Ferdinand De Saussure
เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์(1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกแนวคิดโครงสร้างนิยม ในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่19 และช่วงต้นศตวรรษที่20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์(Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยมแบบที่โซซูร์นำเสนอ แต่สร้างโครงสร้างใหม่ภายใต้แนวคิดเรื่องวาทกรรม ที่สร้างทิศทางใหม่ของนักคิดสกุลหลังโครงสร้างนิยม(Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916 ภายใต้ชื่อ Course de linguistique Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี1960
เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile Derkhiem ในหนังสือสำคัญของเขาชื่อ Rule of the Sociologies method) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่กำลังมีอิทธิพลในการศึกษาสังคมโดยมองว่าสังคมมีฐานะเหมือนวัตถุทางวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ที่สามารถศึกษาได้ ทำให้โซซูร์ ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์กับการศึกษาภาษาศาสตร์แบบใหม่ โดยแยกภาษาออกเป็น 3 ส่วน คือ Le Language ที่เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆในภาษา Le Langue ที่เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์หรือไวยากรณ์ ที่เป็นผลผลิตของสังคม ซึ่งสร้างแบบแผนให้ประทับอยู่ในสมองของสมาชิกแต่ละคนในชุมชนทางภาษา(Language Community) และLa Parole เป็นเรื่องความสำนึกรู้ในการกระทำของปัจเจกบุคคล ที่เป็นเรื่องของการใช้ภาษาและการออกเสียง การสร้างประโยค การเลือกคำ เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ภายใต้ไวยากรณ์ กฎเกณฑ์ในภาษา ที่มีอยู่ในตัวบุคคลแต่จะไม่ขึ้นอยู่กับการใช้ภาษาของแต่ละบุคคล สำหรับโซซูร์แล้ว ระบบหรือ Langue เป็นส่วนที่เป็นนามธรรม ที่สามารถศึกษาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคคล เป็นแบบแผนกฏเกณฑ์ร่วมกัน เนื่องจากการศึกษาปัจจเจกบุคคลนั้นประกอบด้วยส่วนอัตวิสัยและมีความแตกต่างและมีความเฉพาะในแต่ละบุคคล ทำการศึกษาได้ยากกว่า รวมทั้งในความคิดของโซซูร์ก็สนใจศึกษาภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน เพราะถือว่าภาษาเขียนไม่ใช่ภาษา แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ใช้แทนคำพูดเท่านั้น โซซูร์ ได้นำเสนอสมมติฐานของปรากฏการณ์ทางภาษาศาสตร์มีลักษณะ 2 ด้านที่สัมพันธ์กัน โดยสิ่งหนึ่งได้รับความหมายหรือคุณค่ามาจากสิ่งอื่นๆ(อ้างจากSuassure:1966,P.8) ซึ่งมีลักษณะสำคัญมีดังนี้คือ
1.การเชื่อมต่อพยางค์ตัวอักษร (Syllable) ที่เป็นภาพประทับของเสียงที่เราได้รับโดยหู แต่เสียงจะไม่มีอยู่ถ้าปราศจากอวัยวะในการออกเสียง(Vocal Organ)
2.ถ้อยคำเป็นทั้งด้านปัจเจกบุคคล (Individual) และด้านสังคม(Social) ซึ่งทำให้พวกเราไม่สามารถคิด จินตนาการ เกี่ยวกับสิ่งหนึ่งโดยปราศจากสิ่งอื่นได้
3.เสียงเป็นเครื่องมือทางความคิดโดยตัวของมันเอง ที่ไม่ได้มีอยู่จริง ทำให้เราต้องกลับมาตั้งข้อสังเกตกับความสัมพันธ์ของเสียง หน่วยของเสียงพูดที่ความซับซ้อน การเชื่อมโยงในกระแสความคิด ไปยังรูปแบบที่ซับซ้อนที่เป็นหน่วยทางจิตวิทยาและทางฟิสิกส์กายภาพ ซึ่งยังคงไม่ใช่ภาพที่สมบูรณ์
