วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

วิเคราะห์พิธีกรรมความตาย ของชนเผ่า Bara ในหมู่เกาะมาดากัสการ์ (Madagascar)
อ.นัฐวุฒิ สิงห์กุล

    (อ้างอิงจากhttp://joshuaproject.net/people-profile.php?peo3=10672&rog3=MA)
ประวัติศาสตร์ของม์ดากัสการ์
    สาธารณรัฐมาดากัสการ์ (Republic of Madagascar) เป็นประเทศเกาะที่ตั้งอยู่บนมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่นอกชายฝั่งของแอฟริกาใกล้กับประเทศโมแซมบิก เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ4 ของโลก ซึ่งทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรทางกายภาพและชีวภาพรวมถึงภาษาและวัฒนธรรมของชมเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ประกอบด้วยชาวมาลากาซี ชาวบารา ชาวเมรินา ชาวเบตซิเลโอ ชาวซึมีเฮติและชาวสะลากาวะ จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่า หมู่เกาะมาดาร์กัสการ์มีคนมาอาศัยอยู่กว่า 200 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม ก่อนที่จะมีชนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน คือ แอฟริกันและอินโดนีเซียในช่วงศตวรรษที่16 ภายใต้การนำของดิเอโก เดียซ์ นักเดินเรือและนักบุกเบิกชาวโปตุเกส
    ในอดีตหมู่เกาะมาดากัสการ์รวมตัวกันภายใต้ระบบกษัตริย์ในช่วงปีพ.ศ.2340-2404 ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ามาอ้างสิทธิ์ในการปกครองในปีพ.ศ.2483จนกระทั่งในปีพ.ศ.2439 ระบบกษัตริย์ถูกทำลายลงไป ประเทศมาดากัสการ์ก็ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส กษัตริย์องค์สุดท้ายคือพระราชินีนาถรานาวาโลที่3 แห่งมาดากัสการ์และต่อมาปีพ.ศ.2501 ได้มีการลงมติให้สาธารณรัฐมาลากาซีมีอำนาจปกครองตัวเองในประชาคมฝรั่งเศสและประเทศมาดากัสการ์ได้รับเอกราชในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ต่อมาก็ได้มีการอพยพย้ายถิ่นของชาวอาหรับ อินเดียและยุโรปเข้ามาในบริเวณนี้มากขึ้น
สภาพทั่วไปของสังคมบาร่า
    เมืองบาร่าอยู่ทางภาคใต้ตอนกลางของมาดากัสการ์ โดยมีส่วนที่ยื่นออกไปบรรจบกับภาคตะวันออกและภาคตะวันตกคือเมือง ไอบาร่า (Ibara) ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนและยึดถือประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด ทำให้สังคมบาร่าในปัจจุบันแนวความคิดใหม่ของโลกสมัยใหม่ไม่สามารถซึมผ่านได้ง่าย ในขณะเดียวกัน ประเพณีบางอย่างเช่นการขโมยวัวจากคอกปศุ สัตว์นำไปสู่สภาวะที่ไม่ปลอดภัย รวมทั้งการถูกคุกคามจากขโมยที่พวกเขาไม่สามารถจัดการได้และการต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงไป  ทำให้คนบ่าร่าในปัจจุบันที่ได้รับการศึกษาเปิดรับความคิดของตะวันตกและทางเลือกในความคิด วิถีชีวิตของตนเองบางคนละทิ้งที่หมู่บ้านตัวเองและไปแสวงหาวิถีชีวิตใหม่ที่แตกต่าง
    ปัจจุบันภาษาท้องถิ่นของชาวบาร่าที่ใช้คือภาษาบาร่า ส่วนภาษาราชการคือ มาลากาซี่ (Malagasy)  ศาสนาที่พวกเขานับถือคือศาสนาดั้งเดิมที่นับถือสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ภูตผี วิญญาณกว่าประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาคริสต์ นิกายลูเธอแลนและคาทอลิค ซึ่งศาสนาดังกล่าวคนนับถือน้อยมาก  จากการสำรวจประชากรของชาวบาร่าเมื่อปี ค.ศ. 2000 พบว่ามีประชากรชาวบาร่าจำนวนประมาณ 520,000 คน
สภาพสังคมและวัฒนธรรมของชาวBARA
