วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

เลวี่ สเตร๊าท์ (Clude Levi-Strauss)กับการศึกษาทางมานุษยวิทยา
     อ.นัฐวุฒิ สิงห์กุล
ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

มารู้จักแนวคิดของเลวี่ สเตร๊าท์เบื้องต้น

 

การแพร่ขยายของกระแสแนวคิดทฤษฎีภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างของเฟอดิน็องต์ เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Suassure) ที่มองว่าระบบของโครงสร้าง ครอบคลุมอยู่เหนือกระบวนการทางวัฒนธรรมทั้งหมด เช่น ระบบเครือญาติ  นิยายปรัมปรา ตำนาน นิทาน การแต่งกาย การทำอาหาร  ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวของคำจัดกัดความทางสัญญะ ดังนั้นวัฒนธรรมก็เช่นเดียวกับภาษา สเตร๊าท์ ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองดั้งเดิมพบว่า การปฏิบัติในชีวิตประจำวันของมนุษย์อยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าโครงสร้าง ดังนั้นการศึกษาแบบแผนทางวัฒนธรรมของเขา เป็นสิ่งที่คล้ายกับการศึกษาภาษาศาสตร์ ดังเช่นที่วลาดิเมียร์ พ็อพ (Vladimir Propp) ได้พบรากฐานของระบบและหน้าที่ 31 อย่าง (ในเหตุการณ์หรือการกระทำ)จากการศึกษานิทานพื้นบ้านรัสเซีย ที่แสดงให้เห็นถึงไวยากรณ์(Grammar)ของนิทานพื้นบ้าน(Morphology of the Russian folk tale, 1928)  สิ่งดังกล่าวสะท้อนรูปแบบของโครสร้างในความคิดของมนุษย์(Human Mind) ที่แสดงให้เห็นโครงสร้างทางความคิดพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ที่เรียกว่า คู่ตรงกันข้าม (Binary Opposition)
งานเขียนสำคัญของเลวี่ สเตร๊าท์
-    The Elementary structures of kinship
-    Structural Anthropology
-     "Introduction History and Anthropology" P.1-27 "Effective of Symbol"P.187-205and "Structural Analysis in Linguistics and in Anthropology" P.31-79 In Structural Anthropology Volume 2
-    Anthropology and Myth
-    Totemism ที่แสดงให้เห็นโครงสร้างและความคิดของมนุษย์
-    Savage Mind สิ่งที่น่าสนใจคือแนวคิดเรื่อองศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม (Science of the concrete) ที่มองว่าไม่ว่าจะเป็นคนป่า คนศิวิไลต์  แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ แนวคิดแบบชาวบ้าน การคิดแบบวัตถุวิสัย การคิดแบบอัตตวิสัย ต่างก็เป็นความรู้เหมือนกันเพียงแต่เป็นความรู้คนละชุด คนละบริบท คนพื้นเมือง คนป่ามักคิดในเชิงรูปธรรมที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตและประสบการณ์มากกว่าคนสมัยใหม่ นักวิชาการ ที่คิดแบบนามธรรม
-    Introduction to a Science of Mythology ภาคแรกคือ Raw and Cooked  สะท้อนให้เห็นคู่ตรงกันข้ามระหว่างธรรมชาติ(Nature)และ วัฒนธรรม(Culture) สิ่งที่น่าสนใจคือการพูดถึงตัวเชื่อม (Medium/Mediation)
อาจกล่าวได้ว่าภาษาเป็นระบบที่เอื้ออำนวยให้เกิดการคิด เราคิดผ่านภาษา การคิดถือเป็นผลผลิตจากระบบ ซึ่งเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ (ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรม)กับสภาพแวดล้อม(ธรรมชาติ)ที่เป็นวัตถุแห่งความคิด ซึ่งนำไปสู่แม่แบบคู่แย้งสำคัญ ระหว่าง ธรรมชาติ (ไม่ใช่มนุษย์)--------วัฒนธรรม (มนุษย์) ดังนั้นความคิดจึงเกิดขึ้นได้เพราะภาษาช่วยให้เรา สามารถสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และจัดประเภทสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา โดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวแทน  (ดูตัวอย่างวิธีคิดผ่านภาษาและคู่ตรงข้ามของเลวี่ สเตร๊าท์ ตามแผนผังข้างล่าง)



ดังนั้นถือเป็นประเพณีของบรรดาชนพื้นเมืองแต่ละเผ่าหรือตระกูลที่ต้องนำของจากธรรมชาติมาเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวหรือเครื่องหมายประจำเผ่า (Totem)เครื่องหมายนี้อาจจะเป็นสัตว์หรือพืช ไม้แกะสลักหรือหินก็ได้ โดยเชื่อว่าจะช่วยปกป้องเผ่าที่มันเป็นตัวแทน ชนเผ่าที่มีสัญลักษณ์เป็นสัตว์ชนิดใดจะไม่ฆ่าสัตว์นั้น ขณะที่เผ่าที่ใช้พืชเป็นสัญลักษณ์ก็เช่นเดียวกัน เสาที่แกะสลักรูปประหลาดตั้งอยู่ใกล้กลุ่มกระโจมของอินเดียนแดงในอเมริกาเหนือในฐานะสัญลักษณ์ประจำเผ่า ขณะที่ชาวอะบอริจิ้นในออสเตรเลียมักมีสัญลักษณ์ประจำเผ่าเป็นสากล อาจกล่าวได้ว่า "การนำพืชสัตว์สิ่งของมาเป็นสัญลักษณ์ประจำเผ่า ไม่ใช่ความเชื่อ งมงาย ประหลาด ในเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่เป็นตัวอย่างพื้นฐานของตรรกะในการคิด"
สัญลักษณ์ประจำเผ่าก็คือรูปแบบการจัดแบ่งประเภทของธรรมชาติ และใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับการคิด พูดง่ายๆคือ การจัดแบ่งประเภทเป็นคู่ตรงกันข้าม ระหว่างอะไรที่กินได้ กับกินไม่ได้ (ทำไม)ใครที่แต่งงานด้วยได้หรือแต่งไม่ได้ (และทำไม)
ความคิดเหล่านี้ถือเป็นการจำลองแบบแผนทางสังคม ดังที่ปรากฏผ่านสัญลักษณ์ประจำเผ่า (Totemism) ที่มีคู่แย้งระหว่างมนุษย์กับไม่ใช่มนุษย์ ดังเช่นมุมมองของมนุษย์ในวัฒนธรรม ที่มองเรื่องของสูง ของต่ำ เชื่อมโยงจากสูงลงต่ำ จากเทพเจ้า สัตว์ พืช ที่ปรากฏในนิทานปรัมปรา และสัญลักษณ์ประจำเผ่า
จิตของมนุษย์ทำงานโดยอิงกับแม่แบบคู่แย้ง ดัง/เงียบ ดิบ/สุก เปลือย/สวมเสื้อผ้า สว่าง/มืด ศักดิ์สิทธิ์/สามัญ และอื่นๆ  ซึ่งจิตของมนุษย์ทำงานอย่างเป็นตรรกะ (ซึ่งเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรม) ได้ลอกเลียนธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่นทำไมเราเลือกสีเขียว เหลืองและแดง มาใช้ในระบบสัญญาญจราจร โดยอิงกับข้อเท็จจริงของธรรมชาติ ที่ว่ารหัสสีสัญญาณสำหรับ ไป-ระวัง-หยุดนั้น เลียนแบบโครงสร้างของสีสเปรคตรัม ที่จัดระดับของสีตามความยาวและสั้นของคลื่น  สีแดงมีความยาวของคลื่นยาว สีเขียวมีความยาวของคลื่นสั้น ส่วนสีเหลืองอยู่ตรงกลาง เป็นต้น








                                                                                                                

                                            

                                                       


