วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

ทะแยมอญคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ของชุมชนบางกระดี่
ความเป็นมาของทะแยมอญ
ทะแยมอญ เป็นการละเล่นพื้นบ้านของคนมอญ ที่มีความเก่าแก่ และมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาภาคสนาม พบว่า ไม่มีใครที่สามารถจะระบุถึงต้นกำเนิดของทะแยมอญได้ชัดเจน ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด บอกได้แค่เพียงว่า เมื่อเกิดขึ้นมาจำความได้ ก็ได้พบเห็นการแสดงชนิดนี้แล้ว จากการค้นหาเอกสารที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์มอญ พบว่า การละเล่นทะแยมอญนี้ มีมาตั้งนานแล้ว และปรากฎในพงศาวดารเรื่องราชาธิราช ที่กล่าวถึงชาวบ้านในสมัยนั้น ร้องเพลงทะแยมอญกล่อมเด็ก หรือบอกนิมิตรต่างๆที่ปรากฎในบางตอนของเรื่องราชาธิราชนี้ ซึ่งคาดว่าการละเล่นชนิดนี้คงเป็นการละเล่นที่มีมานานแล้ว เป็นการละเล่นพื้นบ้านของคนมอญ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ทางสังคมและวัฒนธรรมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มอญตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
สำหรับการละเล่นทะแยมอญ ในชุมชนมอญหมู่บ้านบางกระดี่ เกิดขึ้นจากความสนใจและความชอบร่วมกัน โดยใช้ใช้เวลาว่างจากการทำการเกษตร ทำไร่ทำนา ก็หยิบเครื่องดนตรีที่ตนถนัดมาคนละชิ้น มานั่งเล่นรวมกัน ดังเช่นที่คุณลุงกัลยา หัวหน้าคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ซึ่งเป็นวงทะแยมอญวงเดียวที่ยังเหลืออยู่และก่อตั้งมาประมาณ20กว่าปีแล้ว บอกกับผมว่า “ ทะแยมอญมีมานานตั้งแต่ผมเล็กๆ เลย เวลาเลิกจากนาเขาก็มารุม คนนั้นชิ้นคนนี้ชิ้น เวลามีงานเขาก็มีทะแยมอญมาร้องรำ เป็นประจำหมู่บ้านเลยละ ทะแยมอญ คนเฒ่าคนแก่ก็รักษา สืบทอดกับลูกหลานต่อๆมา… รุ่นเก่าๆเหลือไม่กี่คนแล้ว ที่เป็นเครื่องสาย เห็นแกสีซอดีดจระเข้ ก็สนใจ …เมื่อก่อนผมทำงานการไฟฟ้านครหลวงมีซอด้วงอันเดียว เล่นไม่เป็น ขึ้นสายก็ไม่เป็น มีคนแก่เขียนโน้ตให้เพลงหนึ่ง ลาวเชิงเทียน ง่ายๆสั้นๆหน่อย ก็เป็น ต่อมาตามผู้ใหญ่ไปแสดงบ่อยๆ ก็จำเอา ดีดเอาเองสีเอาเอง เมื่อก่อนไม่ต้องจ้างมีงานอะไร ก็มีทะแยมอญแสดงแล้ว งานบวช งานแต่งงาน …”
ดังนั้นการละเล่นทะแยมอญ จึงถือเป็นวัฒนธรรมและวรรณกรรมมุขปาถะ ที่ใช้ภาษามอญในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ และใช้เครื่องดนตรีในการให้จังหวะขับกล่อมบรรเลงอย่างน่าฟัง ซึ่งมีผู้ศึกษางานวรรณกรรมและประเพณีต่างๆหลายท่าน ได้วิเคราะห์ทางจิตวิทยาการเมือง เชื่อมโยงกับความคิดทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจว่า การเป็นชนชาติไร้แผ่นดิน ทำให้วิถีแห่งศิลปะในชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้น ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในท่วงทำนอง และเนื้อหาที่เศร้าสร้อย โศกสลด ท่วงทำนองที่โหยหวน เศร้า