    สังคมของชาวบาร่าเป็นสังคมเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน (Pastoralism) ที่จะมีการอพยพเคลื่อนย้ายไปตามฤดูกาลเพื่อให้สัตว์และคนมีอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สังคมของชาวบาร่า ผู้ชายมักจะอ้างถึงตัวเองว่า “Baralahy” ซึ่งแปลว่ามนุษย์ผู้ชายบาร่าผู้มีร่างกายแข็งแรง (Bara Males meaning Strong man ) เด็กชาวบาร่า (Bara Boy)จะต้องผ่านพิธีเปลี่ยนผ่านสภาวะที่จะชำระล้างตัวเขาให้กลายเป็นผู้ใหญ่และเป็นผู้ชายที่ทำหน้าที่ปกป้องดูแลกลุ่ม ดังนั้นเมื่อชายชาวบาร่ายังเป็นเด็ก ก็มักจะถูกมองว่า สถานภาพของพวกเขาเช่นเดียวกับผู้หญิงชาวบาร่า (Bara Female) โดยประเพณีพิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่านสภาวะที่สำคัญไปสู่ความเป็นลูกผู้ชายก็คือการเข้าร่วมในกีฬาที่เรียกว่า การขโมยวัว หรือปศุสัตว์อื่นๆ “Cattle Rustling” ปรากฏการณ์ในพิธีกรรมดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็น ความแข็งแรงทางด้านกายภาพและความเป็นลูกผู้ชาย (Virility) ซึ่งอยู่ในพรมแดนของความรุนแรง และเป็นจริยธรรมสำคัญในชุมชนบารา ดังนั้นความเป็นชายในสังคมบาร่าไม่ได้จำกัดลักษณะเฉพาะทางกายภาพในความเป็นเพศชายหรือเพศหญิง แต่ความเป็นชาย ปรากฏผ่านความรุนแรงในการเข้าร่วมพิธีการขโมยวัวของเพื่อนบ้าน
    ในรายงานของ Louis Paul  Randriamarolaza (1986) ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ประเพณีนี้เป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างขัดแย้งและเป็นความดีงาม ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริงที่มีร่วมกัน โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า การเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริง เป็นจริยธรรมของความกล้าหาญ ที่มีกลับหัวกลับหาง ในด้านของความมีเล่ห์เหลี่ยมและความแคล่วคล่องว่องไว(ในการขโมย) สำหรับคนที่ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือฉลาดหลักแหลมจะถูกเรียกว่า ตาโบอาร่า “taboara” หรือคนหัวฟักทอง ความฉลาดหลักแหลมของพวกเขา ทำให้พวกเขาดูมีเล่ห์เหลี่ยมและพวกเขาไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าง่ายๆ โดยพวกเขามีคติพจน์ประจำกลุ่มที่เป็นเครื่องบ่งชี้การระมัดระวังตัวเองว่า ฟานาลอทซี มาโอดี ทีซี่ อีลา เวโล “Fanalotsy maody tsy ela velo” ที่แปลว่า นักรบผู้ซึ่งไม่ระมัดระวังตัวเองนั้น นักรบผู้นั้นจะมีอายุไม่ยืนยาว  คำกล่าวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพลังหรือคุณค่าของความกล้าหาญพร้อมกับด้านของคุณธรรมด้วยในเรื่องของการรักความยุติธรรมและการเป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา ในบางสถานการณ์ความคิดดังกล่าวอาจนำไปสู่ถ้อยคำหรือพฤติกรรมที่รุนแรงที่เรียกว่า ฮาลัทซี ออมบี “Halatsy aomby” หรือเรียกว่า การขโมยวัว (Theft of Cattle)  อันเป็นประเพณีที่เคร่งครัดและสืบทอดกันมายาวนานในสังคมล่าสัตว์และหาของป่า  ซึ่งพวกเขาอ้างอิงคำพูดของบรรพบุรุษว่า Ny halatsy tsindrokiny ny mahery หมายถึง การขโมยวัวคือ รูปแบบของการแสวงหา เก็บสะสมที่น่ายกย่องสรรเสริญของความแข็งแรงและหลักประกันถึงความอยู่รอดปลอดภัยรวมทั้งความมั่นคงทางด้านอาหาร
    แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการโต้แย้งเกี่ยวกับความเข้าใจผิดของพิธีกรรมการขโมยวัวดังกล่าว แม้ว่าความหมายของพิธีกรรมดังกล่าวนั้น จะมีความหมายถึงการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันกันในทางเศรษฐกิจ (ดังเช่น นายก.ขโมยวัวจากนายข. ที่ซึ่งนายข.ขโมยมาจากนายค. และนายค.ขโมยมาจากนายง.และนายง.