แนวคิดแบบ Structuralism เสนอว่า การเดินทางจากธรรมชาติเข้าสู่วัฒนธรรมนั้นมนุษย์อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ที่เขาไม่ได้สร้างขึ้นเอง กฏเกณฑ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ที่ไหนก็เหมือนกันเพราะมันเป็นกลไกลของสมองมนุษย์ ดังที่เขากล่าวว่า The Human mind is everywhere one and the same and that it has the same capacities. (Levi-Strauss : 1978 หน้า 19)
การศึกษาเกี่ยวกับวิถีคิดของชนเผ่าดั้งเดิมผ่านแนวคิดเรื่องศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม มองว่าวิธีการขบคิดปัญหาของชนดั้งเดิม ความปรารถนาที่จะเข้าใจจักรวาล ธรรมชาติ โลกและสังคม เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งในสังคมดั้งเดิมและปัจจุบันมีร่วมกัน ชนดั้งเดิมพยายามจะเข้าใจว่า มนุษย์มาจากไหน ธรรมชาติกับมนุษย์แยกกันตรงไหน เช่น เดียวกับที่พวกเราพยายามจะเข้าใจ ไม่แตกต่างจากการใช้สติปัญญาของนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาสิ่งที่แตกต่างกนก็คือ กระบวนการในการหาคำตอบ ชนชั้นดั้งเดิมต้องการเข้าใจจักรวาลอย่างเป็นสากลด้วยวิธีลัดที่สุดดังที่เลวี่ สเตร๊าท์บอกว่า  ".... It aim is to reach by the shortest possible means a general understanding of the universe…" (Levi-Strauss :1978,17)