ชวนวังเวง เช่นการละเล่นของมอญ ดังเช่น เพลงมอญ มอญร้องไห้ มอญรำ ซึ่งมักจะนำไปใช้ในงานศพเป็นหลัก แต่ในทางตรงกันข้ามทะแยมอญ กลับเป็นการละเล่น ที่ใช้ศิลปะไหวพริบและทักษะทางด้านดนตรีของผู้ขับร้องและผู้แต่ง ประพันธ์วรรณกรรมในเวลาเดียวกัน โดยการแต่งกลอนสดด้นไป และประกอบการร่ายรำไปพร้อมกัน โดยมีดนตรีประกอบจังหวะ โต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง สาระเนื้อหา ที่สื่อออกมาก็มีการปรับเปลี่ยน ตามสถานการณ์และตามปฎิภาณไหวพริบของแต่ละคน และเนื้อหายังสอดคล้องไปกับสภาพของงานแต่ละงาน ว่าเป็นงานบุญ งานบวช งานแต่งงาน หรืองานศพ เป็นต้น อีกทั้งดนตรีที่บรรเลงสอดประสานก็มีความพริ้วไหว บีบคั้นอารมณ์ สนุกสานรื่นเริงคละเค้ากันไป ที่ใช้ได้ในทุกๆโอกาสด้วย

ลักษณะของการละเล่นทะแยมอญ

การละเล่นทะแยมอญคือการละเล่นที่เป็นการร้องรำโต้ตอบกันระหว่างสองฝ่าย คือชายหญิง ซึ่งจะมี4-6คน เวลาแสดงก็จะแต่งตัวพื้นบ้านแบบมอญ และออกมาร้องเป็นคู่ ชาย-หญิง สลับกัน คล้ายๆลำตัดหรือเพลงฉ่อยซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านของภาคกลางที่ใช้ร้องโต้ตอบกันระหว่างชายกับหญิงตามเนื้อหาตามบทของแต่ละคน เช่น เล่นเรื่องพระเวสันดร ก็อาจมีบทของพระเวสสันดร นางมัทรี ชูชก นางอมิตดาก็มี4 คน เป็นต้น การละเล่นทะแยมอญ นอกจากจะประกอบด้วยผู้ร้องและรำทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงแล้ว ยังประกอบด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านมอญ อันประกอบด้วย “ซอสามสาย (โกร้) ขลุ่ย(กะโอ้ต) จระเข้ (จยาม) กลองเล็กสองหน้า(เปิด-ตัง)และ ฉิ่ง(ขะเด)เล่นคลอจังหวะประกอบ
ลักษณะการละเล่นของทะแยมอญ ดังที่กล่าวข่างต้นว่าคล้ายกับลำตัด เพลงฉ่อยที่เป็นเพลงพื้นบ้านภาคกลางที่ใช้ร้องโต้ตอบกัน ระหว่างชายหญิง คล้ายหมอลำกลอนใส่แคนเต้าเดียว ของคนอีสานหรือคนลาว ที่ร้องเพลงโต้ตอบถามปัญหากัน เพื่อวัดปฎิภาณไหวพริบระหว่างชายและหญิง สิ่ง ที่น่าสังเกตและสนใจก็คือ ความเป็นวรรณกรรมมุขปาถะที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการสืบต่อและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี เหตุการณ์ในปัจจุบันต่างๆ ให้คนภายในชุมชนและคนภายนอกได้รับรู้ โดยเฉพาะในชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ ดังนั้นทะแยมอญ จึงไม่ใช่แค่เพียงการละเล่นรื่นเริงสนุกสนานเท่านั้น แต่มันเป็นเครื่องมือสำคัญในการธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และปลุกเร้าสำนึกทางชาติพันธุ์ของคนกลุ่มชาติพันธุ์มอญในที่ต่างๆ ที่วงทะแยมอญได้ไปแสดงโดยใช้ภาษามอญ ในการสืบทอดและการแสดงออกทางวัฒนธรรมโดยผ่านการละเล่นพื้นบ้านนี้


โอกาสและเนื้อหาในการแสดง
