆ้อง บ้านพราน และบ้านพันดอน
ตำบลตูมใต้ มี5 หมู่บ้าน บ้านดงเมือง บ้านนาแบก บ้านยางหล่อ บ้านตูมเหนือ บ้านตูมกลาง
ตำบลแชแลมี 6 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนเงิน บ้านแชแล บ้านเมืองพรึก บ้านคอนสาย บ้านไพจาน บ้านพังงู
หมู่บ้านทั้งหมดที่อยู่ในเขตอำเภอกุมภวาปีล้วนใช้น้ำจากหนองหาน กุมภวาปี ในการทำน้ำประปาเพื่อการอุปโภค บริโภค แต่เดิมจะใช้น้ำจากหนองปะโค แต่เนื่องจากปัจจุบันน้ำจากหนองปะโคมีกลิ่นเหม็น เน่าเสีย จึงได้มาใช้น้ำจากหนองหานแทน
โรงงานต่างๆที่อยู่ใกล้หนองหานมีเพียง โรงงานน้ำตาลเท่านั้น นอกนั้นก็จเป็นที่อยู่ไกลออกไปแต่ก็มีผลกับหนองหานเช่นกัน คือ ฟาร์มหมู บริเวณบ้านหนองบัวเงิน ที่ติดกับลำห้วยหินที่ไหลลงห้วยสามพาด
จากการสร้างฝายกุมภวาปี เมื่อประมาณปลายปี 35 เพื่อสร้างคันคูดินรอบหนองหานระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร สูง0.4เมตร กว้าง3 ซ.ม. โดยสร้างฝายขนาด5บานประตู กว้าง4.0 เมตร ยาว4.3เมตรและลึก0.2เมตร แล้วเสร็จประมาณปี37-38 ใช้งบประมาณ729.13ล้านบาท โดยมีพื้นที่รองรับน้ำฝน1,310ตรกม.ระดับท้องน้ำและ116 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระดับกักเก็บ 169.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปริมาณกักเก็บ102ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้เป็นอ่างเก็บน้ำในฤดูแล้งและแจกจ่ายน้ำในระบบชลประทานจากสถานีสูบน้ำรอบฝายลงสู่พื้นที่ชลประทานดังรูป
จนกระทั่งปี39 เมื่อการสร้างฝายเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ผลกระทบที่ตามมาก็คือ การท่วมของน้ำในฤดูฝน ในพื้นที่ไร่นา ของชาวบ้านที่อยู่รอบหนองหาน โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้คูดิน จาการสำรวจเมื่อปี 2533 พบว่ามีพื้นที่ถูกน้ำท่วม ประมาณ 9,845 ไร่ ราษฎรจำนวน 1,016 รายได้รับผลกระทบผลิตเสียหาย ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 8 ตำบล 97 หมู่บ้าน คือ ตำบลอุ่มจาน ตำบลนาม่วง ตำบลแชแล ตำบลเชียงแหว ตำบลเวียงคำ ตำบลพันดอน ของกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคมและอำเภอกุมภวาปี
พ่อสุดโท ธรรมรงค์ ชาวบ้านที่ศึกษาและทำรังวัดที่ดินให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนอันเนื่องมาจากคันคูทับที่ดินและน้ำท่วมในเขตพื้นที ROUTH C ,CA ,D ,B ของกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอประจักษ์ศิลปาคมบางส่วน พบว่า มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจำนวน 159 ราย ที่ดินจำนวนประมาณ 160-240 แปลง หรือมากกว่า 3,000ไร่ ได้รับผลกระทบจากโครงการ ในการสำรวจเมื่อปี40 พบว่ามีพื้นที่ถูกคันดินทับที่ในเขตหนองหาน 2 อำเภอ จำนวน 2545 ไร่ 69 ตารางวา อยู่ในหนอง 591 ไร่ 3 งาน 25 ตารางวา รวมทั้งสิ้น 5260 ไร่ 2งาน 79 ตารางวา แกบอกว่าในอดีตหนองหานมีพื้นที่22,700ไร่ แต่ในปัจจุบันเนื่องจากการสร้างคันคู ดินรอบหนองหาน ทำให้พื้นที่หนองหานลดลงและแคบกว่าในอดีตและการสร้างคนคูดิน ขุดคลอง วางระบบส่งน้ำชลประทาน บางพื้นที่ได้ตัดหรือปิดทางน้ำของฮอง ห้วย ธรรมชาในอดีตทำให้ระบบการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลงไป การระบายของน้ำไม่สะดวก รวดเร็วเหมือนในอดีต ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพืชผลการเกษตรบริเวณไร่นาที่อยู่ติดคู คลอง ทำให้ชาวบ้านไม่มีข้าวกินและไม่สามารถทำนาได้