เลวี่ สเตร๊าท์ นักมนุษยวิทยาโครงสร้างนิยม กับการศึกษาแนวภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง
การเกิดขึ้นของสำนักโครงสร้างนิยม(Structuralism) ในช่วงปี1960 ที่นำโดยเลวี่ สเตร๊าท์ ในความเรียงอัตชีวประวัติของเขาชื่อ Tristes Tropiques(1958) ในหัวข้อเฉพาะเกี่ยวกับโครงสร้างของนิยายปรัมปรา(myth) ที่มีเรื่องราวของแอ็ดดิวอล(Story of Adiwal:1967) รวมถึงการบรรยายครั้งแรกที่College de France ในหัวข้อขอบเขตทางมานุษยวิทยา(Scope of Anthropology:1967)  และการกลับมาวิเคราะห์ของเขาในการนับถือสัญลักษณ์ของพืชและสัตว์(Totemic illusion)ในเรื่องTotemism(1963) และการศึกษาความคิดของคนป่าและศาสตร์เชิงรูปธรรมใน เรื่อง The Savage mind (1966)  เลวี่ สเตร๊าท์ คาดหวังกับการค้นพบรูปธรรมและตรรกะของจิตใต้สำนึก ในความคิดของคนป่าที่นำไปสู่การวิเคราะห์โครงสร้างและสัญวิทยา เกี่ยวกับนิทานปรัมปรา การตีความหมายในพิธีกรรม การใช้ถ้อยคำ คำพูดและเหตุการณ์เกี่ยวกับสัญลักษณ์อื่นๆของวัฒนธรรม ที่เป็นของคนพื้นเมือง นี่คือแนวทางของเลวี่ สเตร๊าท์ ในการศึกษาแบบโครงสร้างนิยม ที่วิเคราะห์ปฎิบัติการทางภาษาศาสตร์ การสร้างความหมายเกี่ยวกับนิทานปรัมปรา พิธีกรรม การจัดประเภทจำแนกแยกแยะเกี่ยวกับเครือญาติ ที่เป็นการอ้างถึงแนวความคิดของโซซูร์ในเรื่องของสัญวิทยากับการศึกษาทางมานุษยวิทยา
โดยโซซูร์ มองว่า ระบบของสัญญะเช่นเดียวกับ รูปแบบทางสัญลักษณ์ ความสุภาพ สัญลักษณ์ทางทหาร ภาษาในนิทานปรัมรา  คำพูดและท่าทาง ที่เป็นสัญญะของพิธีกรรม กฎเกณฑ์การแต่งงาน ระบบเครือญาติ ประเพณี จารีตที่เป็นกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่แน่นอนของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ(Singer:1983)
ในความเรียงอัตถชีวประวัติของเขา Tristes Tropiques   เขาได้หันเหออกจากความคิดของมานุษยวิทยาฝั่งตะวันตก ที่เป็นรูปแบบของการเสาะแสวงหาศึกษาคนพื้นเมืองหรือคนป่าจริงๆ ทำให้เขาพบปัญหาใน การสนทนากับคนเหล่านั้น  เมื่อการสนทนากลายเป็นสิ่งที่ล้มเหลวเพราะเราไม่รู้จักภาษาอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะความเงียบหรือพูดไม่ได้ เมื่อการสนทนาข้ามวัฒนธรรมเกิดขึ้น นักมานุษยวิทยาโครงสร้างได้สะท้อนกลับในลักษณะของโครงสร้าง  ที่ได้ให้วิธีการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ที่เลวี่-สเตร๊าท์ ได้แนะนำ สามารถจะเป็นสิ่งที่วิเคราะห์ไปยังทฤษฎีที่เป็นหนึ่งเดียว  ของการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับคำศัพท์(word) ผู้หญิง(woman) สินค้า(goods)และบริการ( services)
ความคิดของเลวี่-สเตร๊าท์ ในทางโครงสร้าง ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคาร์ลมาร์กซ์ (Karl Marx) ในคำประกาศที่มีชื่อเสียงว่ามนุษย์สร้างประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง แต่พวกเขาไม่รู้ว่าพวกเขาได้สร้างมันขึ้นมา ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมานุษยวิทยา กับประวัติศาสตร์ รวมถึงความซับซ้อนทางจิตวิทยาที่เป็นเรื่องของจิตใต้สำนึก นอกจากนี้เขายังได้แบ่งปันความคิดกับนักภาษาศาสตร์อย่างวีโก้ (Vico) ที่ความสนใจในภาษาเช่นเดียวกับศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ แต่วิธีการทางภาษาศาสตร์ที่ทันสมัยของเขาได้วิเคราะห์เกี่ยวกับข้อมูลที่ไม่ใช่ภาษาศาสตร์  มนุษย์เป็นผู้ครอบครองควบคุมในลักษณะที่แตกต่าง ที่ประกอบสร้างรูปแบบของปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรม รูปแบบชีวิตทางสังคม  เป็นสิ่งที่ถูกจัดตั้งและทำให้คงอยู่ตลอดไป 
การวิเคราะห์เกี่ยวกับภาษา ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการวิเคราะห์วัฒนธรรมที่ใหญ่  วิธีการของเลวี่-สเตร๊าท์  ที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของสิ่งที่ไม่ใช่ภาษา แต่มีโครงสร้างคล้ายภาษา มีองค์ประกอบย่อยๆเหมือนกับความคิดเกี่ยวกับหน่วยของเสียง(Phoeme)ที่ประกอบขึ้นเป็นคำ เป็นประโยค เป็นภาษา  ที่เขานำไปสู่การรับรู้เข้าใจการประกอบสร้างเกี่ยวกับพฤติกรรมทางวัฒนธรรม  (Cultural Behavior) ไม่ว่าจะเป็นพิธีฉลอง พิธีกรรม ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ กฎเกณฑ์การแต่งงาน วิธีการทำอาหาร (Method of cooking) ระบบสัญลักษณ์พืชสัตว์ (Totemic System) ที่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเนื้อแท้ภายในตัวเองที่แยกขาดจากส่วนอื่น แต่อยู่ในชุดของความสัมพันธ์ที่แตกต่างตรงกันข้าม ที่พวกเขามีกับสิ่งอื่นๆ  ซึ่งสร้างความเหมือนกันทางโครงสร้างของพวกเขากับโครงสร้างของหน่วยเสียงทางภาษา
ดังเช่นชุดคำของเครือญาติซึ่งเป็นส่วนประกอบของความหมายเหมือนหน่วยของเสียง ที่พวกเขายอมรับและเข้าใจความหมายเหล่านั้น ถ้าพวกเขาเป็นสิ่งที่ถูกรวมเข้าไปยังระบบ ระบบเหล่านี้เป็นสิ่งที่เห็นการรวมกันของรูปแบบ ประเภทของภาษา ในชุดของกระบวนการยอมรับการก่อตั้ง จัดตั้ง ระหว่างปัจเจกบุคคล และกลุ่ม เกี่ยวกับประเภทที่แน่นอนของการสื่อสาร (Communication)  แต่ละระบบที่เป็นเครือญาติ อาหาร และความคิดทางการเมือง พิธีกรรมการแต่งงาน  การปรุงอาหารและอื่นๆ ที่ประกอบสร้างการแสดงออกที่เฉพาะเกี่ยวกับวัฒนธรรม ทั้งหมด ที่คิดและเข้าใจได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ นั่นคือความคิด ทัศนคติที่ไร้สำนึก(Unconscious attitude) ของเลวี่-สเตร๊าท์ ที่วิเคราะห์ใน 3 ระบบของการผลิตทางวัตถุ ที่มีคุณค่าในเรื่องของ
1)ระบบเครือญาติ(Kinship)  ที่เป็นเสมือนกฎเกณฑ์ในเรื่องของการแต่งงาน ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ครอบครัว ชายและหญิง เลวี่ สเตร๊าท์ เสนอว่า  ระบบหรือโครงสร้าง อาจจะเป็นหนึ่งเดียวหรือความเหมือนกัน กับโครงสร้างทางภาษาของสังคม รวมทั้งประเภทพื้นฐานที่แตกต่างของระบบการติดต่อสื่อสาร ในสังคมเดียวกัน ที่เป็นเครือญาติกัน และภาษาก็เป็นโครงสร้างของความไร้สำนึกที่บ่งชี้ หรือแสดงให้เห็น            เลวี่-สเตร๊าท์ ได้ให้ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของระบบเครือญาติในมุมมองที่กว้างและใหม่  ในทัศนะมุมมองเกี่ยวกับหน้าที่ของการแลกเปลี่ยนผู้หญิง เกี่ยวกับบทบาทของลุง(The Avunculate) ในสังคมดั้งเดิมที่ดูเหมือนจะลึกซึ้งมากกว่า  ดังที่เลวี่ สเตร๊าท์เล่าว่า
"เมื่อเรา พิจารณาสังคมของThe Cherkess และTrobriand มันเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอกับการศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงทัศนคติระหว่าง พ่อ-ลูกชาย(Father/son) และUncle/Sister's Son ที่เป็นความสัมพันธ์ลักษณะหนึ่งเท่านั้น เกี่ยวกับโลกที่บรรจุ 4 ประเภท ชนิดของความสัมพันธ์ ที่เชื่อมโยงรูปแบบดั้งเดิม กล่าวคือ Brother/Sister  ,husban/wife, Father/Son และMother's brother/Sister's son ที่เป็น2กลุ่มในตัวอย่างของเราที่แสดงกฎเกณฑ์ ที่สามารถกำหนด จัดวาง เช่นเดียวกับสิ่งที่ตามมาในแต่ละความสัมพันธ์ระหว่าง Maternal Uncle และหลานชาย(Nephew) เป็นสิ่งที่สัมพันธ์ระหว่างน้องชายพี่ชายและพี่สาวน้องสาว เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกชาย แม่กับลูกสาว ระหว่างสามีและภรรยา ดังนั้นถ้าเรารู้คู่หนึ่งของความสัมพันธ์ มันเป็นความเป็นไปได้อยู่เสมอกับการอนุมาน สรุป บอกเป็นนัยเกี่ยวกับสิ่งอื่นๆ"(SA.42)
"แน่นอนครอบครัวทางชีววิทยา(Biological Family) เป็นสิ่งที่อยู่ทุกหนทุกแห่งในสังคมมนุษย์ แต่อะไรเป็นสิ่งที่ถูกมอบให้ภายใต้ความเป็นเครือญาติ  ที่เป็นลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมมากกว่า  ไม่ใช่อะไรที่สงวนรักษาไว้ในธรรมชาติ และค่อนข้างเป็นหนทางที่สำคัญ ที่จะแยกออกจากธรรมชาติ ดังนั้นระบบเครือญาติไม่ได้ประกอบหรือมีอยู่ในวัตถุ ที่ผูกมัดเกี่ยวกับเชื้อสาย หรือความสัมพันธ์ทางสายโลหิต ระหว่างบุคคลที่มันมีอยู่ในความสำนึกของมนุษย์เท่านั้น แต่เป็นระบบของการเป็นตัวแทน(System of Representation)  ที่ถูกกำหนดให้เป็น ไม่ใช่การพัฒนาเกี่ยวกับสถานการณ์ที่แท้จริงที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ"(SA.50)
"ระบบเครือญาติ กฎเกณฑ์การแต่งงาน เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อทำหน้าที่รับประกันความมั่นคงถาวรของกลุ่ม โดยความหมายของการมีชัยชนะระหว่างกัน ที่เกี่ยวข้องกับสายโลหิต และการเชื่อมโยงผูกติดกันอย่างใกล้ชิด  พวกเขาอาจจะเป็นสิ่งสามารถพิจารณาเช่นเดียวกับ พิมพ์เขียว ของกลไกลโครงสร้าง ที่ปั๊มฉีด ผู้หญิงออกมาจากครอบครัวที่เกี่ยวข้องทางสายโลหิตของพวกเขา กับการแจกจ่ายพวกเขาในกลุ่มที่ผูกพันกันอย่างใกล้ชิด ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้เป็นการสร้างกลุ่มทางสายเลือดใหม่.."(SA,309)
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เน้นย้ำความสัมพันธ์ของการถูกกำหนดให้เป็นของสิ่งที่เรียกว่าเครือญาติ และเป็นระบบที่ลักษณะของเครือญาติเป็นสิ่งที่เราสามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับระบบของภาษา  เครือญาติคือระบบสัญลักษณ์ ที่ได้ให้สนามที่สมบูรณ์ของนักมานุษยวิทยา ในการวิจัยทางมนุษยวิทยาและภาษาศาสตร์
2)นิทานปรัมปรา(Myth)  ภาษาในระบบของนิทานปรัมปราอ้างอิงกับระบบการสร้างความหมาย ในทางภาษาศาสตร์นั้นมานุษยวิทยา ไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคมในระดับพื้นผิว ที่เป็นประสบการณ์ที่รู้สึกเข้าใจโดยสมาชิกปัเจกจชนในชุมชน ดังที่นักภาษาศาสตร์เกี่ยวข้องอย่างแท้จริงกับนักพูดพื้นเมือง ที่การทำงานทางภาษาของเขาเป็นพวกประสบการณ์นิยมเท่านั้น ในขณะที่นักมานุษยวิทยาเกี่ยวข้องกับพื้นฐานของความไร้สำนึก ซึ่งสามารถเป็นสิ่งที่เห็นได้ เมื่อพวกเขาเป็นสิ่งที่ถูกปลดปล่อยออกมา เช่นเดียวกับพ่อมดหมอผี(Shaman) ที่เป็นเสมือนผู้รักษา เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยในชุมชนโบราณดั้งเดิม  ดังที่เลวี่-สเตร๊าท์ ได้แสดงให้เห็น ว่าศาสตร์สมัยใหม่ก็สนับสนุน กับสิ่งที่พวกเรามองเห็น ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุผลลัพธ์ ระหว่างเชื้อโรคและโรคภัยไข้เจ็บ ที่Shaman เป็นผู้รักษา ที่อาศัยอยู่ในความสามารถของเขากับในความสัมพันธ์ของโรคภัยไข้เจ็บ กับโลกของนิทานปรัมปรา และสัตว์ประหลาด ปิศาจ(Monsters) ที่ซึ่งบุคคลที่เจ็บป่วยเชื่ออย่างแท้จริง ดังที่เขาบอกว่า
"นั่นคือปรัมปรานิยาย ของ Shaman ที่ไม่ได้ตอบสนองกับสิ่งที่แท้จริง ไม่ได้มีแก่นสารเรื่องราวใด ความเจ็บป่วยของผู้หญิงถูกเชื่อถือในตำนานและเกี่ยวข้องกับสังคม ที่ซึ่งเชื่อถือมันในจิตวิญญาณของผู้พิทักษ์ผู้ปกครอง (Tutelary spirits)และวิญญาณชั่วร้าย(Malevolent Spirit) สัตว์ประหลาด ปิศาจที่เหนือธรรมชาติ(The supernatural monsters) และสัตว์ที่เกี่ยวกับเวทมนต์คาถา(Magical Animal) เป็นทั้งหมดของระบบที่ยึดโยง เกาะเกี่ยวกับความคิดของคนพื้นเมือง ในเรื่องของจักรวาลวิทยา ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมา ทำให้อาการเจ็บป่วยของผู้หญิงมีการยอมรับ ในการมีอยู่จริง เกี่ยวกับนิทานปรัมปราเหล่านี้ ที่ค่อนข้างจะถูกต้องมากกว่า และไม่มีการตั้งคำถามกับการมีอยู่ของพวกเขา อะไรที่พวกเขา/เธอ ไม่ยอมรับ เป็นสิ่งที่ไม่สัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และการกำหนดความเจ็บป่วยเป็นส่วนประกอบที่แตกต่างในระบบของเขาและเธอ  ...มนุษย์ได้เข้ามาอยู่ในนิทานปรัมปรา ที่ทุกสิ่งทุกยอย่างกลับมาอยู่รวมกัน เต็มไปด้วยความหมาย ความเข้าใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของผู้หญิง ที่ไม่ได้มีอะไรไปกว่าการสละทิ้งซึ่งตัวหล่อนเอง การยอมรับในความเชื่อเหล่านั้น แล้วหล่อนจะได้รับสิ่งที่ดี...ดังนั้นอาการป่วยของผู้หญิงจึงเป็นสิ่งที่ถูกเรียกว่า Subjected"(SA.197-198)
นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างนิทานปรัมปราและภาษา ที่ได้เข้ามาอยู่ในศูนย์กลางทางความคิดของ  เลวี่ สเตร๊าท์  ซึ่งเขามีมุมมองทางความคิดเกี่ยวกับความคิดของคนป่าว่า ธรรมชาติของความคิดนั้นเปิดเผยตัวมันเองในโครงสร้างของนิทานปรัมปรา เช่นปมออดิปุสที่ปรากฏในนิทานประเภทลูกฆ่าพ่อเอาแม่เป็นเมีย พ่อลงโทษลูกเพราะเมื่อลูกเกิดมาจะนำภัยพิบัติมาสู่บ้านเมือง จึงต้องถ่วงน้ำ ฝังดินเพื่อให้สิ้นชีวิต แต่ลูกไม่ตายและกลับมาแก้แค้น เป็นต้น เช่นเดียวกับโครงสร้างทางภาษาของนิทาน ที่เปิดเผยให้เห็นความคิดของมนุษย์ ความแตกต่างระหว่างธรรมชาติ วัฒนธรรม  ดังนั้น เป้าหมายของเลวี่ สเตร๊าท์ไม่ได้แสดงว่า มนุษย์คิดอย่างไรในนิทานปรัมปรา แต่นิทานปรัมปราคิดในตัวมนุษย์อย่างไร โดยที่ตัวพวกเขาก็ไม่รู้ เช่นเดียวกับกรณีของเครือญาติ นั่นคือโครงสร้างความไร้สำนึกที่ปรากฏผ่านการเล่านิทานหรือเนื้อหาในนิทานปรัมปรา
ดังที่เลวี่ สเตร๊าท์ บอกว่า นิทานปรัมปรา เป็นสิ่งที่ถูกสร้างหรือผลิตซ้ำ โดยบุคคลหรือการหยิบยืมมาจากธรรมเนียมแบบแผนของการปฎิบัติที่ยอมรับ  ที่ได้รับมาจากปัจเจกบุคคลหรือกลุ่ม  เราสามารถเริ่มต้นได้กับการตั้งสมมติฐานที่อ้างอิงข้างบนว่า  นิทานปรัมปรา มีการเชื่อมโยงติดต่อกันอย่างเห็นได้ชัดพร้อมกับภาษาในตัวของมันเอง นิทานปรัมปราเป็นสิ่งที่จับยึดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของถ้อยคำมนุษย์(Human Speech) และการวิเคราะห์เกี่ยวกับมัน สามารถมีเป้าหมายที่แผ่ขยายไปยังสนามอื่นๆของภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง(Structural Linguistic) ดังเช่นที่Saussure ได้แยก ความแตกต่างระหว่างระบบหรือโครงสร้าง(Langue)และปัจเจกบุคคลหรือเหตุการณ์ประสบการณ์เฉพาะบุคคล(Parole) ดังเช่นนิทานปรัมปราที่ถูกเล่าโดยปัจเจกบุคคลแต่ละคนที่มาจากระบบที่เฉพาะ  มักถูกอ้างอิงอยู่เสมอกับเหตุการณ์ที่ยืนยันว่ามีการเกิดขึ้นนานมาแล้ว(กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ) ทำให้นิทานเป็นสิ่งที่ก้าวข้ามพรมแดนที่ไร้ช่วงเวลา ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต เมื่อมันถูกถ่ายทอดหรือบอกเล่าออกมาในแต่ละช่วงเวลา  ที่เชื่อมโยงกับระบบและปัจเจกบุคคล ในการกระทำและการดำรงอยู่เพื่ออธิบายโลก อธิบายรากเหง้าของตัวเอง การก้าวข้ามประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่มีเกิดจากผลกระทบหรืออิทธิพลของภาษา  เลวี่-เสตร๊าท์ ได้แสดงความคิดใน พื้นฐานสำคัญ 2 อย่างในลักษณะของนิทานปรัมปราที่เขาศึกษา(อ้างจากTerence Hawkes;1978 P.43-44)