กลุ่มชาติพันธุ์มอญนิยมการละเล่นทะแยมอญในทุกๆโอกาส เพราะการแสดงประเภทนี้ ไม่ได้มีเฉพาะเนื้อหา และท่วงทำนองในเชิงที่เศร้าสร้อย โศกสลด ดังเช่นการแสดงมอญรำ มอญร้องไห้ ปี่พาทย์มอญ ที่นิยมเล่นในงานอวมงคลเช่นงานศพ ในขณะที่การละเล่นทะแยมอญนั้น ใช้ได้แทบทุกโอกาส ทั้งมนงานมงคลและงานอวมงคลต่างๆ เช่นโกนจุก บวชนาค แต่งงาน ฉลองพระ ขึ้นบ้านใหม่ ดังที่คุณลุงกัลยา กล่าวว่า “ ทะแยมอญ เพลงที่ใช้เล่นได้ทั้งนั้น ทุกโอกาส ทั้งพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้า พิมพา พระเวสสันดร มัทรี ตอนพระเวสสันดรจะไปเขาวงกต ถ้างานบวชก็จะเล่นพวกสิทธัตถะ พระนางพิมพา ตอนออกบวช งานศพก็ได้ เช่น เล่นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำบุญสุนทาน เขาก็จะได้อานิสงส์ติดตัวไป วิญญาณจะออกจากร่างกายและทิ้งสังขารไว้อะไรพวกนั้น…” “งานวันชาติมอญกล่าวถึงเรื่องพม่าตีเมืองมอญดั้งเดิม แต่ปู่ย่าตาทวด ก็มาอาศัยอยู่ในเมืองไทย ร่มโพธิสมภารกษัตริย์ไทยเรา…”
ทะแยมอญถือเป็นการละเล่นและศิลปะชั้นสูงของคนมอญ ที่อาศัยปฎิภาณไหวพริบในการโต้ตอบกัน ซึ่งนอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วยังเป็นการถ่ายทอดสำนึกทางชาติพันธุ์ของคนมอญ ทั้งในเรื่องของชาติ วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆของคนมอญ มิให้สูญหายไป และใช้การแสดงทะแยมอญนี้ในการตอกย้ำถึงอัตลักษณ์ ทางชาติพันธุ์ของคนมอญ ที่แสดงออกมาผ่าน ฉาก เนื้อหา การแต่งกายและดนตรี ที่จะได้กล่าวถึงต่อไป
ทะแยมอญ ยังคงเป็นการละเล่นที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนมอญ ที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ทั้งในเมืองไทยและในพม่า ดังจะเห็นได้ว่าประเพณีต่างๆไม่ว่าจะเป็น กฐิน ผ้าป่า งานสงกรานต์ โกนจุก งานศพ งานบวช ก็จะมีการจ้างวงทะแยมอญคณะหงส์ฟ้ารามัญไปแสดงให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่อาศัยอยู่จังหวัดต่างๆในเมืองไทย และในประเทศพม่าที่มีกลุ่มคนมอญกู้ชาติอาศัยอยู่ด้วย เช่นในงานวันชาติมอญเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 ซึ่งเป็นการฉลองวันชาติมอญปีที่47 ที่บ้านอองชะเนเดิง เขตจังหวัดมะริด ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตปลดปล่อยของคนชาติมอญ ที่ติดกับอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คณะหงษ์ฟ้ารามัญ ซึ่งเป็นวงทะแยมอญของชุมชนบางกระดี่ได้เข้าไปแสดงการละเล่นพื้นบ้านมอญนี้ด้วย ซึ่งการละเล่นชนิดนี้นับวันยิ่งจะสูญหายเนื่องจากไม่มีคนที่จะสืบต่อ ในชุมชนมอญที่อยู่ในประประเทศไทย การแสดงทะแยมอญ มีอยู่ที่ชุมชนมอญพระประแดง จ.สมุทรปราการ และชุมชนมอญบ้านบางกระดี่ บางขุนเทียน กรุงเทพฯ ที่คนมอญมักจะพูดถึง แต่ที่พระประแดง ทะแยมอญได้สูญหายไปแล้ว เพราะงานเทศกาลประเพณีที่สำคัญของคนมอญ เช่นงานสงกรานต์ ก็ยังเอาวงทะแยมอญของบางกระดี่ไปแสดง ดังที่คุณลุงกัลยาบอกว่า “นอกจากคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ทะแยไม่มีเลยละประเทศไทย …อย่างพระประแดงก็หายไปหมดแล้ว พูดภาษามอญก็ยังไม่ค่อยมีแล้ว เป็นอย่างนั้น