4.ถ้อยคำ (Speech) เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสร้างระบบและวิวัฒนาการเสมอ คือสถาบันที่มีอยู่จริง และเป็นผลผลิตของอดีต กับการแบ่งแยกระบบและประวัติศาสตร์ของมันเอง
จากพื้นฐานแนวความคิดข้างต้นเกี่ยวกับปรากฎการณ์ของภาษา ทำให้เรามองเห็นความคิดแบบคู่แย้ง ของโซซูร์ในเรื่องของภาษา ที่เป็นทั้งเรื่องของปัจเจกบุคคล-สังคม เสียง-ความคิด พยางค์ตัวอักษร-เสียง ลักษณะทางจิตวิทยา-ลักษณะฟิสิกส์กายภาพ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องพึ่งพาระหว่างกันโดยที่สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นได้จากสิ่งหนึ่ง นอกจากนี้แนวความคิดดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างภาษาศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ เช่นการศึกษาเกี่ยวกับการออกเสียง(Philology) การศึกษาเชิงฟิสิกส์กายภาพเกี่ยวกับอวัยวะในการออกเสียง การศึกษาทางประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการของภาษาเชิงนิรุกติศาสตร์ (history) การศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยา(Psychology) และการศึกษาเกี่ยวกับสังคมและปัจเจกบุคคลในเรื่องระบบภาษา การใช้ภาษาและความคิด การให้ความหมาย ที่สัมพันธ์กับการศึกษาทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ที่นำมาประยุกต์ใช้ศึกษาเกี่ยวกับสัญวิทยาและสัญญะที่แพร่หลายในปัจจุบัน ดังที่ จูเลีย คริสเตวา (Julia Kristeva) ได้กล่าวว่า
“เฟอร์ดิน็องต์ เดอ โซซูร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การยึดจับทั้งหมดเช่นเดียวกับ ภาษา คือสิ่งที่มีหลายๆด้านและมีความแตกต่างหลากหลาย มี่แผ่กว้างไปยังสนาม ศาสตร์ทางกายภาพ กายภาพสังคมและจิตวิทยา ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับทั้งปัจเจกบุคคลและสังคม พวกเราไม่สามารถจับวางมันไปยังประเภทความจริงของมนุษย์ และพวกเราไม่สามารถค้นพบความเป็นเอกภาพของมัน เพราะว่ามันซับซ้อนและมีความแตกต่างทางปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น ภาษาจึงถูกกล่าว กับการวิเคราะห์เกี่ยวกับปรัชญา จิตวิเคราะห์ สังคมวิทยา ที่ไม่ได้อ้างถึงระเบียบวิธีทางภาษาศาสตร์ที่หลากหลาย” (Kristeva:1989,P.8-9)
จากข้อสมมตติฐานข้างต้นโซซูร์ ได้สรุปลักษณะของภาษาออกเป็น 4 ประเด็นคือ
1.ภาษาเป็นด้านสังคมของการใช้ถ้อยคำ ที่อยู่นอกขอบเขตของปัจเจกบุคคล ผู้ซึ่งไม่สามารถที่จะเคยสร้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยตัวของเขาเอง ดังนั้น ภาษาจึงเป็นวัตถุที่ถูกให้คำนิยามอย่างดีในมวลสารที่หลากหลายของความจริงแห่งถ้อยคำ
2.ภาษา(Language)ไม่เหมือนการพูด(Speaking) เป็นบางสิ่งที่พวกเราสามารถศึกษาโดยแยกจากกันได้
3.การใช้ถ้อยคำ(speech) เป็นสิ่งที่มีความแตกต่างหลากหลาย ภาษา(Language) เป็นสิ่งที่เป็นแก่นแท้เท่านั้น ในความเป็นเอกภาพของความหมาย (Meaning)และจินตภาพแห่งเสียง(Sound-Image) ซึ่งเป็นส่วนของสัญญะที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา
4.ภาษาเป็นรูปธรรมไม่น้อยไปกว่า การพูด และนี่เป็นสิ่งที่ช่วยในการศึกษาของเราเกี่ยวกับมัน สัญญะทางภาษาศาสตร์ นำไปสิ่งที่เกี่ยวกับสู่จิตวิทยาที่เป็นพื้นฐาน ที่ไม่ใช่เรื่องนามธรรม แต่มันสัมพันธ์กับการยึดถือการประทับของมติหรือการยอมรับร่วมกัน และสัญญะทางภาษาเป็นสิ่งที่จับต้องได้