2.1 ความหมายของการศึกษานิทานปรัมปรา (Mythology) ไม่สามารถที่จะตั้งมั่นอยู่ในส่วนประกอบที่แยกออกจากกัน ในการประกอบสร้างนิทานปรัมปรา(Myth) แต่มักจะอยู่อย่างมั่นคงถาวรในหนทางที่ซึ่งองค์ประกอบเหล่านั้นที่ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ในการสร้างคำอธิบาย และเรื่องเล่า
2.2 ภาษา(Language)ในนิทานปรัมปราแสดงคุณสมบัติที่เฉพาะที่อยู่เหนือระดับภาษาธรรมดา นิทานปรัมปราเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เกี่ยวกับภาษาเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากหน่วยที่ประกอบกันอยู่ และหน่วยเหล่านี้ถูกสันนิษฐานและมองเห็นกระบวนการทำงานที่เหมือนกันกับหน่วยที่สามารถสังเกตเข้าใจได้ในภาษาธรรมดา ในรูปแบบของหน่วยเสียง(Phoneme) และหน่วยทางภาษาที่เล็กที่สุด(Morpheme)
3) ความคิดหรือธรรมชาติทางความของคนป่า(Savage Mind) เลวี่-สเตร๊าท์ ทำงานอยู่บนธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า  คนพื้นเมืองและความคิดของคนป่า คือความคิดของคนพื้นถิ่นในความคิดหนึ่งเกี่ยวกับบางสิ่งที่ได้รับติดตัวมาแต่กำเนิด ในความสามารถของมนุษย์ในการประดิษฐ์ คิดค้นสัญลักษณ์ เช่น Totem ที่เป็นการจินตนาการเกี่ยวกับตัวพวกเขาเองและระบบสังคม เช่นฉันเป็นหมี (I am  a bear)และฉันเป็นนกอินทรีย์(I am the Eagle) ของแต่ละสายตระกูล(Clan) หมีและนกอินทรีย์ เป็นผู้ติดต่อและดำเนินการในเชิงเหตุผล  ที่เป็นเสมือนสัญญะเชิงรูปธรรม กับการทำความเข้าใจพวกเขา ในการวิเคราะห์ตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในระบบของสัญญะ ในการวิเคราะห์ชุดของความรู้หรือศาสตร์เชิงรูปธรรม(Bricolage /Concrete Science) เป็นสิ่งที่ถูกนิยามในงาน 2 ชิ้น ของเลวี่ สเตร๊าท์ ที่เกี่ยวกับคนพื้นเมือง ในหนังสือ Totemism(1962) และSavage mind(1962) ที่ได้อ้างถึง ความหมายที่ไม่ได้มีในภาษาเขียน(Non-Literate) หรือสิ่งที่ไม่ได้มีความคิดทางเทคนิค เหมือนศาสตร์เชิงนามธรรม(Abstract Science) ของสังคมสมัยใหม่ ซึ่งแตกต่างจากศาสตร์เชิงรูปธรรมของคนพื้นเมือง
ศาสตร์ทั้งสองชนิดเป็นสิ่งที่อธิบายในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่มีความแตกต่างกันเป็นคนละประเภท/ชนิด ตามระบบความคิดที่เป็นเรื่องของการรับรู้ จินตนาการและการจำแนกแยกแยะธรรมชาติ ตำนาน นิทานปรัมปราและพิธีกรรมของแต่ละสังคม ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงโลกแห่งความเป็นจริงกับจินตนาการเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับการจำลองโลกทางความจริงผ่านนิทานปรัมปรา พิธีกรรม หรือการเล่มกีฬาในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งแต่ละระบบคิดก็มีเหตุผลกันคนละชุดและมีระบบ กฎเกณฑ์กันคนละอย่าง แต่ทั้งสองอย่างต่างก็เท่าเทียมกัน โดยไม่มีความรู้ใดหรือสังคมใดที่ดีกว่าหรือเหนือกว่ากัน เช่นเดียวกับเลวี่ สเตร๊าท์ ต้องการจะปะทะโจมตีกับความคิดสมัยใหม่ ที่มีพื้นฐานอยู่บนเหตุผลนิยม(Realism)และความคิดเกี่ยวกับธรรมชาตินิยม (Naturalism) โดยเฉพาะความคิดยุคหลังฟื้นฟูศิลปะวิทยาการที่การสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกแยกอย่างค่อนข้างสมบูรณ์จากธรรมชาติ(Terence Hawkes;1978) ดังเช่นที่เอ็ดมันส์ ลีซ ได้แสดงให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของการจำแนกแยกประเภททางความคิดเกี่ยวกับสัตว์และพืช ว่า
" มันคือความจริงเกี่ยวกับกระบวนการสังเกตเกี่ยวกับประสบการณ์ ที่การดำรงอยู่ของมนุษย์ทุกหนทุกแห่ง ยอมรับทัศนคติทางพิธีกรรม ไปยังสัตว์และพืชในความใกล้เคียงของพวกเขา การพิจารณาสำหรับตัวอย่าง การแบ่งแยก ความแปลกประหลาดพิสดารบ่อยครั้ง กฎเกณฑ์ที่ซึ่งครอบงำพฤติกรรมของชาวอังกฤษ ไปยังสัตว์โลก ที่ซึ่งพวกเขาจำแนกแยกประเภท เช่นเดียวกับ 1) สัตว์ป่า 2) หมาป่า 3)เกมส์ 4)สัตว์ในฟาร์ม 5)สัตว์เลี้ยง 6) สัตว์และนกที่เป็นศัตรูพืช  ข้อสังเกตที่ยิ่งกว่านั้น เมื่อพวกเราจับยึดความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ของคำศัพท์ ก) ความแปลกประหลาด ข) ศัตรู ค)เพื่อน ง)เพื่อนบ้าน จ)เพื่อนร่วมงาน ฉ)อาชญากรรม ทั้งสองชุดของคำศัพท์เป็นสิ่งที่อยู่ในระดับที่เป็นหนึ่งเดียวกัน"
 การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ กับ วัฒนธรรม ในคำนิยมของเขา ในหนังสือ       Le Cru et   le cuit (Raw and Cook)  แสดงความเป็นไปได้ ของการถูกกำหนดให้เป็นของนิยายปรัมปรา ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของกฎเกณฑ์ ที่ปฎิบัติหรือดำเนินการในระดับที่ลึกกว่า   โดยชี้ให้เห็นความคิดของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดตลอดเวลาในการสร้างสรรค์เกี่ยวกับนิทานปรัมปราในตัวของมันเอง มีระเบียบกฎเกณฑ์ในรูปแบบที่หลากหลายของผู้เล่า และรักษามันเช่นเดียวกับการผลิตการแสดงเกี่ยวกับภาษา  ที่เป็นหน่วยพื้นฐานและความขัดแย้งตรงกันข้ามในสิ่งที่พวกเขาบ่งชี้หรือแสดงให้เห็น ดังเช่น        การแยกพื้นฐานของสิ่งที่เป็นคู่ตรงกันข้าม  ระหว่าง ดิบ-สุก  ที่แสดงอยู่บนลักษณะความเป็นธรรมชาติ-วัฒนธรรม ที่สะท้อนผ่านการปรุงอาหาร(Culinary/Cooking)  ที่เป็นเสมือนกฎเกณฑ์ที่มีคุณค่า ที่เขาบรรยายใน Mythic Representation  the passage from nature to culture ที่นิยายปรัมปรา ถูกทดสอบอยู่บ่อยครั้ง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม พร้อมกับการค้นพบเกี่ยวกับไฟและเกี่ยวกับการปรุงอาหารให้สุก  ความคิดของคนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่เปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติไปยังวัฒนธรรม(อ้างจาก คำบรรยายเรื่อง The raw and the cooked ของLevi-Strauss;1984,หน้า39)  ที่สะท้อนผ่านนิทานปรัมปรา ที่สัมพันธ์กับแหล่งกำเนิดของการปรุงอาหาร  รูปแบบการปรุงอาหาร  ประเภทชนิดของสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร กับการปริโภคเนื้อดิบ สัตว์ที่กินของเน่าเปื่อย ผู้ซึ่งกินของเน่าเปื่อย การจินตนาการเกี่ยวกับสัตว์ที่กินเนื้อ เช่นเดียวกับสิ่งที่อยู่บนบก(ยักษ์หรือสัตว์ประหลาดกินคน) และสิ่งที่อาศัยอยู่ในน้ำ(ปลาพิรันย่า)  ซึ่งสะท้อนผ่านแนวคิดแบบคู่ตรงกันข้าม ระหว่างสุก ดิบ ความสดใหม่และการเน่าเปื่อย ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม เลวี่-สเตร๊าท์ ต้องการสะท้อนให้เห็นกฎเกณฑ์ ระบบระเบียบทางวัฒนธรรม ที่ได้ถ่ายทอดผ่านสมาชิกในสังคม ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค อะไรที่กินได้ อะไรที่กินไม่ได้ อะไรที่สามารถกินดิบได้ อะไรที่ควรปรุงให้สุก และความเหมาะสมกับโอกาสที่เฉพาะในสังคม   เช่นเดียวกับ ข้อห้ามทางเพศในหมู่คนสายเลือดเดียวกัน (Incest taboo) ที่เป็นลักษณะที่ก้ำกึ่งระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่เราสามารถพบได้ในทุกสังคมซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติ และในทางเดียวกันมันก็เป็นการกำหนดขึ้นของสังคมซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรม
เลวี่ สเตร๊าท์ ได้เริ่มประยุกต์ใช้วิธีการทางภาษาศาสตร์ มาศึกษาทางมานุษยวิทยาโครงสร้างของเขา  ที่ได้เปิดเส้นทางของการศึกษางานชาติพันธุ์วรรณา  ระบบความคิด กฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับเรื่องของภาษา และมีการรับมาใช้โดยนักสัญวิทยาและวรรณคดีวิจารณ์อย่างโรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) และนักโครงสร้างนิยมคนอื่นๆ การร่วมงานกันระหว่างเลววี่ สเตร๊าท์และนักภาษาศาสตร์ชาวรัสเซีย ที่ชื่อ โรมัน ยาค็อบสัน(Roman Jakobson;1895-1982) ในช่วงปลายทศวรรษที่1940 ที่จาค็อบสัน ได้นำรูปแบบความคิดแบบคู่แย้งชองโซซูร์ มาประยุกต์ใช้ศึกษาอาการทางประสาทของการพูดไม่ได้หรือไม่เข้าใจคำพูด หรือความบกพร่องในการเลือกคำในเชิงกระบวนชุด และความบกพร่องในการเชื่อมโยงถ้อยคำในเชิงกระแสความ ที่เรียกว่า Aphasia ที่ปรากฎในงานของเขาชื่อ Fundamental of Language ซึ่งเขาสนใจเรื่องการอุปมาเปรียบเทียบ การใช้สิ่งหนึ่งแทนสิ่งหนึ่ง ที่เป็นเรื่องของการแทนที่ การเป็นตัวแทน การทดแทนในเชิงกระบวนชุดที่มีลักษณะการรับรู้บนความคล้ายคลึง  เรียกว่า คำอุปลักษณ์(Metaphor) เช่นใจแข็งเหมือนเพชร ลูกคือดวงใจของพ่อแม่ และการเชื่อมต่อในเชิงกระบวนชุดที่มีลักษณะการรับรู้ถึงความเกี่ยวเนื่องระหว่างสิ่งสองสิ่ง เรียกว่า นามนัย(Metonymy) เช่นหัวรถจักร แทนรถไฟทั้งขบวน  สีดำกับความตาย กินโต๊ะ ล้มมวย แน่นอนว่า การใช้คำแทนที่ หรือเชื่อมโยง เชื่อมต่อกัน ต้องอยู่ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือโครงสร้างร่วมกันในชุมชนที่ใช้ภาษา ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน เราอาจบอกว่าใจแข็งเหมือนหินหรือเพชร แต่ไม่สามารถบอกว่า ใจแข็งเหมือนเมฆหรือปุยนุ่น ที่ขัดกับกฎเกณฑ์หรือโครงสร้างในกำกับความคิดของเราที่เรายอมรับและคุ้นเคยกับมัน เช่นเดียวกับแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของเครือญาติ ซึ่งสะท้อนผ่านการปฎิบัติทางเครือญาติที่กำหนดชุดของความสัมพันธ์ ในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย
งานทางชาติพันธุ์วรรณาและความคิดของเลวี่ สเตร๊าท์ นับว่ามีความน่าสนใจไม่น้อยในการพัฒนาทางมานุษยวิทยา ด้วยการประยุกต์ใช้แนวความคิดเรื่องภาษา มาวิเคราะห์ส่วนประกอบของความไร้สำนึก ในชีวิตทางสังคมของมนุษย์ เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์ได้อ้างถึงการไม่ตระหนักรู้ของพวกเขา              เลวี่-สเตร๊าท์แสดงให้เห็นความแตกต่างในวิธีการของนักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยาว่า ประวัติศาสตร์ จัดระเบียบข้อมูลของมันในความสัมพันธ์ไปยังการสำนึกรู้ของชีวิตทางสังคม ในขณะที่นักมานุษยวิทยา ดำเนินการโดยการทดสอบ พื้นฐานในความไร้สำนึกของมัน(อ้างจากLevi-Strauss, SA.:1963) การก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ภาษาศาสตร์สมัยใหม่ ในหนทางของนักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา นักรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยา ดังที่มาร์แซล มอร์ส (Marcel Mauss) ได้พยากรณ์เอาไว้เมื่อ40-50ปีที่แล้วว่า "สังคมวิทยา จะมีความก้าวหน้าอย่างมั่นคงแน่นอน ถ้ามันมีการติดตาม ไปทุกหนทุกแห่ง ที่นำไปเกี่ยวกับนักภาษาศาสตร์" (SA:1963) เลวี่-สเตร๊าท์ เป็นนักมานุษยวิทยาที่นำเอาวิธีการของภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างมาใช้  ในการศึกษาเรื่องเครือญาติ ชุดคำของเครือญาติที่เป็นเหมือนระบบของหน่วยเสียง  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความหมายเมื่อถูกรวมเข้าไปในระบบ และสร้างความคิดในระดับของความไร้สำนึกของมนุษย์ ที่สะท้อนผ่านชุดคำของเครือญาติ รูปแบบความสัมพันธ์ของเครือญาติ กฎเกณฑ์การแต่งงาน ข้อห้ามทางเพศ ที่ทัศนคติเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดอย่างคล้ายคลึงกัน ในความสัมพันธ์ที่แน่นอน เช่นเดียวกับภาษาศาสตร์ที่กระทำอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ ดังเช่นนักภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างอีกท่านหนึ่งที่ชื่อ N.Troubetzkoy ได้กำหนดนิยามภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างเช่นเดียวกับ โครงสร้างนิยมเชิงระบบ(Systematic Structuralism) และพวกสากลนิยม(Universalism) ที่ต้องการค้นหารหัส โครงสร้างที่เป็นสากล ภาพรวมที่ตรงกันข้ามกับพวกปัจเจกชนนิยม(Individualism) และพวกAtomism  ที่เขาได้อธิบายเกี่ยวกับการลดทอนวิธีการทางโครงสร้างกับ การปฏิบัติพื้นฐาน 4 ลักษณะคือ (อ้างจากLevi Strauss, SA:1963)
 1)ภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง ก้าวข้ามจากการศึกษาเกี่ยวกับปรากฎการณ์การสำนึกรู้ทางภาษาศาสตร์  ไปสู่สิ่งที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของความไร้สำนึกของพวกเขา (Unconscious infrastructure)
 2) ภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การรักษาชุดของคำ เช่นเดียวกับการมีอิสระอย่างสมบูรณ์ แต่มันเป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างชุดคำ (The Relation between Terms)
   3)  ภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างแนะนำแนวความคิดเกี่ยวกับระบบ (Concept of System)
   4) ภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง มีเป้าหมายในการค้นพบและพิสูจน์หลักการหรือกฎเกณฑ์ทั่วไป(General Law)  ในการสรุปรวบยอด หรือลดทอนเชิงตรรกะเหตุผล ที่ได้ให้ลักษณะสมบูรณ์ของพวกเขา
เลวี่ สเตร๊าท์  ได้นำแนวคิดข้างต้นมาใช้วิเคราะห์และศึกษาทางมานุษยวิทยา ในการศึกษารหัสหรือโครงสร้าง ที่ถูกประกอบสร้างในรูปแบบธรรมเนียม กฎเกณฑ์ ซึ่งรหัสเป็นสิ่งที่สามารถแปลความหมายไปยังสิ่งอื่นๆ ที่เป็นคุณสมบัติที่กำหนดลงไปอย่างแน่นอน ดังเช่นนักภาษาศาสตร์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับคำศัพท์และไวยากรณ์ ที่ถูกสร้างขึ้นเกี่ยวข้องกับโครงสร้าง ที่นำไปสู่เรื่องของการศึกษาภาษาและการติดต่อสื่อสาร ของนักมานุษยวิทยา เช่นเดียวกับที่เลวี่-สเตร๊าท์ ศึกษาเกี่ยวกับชุดคำ ระบบของเครือญาติ นิทานปรัมปรา พิธีกรรม ความคิดที่เป็นรูปธรรมของคนป่า ที่ถอดรหัสไปยังเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ทำงานภายใต้ระบบของจิตใต้สำนึกและมีกระบวนการทำงานเช่นเดียวกับโครงสร้างหรือระบบของภาษา เช่นเดียวกับ แนวความคิดเรื่องสัญศาสตร์และสัญวิทยา ของเพิร์ซและโซซูร์ ในการศึกษาเกี่ยวกับสัญญะและสัญลักษณ์ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ในการนำไปประยุกต์ใช้ของนักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ และนักวรรณคดีวิจารณ์ ในปัจจุบัน (ดูรูปตัวอย่างวิธีคิดแบบสัญวิทยาและสัญศาสตร์) ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด (Concept)และจินตนาการของเสียง (Sound-Image) การเปล่งเสียง ที่แสดงให้เห็นด้านโครงสร้างทางสังคมและด้านปัจเจกชนของภาษา
 