เราก็เลยต้องอนุรักษ์ไว้เดี๋ยวหายสาปสูญ” เพราะงานสงกรานต์ที่พระประแดงถือว่ามีชื่อเสียงมาก ดังที่ Brian L.Foster บอกว่า “At Prapadaeng …just sort of Bangkok which is well Known for it colorful songkran festival “ หรือดังที่ Holliday กล่าวถึงคนมอญที่อยู่ปากเกร็ดว่า “ At Pakert where course pottery is made” ซึ่งอัตลักษณ์ของคนมอญที่ปากเกร็ดที่คนทั่วไปรู้จักก็คือ การปั้นหม้อ สิ่งเหล่านี้คือการแสดงออกทางวัฒนธรรม (cultural expressions) และเป็นสัญลักษณ์ที่กำหนดอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์(symbolic Formulative of ethnic identity ) ดังที่คายส์เสนอ
ดังนั้นถ้าผมจะกล่าวว่า อัตลักษณ์ของคนมอญที่บ้านบางกระดี่ ที่เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรม อันสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์มอญชุมชนบ้านบางกระดี่ที่มีความโดดเด่น และมีความสำคัญ ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในชุมชนมอญในประเทศไทย ก็คือการละเล่นทะแยมอญ ก็น่าจะกล่าวได้ว่า “ At Bangadee where is well know for it Tayae-Mon Dancing and Folk Song “ นั่นก็คือ เมื่อพูดถึงชุมชนบางกระดี่ก็ย่อมนึกถึงการแสดงทะแยมอญ
ในการแสดงทะแยมอญ ของคณะหงษ์ฟ้ารามัญ (คณะหงษ์ฟ้ารามัญก่อตั้งมาประมาณปี 2525-2526 เมื่อก่อนยังไม่มีชื่อและเป็นวงทะแยมอญของหมู่บ้านก่อนที่คุณลุงกัลยาจะสืบทอดต่อมาและตั้งชื่อขึ้นเพื่อให้เป็นที่รู้จัก เลยใช้คำว่าหงษ์ฟ้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนมอญ กับคำว่ารามัญ ซึ่งเป็นคำเรียกคนมอญมาเป็นชื่อวง ) ที่บ้านบางกระดี่ การแสดงชนิดนี้ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะคนในชุมชนมอญ หรือคนกลุ่มชาติพันธุ์มอญเท่านั้น แต่การแสดงประเภทนี้ สามารถแสดงได้ทั่วไปและเชื่อมพรมแดนของความแตกต่างทางชาติพันธุ์ โดยอาศัยการแสดงทะแยมอญเป็นตัวเชื่อม ซึ่งสามารถพบได้ในปรากฎการณ์ทางความเชื่อของผู้คน ที่มีต่อเทพเจ้า ต่างๆทั้งของพราห์ม จีน ฮินดู พุทธ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรมของไทย ของมอญก็เช่นกัน มอญก็มีเทพ มีกษัตริย์ มีผีบรรพบุรุษที่พวกเขานับถือ และตั้งศาลคารพบูชา เพื่อกราบไหว้ เคารพบูชา บนบานศาลกล่าว แก่ผู้คนทั่วไป หรือเป็นผู้ประทับทรงเทพต่างๆ และเมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาเคารพนับถือได้ดลบันดาลให้พวกเขาตามความประสงค์ มหรสพที่สำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการแก้บนเพื่อตอบแทนบุญคุณและถวายสักการะก็คือ การละเล่นทะแยมอญ ดังที่คุณลุงกัลยาบอกว่า “คนที่อื่นที่ไม่ใช่คนมอญอยากจะดูทะแยมอญ ก็ได้ แสดงได้ เหมือนตอนไปแสดงอยู่ที่ศูนย์มนุษย์เพื่อการศึกษาอนุรักษ์ งานทั่วๆไป คนทั่วๆไป นี่ก็ไป เขาจะแก้บนอะไร ศาลเจ้า เขาบนบานไว้ เดิมก็เป็นมอญเจ้าองค์นั้น เจ้าก็บอกเอาทะแยมอญไปแก้บน ทั้งที่ไม่รู้จักไม่เข้าใจภาษา