โซซูร์ได้สรุปความคิดของเขา โดยนำวิธีการศึกษาแบบคู่แย้ง มาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์เกี่ยวกับภาษาของเขาที่เป็นเรื่องของคำพูด ถ้อยคำ(Speech) ซึ่งแสดงให้เห็นเป็น 2 ขั้วคือ 1) ความเป็นวัตถุแห่งภาษา(Object of Language) ที่เป็นด้านสังคมอย่างบริสุทธิ์และเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาที่เฉพาะ และเป็นอิสระจากปัจเจกบุคคล 2) ความเป็นวัตถุในด้านของปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับถ้อยคำเช่นการพูด การเปล่งเสียง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตวิทยากายภาพ ทั้งสองขั้วเป็นสิ่งที่ติดต่อเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดและพึ่งพาอาศัยอยู่บนสิ่งอื่นๆ ความแตกต่างตรงกันข้ามหรือลักษณะในทางลบ(Negative) เป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งหนึ่งมีความหมาย
แนวความคิดดังกล่าวทำให้เราเห็นทิศทางของโซซูร์ในการศึกษาเกี่ยวกับภาษา โดยเน้นที่การศึกษาระบบ ความคิด ที่ปรากฎผ่านการพูด หรือการใช้ภาษา ที่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่พวกเขาก็ใช้มันอยู่ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกันในชุมชนทางภาษานั้น การศึกษาภาษาจึงเป็นการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ความคิด วัตถุสิ่งของ ซึ่งสัมพันธ์กับภาษา โซซูร์ มองว่า เราสามารถที่จะจับวางความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ ที่สัมพันธ์กับภาษาไปยังรูปแบบของรูปภาพ (Graphic Form) ที่ยอมรับโดยดิชชันนารี่และไวยากรณ์กับการแสดงความถูกต้องของสิ่งนั้น สำหรับภาษาเหมือนคลังข้อมูลของภาพประทับแห่งเสียงและการเขียนเป็นสิ่งที่เป็นรูปแบบที่สามารถสัมผัสได้เกี่ยวกับจินตนาการเหล่านั้น (Suassure:1966,P.15) นั่นคือ การตระหนักรู้จินตนาการแห่งเสียงในการพูด สามารถถูกแปลไปยังจินตนาการของการมองเห็น(Visual Image) แต่เป็นส่วนประกอบที่จำกัดของหน่วยเสียง ซึ่งตอบสนองกับจำนวนของสัญลักษณ์ทางการเขียน โซซูร์ ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับภาษาว่า
“ภาษาเป็นระบบของสัญญะที่แสดงความคิด และเป็นสิ่งที่เปรียบเทียบได้กับระบบของการเขียน อักษรของคนหูหนวกเป็นใบ้ หรือตาบอด สัญลักษณ์ทางพิธีกรรม มารยาท สัญญาณทางทหารและสิ่งอื่นๆ แต่มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดของระบบทั้งหมดเหล่านี้” (Saussure:1966, P.16)
สัญวิทยา(Semiology มาจากภาษากรีก “Semeion” “Sign”) ของโซซูร์ เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของสัญญะภายในสังคม ที่เป็นสิ่งที่สามารถจินตนาการเกี่ยวกับมันได้ โดยมันมีลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของจิตวิทยาสังคม และจิตวิทยาทั่วไป เขาถือว่า ภาษาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์ที่เฉพาะทางสัญวิทยาและกฎเกณฑ์ที่ถูกค้นพบโดยสัญวิทยาเป็นสิ่งที่สามารถนำไปใช้กับภาษาศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของวิธีการศึกษาเชิงสัญวิทยา ที่ใหญ่กว่าเรื่องของภาษา ทำให้เป็นสิ่งที่ถูกโต้แย้งและโจมตี โดยนักสัญวิทยารุ่นต่อมาอย่าง โรล็องต์ บาร์ธ(Roland Barthes) ว่า “ภาษาศาสตร์ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของศาสตร์ที่ค่อนข้างเฉพาะของสัญญะ ในส่วนที่เป็นเอกสิทธิ์พิเศษ แต่มันเป็นสัญวิทยา ที่เป็นส่วนหนึ่งของภาษาศาสตร์”(Floyed