ขโมยมาจากนายก.) ตัวอย่างเช่นในเมือง Barabe ที่เป็นสถานที่ศึกษาของ Radriamarolaza การแลกเปลี่ยนวัวควายเป็นแนวทางที่ถูกทำให้เป็นขนบธรรมเนียมอย่างแท้จริงที่ถูกรักษาไว้เช่นเดียวกับสิ่งที่มีคุณค่าในชุมชนที่เรียกว่า “Tany Fiarakandrova” หรือหมู่บ้านแห่งทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือคอกปศุสัตว์ (Vala/Cattle-Pen) ดังนั้น ถ้าพูดถึง “Tany Fiarakandrova” หรือ  “Vala” แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่าพื้นที่ของคนทั่วไป หรือพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันไม่มีเอกสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ ในทางตรงกันข้ามกับ “Tanin’aomby” ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเจ้าของและอัตลักษณ์ร่วมกันของสายตระกูล (Foko/Clan)
    ดังนั้นผู้ชายชาวบาร่าที่แข็งแรง (Baralahy) จะไม่ดูหมิ่นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่แก๊งค์ขโมยวัว หรือ “Malaso” ที่เป็นหัวขโมยในทางเลวจะไม่ยึดถือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และขโมยวัวได้ในทุกหนแห่ง พฤติกรรมการขโมยวัวของชาวจึงกลายเป็นความเบี่ยงเบนในมุมมองของรัฐและเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ความเป็นจริงในหมู่ชนชาวบาร่ามองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านและเป็นของการก้าวไปสู่ความเป็นลูกผู้ชายที่สมบูรณ์ หาใช่ ความหมายของอาชญากร การลักขโมย แต่อย่างใด
    สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของชาวบาร่า ไม่นิยมฆ่าวัวหรือสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ยกเว้นในพิธีกรรมความตาย (Funeral) และการเซ่นสรวงสังเวยในพิธีกรรม อาหารสำคัญของชาวบาร่าคือ ข้าว นม ผักและมันสำปะหลัง เพราะวัวควาย

พิธีกรรมความตายของชนชาวบาร่า หมู่เกาะมาดากัสการ์
    ในความคิดเกี่ยวกับความตายของชาวบาร่า ถือว่าความตายไม่ใช่เรื่องของปัจเจกชน แต่เป็นเรื่องของสังคม ในฐานคิดที่มองว่า คนตายคือสมาชิกของสังคม เมื่อเขายังมีชีวิตอยู่ ชาวบาร่าจะต้องผ่านพิธีกรรมของการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวไปสู่ ความเป็นชาย ความเป็นหญิง หรือความเป็นผู้ใหญ่  ในช่วงเวลาของชีวิตจะมีพิธีกรรมที่เปลี่ยนผ่านสำคัญของชีวิต ตั้งแต่การเกิด การเจ็บป่วย การแต่งงาน การได้รับตำแหน่งใหม่ทางสังคม หรือแม้กระทั่งความตาย เพราะการตายคือการสูญเสีย การสูญเสียสมาชิกคนหนึ่งไปจากสังคม เท่ากับว่าสังคมได้สูญเสียดุลยภาพไป  ทำให้จะต้องมีพิธีกรรมเพื่อสร้างเสริมกำลังใจและทำให้สังคมกลับมาสู่ความเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง หลังจากการตาย อาจมีการต้อนรับสมาชิกใหม่ของชุมชน ซึ่งจะทำให้สังคมมีการดำรงอยู่ไม่ล่มสลายไป
    พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชาวบาร่า มีความน่าสนใจตรงที่พิธีกรรมที่ปรากฏ เน้นภาพสังคมของชุมชนมากกว่าตัวของคนที่ตาย เช่น พิธีกรรมเลี้ยงฉลอง การแบ่งบทบาทระหว่างชายและหญิงในสังคม  ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนตายที่มีความโดดเด่นก็คือ ธรรมเนียมการฝังศพครั้งที่สอง โดยพิธีกรรมความตายของชาวบาร่าจะมีอยู่ โดยพิธีกรรมความตายของชาวบาร่าจะมีอยู่ 3 ขั้นตอนคือ
1.    การฝังศพ ซึ่งจะเป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นวันแรก เมื่อมีการตายของสมาชิกในสังคมชาวบาร่า ซึ่งจะไม่มีพิธีรีตองมากมาย เน้นการฝังศพของผู้ตายไว้ในหลุม เพื่อรอระยะเวลาให้วิญญาณเดินทางจากร่างเดิม เป็นสภาวะหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านของร่างกายจากความมีชีวิตสู่สภาวะไร้ชีวิต การมีผิวหนังเต่งตึง ละมีเลือดหล่อเลี้ยงตามร่างกายไปสู่ การเน่าเปื่อย ผุผัง การแห้งสลาย ช่วงนี้เสมือนกับกระบวนการเพื่อให้สังคมชุมชนได้ปรับตัวและเตรียมพร้อมกับพิธีกรรมอันสำคัญของชุมชน
