ทะแยมอญในกระแสสังคมปัจจุบัน
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและวัฒนธรรมของ กลุ่มชาติพันธุ์มอญภายใต้รัฐชาติของไทย อีกทั้งกระแสของกระบวนการทำให้ทันสมัยแบบตะวันตก และการผสมผสาน การกลืนกลายทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอิทธิพลของภาษา และระบบการศึกษาของรัฐที่มุ่งให้เกิดการหลอมหลวมเป็นหนึ่งเดียว และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี สื่อต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ได้สร้างแนวคิดและการรับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆอย่างรวดเร็ว อัตลักษณ์บางอย่างที่เคยเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์เกิดการผสมผสานกันจนแยกและหาต้นตอไม่ได้ อย่างกรณีของชุมชนมอญบ้านบางกระดี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพ จากการทเกษตรกรรมทำนา มาเป็นการรับจ้าง การขับรถสองแถว การทำอาชีพอื่นในโรงงาน อุตสาหกรรม ซึ่งเกิดจากการขายที่ดินให้กับนายทุน เพื่อสร้างโรงงาน บ้านจัดสรร หรือการสูญหายไปของประเพณีบางอย่าง เช่นรำมอญ มอญร้องไห้ แต่พวกเขาก็เลือกที่จะรักษาวัฒนธรรมการละเล่นบางอย่างไว้ เช่นปี่พาทย์มอญ ทะแยมอญ ที่ยังทำให้ความเป็นมอญ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ยังคงดำรงอยู่ ดังจะเห็นได้จากการพยามรักษาการละเล่นพื้นบ้านระเภทนี้ไว้นอกเหนือจากประเพณี ขนบธรรมเนียมที่ปฎิบัติอยู่เป็นประจำ เพื่อไม่ให้การละเล่นชนิดนี้สูญหายไป ดังที่หัวหน้าคณะหงส์ฟ้ารามัญกล่าวว่า “ ทะแยมอญมีมาตั้งแต่เล็กๆเลย เวลาเลิกจากนา เขาก็รุมคนนี้ชิ้นคนนั้นชิ้น เวลามีงานเขาก็มีทะแยมอญมาร้องรำ เป็นประจำหมู่บ้านเลย คนเฒ่าคนแก่ก็รักษากันต่อๆมา ตอนนี้เกือบไม่มีแล้ว ผมก็ต้องมาจัดทำ มารวมไว้ ผมก็กลัวว่ามันจะสูญหายไป จะสูญแน่เราก็ต้องรักษาไว้วัฒนธรรมยังมีอยู่ ของมอญเรา เด็กๆเดี๋ยวนี้ไม่มีใครแนะนำ สมัยก่อน ไม่ได้ชักชวนเหมือนสมัยนี้ ใครจะเล่นก็เล่น ใครจะหัดก็หัด ใครเป็นก็เป็น ผมเจอเด็กๆ นี่หนุ่มจะปิดเรียนแล้วนะมานะ ดีด สี ตี เป่า ได้หมด ร้องก็ได้ ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน อย่างร้องก็ต้องเรียนภาษามอญเป็นการอนุรักษ์สืบทอด สำหรับเด็กๆในหมู่บ้าน…” คุณลุงกัลยายังได้กล่าวถึงความนิยมทะแยมอญว่า “ เดี๋ยวนี้ผู้ใหญ่ ก็น้อยลงแล้ว นี่เหลือแต่ผู้อาวุโสอายุ80 สองคน ดีดจระเข้กับเป่าขลุ่ย แล้วก็มารุ่นลุง 2-3 คน แต่คนแก่ชอบนะ ชอบฟัง ได้ยินเสียงก็บอกชื่นใจ เขาจะต้อนรับขับสู้เราอย่างดี และดีใจมากที่เราไป”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือความสนใจและนิยมฟังของคนมอญรุ่นเก่า และความสนใจเข้ามาศึกษาและอนุรักษ์ศิลปพื้นบ้านของมอญนี้ในคนรุ่นใหม่ ที่คุณลุงกัลยากำลังทำอยู่มิให้การแสดงชนิดนี้สูญหายไปโดย แกบอกว่า “ฝึกเด็กใหม่ๆ หนุ่มๆสาวๆกำลังเรียนอยู่ ฝึกมาใหม่ได้อีกคู่ ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ยังไม่จบเลยเรียนไปด้วย แสดงไปด้วย ผสมกันทั้งคนแก่ คนหนุ่มคนสาว ทั้ง ร้อง รำ สีซอ ฝึกกับผมหมด โรงเรียนปิด มีเด็ก10 คนมาเรียนดนตรี เราก็ฝึกให้ไม่เสียเงิน ทั้งเครื่องสายมอญ-ไทย เขียนโน้ตให้ไปฝึก 2 วันก็เป็น ต้องฟื้นฟูแบบนี้ อะไรเราช่วยได้ก็ช่วยฟื้นฟู”