Merrell:1992) นั่นคือถ้าทุกๆสิ่งมีโครงสร้างที่คล้ายหรือเหมือนภาษา ก็แสดงว่าไม่มีอะไรเลยที่สามารถจะเป็นหรืออยู่เกินขอบเขตของภาษา ความพยายามก้าวข้ามอยู่เหนือขอบเขตดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สำหรับโซซูร์แล้ว เขาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกับมายาคติและความเชื่อที่ผิด เกี่ยวกับความคิดเรื่องสัญญะทางภาษาศาสตร์ ว่ามันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุสิ่งของ(Thing) และชื่อ(Name) แต่เขาก็มิได้ปฎิเสธการดำรงอยู่ของวัตถุและชื่อ หรือ ธรรมชาติของสัญญะ/สัญลักษณ์ ซึ่งเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องของความคิด(Concept) และจินตภาพแห่งเสียง(Sound-image)มากกว่า อันนำมาซึ่งปัญหาของสัญญะทางภาษาศาสตร์ กับความสัมพันธ์กับธรรมชาติของวัตถุ สถาบันทางสังคม วัฒนธรรมของชาติ และภูมิศาสตร์เชื้อชาติ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกภาษา
สัญวิทยาของโซซูร์ ได้แสดงให้เห็นว่า อะไรที่ประกอบสร้างสัญญะและอะไรที่เป็นกฎเกณฑ์ควบคุมพวกเขา ซึ่งเป็นระบบกฎเกณฑ์ที่อยู่ภายในภาษา(Internal Linguistic) แม้ว่าเขาจะบอกว่า การศึกษาเกี่ยวกับปรากฎการณ์ภายนอกภาษา(External Linguistic) เป็นสิ่งทีมีความสมบูรณ์มากที่สุด แต่เขาก็ให้ความสำคัญและต้องการแยกการศึกษาเกี่ยวกับระบบภายในภาษาออกมาต่างหาก ดังที่เขากล่าวว่า
“ฉันเชื่อว่า การศึกษาเกี่ยวกับปรากฎการณ์ภายนอกภาษา เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด แต่กับการพูดว่า พวกเราไม่สามารถเข้าใจ การดำรงอยู่ของระบบภายในภาษา โดยปราศจากการศึกษาปรากฏการณ์ภายนอก เป็นสิ่งที่ผิดพลาด การยึดจับเช่นเดียวกับ ตัวอย่างการขอยืมคำศัพท์จากต่างประเทศ พวกเราสามารถสังเกตได้ในระยะเริ่มต้น ในการขอยืมคำศัพท์ เป็นสิ่งที่ไม่มีอำนาจพลังอย่างสม่ำเสมอในการดำรงอยู่ของภาษา ในหุบเขาที่ถูกแยกตัวอย่างโดดเดี่ยว นั่นคือภาษาท้องถิ่นที่ไม่เคยจับยึดกับชุดคำที่ประดิษฐ์หรือเลียนแบบ จากภายนอก”(Saussure:1966,P.22)
ภาษา ในทัศนะของโซซูร์ จึงเป็นเสมือนระบบที่จัดการตัวมันเอง เช่นเดียวกับ เกมส์หมากรุก(Chess) ซึ่งสามารถแยกความสัมพันธ์ของสิ่งที่เป็นภายนอก ในความจริงทางประวัติศาสตร์ของเกมส์หมากรุกที่ส่งผ่านมาจากเปอร์เซียสู่ยุโรป และสิ่งที่เป็นภายใน ในเรื่องของระบบและกฎเกณฑ์ของมัน ที่ทำให้การเล่มเกมส์หมากรุกสามารถดำเนินไปได้ ระบบไม่ใช่ ชนิดประเภทของวัสดุที่ทำตัวหมากรุกแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป้น ไม้ เหล็ก พลาสติก งาช้าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของวัสดุดังกล่าวไม่มีผลต่อระบบ แต่ถ้ามีการลดหรือเพิ่มจำนวนของตัวหมากรุก ย่อมมีผลกระทบต่อระบบกฎเกณฑ์ หรือไวยากรณ์(Grammar) ของเกมส์ที่ทำให้เกมส์สามารถดำเนินไปได้ ซึ่งสะท้อนว่า ภาษาเหมือนกับวัสดุหรือเครื่องมือทางความคิด ที่ซึ่งมันเป็นพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารในสังคม ก่อนที่เราจะเล่นเกมส์เราจึงต้องรู้และเข้าใจกติกาก่อนเราถึงจะเล่นมันได้ หมากรุก จึงเป็นเสมือนสัญญะ ที่เป็นเครืองหมาย หรือความสามารถของการยอมรับรูปแบบและแสดงความหมายจากส่วนประกอบที่แตกต่าง ความเข้าใจความหมายเกี่ยวกับตัวขุนในเกมส์หมากรุกที่มาจากส่วนประกอบอื่นๆ เข่น ตัวโคน ตัวเบี้ย ตัวเรือ ตัวม้า อันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ของการอ้างอิงในความแตกต่างอย่างบริสุทธิ์ (Purely Differential) ซึ่งทำให้เราเข้าใจและตระหนักรู้การแสดงออกของมัน