2.    การเลี้ยงฉลองจะเกิดขึ้นในพิธีการฝังศพครั้งที่สอง หลังจากเก็บศพไว้ในระยะเวลาหนึ่งจนเนื้อหนังเริ่มเปื่อยและแห้งจนเหลือแต่กระดูก ก็จะนำกระดูกมาทำความสะอาด โดยการล้างขัดถูกกระดูกแต่ละชิ้น ส่วนใหญ่พิธีกรรมนี้จะกระทำหลังจากฤดูการเก็บเกี่ยว เพื่อให้มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์เพียงพอกับแขกที่มาร่วมงาน งานเฉลิมฉลองถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะมีการเฉลิมฉลองดื่มกินกันอย่างยิ่งใหญ่ ถือเป็นกระบวนการจำหน่ายแจกจ่ายผลผลิตสู่คนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนกลับมาสู่ความสมดุลอีกครั้ง
3.    การนำศพขึ้นมาจากหลุม การฝังศพครั้งที่สอง กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายแห้งอย่างสมบูรณ์ เนื้อหนังมังสาเน่าเปื่อนและผุผังไป ก็จะนำกระดูกมาทำความสะอาด อาจนำใส่ภาชนะหรือไม่ใช้ภาชนะบรรจุแล้วเอาไปฝังในหลุมอีกครั้งหนึ่ง กระบวนการดังกล่าวสรุปเป็นแผนภาพที่ 1.1 ได้ดังนี้

    แผนผังที่1.1 ขั้นตอนในพิธีกรรมความตายของชาวบาร่า
    สัญลักษณ์ต่างๆที่ปรากฏในพิธีกรรมศพของชาวบาร่า มีความน่าสนใจในแง่ของมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างเพศชายกับเพศหญิง ในลักษณะของคู่ตรงกันข้าม (Binary Opposition) ที่ทำให้เกิดความหมายหรือสร้างความหมายที่สะท้อนโลกทัศน์ความคิดและการปฏิบัติของผู้คนในสังคมบาร่า ดังเช่น ในพิธีศพของชาวบาร่า ลักษณะคู่ตรงกันข้ามที่ปรากฏอย่างชัดเจนผ่านลักษณะของความเป็นชาย(Male)และความเป็นหญิง(Female)ก็คือกฎระเบียบ(Order)ที่เป็นเหมือนโครงสร้างที่เคร่งครัดไม่ยืดหยุ่น ในขณะที่อีกด้านหนึ่งจะมีลักษณะของการมีชีวิตชีวา(Vitality)ที่สะท้อนให้เห็นการเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง สิ่งที่มีความสำคัญของผู้ชายคือการให้กำเนิดทายาทเพื่อสืบสายสกุล กระบวนการสร้างชีวิตจะต้องกระทำผ่านสิ่งที่เรียกว่าน้ำกามหรืออสุจิ (Semen) ในขณะที่ผู้หญิงสิ่งสำคัญคือเลือด(Blood)ที่เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตชีวา รวมทั้งสัญลักษณ์สำคัญของผู้หญิงคือ ประจำเดือนซึ่งก็คือเลือดที่ออกมาจากมดลูก  สภาวะการมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าผู้หญิงคนนั้นโตเป็นสาวพร้อมที่จะให้กำเนิดทารกเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ ความเป็นผู้ชายมีลักษณะของความเข้มแข็ง เปรียบได้กับลักษณะของกระดูก (Bone)และมีความหมายในแง่ของความผุผังเสื่อมสลาย ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้หญิง มีลักษณะนิ่มนวล อ่อนโยน เปรียบได้กับส่วนที่มีชีวิต เนื้อหนังมังสา (Flesh) สภาวะทั้งสองบ่งบอกถึงด้านของความตาย (Death) และด้านของการเกิด (Birth)  ผู้ชายไม่สามารถให้กำเนิดสมาชิกใหม่หรือผลิตสมาชิกได้ (Sterility) ในทางตรงกันข้ามผู้หญิงมีลักษณะของการให้กำเนิด สร้างการผลิดอกออกผลของสมาชิกในสังคม (Fecundity) ในสังคมของชาวบาร่ามีคำกล่าวว่า เมื่อสมาชิกในชุมชนตายเขาจะกลับไปอยู่ในอ้อมกอดของพ่อ และกลับมาเกิดในครรภ์ของแม่ ดังนั้นในด้านของเพศชายจึงมีลักษณะเหมือนหลุมฝังศพ (Tomb)ที่เปรียบเสมือนการกลับสู่จุดเริมต้นหรือการตาย ในขณะที่เพศหญิงเปรียบประดุจดังมดลูก (Womb)ที่ให้กำเนิดหรือสร้างการมีชีวิต (ดูสรุปแนวคิดดังกล่าวจากแผนผังที่1.2)
    กระบวนการเหล่านี้ปรากฏผ่านพิธีกรรมความตายของชาวบาร่าที่ตอกย้ำการแบ่งแยกอย่างชัดเจนของความเป็นชายและหญิงในสังคมนี้ ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นความหมายที่สำคัญที่เป็นสองด้านที่สัมพันธ์กัน ในเรื่องของการมีชีวิตและความตายที่มนุษย์ต้องประสบพบเจอ ไม่สามารถจะหลีกหนีได้