คุณูปการของแนวคิดเชิงโครงสร้างนิยม
การให้ความสำคัญกับความคิดของคนชายขอบ ความคิดของคนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่ถูกมองว่าล้าหลัง เป็นวิธีคิดแบบไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ ดังความคิดเกี่ยวกับศาสตร์เชิงรูปธรรม (Bricolage)ที่เลวี่ สเตร๊าท์ศึกษา พบว่า ผู้ชายเผ่าเนกริโท(Negrito)สามารถจดจำและจำแนกชื่อต้นไม้ได้อย่างสบายๆถึง 450 ชนิด นก 75 ชนิด และ มด 20 ชนิด เด็กจากเผ่าตุยกุย (Tyukyu) สามารถบอกชนิดและเพศของต้นไม้จากเศษเปลือกไม้ที่พบ หรือบอกได้จากการดมกลิ่นหรือดูจากความแข็งของเนื้อไม้ว่าเป็นต้นไม้ชนิดใด อินเดียนเผ่าโคฮุยลา (Coahuila) ที่รู้จักพืชที่กินได้ถึง 60 กว่าชนิด และสมุนไพรที่เป็นยาอีก 28 ชนิด ชนเผ่าโฮปี(Hopi)รู้จักพืชถึง 350 ชนิด และเผ่านาวาโฮ (Navaho)รู้จักพืชที่ 500 ชนิด เป็นต้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าสนใจว่า คนดั้งเดิมเหล่านี้ สามารถคิดได้ไกลกว่าเรื่องประโยชน์ใช้สอยอย่างแคบๆ สามารถคิดถึงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอยโดยตรงรวมอยู่ด้วย คนเผ่าโบราณดั้งเดิมมีความรอบรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางชีวภาพเป็นอย่างมาก คือ รู้จักธรรมชาติและอยู่กับธรรมชาติ จึงสามารถพัฒนาความรู้เป็นมากกว่าเรื่องของประโยชน์ใช้สอยเฉพาะหน้า (Use)รวมถึงตอบความอยากรู้ของชุมชนที่สั่งสมถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคนเช่น เผ่าเฮ็ลมีนี(Helmene)และเผ่าไอคูเท (Iakoute)รู้ว่า หากกินแมงมุมกับหนอนขาวก็จะแก้ปัญหาเรื่องเป็นหมันได้ หรือรู้จักใช้อุจจาระหมีแก้โรคท้องผูก เป็นต้น
สิ่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การเป็นหนึ่งเดียวและการอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติ มากกว่าการทำลายล้าง การอยู่เหนือ หรือความต้องการเอาชนะธรรมชาติอย่างที่นิยมคิดกันในระบบความคิดของคนสมัยใหม่ ดังนั้นคนสมัยใหม่จึงมองว่าความคิดของคนดั้งเดิม ล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า เพราะไม่เอาชนะธรรมชาติ ทั้งที่ความจริง คนโบราณดั้งเดิมก็มีระบบคิด มีภูมิปัญญาของตัวเอง เพียงแต่เป็นคนละระบบระเบียบกับคนสมัยใหม่
ในที่นี้พูดถึง ความคิดของคนดั้งเดิม ที่ยังปราศจากวาทกรรมจากภายนอกเข้ามาเพราะชุมชนหมู่บ้าน สมัยนี้ อยู่ภายใต้กรอบวาทกรรม ความรู้ความจริงของคนกลุ่มต่างๆที่เข้ามาปะทะประสาน โดยมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ต่างกัน ภายใต้Reason Choice เบื้องหลังที่แตกต่าง ความสำคัญคือ สิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนอยู่ได้จริงหรือหรือเป็นมายาคติชุดหนึ่งที่ปิดบังความจริงอีกชุดหนึ่ง เป็นนิทานปรัมปราเรื่องหนึ่งของใคร? สุดท้ายความรู้ชุดนี้อาจทำให้ชุมชนอยู่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านจะไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อมายาคติชุดดังกล่าวกลายเป็นความจริงและส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
ความคิด ความเชื่อที่ว่าคนเผ่าโบราณดั้งเดิมล้าหลังเนื่องจากไม่มีวิธีการหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์ หรือวิธีการหาความรู้แบบวัตถุวิสัย (Objective Knowledge)ซึ่งเลวี่ สเตร๊าท์ไม่เห็นด้วย เนื่องจากความคิดของคนโบราณอยู่บนฐานของการสังเกต เปรียบเทียบ เป็นความรู้เชิงรูปธรรมที่มีโลกแห่งความเป็นจริงรองรับไม่แตกต่างจากองค์ความรู้ของคนสมัยใหม่ เป็นการจัดประเภทแยกแยะธรรมชาติรอบตัวอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ว่าพืช สัตว์ สิ่งของ คุณจะบอกอย่างไรว่ามนุษย์ปัจจุบันแทนดาวเป็นแฉกเมื่อวาดภาพหรือติดเครื่องหมายแสดงยศบนบ่ากับดาวจริงๆบนท้องฟ้า
เลวี่ สเตร๊าท์ บอกว่า หากไม่เอาความคิดหรือมาตรฐานของวิทยาศาสตร์มาเป็นตัวกำหนดตัดสินแล้ว ไสยศาสตร์คือระบบความคิดแบบหนึ่งที่มีฐานะไม่แตกต่างไปจากวิทยาศาสตร์ ไสยศาสตร์ไม่ใช่รูปแบบแรกของวิทยาศาสตร์ เป็นคนละประเภทกับวิทยาศาสตร์แต่เป็นระบบคิด วิธีคิดที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่อาจเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ได้
วิธีคิดแบบคู่ตรงกันข้ามถือได้ว่าเป็นวิธีการศึกษาที่อยู่เรื่องของโครงสร้างทางภาษาที่คิดภายใต้ตรรกะของความแตกต่างหรือคู่ตรงกันข้ามที่ก่อให้เกิดความหมายหรือความเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ มนุษย์สามารถคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆภายใต้ตรรกะของความแตกต่างและการเปรียบเทียบในระบบเสียง ของภาษา ของรูปสัญญะ  เช่นดียวกับภาษาที่จะมีทั้งเรื่องของโครงสร้างทางภาษาที่เป็นเสมือนด้านสังคม กับส่วนที่เป็นด้านของปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับ ภาพประทับของเสียง การเปล่งเสียง การรับฟังเสียง เป็นต้น เช่นเดียวกับการศึกษานิทานของเลวี่ สเตร๊าท์ ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนิทานปรัมปรา ว่าสามารถแปลได้ง่ายมาก แม้ว่าข้อความจะมีการตกหล่นไม่สมบูรณ์ หรือแปลตกหล่นก็พอปะติดปะต่อได้ ข้อนี้เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ นิทานปรัมปรา เป็น "ภาษา" หรือ "รหัส" พิเศษ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการ "อ่าน" หรือ "ถอดรหัส" ด้วยวิธีการเฉพาะเช่นเดียวกัน
แม้ว่าคุณูปการของการวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ขณะเดียวกันเราก็ปฏิเสธจุดอ่อนของการวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมไม่ได้เช่นกัน