จากจุดดังกล่าวนี้เองที่โซซูร์ ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์สองด้าน (Dyadic) ในชุดของ รูปสัญญะ(signifiant/signifier) กับความหมายสัญญะ(signifie/signified) ระบบกฎเกณฑ์(langue)กับการเปล่งเสียง(speech/parole) นามธรรม(abstract)กับรูปธรรม(concrete) สังคม(Social)กับปัจเจกบุคคล(individual) ความคิด(concept)กับจินตภาพแห่งเสียง(sound-image/acoustic-image) ที่เป็นเสมือนกับสองด้านของความสัมพันธ์ซี่งสามารถทำการแยกศึกษาได้
ความแตกต่างของ Parole หรือด้านของปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ ที่ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในตัวของมันเอง นอกจากเป็นการแสดงแต่ละชิ้นส่วนของถ้อยคำที่สามารถจะจัดหาได้ มนุษย์จึงเป็นเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่ถูกจัดวาง วางแผน และลงทุนในภาษาซึ่งเป็นระบบที่ซับซ้อน หรือโครงสร้างที่สอดคล้องระหว่างสัญญะและความคิดที่แตกต่าง ภายใต้ความสัมพันธ์อันหลากหลาย เครื่องมือทางเสียง( The Vocal Apparatus) ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนทางภาษา โดยกระบวนการทำให้เป็นความจริงในรูปธรรม บนโลกที่แท้จริงของการติดต่อสื่อสารในสังคม(Hawkes:1977) ซึ่งนำไปสู่คำถามที่สำคัญว่า อะไรคือธรรมชาติของมนุษย์ ที่ไม่ใช่ถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับปากหรือการพูด แต่เป็นความสามารถเกี่ยวกับการสร้างภาษา ซึ่งเป็นระบบของความแตกต่างทางสัญญะที่ตอบสนองกับความแตกต่างทางความคิดของมนุษย์
โดยที่Langue เป็นผลผลิตทางสังคม ในความสามารถทางถ้อยคำ คำพูด และการรวบรวมสะสม ธรรมเนียม แบบแผน กฎเกณฑ์สำคัญ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยกลุ่มทางสังคมหรือชุมชนทางภาษากับการยินยอม อนุญาตของแต่ละปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับการใช้ ที่เป็นความสามารถที่ติดตัวมาของมนุษย์
Parole เป็นส่วนที่เล็กที่สุด ที่อยู่ในหน่วยทางภาษา(Langue) ที่เป็นมวลสารที่ใหญ่ที่สนับสนุนส่งเสริมมัน และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมัน ทั้งโดยผู้พูด ผู้ฟัง แต่ไม่เคยปรากฎตัวของมันเอง ภาษาเป็นวัตถุเชิงนามธรรม ที่เราไม่สามารถจับได้ และไม่เคยปรากฎทั้งหมดของมัน รูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นคู่ระหว่างรูปสัญญะและความหมายสัญญะ มันค่อนข้างจะเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมชาติน้อยมาก เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากการกำหนดให้เป็น(Arbitrary) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างจิตภาพของเสียง (Sound-image) และความคิด(Concept) เช่นเดียวกับรูปสัญญะ(Signifier) และความหมายสัญญะ(Signified) เช่นคำศัพท์ว่า TREE (ต้นไม้) ที่เป็นตัวอย่างของโซซูร์ ซึ่งเป็นรูปสัญญะ และเป็นความหมายสัญญะในเรื่องของความคิดเกี่ยวกับต้นไม้ ลักษณะความจริงทางกายภาพของต้นไม้ที่เจริญเติบโตในพื้นดิน คำศัพท์คำว่า “TREEหรือต้นไม้” ไม่ได้เป็นธรรมชาติหรือคุณสมบัติที่เท่าเทียมกันกับต้นไม้จริงๆ ซึ่งโซซูร์ก็ไม่ได้สนใจกับความจริงที่อยู่พ้นขอบเขตหรือนอกเหนือเรื่องของภาษา ที่อยู่ภายใต้การรับรองเกี่ยวกับมันเท่านั้น