Order                           Vitality
Male     Female
Father      Mother
Semen                                   Blood
Bone                                    Flesh
Death                       Birth
Sterility                                  Fecundity
Tomb                                                  Womb
Absolute Order                                    Absolute Vitality
Figure 1.2 .Bara concepts of the person : Death ritual and Life values



    โดยปกติในทุกสังคมจะมีทัศนะหรือแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นอมตะหรือความเป็นนิรันด์ของชีวิตอยู่ 5 ลักษณะ
1.จิตวิญญาณตายพร้อมกับร่างกาย (The Soul dies with the body) เชื่อว่าไม่มีบุคคลใด  (Person) หรือองค์ประธานใด (Subject) ที่ดำรงอยู่หรือเหลือรอดหลังความตาย (Death)ทุกอย่างดับสูญไปพร้อมกับการสิ้นลมหายใจ
2.การกลับมาเกิดใหม่หรือดำรงสภาวะใหม่ บางครั้งเรียกว่า Re-Birth หรือ Re – Incarnation ที่การแตกดับนำไปสู่สภาวะการเกิดใหม่หรือเปลี่ยนรูปใหม่ทั้งในรูปของคน สัตว์เดรัชฉาน หรือต้นไม้ละอื่นๆ
3.จิตวิญญาณ (Soul) เป็นอมตะหรือเป็นนิรันดร์โดยตัวของมันเอง (The immortality of the soul by itself) แนวคิดนี้เชื่อในเรื่องความเป็นอมตะของจิตวิญญาณที่เข้มแข็งและยืนยงกว่าร่างกาย
4.การกลับมาเกิดใหม่ในวันสิ้นโลก (The resurrection of the body on the last day) คือการกลับมาเกิดใหม่ในร่างกายเดิมหรือร่างกายใหม่อีกครั้งหนึ่งภายหลังวันสิ้นสุดโลกหรือวันที่พระเจ้าพิพากษามวลมนุษย์พร้อมกัน
5.การกลับมาเกิดใหม่ในร่างเดิมโดยทันที(The immediate resurrection of the body) เป็นการกลับฟื้นคืนชีพอย่างทันทีทันใด เช่น กรณีของพระเยซูคริสต์ เป็นต้น
มนุษย์ในยุคโบราณมีความเชื่อในเรื่องของวิญญาณ  การรักษาเอกลักษณ์ของเขาหลังจากที่ตายไปแล้ว แม้ว่ารูปแบบอาจจะแตกต่างกัน เช่นมีปีก ดังเช่นภาพวาดของชาวอียิปต์ บนหลุมศพ ก็จะพบสิ่งที่คล้ายคลึงกันในการแสดงสัญลักษณ์รูปคา (Ka) หรือวิญญาณของผู้ตายบินอยู่เหนือซากศพของตนแบบนกเล็กๆที่มีใบหน้ามนุษย์ แม้ในตราประทับของพวกครีตันยุคแรก ที่เรียกว่า วงแหวนแห่งเนสเตอร์ ได้แสดงให้เห็นวิญณาณของคนตายในรูปของผีเสื้อที่เกิดจากตัวด้วง หรือในยุคหิน มนุษย์ถ้ำก็มีการฝั่งศพ ไปพร้อมกับเครื่องมือ อาวุธ อาหารไปพร้อมกับผู้ตาย เพื่อชีวิตหลังความตาย
    ความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย ก็สัมพันธ์กับความคิดที่ว่าวิญญาณของผู้ตายมีความสัมพันธ์กับความดีความชั่วด้วย ขณะที่มีชีวิตอยู่ ในตำราของชาวบาบิโลเนียน ได้กล่าวถึงวิญญาณของอีติมมู(Etimmu) หรือวิญญาณแห่งความตาย โดยเฉพาะคนที่ตายอย่างกะทันหัน หรือผู้ที่ไม่ไดรับการฝังโดยพิธีกรรมการทำศพอย่างถูกต้อง ที่ได้สร้างความกลัวให้กับชนเผ่า ในแอฟริกาและบาบิโลเนียนในปัจจุบัน แสดงให้เห็นความกลัวตายที่มีอยู่แบบดั้งเดิมที่เป็นสากล ชาวเผ่าเชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายพยายามที่จะกลับโลก และอาจจะเข้าไปสู่ร่างของสิ่งมีชี่วิตได้ นอกจากจะมีการป้องกันไว้  บางเผ่าของมาลานีเซียน แขวนเบ็ดตกบาไว้รอบๆกระท่อม เพื่อขจัดวิญญาณไม่ให้เข้ามา  หรือประเพณีการไว้ทุกข์ ตัดผม ฉีกเสื้อผ้า  ทำบาดแผลที่ใบหน้า  ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงแสดงความโสกเสร้า แต่ยังป้องกันการจำได้จากวิญญาณของผู้ตาย