บทวิพากษ์แนวคิดโครงสร้างนิยม
1.กระบวนการทำให้เป็นนามธรรมและรูปลักษณ์นิยม
ระบบภาษาของโซซูร์ละเลยจุดกำเนิดทางวัตถุของภาษา และตัดขาดจากมิติทางจิตวิทยา เนื่องจากคำอธิบายของภาษาของเขาไม่อิงกับปัจจัยกำหนด จาก "จิตสำนึก" เป็นพื้นฐาน แม้กระทั่งในระดับชีววิทยาก็ตามแม้โซซูร์จะพูดถึง "โครงสร้างระดับลึก" แต่ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับจิตไร้สำนึกในความหมายแบบฟรอยด์ การวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมเป็นการอ่าน "ระดับพื้นผิว"  ในเชิงนามธรรมซึ่งผิดแผกจากการอ่าน "ระดับลึก" แบบฟรอยด์หรือมาร์กซ์ซึ่งคิดในกรอบการวิเคราะห์อาการป่วยไข้ มีต้นตอ สาเหตุ การรักษา ตรงกันข้ามกับโครงสร้างนิยมที่ปลอดจากความมุ่งหมายที่จะ "บำบัด"
แม้ยาค็อบสัน ไม่ได้ปฏิเสธจุดเริ่มต้นที่เป็นวัตถุ (ประสาทวิทยา) และความเป็นจริงเกี่ยวกับอาการภาษาแปรปรวน แต่การวิเคราะห์ของเขามีแนวโน้มจะทำให้โรคเป็นนามธรรมและพยายามสร้างแบบแผนให้กับมันอาการภาษาแปรปรวน (aphasia) ซึ่งเป็นอาการที่บกพร่องของการใช้ภาษาอย่างรุนแรง เนื่องจากสมองบางส่วนได้รับความกระทบกระเทือน โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการเลือกใช้คำเชิงกระบวนชุดมีแนวโน้มที่จะพูดโดยใช้คำที่เกี่ยวเนื่องหรือนามนัย ผู้ป่วยที่บกพร่องเรื่องการเชื่อมโยงถ้อยคำ(เชิงกระแสความ) จะใช้แต่คำที่คล้ายคลึงกันหรืออุปลักษณ์
โครงสร้างนิยมได้เปิดพื้นที่เชิงรูปแบบให้แก่การวิเคราะห์ แต่ก็เป็นพื้นที่นามธรรมที่ไร้มิติ ซึ่งอาจดูคล้ายกับปรัชญา (คิดเกี่ยวกับความคิด) และยังเชื่อมั่นในกฏของการคิดด้วยเหตุผลเพื่อได้มาซึ่งภาพโดยรวมของโลกโครงสร้างนิยมเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกับเหตุผลนิยมสุดขั้ว  โดยอ้างว่า ความหมาย คือ ผลผลิตของกระบวนการสื่อความหมาย กระบวนการนี้ดำรงอยู่ในโครงสร้างอันเป็นสากลและนิรันดร์ ก่อให้เกิดระบบปิดอันเสถียรซึ่งอิงอยู่กับคู่แย้งหน่วยต่างๆ ของระบบหรือรูปสัญญะต่างๆ จะสื่อความหมายก็ต่อเมื่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ของรูปสัญญะกับความหมายสัญญะ ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือสิ่งของ หรือการกระทำ ล้วนเป็นสิ่งสมมติร่วมกันที่ตั้งอยู่บนฐานของขนบเพียงอย่างเดียว
2.การทำให้มนุษย์กลายเป็นเพียงรูปแบบ
"ฉันคิด ฉันจึงดำรงอยู่" ซึ่งสะท้อนว่าฉัน ผู้เป็นอัตบุคคล อันมีเอกภาพซึ่งเป็นเสาหลักของปรัชญาและตรรกะแบบตะวันตก ได้สลายกลายเป็นผู้ใช้ภาษาและผู้สื่อภาษา "ฉัน" เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากภาษาถูกให้ความหมายโดยการใช้ภาษา ไม่ใช่โดยตัวความหมาย และถูกสร้างขึ้นในรูปแบบเดียวกับอุปลักษณ์และนามมัย โครงสร้างนิยมไม่พยายามจะอธิบายว่า อะไรเป็นแรงจูงใจในการใช้ภาษาของอัตบุคคลในฐานะที่เป็นปัจเจก ดังนั้นตรรกะของระบบจะหลบเลี่ยงและก้าวข้ามเหตุชักนำในการใช้ภาษาของอัตบุคคล ประเด็นเรื่อง การสื่อสารความคิดส่วนบุคคล นั้นไม่อยู่ในความสนใจของนักโครงสร้างนิยม แต่สิ่งที่เขามุ่งสอบสวนคือ "ความคิดส่วนบุคคล" เข้ามาสู่ระบบได้อย่างไร
3.ความปลอดนัยยะทางประวัติศาสตร์
โครงสร้างนิยมปลอดจากนัยยะทางประวัติศาสตร์ หรือพูดให้ถูกคือ ไร้ความเป็นประวัติศาสตร์ (a-historical)การวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมใช้การได้(ตามหลักการ) ไม่ว่าจะอยู่ในประวัติศาสตร์แบบไหน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการละทิ้งต้นกำเนิดและแรงจูงใจทางประวัติศาสตร์  รวมทั้งลักษณะที่เป็นนามธรรมและเน้นการใช้ปัญญาของโครงสร้างนิยม ทำให้แนวคิดนี้เป็นโครงการที่มีแนวโน้มแบบสมัยใหม่นิยม และเป็นเหมือนการผันตัวเข้าสู่ทฤษฎีหลังสมัยใหม่ ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าแล้วว่า สมัยใหม่จะต้องกลายเป็นหลังสมัยนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แดริดากล่าวว่า  เลวี่ สเตร๊าท์ ใช้วิธีการศึกษาแบบที่เอามาตรฐานของตัวเองมาเป็นศูนย์กลาง (Ethnocentrism) ยังคงเป็นการตอกย้ำ หรือผลิตซ้ำวิธีคิดแบบที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอย่างแข็งขัน คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่สำคัญคือปัญหาของเลวี่ สเตร๊าท์ในเรื่อง การแยกระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็ง ตามแนวคิดเรื่องคู่ตรงกันข้ามนำไปสู่กับดักทางความคิดและปัญหาในการศึกษาทางมานุษยวิทยา