ดังนั้นการถูกกำหนดให้เป็นของสัญญะ (The Arbitrary of sign)เป็นเสมือนสิ่งที่ป้องกันรักษาภาษาจากความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงมัน (Saussure:1966,P.73) ดังที่โซซูร์กล่าวว่า
“คำศัพท์ การกำหนดให้เป็น(Arbitrary) เป็นสิ่งที่กล่าวสำหรับการวิจารณ์แนะนำด้วย ชุดคำที่ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ซึ่งทางเลือกของรูปสัญญะเป็นสิ่งที่ออกมาอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ กับผู้พูด (เราจะเห็นว่า ปัจเจกบุคคล ไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสัญญะในหนทางอื่นๆมากมาย ที่มันได้กลายเป็นการถูกจัดตั้งในชุมชนทางภาษา) ฉันหมายถึง มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกเคลื่อนย้าย/เคลื่อนไหว เป็นการกำหนดให้เป็น ที่มันไม่ได้เชื่อมต่ออย่างเป็นธรรมชาติที่แท้จริงกับความหมายสัญญะ”(Saussure:1966,P.68-69)
การถูกกำหนดให้เป็น จึงไม่ใช่เหตุผลหรือธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงระหว่าง2ส่วนของสัญญะ ที่ถูกทำให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้รูปแบบกฎเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกันในชุมชนทางภาษา ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องภายในตัวของปัจเจกบุคคล รูปสัญญะที่แตกต่างหลากหลายของคำศัพท์ เกี่ยวกับต้นไม้ Arbre ,Baum Arbor และTree ไม่มีอะไรเลยที่จะเหมาะสมกว่าหรือมีเหตุผลกว่าสิ่งอื่นๆ แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การรักษาและการันตี จากโครงสร้าง ธรรมชาติของระบบที่เกิดขึ้นในชุดคำที่แน่นอน คำศัพท์ของต้นไม้ จึงมีความหมายถึงลักษณะทางกายภาพเกี่ยวกับใบ สิ่งที่เจริญเติบโตในดิน เพราะว่าโครงสร้างของภาษาได้สร้างความหมายของมันและทำให้มันถูกต้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิทธิพลทางภาษาในการสร้างความเข้าใจของมนุษย์ เกี่ยวกับโลกและสิ่งต่างๆรอบตัว สำหรับโซซูร์แล้ว สัญญะทางภาษาศาสตร์ เป็นสิ่งที่กำหนด นิยามความสัมพันธ์ของรูปสัญญะและความหมายสัญญะ วัตถุเป็นสิ่งที่ถูกกีดกันจากความสัมพันธ์นี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ระบุหรือกำหนดการอ้างอิง(Referent) ซึ่งภาษาไม่เกี่ยวข้องกับการอ้างอิง มันเป็นความสนใจในความสัมพันธ์ของรูปสัญญะและความหมายสัญญะเท่านั้น(Kristeva:1989,P.14)
ภาษาจึงเป็นสิ่งที่นิยามและจัดวางกฎเกณฑ์ให้กับตัวมันเอง รวมทั้งการสร้างความจริงในตัวมันเอง และการเป็นตัวแทนที่บรรจุความสัมพันธ์ทางโครงสร้างกับตัวมันเอง ที่ประกอบด้วยสิ่งที่ไม่มีความหมาย จนกระทั่งสิ่งเหล่านี้มารวมตัวกันภายในขอบเขตชุมชนของมัน ภาษาจึงเป็นระบบที่พึ่งพากันระหว่างชุดคำ ที่ซึ่งความหมายและคุณค่าของสิ่งหนึ่งเป็นผลลัพธ์จากความสัมพันธ์ที่แตกต่างของชุดคำอื่นที่อยู่ในโครงสร้าง การปรากฎของสิ่งหนึ่งจึงมาจากสิ่งอื่นๆที่ไม่ปรากฎ หรือการดำรงอยู่การเป็นอยู่ ของมัน โดยที่สิ่งอื่นไม่ได้เป็น ความหมายของสิ่งหนึ่งจึงไม่ได้ดำรงอยู่ในเนื้อแท้ของมัน และไม่ได้มีนัยในเชิงบวก แค่ค่อนข้างจะเป็นความสัมพันธ์ในเชิงลบ ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายระหว่างเขาและชุดคำอื่นๆภายในโครงสร้าง สัญญะจึงเป็นเหมือนหน่วยเสียง(Phonemes) ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งคุณค่าความหมายของมัน