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า วิญญาณผู้ตายมีความรู้เกี่ยวกับอนาคตที่สามารถจะถูกเรียกมาจากเบื้องล่างได้โดยทำพิธีกรรมบางอย่าง เพื่อสอบถามหรือตักเตือนผู้มีชีวิตอยู่ ซึ่งความเชื่อนี้ยังปรากฏอยู่ในสังคมสมัยใหม่ ทั้งการพยายามควบคุมวิญญาณองคนตาย  ความกลัววิญญาณ หรือการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาและวิญญาณ ที่สะท้อนให้เห็นรากฐานทางด้านแนวคิดปรัชญาและศาสนายุคปัจจุบัน
“นักธรณีวิทยาได้ค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์ในหลุมฝังศพเดิม มีเครื่องมือหิน สีทาตัวและอาหารใส่ไว้ด้วย แสดงว่ามีประเพณีและความคิดเกี่ยวกับความตายนี้ มนุษย์นีแอนเดอธัล เป็นมนุษย์ประเภทแรกเริ่มที่สุด ฉะนั้นประเพณีแรกเริ่มที่สุดของมนุษย์ก็จะเป็นประเพณีในการฝังศพ”
ในเทพนิยายทั้งหมดมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันหลายประการ โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างมนุษย์โดยพระเจ้า เพื่อรับใช้พระเจ้า เช่นการสร้างมนุษย์จากดินเหนียวของเทพคนัม เทพเจ้าแห่งหม้อดิน(Khnum) ในอียิปต์ ที่จะพบการวาดภาพคนบนเครื่องปั้นดินเผา หรือชาวบาบิโลเนียน  มีนิยายปรัมปราเกี่ยวกับการสร้างมนุษย์ที่ทำจากก้อนดินผสมกับเลือดของพระเจ้าที่ถูกฆ่า ในนิยายเทพของฮิบรูว์ (จากเรื่องเจเนซิสแห่งพระคัมภีร์ดั้งเดิม) กล่าวถึงพระเจ้าเวห์ ที่สร้างมนุษย์จากดินเผา และประทานชีวิตให้ด้วยเพื่อว่ามนุษย์เป็นวิญญาณที่มีชีวิต
หรือในเทพนิยายของชนเผ่าซูมาเรียน เรื่อง กิลกาเมซ (Gilgamesh) เมื่อกิลกาเมชพระเอกของเรื่องเผชิญหน้ากับความตายของเอนคิดู เพื่อนของเขาซึ่งเป็นประสบการณ์ที่อธิบายได้อย่างงน่ากลัวและเป็นสิ่งใหม่ กิลกาเมชกลัวว่าเขาจะเหมือน เอนคิดู ที่ปราศจากลมหายใจหรือการเคลื่อนไหว  เขาอธิบายอย่างชัดเจนว่ามนุษย์รู้สึกอย่างไร เมื่อเผชิญหน้ากับความจริงของความตาย  กิลกาเมซได้กระทำพิธีกรรมบางอย่าง โดยได้รับอนุญาตจากเทพเจ้าแห่งความตาย  เพื่อให้วิญญาณเอนคิดูมาบอกเขาเกี่ยวกับภาวะของความตาย เอนคิดูบอกว่า
“เขา(เทพเจ้าแห่งความตาย) ได้นำตัวพวกเราไปสู่อาณาจักรแห่งความมืดมน บนถนนไม่มีทางกลับ และผู้ที่ย่างก้าวเข้าไป ไม่มีทางออกมาได้ ไปยังดินแดนที่ปราศจากแสงสว่างโดยมีหนทางที่เต็มไปด้วยฝุ่นและมีดินเป็นอาหาร พวกเขาใส่เสื้อเหมือนปีกนก ไม่อาจเห็นแสงสว่าง อยู่แต่ในความมืด”
Johann Jacob Bachofen (1815-1887),  นักมานุษยวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์  ได้เขียนหนังสือ An Essay on Ancient Mortuary Symbolism ในปี 1859 อธิบายถึงอิทธิพลของชาวกรีก ชาวโรมัน ที่มีต่อลัทธิ Dionysian และ Orphie ปรากฏผ่านสัญลักษณ์ในหลุมฝังศพและพิธีศพ  โดยเบโชเฟน พยายามบอกว่า คนตายสามารถกลับฟื้นคืนชีวิตใหม่ได้อย่างไร การพัฒนาแนวคิดดังกล่าวปรากฏชัดเจนใน นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษชื่อ เจมส์ เฟรย์เซอร์ ( Jame Frazer ) ในหนังสือ The GoldenBough ในปี 1980 เขาได้วิเคราะห์ว่า ความตายยได้นำไปสู่การฟื้นคืนชีพได้อย่างไร
 แนวความคิดดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างมากในการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่เกี่ยวกับความตายในศตวรรษที่ 20  ในเรื่องของการเกิดใหม่ (Rebirth) ซึ่งเชื่อว่า ความหมายของการตายไม่ใช่การสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต ( Life giving Death ) แนวความคิดดังกล่าวถูกตอกย้ำผ่านงานของ Robert hertz  ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเฟรย์เซอร์ โดย เฮิร์ต อาศัยข้อมูลของชนเผ่า มาลาโย โพลีนีเซียน ในการอธิบายเกี่ยวกับเรื่องความตาย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณของผู้ตายและพิธีศพที่จัดโดยญาติพี่น้อง ซึ่งนำไปสู่การอธิบายและตีความในเรื่องอารมณ์ (Emotion) ที่เกิดขึ้นขณะมีพิธีกรรมศพ งานของเฮิร์ต ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ปฏิบัติต่อผู้ตายอย่างไร และสังคมแต่ละแห่งมีความเชื่อเกี่ยวกับความตายอย่างไร