คำถาม
1 เมื่อคุณได้อ่านบทความชิ้นนี้และได้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับเลวี่ สเตร๊าท์ คุณคิดว่าวิธีการศึกษาและแนวคิดเรื่องศาสตร์เชิงรูปธรรม โครงสร้างทางภาษา ระบบสัญลักษณ์ประจำเผ่า สายตระกูล การแยกระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม  ของเขามีความสำคัญต่อการศึกษาทางมานุษยวิทยาในยุคปัจจุบันหรือไม่
    2 คุณคิดว่าคุณจะอธิบายเรื่องข้อห้ามทางเพศ (Incest Taboo)ผ่านเรื่องของธรรมชาติและวัฒนธรรมได้อย่างไร
3 จากข้อข้างต้น คุณคิดว่าปัญหาของเลวี่ สเตร๊าท์ ในการแยกระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็ง ตามแนวคิดเรื่องคู่ตรงกันข้ามนำไปสู่กับดักทางความคิดและปัญหาในการศึกษาทางมานุษยวิทยาอย่างไร

บรรณานุกรมภาษาไทย
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2545)  สัญวิทยา ,โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์  . กรุงเทพฯ : วิภาษา.
ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (2527) ไม่มีสังคมใดเหนือกว่าสังคมอื่น:ทรรศนะในการศึกษามานุษยวิทยาของ Claude Levi Strauss" วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. ปีที่2 ฉบับที่2 (กุมภาพันธ์) 60-76.
ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (2533)  "เค้าโครงความคิดเรื่องโครงสร้าง ในการศึกษานิทานปรัมปรา ของโคลด เลวี่-เสตราส์" วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่17 ฉบับที่1 (มิถุนายน)45-79.