โดยเฉพาะการทำให้น้ำนิ่ง พืชน้ำชนิดต่างๆโดยเฉพาะวัชพืช ถูกทำให้ทับถมกันบริเวณคันคูด้านใน ซึ่งพ่อสุพจน์ นามวิเศษ บอกกับเราว่า “พง สนม หัวแต่ลอยมา 2-3 ปีนี้ ช่วงที่โครงการ โขง ชีมูล มีคู แต่ก่อน มีสนม พอหน้าแล้งมันก็จะลงติดกับพื้นดิน ที่แห้งก็กลายเป็นปุ๋ยไป เป็นดิน เดี๋ยวนี้น้ำดี น้ำหลายมันกะลอยล่องลมมา” ถ้าประมวลความคิดเห็น ของชาวบ้านที่ได้ศึกษาจะพบว่า ชาวบ้านเข้าใจและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นพันธุ์ปลาในหนองลดลง พงสนมทับถมกันมากขึ้น เป็นปัญหา ในการทำประมง การใช้น้ำประปาที่จะต้องสูบขึ้นมาจากหนองหานเนื่องมาจากโครงการ โขง ชี มูล แต่ผลดีที่ชาวบ้านทุกคนบอกว่าได้รับจากโครงการนี้ก็คือ การคมนาคมสะดวกมากขึ้น แต่หากเราจะมองในแง่ของการใช้ประโยชน์จากโครงการฝายกุมภวาปี เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า การใช้ประโยชน์ยังไม่ทั่วถึงและไม่บังเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าแท้จริง เช่น ในกรณีของ ปั๊ม6a 6b ที่แจกจ่ายน้ำให้แก่บ้าน ดอนคง ดอนกลาง เมืองปรัง ซึ่งพื้นที่ต้องการใช้น้ำจำนวน ประมาณ 4-5,000ไร่ แต่สามารถสูบน้ำขึ้นมาแจกจ่ายกระจายสู่พื้นที่ได้เพียง 2,500 ไร่ แต่ในช่วงหน้าแล้งไม่มีจำนวนสักไร่ที่ได้ใช้น้ำจากคลองชลประทาน ซึ่งพ่อ อนงค์ ยุทธกล้า หัวหน้ากลุ่มผู้ใช้น้ำของปั๊ม6 และเป็ฯผู้ใหญ่บ้านดอนกลาง บอกว่า”การใช้น้ำในการทำนาปรังเพื่อปลูกพืชในฤดูแล้ง ยังไม่มาก ที่ทำก็มีนายคำพันธ์ ที่ทำนาปรัง โดยใช้เครื่องสูบน้ำขึ้นมาจากคลองด้านใน”ทั้งที่เป้าหมายของโครงการนี้เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งในพื้นที่โครงการประมาณ55,000ไร่ แต่มีพื้นที่ได้ใช้น้ำไมม่ถึง1,000ไร่ และในปี2543 ใช้สูบเพื่อตกกล้าทำนาปีและนาปรังประมาณ5,000ไร่เท่านั้นเอง ด้วยเหตุที่การเข้าถึงระบบการชลประทานยังไม่ทั่วถึง อีกทั้งฤดูแล้งต้องใช้น้ำในการผลิตจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นชาวบ้านจึงไม่นิยมทำนาปรังกันมาก
ดังนั้นสิ่งที่น่าวิเคราะห์ก็คือ ชาวบ้านส่วนใหญ่บริเวณรอบหนองหานมักจะใช้น้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก และใช้น้ำจากลำห้วยต่างๆ ที่ไหลอยู่ตลอดปี เช่นห้วยโพนไฟ ห้วยโนนสา ห้วยเชียงเครือ ห้วยสามพาดและอื่นๆ ยกเว้นห้วยบ้านแจ้ง และห้วยหัวเลิงที่จะแห้งขอดในฤดูแล้งในขณะที่น้ำจากลำห้วยอื่นๆก็มีปริมาณเพียงพอจะใช้ในการเกษตรได้ แต่ชาวบ้านก็ไม่นิยมทำเนื่องจากใช้ค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มค่า การที่โครงการสร้างฝายกุมภวาปี อ้างว่าการสร้างฝายเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ในฤดูแล้ง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงไม่เป็นความจริง อีกทั้งการที่ทางฝายไม่เปิดประตูระบายน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำให้อยู่ในระดับสมดุลในช่วงฤดูแล้ง เพื่อเตรียมรับน้ำฝนในฤดูฝนและน้ำจากห้วยต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำระบายได้ไม่ทัน แถมยังติดพง สนม บริเวณคอคอดระหว่างบ้านดอนแก้ว ดอนเงินก่อนที่จะไหลลงลำปาวตรงสะพานข้ามบ้านนาแบก-ดงเมือง ทำให้น้ำไหลได้ไม่สะดวก และไหลย้อนกลับไปซึ่งทำให้เกิดปัญหาน้ำเอ่อล้นท่วมไร่นา นี่เป็นความคิดส่วนหนึ่งของชาวบ้านและผู้ศึกษาที่นำเสนอประเด็นในการกำหนดแนวทางแก้ไข ปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการสร้างฝายกุมภวาปีและโครงการโขง ชี มูล รวมถึงความคุ้มทุนที่เกิดขึ้นกับโครงการ ซึ่งยังจะต้องทำการศึกษาต่อไปอีก เพื่อให้มีข้อมูลในการอ้างอิง เปรียบเทียบ และวางแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนเหมาะสมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น