ความตายนำมาซึ่งความโศกเศร้าแก่ญาติมิตร และญาติคือกลุ่มคนที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อคนตาย โดยมีระเบียบสังคมคอยกำกับควบคุมความโศกเศร้า ที่ความโศกเศร้าของมนุษย์นอกจากจะเป็นเรื่องของอารมณ์(Emotion)แล้ว ยังเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากสังคม ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้นักมานุษยวิทยา สนใจศึกษาเรื่องสัญลักษณ์ของความตายซึ่งเป็นการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความตาย การสร้างชีวิต การเกิดใหม่ และความอุดมสมบูรณ์ที่ปรากฏอยู่ในพิธีศพ สภาวะของการตายยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบรรพบุรุษและลูกหลาน เครือญาติ รวมทั้งคนกลุ่มอื่นๆในสังคม ผ่านเรื่องของวิญญาณ พลังอำนาจและความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกและการล่าสัตว์หาของป่า
การจัดการกับวิญญาณคนตายของญาติพี่น้องผู้ตายและสมาชิกในสังคม  สะท้อนสถานะหรือความขัดแย้งระหว่าง ภาวะมีระเบียบ ในระเบียบ กับ นอกระเบียบ/ไม่มีระเบียบ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับเรื่องของเวลา (Time) และสภาวะไร้เวลา (Timeless) เนื่องจากเวลาเป็นสิ่งทีย้อนกลับไปไม่ได้  เวลาเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับฤดูกาล อีกทั้งเวลายังสะท้อนภาพของการมีชีวิต การเจริญเติบโตของชีวิตมนุษย์  แต่ในทางตรงข้ามวิญญาณกลายเป็นสิ่งที่อยู่นอกระเบียบ นอกเวลา เต็มไปด้วยความสับสน คลุมเครือ  เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้และมีภาวะอันตราย  ดังนั้นจึงต้องมีพิธีกรรมบางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสร้างสภาวะใหม่ของคนตาย ที่เปลี่ยนผ่านจากภาวะที่มีระเบียบสู่ความไร้ระเบียบ  หรือจากการมีชีวิตไปสู่ความตาย ให้กลับเข้าสู่สภาวะระเบียบอีกครั้งหนึ่ง เช่น การกลายเป็นวิญญาณที่ดี หรือวิญญาณบรรพบุรุษ วิญญาณผู้พิทักษ์ เป็นต้น ไม่ใช่วิญญาณชั่วร้าย นั่นคือกระบวนการเดินทางจากโลกแห่งชีวิตไปสู่โลกที่ศักดิ์สิทธิ์หรือเหนือธรรมชาติ น่าสนใจว่ากระบวนการดังกล่าว เป็นการจำแนกแยกประเภทของการตาย ว่าดีหรือเลว นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์หรืออดอยากแห้งแล้ง  ความตายบางอย่างไม่สามารถนำมาสู่การเกิดใหม่ได้ เช่นสังคมของฮินดู การฆ่าตัวตายถือเป็นบาปหนัก ทำให้วิญญาณไม่สามารถกลับเข้ามาสู่วงจรชีวิตได้  วิญญาณก็จะถูกละเลย  ในขณะที่วิญญาณที่นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ วิญญาณของบุคคลผู้นั้นก็จะถูกปฎิบัติรายกับว่ามีตัวตนอยู่จริง
ดังนั้นกระบวนการจัดการศพ การควบคุมศพ การประนีประนอมความแตกแยกระหว่างการรังเกียจศพกับการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความตายของคนในแต่ละสังคม การจัดการกับความกลัวและความขัดแย้งซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญดังกล่าว นำมาซึ่งรูปแบบทางพิธีกรรมในการจัดการกับบุคคลที่ถึงแก่ความตายและแปรสภาพเป็นศพ เป็นวิญญาณ  ซึ่งต้องได้รับการปฏิบัติในเชิงพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นการฝัง การเผา การเฉือนศพ การทิ้งไว้ในช่องเขาหรือการลอยน้ำ เพื่อให้วิญญาณของผู้ตายไปสู่โลกหลังความตายอย่างสุคติ
