วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

อันเนื่องมาจากการประชุม ……… นโยบายน้ำแห่งชาติ

เรียบเรียง นัฐวุติ สิงห์กุล

13 ก.ค. 2544

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเคลือข่ายลุ่มแม่น้ำภาคอีสานไม่ว่าจะเป็นน้ำพรม หนองหาน ห้วยละหานนา น้ำพอง ป่าชุมชนฟื้นฟู ฯลฯ มาแลกเปลี่ยนประเด็นกันในเรื่องของนโยบายน้ำแห่งชาติ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ในช่วงที่ท่าน ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งกรรมการในแต่ละท่านล้วนมาจากสายวิชาการ ข้าราชการประจำ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด
หลัก ๆ ของเนื้อหาในวันนี้ก็คือ แนวความคิดของภาครัฐที่มองปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนน้ำ น้ำเสีย น้ำเน่า และปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งรัฐจะต้องเข้ามาจัดการ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งรัฐมองว่าภาคเกษตรกรรมใช้น้ำมาก แต่ผลประโยชน์ตอบแทนต่อหน่วยที่ได้ไม่คุ้มค่า ถ้าเทียบกับในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ดังนั้นจึงควรมีการจัดการน้ำเกิดขึ้น
หากจะมองความเป็นมาของนโยบายน้ำแห่งชาติ มันเริ่มจากอาจารย์ท่านหนึ่งใน TDRI ท่านทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งเรื่องน้ำ ด้วยความหวังดี ท่านจึงสรุปผลการศึกษาออกมาเผยแพร่ต่อคนภายนอกว่า “การใช้น้ำในการเกษตรมีปริมาณมาก แต่ให้ผลตอบแทนน้อย ดังนั้นควรที่จะนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการเก็บค่าคืนทุน”
จนกระทั่งปี 2532 – 2533 จึงเกิดการยกร่าง พรบ.น้ำขึ้น และแล้วเสร็จในปี 2535 จนเมื่อปี 2540 ได้มีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พรบ. ที่ร่างขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ล้าสมัยเพราะมิได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดร่างตามหลักการกระจายอำนาจ จนกระทั่งปี 2544 ได้มีการแต่งตั่งกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมีนาย พิทักษ์ กันทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
หากเราจะมองภาพของการจัดการในเรื่องของนโยบายน้ำแห่งชาติ เราจะพบว่า มันเป็นรูปแบบสำเร็จตายตัวที่มองสิ่งต่าง ๆ เป็นมิติเดียวกัน ไม่ได้แยกส่วนกัน มองว่าการแก้ปัญหาน้ำก็คือการสร้างเขื่อน ทุกภาคของประเทศไทยทำนาปีละ 2 – 3 ครั้ง ทั้งนาปี – นาปรัง ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งทางด้านกายภาพ ชีวภาพ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน บางพื้นที่สถานการณ์น้ำอาจจะไม่รุนแรง ดังเช่นภาคเหนือ เช่นภาคอีสานซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติอย่างเหนียวแน่น มีการแบ่งปันช่วยเหลือกัน ในอดีต ชาวบ้านจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น หนอง ห้วย คลอง ดังเช่น กรณีของหนองหานกุมภวาปี การจัดการน้ำของชาวบ้าน มาจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติ การขุดคลองจากลำห้วยเข้าสู่พื้นที่ไร่นา การขุดหรือเปิดคันคูให้น้ำไฮลจากที่นาตนเองไปให้พื้นที่คนอื่น ซึ่งในอดีตจะอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ การสร้างคันคูดินตามโครงการโขง ชี มูล ทำให้การจัดการน้ำของชาวบ้านเปลี่ยนรูปแบบไป เป็นการใช้น้ำจากคลองชลประทานส่งน้ำ ที่บางครั้งก็สร้างโดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศน์ เช่น ห้วยแจ้ง ถูกสร้างคลองส่งน้ำตัดลำห้วย แล้วฝังท่อเชื่อม แต่เนื่องจากท่ออยู่สูงกว่าระดับลำห้วย เมื่อเกิดฝนตกหนักก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมเอ่อล้นเข้ามาไร่นาของชาวบ้านใกล้ ๆ ลำห้วยคูคลอง ในช่วงฤดูแล้งการใช้ประโยชน์จากคลองชลประทานของชาวบ้านอุ่มจานค่อนข้างน้อยเพียง 3 รายเท่านั้นที่ทำนาปรัง เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน อาศัยน้ำฝนเป็นหลักในการทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน หรือในกรณีของทุ่งสัมฤทธิ์ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของ ADB ในการเก็บค่าคืนทุนจากแหล่งน้ำ ทั้งที่ความเป็นจริ้งแล้วหมู่บ้านบริเวณทุ่งสัมฤทธิ์ใช้ประโยชน์จากคลองชลประทานในการเกษตรน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำในลำตะคองและน้ำฝนเป็นหลัก แต่จะต้องเสียเงินในการใช้น้ำ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมในการที่จะมองน้ำเป็นสังหาริมทรัพย์สามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันได้คล้ายที่ดิน ซึ่งเป็นการจำกัดขอบเขตการใช้ประโยชน์ และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชน ความคิดในการจัดการดั้งเดิม ภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่ใช้กระบวนการทางเศรษฐศาสตร์มาเป็นตัวกำหนดโดยการควบคุมจากรัฐ ซึ่งตัวผู้เขียนเองคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังเสนอ มันไม่ได้แก้ไขต้นตอปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรม และขาดแคลนทรัพยากรอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา และสร้างสรรค์จิตสำนึกในการหวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำอย่างไรจะให้ชาวสามารถที่จะจะจัดการโดยใช้ภูมิปัญญาของตนเองเป็นหลัก สอดคล้องกับสภาพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การที่จะจัดทำนโยบายน้ำออกมา จึงควรเป็นไปในรูปของระเบียบการบริหารเป็นเรื่อง ๆ เฉพาะไป เช่น การจัดการปัญหาความขัดแย้ง การตั้งคณะกรรมการแก้ไขความขัดแย้ง การใช้ประโยชน์ และอื่น ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และปัญหาของชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น