คนไทยละเอาไป… บนวันนั้นวันนี้ หายเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เอาของเราไป หงษ์ฟ้ารามัญไปแสดง คนไทยก็มี เขาไปบนบานให้ลูกเต้าเขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และได้จริงๆขึ้นมา เขาก็มาแก้บนทะแยมอญ เพราะที่ศาลประทับเป็นคนมอญ …ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนมอญ ได้ทุกงาน ทุกสาขาอาชีพ ทุกภาษา” คำพูดของหัวหน้าคณะหงษ์ฟ้ารามัญท่านนี้น่าคิดและน่าจะนำมาวิเคราะห์ต่อถึงความเชื่อทั้งทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่แต่ละบุคคลก็นับถือเฉพาะแตกต่างกันไป เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่ซับซ้อน สิ่งที่ผมสนใจ ก็คือ เมื่อเวลาที่ผู้ขอประสบความสำเร็จดั่งที่ขอไว้ ก็จะนำมหรสพประเภทต่างๆตามสัญชาติและเชื้อชาติของเทพเจ้านั้นๆมาแสดง เช่น ศาลเจ้าจีนก็นำงิ้วมา ย่าโมก็นำเพลงโคราช หรือลิเก ของอีสานก็อาจเป็นหมอลำ ศาลมอญก็ทะแยมอญ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่เป็นเช่นนี้เสมอไป เราอาจเห็นงิ้วแสดงที่วัดไทยก็ได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือการสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางความคิดและการแสดงออกเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของคนธรรมดาทั่วไป ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีเชื้อชาติ นั้นๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้พิธีกรรม การแสดงทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์หรือเทพเจ้าต่างๆที่พวกเขาเคารพกราบไหว้ โดยผ่านการแสดงที่ใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น วึ่งแสดงให้เห็นสำนึกทางชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญ อย่างเช่นในทะแยมอญก็จะมีการใช้ภาษามอญ ก่อนเริ่มแสดงก็มีการบรรเลงเพลงเปิดโรง ต้องมีการเชิญครู มีน้ำมนต์ประพรม มีคาถา “ มีค่ายกครู 12 บาท พานดอกไม้ธูปเทียน บุหรี่และเหล้าขวด เป็นของเซ่นไหว้” และบอกกล่าวเล่าแจ้งแทนเจ้าภาพว่าเป็นงานอะไร และใครเป็นคนจัดหามา ภาษามอญจึงเป็นส่วนสำคัญ ที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์นั้นใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารภายในกลุ่ม และในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ซึ่งภาษามอญก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากในการแสดงทะแยมอญ โดยปรากฎในเนื้อร้อง ที่เป็นบทสนทนาโต้ตอบระหว่างกัน และภาษาเหล่านี้ก็ยังถูกใช้ในชีวิตประจำวันของชุมชนมอญด้วย สิ่งเหล่านี้ก็คือการธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ที่ใช้ภาษาเป็นเครื่องบ่งชี้ทางสังคมวัฒนธรรมและใช้เป็นรากฐานทางประเพณีบางอย่างร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขายืนยันถึงเอกลักษณ์ของความเป็นคนมอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น