สิ่งที่น่าสนใจในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายก็คือเรื่องสัญลักษณ์ทางเพศในพิธีกรรมว่าด้วยความตาย ดงปรากฏในคัมภีร์คริสต์ศาสนาของตะวันตก ว่า เพราะบาปของอีฟที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าแอบกินผลไม้ในสวนของอีเดน ทำให้มนุษย์มีบาปและไม่เป็นอมตะ มนุษย์บนโลกจึงต้องตาย  เช่นเดียวกับที่บางวัฒนธรรมก็เชื่อว่าประจำเดือนของผู้หญิงเป็นสิ่งสกปรก นำมาซึ่งความอดอยาก และลดความสามารถในการล่าสัตว์ของสามี เป็นต้น
สัญลักษณ์ทางเพศจึงเกี่ยวข้องกับการเกิดใหม่และความอุดมสมบูรณ์ ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน  ระหว่างความเป็นชาย ความเป็นหญิง ดังจะเห็นได้จากการจัดการควบคุมสภาวะธรรมชาติของผู้หญิง เช่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์และการคลอด บางเผ่าในช่วงนี้จะให้ผู้หญิงออกไปอยู่นอกสังคม  หมู่บ้าน เช่นการกักตัวไว้ในป่า เพื่อป้องกันสังคมออกจากสภาวะอันตรายและความหล่อแหลมในเรื่องความอดอยากและความตาย ในบางเผ่า ก็จะมีวิธีการปฏิบัติต่อผู้หญิงแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม ในบางเผ่าผู้หญิงจะมีคุณค่าสำคัญในพิธีศพ เช่น เป็นผู้เต้นรำ หรือเชื่อว่าการนำศพของผู้หญิงนำไปฝังรวมกับศพของบิดา  จะทำให้ผู้หญิงคนนั้นมาเกิดใหม่ หรือการบูชาศพผู้หญิง ในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของการบริสุทธิ์และการขึ้นสวรรค์ ในงานของGillison (1980 ) ในหนังสือ New Guenia ceremonies พบว่าสังคมเผ่ากีมี่  ( Gimi ) วิญญาณของผู้ตายจะกลับมาเกิดในร่างของผู้หญิง เพื่อที่จะทำให้สังคมอุดมสมบูรณ์
สังคมมีวิธีการจัดการกับการผุพัง  สภาพเน่าเปื่อย ที่วิญญาณของผู้ตายจะแทนที่สิ่งเหล่านี้ด้วยความอุดมสมบูรณ์และการเกิดใหม่ ที่สะท้อนอำนาจของเพศชายในการต่อสู้กับข้อจำกัดทางชีวิทยาและเรื่องเพศ ในสังคม Merina ในหมู่เกาะมาดาร์กาสก้า ผู้หญิงจะถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตเรื่องครัวเรือน ถ้าเผ่าจัดพิธีกรรมโดยเฉพาะพิธีศพ ผู้หญิงจะถูกแบ่งแยกออกไป เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะสกปรกในพิธีกรรม อ้างจาก From Blessing to Violence: History and Ideology in the Circumcision Ritual of the Merina (Cambridge Studies in Social and Cultural
สรุป ความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนกลัว และความกลัวนำมาซึ่งรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นกับคนตาย มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับวิญญาณและสิ่งที่เหนือธรรมชาติ อันนำมาซึ่งพิธีกรรมและการจัดการเกี่ยวกับความตายและคนตาย แม้ว่ามนุษย์ต้องการจะปฏิเสธต่อความตาย แต่ทว่าความตายก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงได้ เพราะมนุษย์ทุกคนเผชิญหน้ากับความตายอยู่เบื้องหน้าทุกเมื่อเชื่อวัน
ดังนั้นปรากฏการณ์ของความตาย นำมาซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์กับความตาย มนุษย์กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ที่ทำให้เรื่องของความตายมีคุณค่า มีความหมาย  ภายใต้การก่อกำเนิดของพิธีกรรม ความตายจึงใช่การสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านและนำมาซึ่งความมีชีวิตชีวาของมนุษย์ ความตายจึงเป็นสิ่งที่สร้างความหมาย สร้างการก่อกำเนิดของชีวิต จุดเริ่มต้นของชีวิต ที่ทำให้เราค้นหา ทำความเข้าใจตัวเราเอง และคนรอบข้างในพื้นที่ทางสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น