มาจากความสัมพันธ์ในความแตกต่างตรงกันข้าม ที่จำแนก แบ่งแยก จัดประเภท สัญญะหนึ่งจากสัญญะอื่นๆ ที่ประกอบสร้างความหมายของมัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจุดเน้นที่สำคัญของโซซูร์ ในเรื่องของความคิด รูปแบบ กฎเกณฑ์ (Form) มากกว่าเนื้อหาสาระ(Content) การแสดงให้เห็นความสัมพันธ์และการดำรงอยู่ของความคิดในความหมาย ที่เชื่อมโยงและเน้นย้ำถึงการมีอยู่เบื้องต้นในความคิดของผู้พูด เกี่ยวกับภาษา ความคิดเป็นจินตนาการทางจิตใจเกี่ยวกับวัตถุที่แท้จริงบางอย่าง ผ่านทางน้ำเสียง คำพูด ดังเช่นเขาพูดถึงเรื่องแนวคิด คำศัพท์ของต้นไม้ ม้า (Tree, Horse) จินตภาพแห่งเสียง(Sound Image) ไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูปแบบของเสียง คำพูดที่แท้จริง เมื่อเราออกเสียงคำศัพท์ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับวัตถุ แต่มันเป็นเรื่องของภาพประทับ จินตนาการที่กดประทับทางจิตวิทยา ซึ่งพึ่งพาอยู่บนความรู้สึกเข้าใจของเรา การศึกษาทางภาษาจึงเป็นการศึกษาลักษณะทางความคิดของมนุษย์ ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างจินตภาพแห่งเสียงและความคิด ที่เป็นเรื่องของสัญญะอันเป็นพื้นฐานของหน่วยทางภาษาศาสตร์(Kistevs:1989,P.33 Saussre :1966,P.66 และSharpman:2000)
ความสัมพันธ์ในทางลบ(Negative)ที่เป็นเรื่องของความแตกต่างตรงกันข้าม ดังเช่น ที่โซซูร์ได้นิยามสัญญะ ว่า เป็นสิ่งที่กำหนด พิจารณาความแตกต่างตรงกันข้ามของสัญญะทั้งหมดในระบบของสัญญะ(อ้างจาก Hugh J.Silverman:1994) สัญญะของต้นไม้จึงเป็นสัญญะของต้นไม้ โดยความแตกต่างจากสัญยะอื่นๆ เช่น บ้าน (House) นก (Bird ) และท้องฟ้า (Sky) สัญญะของต้นไม้ ก็แตกต่างกันในรูปสัญญะ Arbre ,Baum.Arbor และArbol สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างจากระบบสัญญะอื่นๆ เช่น arbre ในฝรั่งเศส Baum ในภาษาเยอรมัน Arbol ในภาษาสเปน เพราะว่าพวกเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบสัญญะเดียวกัน พวกเขาเป็นสัญญะหนึ่งเท่านั้นในลักษณะทางสัญญะทางภาษาที่เฉพาะของพวกเขา ที่นำไปสู่การเลือกใช้พวกเขาของปัจเจกบุคคลในการพูด (Parole) ภายในบริบทและช่วงเวลาที่แน่นอนที่สามารถกำหนดได้
Equus
ㄇㄚˇ
Horse
ม้า
woman
woman
woman
woman
นี่คือ กฎเกณฑฑ์ที่นำไปสู่ความคิดเรื่อง Syntagm และParadigm ในความคิดเกี่ยวกับรื่องของกระแสความหรือการเชื่อมต่อ กับแนวคิดเกี่ยวกับการทดแทน แทนที่ สวมรอย และการคัดเลือก โดยกระบวนชุดของการเชื่อมต่อ (Syntagm) เป็นเสมือนการจัดเรียงคำในประโยค ที่มีความต่อเนื่องของหน่วยทางภาษาที่เรียงกันในแนวราบ ในชุดของความสัมพันธ์ ระหว่าง ประธาน กริยา กรรม เช่น เขากินข้าว
ในขณะที่ความสัมพันธ์ในกระบวนชุดของการแทนที่ คัดเลือก หรือทดแทน (Paradigm) เป็นความสัมพันธ์ของหน่วยทางภาษาหนึ่งกับหน่วยอื่นๆ ที่สามารถแทนที่ในตำแหน่งเดียวกันได้ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในแนวตั้ง เช่น เขากินข้าว เธอดื่มน้ำผลไม้ เราชิมขนม ในชุดของประธาน ประกอบด้วย เขา เธอ และเรา ในชุดของกริยา กิน ดื่มและชิม ในชุดของกรรม คือ ข้าว น้ำผลไม้และขนม ที่สามารถใช้แทนกันได้ในความสัมพันธ์ของประโยค เช่น เขาดื่มน้ำผลไม้ เขากินน้ำผลไม้ หรือเขาชิมน้ำผลไม้ เป็นต้น
mat
bat
I bought my hat in an antique store.