หนุ่มสาวอายุ15-18 สองคนที่เรียนร้องรำ ในการแสดงทะแยมอญคณะหงส์ฟ้ารามัญ ได้เล่าถึงความตั้งใจที่มาเรียนรำของพวกเขาว่า “ มาหัดรำ ร้องทะแยมอญ เพราะต้องการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะพื้นบ้านและประเพณีวัฒนธรรมมอญ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ หารายได้พิเศษระหว่างเรียน และที่สำคัญคือความรู้เหล่านี้ก็นำไปใช้ในการศึกษาต่อที่วิทยาลัยนาฎศิลป์ กรมศิลป์หรือมหาวิทยาลัยศิลปากรที่สนับสนุนด้านนี้ “
การแสดงทะแยมอญในปัจจุบัน ยังคงได้รับความนิยมว่าจ้างให้ไปแสดงตามที่ต่างๆที่มีคนมอญอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ที่สุมทรปราการ ลพบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นนทบุรี ปทุมธานี และชุมชนมอญอื่นๆในประเทศไทย และยังข้ามพรมแดนไปแสดงถึงเมืองมะริด ทางเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังทหารมอญและชาวมอญกู้ชาติทางฝั่งพม่าอาศัยอยู่บริเวณนั้น
ในการแสดงก็จะมีทั้งงานส่วนรวมของหมู่บ้านที่มักจะจ้างวงทะแยมอญไปแสดงการขับร้องที่วัด หรือสาลเจ้า เช่นงานกฐิน ผ้าป่า แก้บน ถวายพระพุทธรูป งานสงกรานต์ หรือเป็นงานส่วนบุคคลก็จะแสดงที่บ้านเจ้าภาพ เช่นงานแต่งงาน งานบวช งานศพ เป็นต้น
ในเรื่องของรายได้ในการแสดงทะแยมอญ ถือได้ว่าค่อนข้างสูงเพราะต้องใช้ทั้งฉาก เครื่องดนตรี ไฟประดับ และคนแสดงร่วมเกือบ 20 คน ราคาค่าจ้างจึงตกอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท ซึ่งบางช่วงอย่างเทศกาลสงกรานต์ก็มีถึง 4-5 งาน บางช่วงก็น้อยอย่างปีนี้มีประมาณ 10 งาน นอกจากนี้ก็มีค่าที่ได้จากการตบรางวัลของคนดุ เป็นสินน้ำใจให้ศิลปินที่พวกเขานิยมชมชอบ เช่นที่คุณลุงกัลยาบอกว่า “มีรางวัล มีแบงค์ 500 แบงค์100 คนที่ฟังส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ บางทีเด็กหนุ่มๆรุ่นๆนี่เขาก็ฟัง ถ้าออกทำนองไทยเพลงมอญกรูเข้ามาเลย…”
การแสดงใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ แสดง3 ทุ่มเลิกเที่ยงคืนตีหนึ่ง ถ้าเป็นงานแก้บนก็ใช้เวลา ประมาณ 1 ชั่วโมง เหตุผลที่การแสดงทะแยมอญของคณะหงส์ฟ้ารามัญไม่แสดงดึกมาก คุณลุงกัลยาบอกว่า “ไม่ดึกมาก เพราะเช้าๆหลายคนต้องไปทำงาน แต่ละคนมีงานประจำ การแสดงทะแยมอญไม่ใช่อาชีพ เป็นงานอดิเรกเพื่อรักษาวัฒนธรรมประเพณี มอญเราไว้ จุดนี้แหล่ะสำคัญ” ผมว่าสิ่งที่คุณลุงกัลยาพูดน่าคิดว่าทำไมการแสดงชนิดนี้จึงดำรงอยู่และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เพราะสิ่งเหล่านี้คือความรู้สึกร่วมกันที่จะรักษา การละเล่นชนิดนี้ไว้ไม่ให้สูญหาย การฝึกฝนก็เกิดจากความสนใจ ไม่ใช่การบังคับ และไม่คิดว่ามันคืออาชีพ หากจะเปรียบเทียบว่า อัตลักษณ์ของความเป็นคนมอญ ของชุมชนบ้านบางกระดี่ ก็คือการธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของมอญที่กำลังจะสูญไป โดยเฉพาะทะแยมอญที่เป็นศิลปะ ที่ใช้ภาษามอญเป็นตัวถ่ายทอดเรื่องราว และสำนึกทางชาติพันธุ์ และเป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์มอญ โดยผ่านระบบสัญลักษณ์ ที่ใช้ฉาก เนื้อหา และการแต่งกาย เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่สร้างความทรงจำและชุมชนในจินตนาการร่วมกันระหว่างคนมอญ ทั้งที่เป็นความทรงจำที่เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์มอญ ดินแดน กษัตริย์ และบรรพบุรุษ และเป็นความทรงจำที่เป็นสิ่งที่ถูกตีความหมายและนำมาใช้ในปัจจุบัน เช่นเรื่องขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะหงส์ฟ้ารามัญ ได้ธำรงรักษาการแสดงพื้นบ้านมอญแขนงนี้ไว้ ไม่ให้สูญหายไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น