บรรณานุกรมภาษาต่างประเทศ
Hawkes Terence[1977]. " Linguistic and Anthropology"  "Science of Sign" In Structuralism and Semiotics ,Methuen and co Ltd.
Hugh J.Silverman[1994] "French Structuralism and After De Saussure,Levi-Strauss,Barthes,Foucault" P.391-408.In  Continental Philosophy in The 20th Century edited by Richard Kearney,Routledge history of Philosophy volume8
Levi-Strauss,Claude[1987] "Introduction to the work of Marcel Mauss" Transleted by Felicity Baker Routledge and Kegan Paul London.
Levi-Strauss,Claude[1976] "Structural Anthropology Volume1  Transleted from the French by Monique Laution ,Basic Book Inc Publisher Newyork.
Levi-Strauss,Claude [1963]. " Introduction History and anthropology"P.1-27 "Effective of Symbol"P.187-205and "Structural Analysis in Linguistics and in Anthropology" P.31-79 In Structural Anthropology Volume 2 Transleted from Franch by Claire Jacobson and Brooke Grundfest Schoepf,Basic Book.
Levi-Strauss Claude[1984] "Anthropology and Myth  Lecture 1951-1982" Transleted by Roy Willish,Basil Blackwell.
Singer,Milton B.[1984]. "man's glassy essence exploration in semiotic anthropology" ,Indiana university press.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น