cat
rat
hotel
shed
hut
Mr. Su lives in a house.
apartment
mansion
palace
ความคิดดังกล่าวคล้ายคลึงกับแนวคิดในวิธีการศึกษาภาษาศาสตร์ 2 แบบ แบบแรกคือการศึกษาแนวนิรุกติศาสตร์(Philology) หรือการศึกษาเชิงรากเหง้า วิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของภาษา ซึ่งเป็นการศึกษาในแนวตั้งหรือระนาบที่ต่างกัน ที่โซซูร์ เรียกว่า Diachrony ความสัมพันธ์ในเชิงข้ามเวลา แบบที่สอง เป็นการศึกษาเชิงโครงสร้าง ที่ปราศจากมิติทางด้านเวลา และเป็นความสัมพันธ์ในระนาบเดียวกัน เรียกว่า Synchrony หรือเป็นความสัมพันธ์เชิงร่วมเวลา โดยที่โซซูร์ไม่ได้สนใจกับการศึกษา แบบวิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงภายในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใดที่เฉพาะของภาษาหนึ่ง แต่เขาสนใจศึกษาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปของภาษา โดยไม่คำนึกถึงมิติเงื่อนไขด้านเวลาเพื่อดูโครงสร้าง ระบบการทำงานในกระบวนการทางภาษา โดยให้ความสนใจกับการแยกศึกษาวิวัฒนาการ ที่เป็นเรื่องของการใช้ภาษา กับโครงสร้างพื้นฐานทางภาษา ที่เป็นเรื่องของระบบกฎเกณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การที่เราจะเข้าใจความหมายหรือรหัสทางวัฒนธรรม เราจะต้องเข้าใจระบบโครงสร้างของมันก่อน เราถึงจะสามารถถอดรหัสหรือตีความหมายของมันได้
แม้ว่าโซซูร์ จะให้ความสำคัญกับระบบภายในภาษา และความคิด ระบบ แบบแผนและกฎเกณฑ์ ที่เขาเรียกว่า “Langue” แต่ก็เป็นเพียงคำจำกัดความด้านหนึ่งของหน่วยทางภาษาศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์เชิงเดี่ยวในการอธิบาย และเขาค่อนข้างโต้แย้งกับการปราศจากการอ้างอิงกับหน้าที่ทางสังคมของภาษา ดังนั้นภาษาไม่เคยอยู่อย่างแยกเป็นชิ้นจากความจริงทางสังคม มันเป็นธรรมชาติของสังคม ที่เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะภายใน ที่เป็นการติดต่อสื่อสารของปัจเจกบุคคล ที่สัมพันธ์กับเรื่องของเสียง และกฎเกณฑ์ที่อยู่ในระดับของความสำนึกรู้ทางจิตวิทยา หรือแนวคิด ซึ่งเป็นเรื่องของสัญญะ อันเป็นกระบวนการใส่รหัส(Encoding) และถอดรหัส(Decoding) ในกระบวนการติดต่อสื่อสาร ที่มีการแบ่งปันและใช้ร่วมกันในชุมชนของผู้พูดภาษา การวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางสังคม จึงเป็นการศึกษาที่เคลื่อนย้ายจากระดับของความสำนึกรู้(Conscious) ไปยังการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานระดับล่างของความไร้สำนึก(Unconscious infrastructure)
อยากรู้เรื่องที่สหประชาชาติให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ตอบลบ