วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

1.5 ความคิดเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณของนักปรัชญากรีกและตะวันตกสมัยใหม่คนสำคัญ
การถกถียงกันของนักปรัชญาในยุคทางปัญญาของกรีก เป็นการถกถียงในประเด็นปรัชญาเรื่องของความรู้ ว่า ความรู้ของคนเรามีจริงหรือไม่? เช่น เฮราดิตุส (Heraditus) สอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้น แล้วเราจะยึดถืออะไรเป็นความรู้ที่คงที่ได้ ในขณะเดียวกันไพทรากอรัสก็สอนเรื่องสัดส่วนต่างๆ ว่ามีความสำคัญมากกว่าเนื้อธาตุ ทำให้นักปรัชญากรีกหลายคนพยายามหาคำตอบของปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะเพลโต(Plato)และอะคาเดมี่ (Academy) เป็นลูกศิษย์ของโสเครตีส และทำให้โลกรู้จักโสเครตีสเกี่ยวกับงานและความคิดของโสเครตีสที่เขาบันทึกไว้ ได้เสนอว่า ความรู้ที่แท้จริงนั้นเรามีได้ แต่ไม่ใช่ความรู้สามัญที่มาจากความจัดเจน เชี่ยวชาญ (Experience) ซึ่งได้มาจากผัสสะ หากแต่ว่าเป็นความรู้ที่อยู่เหนือผัสสะ ที่เพลโตเรียกว่า “แม่พิมพ์” หรือรูปแบบสมบูรณ์ (Forms) ซึ่งในความหมายนี้ก็คือ ความรู้ในรูปสมบูรณ์ (Knowledge of Form)
ดังนั้นเพลโตเชื่อในรูปที่สมบูรณ์และไม่เปลี่ยนแปลง สรรพสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนแปลงแท้จริงแล้วต่ำกว่า และเป็นเพียงรูปเสมือนที่ใกล้เคียง กับรูปสมบูรณ์เท่านั้น เช่นดอกกุหลาบที่เปลี่ยนผ่านจากสภาวะดอกตูมไปสู่ดอกบาน จากตุ่มเล็กๆสีเขียวใบไม้ จนกระทั่งแย้มบานออกเป็นสีแดง หรือขาวเต็มที่ ต่อมาก็เหี่ยวเฉาร่วงโรย อย่างนี้ เพลโตตั้งคำถามว่า อะไรที่เรียกว่าดอกกุหลาบ คนทั่วไปย่อมถือว่าดอกกุหลาบคือดอกที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว บานเต็มที่ นั่นก็คือ รูปแบบ (Form) ของมัน เวลามัยตูมเราเรียกว่ากุหลาบตูม เวลาบานเราก็เรียกว่า กุหลาบธรรมดา เวลาร่วงโรยก็เรียกกุหลาบโรยหรือกุหลาบแห้ง ดังนั้นมโนภาพหรือความรู้เกี่ยวกับกุหลาบ ก็คือกุหลาบบาน เป็นมาตรฐานรูปแบบที่สมบูรณ์ตามแบบเพลโต
เพลโตปฏิเสธว่า สรรพสิ่งที่เราประจักษ์ต่อสายตาตนเองหรือการรับรู้ทางผัสสะ ล้วนเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น แต่รูปสมบูรณ์ของมัน คือ ความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ ความรู้ในความสมบูรณ์ของมัน ดังเช่น ความรู้เกี่ยวกับกุหลาบและความเป็นกุหลาบซึ่งเป็นความสมบูรณ์ทางรูปธรรม ความงดงามของดอกกุหลาบก็คือ ความสมบูรณ์ทางนามธรรม เช่นเดียวกับศีลธรรมจรรยา
โลกจึงมีสองส่วนที่เชื่อมกันทั้งหมด คือรูปธรรมและนามธรรม ความคิดกับวัตถุสสาร เช่นเดียวกับที่ เพลโต เชื่อว่า วิญญาณ (Soul หรือPsyche) ในร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวตัวเอง มันเป็นสิ่งที่ให้ชีวิต และบัญชาให้มองดู รับรู้ และตั้งเจตจำนง ดังนั้นวิญญาณ จึงมีสามระดับ คือ1.ระดับของเหตุผล หรือระดับการรู้เหตุผล 2.ระดับอารมณ์ หรือระดับที่กล้าหาญ แกล้วกล้า และ3.ระดับที่เป็นไปตามความต้องการของร่างกาย ระดับการเกิดความรักใคร่ ซึ่งตั้งอยู่บนส่วนต่างๆของร่างกายตามลำดับคือ ศีรษะ หัวใจ และท้อง
วิญญาณที่มีความยุติธรรมก็จะต้องมีทั้งสามส่วนนี้สมดุลกัน แต่ละส่วนมีหน้าที่และเชื่อฟัง ในส่วนที่ควบคุมเหนือขึ้นไป ได้แก่เหตุผล เหตุผลจึงเป็นผู้ปกครองอารมณ์ และอารมณ์ก็เป็นส่วนช่วยในการกระทำที่มีเหตุผล เป็นผู้ส่ง ถ้าส่วนที่อยู่ภายใต้เหตุผล มีอิทธิพลอยู่เหนือจิตวิญญาณ มนุษย์ก็จะอ่อนแอ และขาดความสมดุลไปในที่สุด ปรัชญาเรื่องนี้ มีความเชื่อมโยงกับแนวความคิดว่าด้วยรัฐ ของโสเครตีส ในความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวรัฐ เราจำเป็นต้องดูรูปแบบความสัมพันธ์ของวิญญาณและรัฐร่วมกัน ในแง่นี้รัฐ หรือ Polity คือ วิญญาณในวงกว้างและคนในรัฐคือส่วนย่อยในวงแคบ เนื่องจากวิญญาณที่สมบูรณ์ยุติธรรม ย่อมปกครองด้วยเหตุผล เช่นเดียวกับแบบที่อมตะ เป็นที่มาของความรู้ และมีแบบอย่างของความดีงามสูงสุด ดังนั้นวิญญาณที่เรียนรู้ย่อมมีการดำรงอยู่ที่ดี คือ การไตร่ตรองในรูปแบบของความดี (Form of the God)
ดังนั้นวิญญาณในระดับของเหตุผลเท่านั้นจึงจะเป็นวิญญาณอันอมตะ ที่มีเจตจำนงอย่างอิสระ และเป็นรูปแบบสมบูรณ์ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้น การซ้อนทับกันของโลกแห่งรูปและโลกของเรา ซึ่งในโลกแห่งรูป บรรดารูปสมบูรณ์และนามธรรม อันไม่เปลี่ยนแปลงทั้งหลายจะอยู่ร่วมกันกับวิญญาณอมฤตของมนุษย์ ผู้ใดได้เข้าไปอยู่ในโลกแห่งรูปสมบูรณ์นั้น จะประสบความนิรันดร์ แห่งสรรพสิ่งทั้งปวงและจะเป็นสุขสมบูรณ์ การที่ในชาตินี้ คนเราเห็นสรรพสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป แต่รู้ว่ามันมีรูปสมบูรณ์ที่คงกระพันนั้น เพลโตว่าเนื่องจากชาติก่อนๆ เราเคยอยู่ในรูปแห่งรูปสมบูรณ์มาแล้ว นี่เป็นข้อคิดเกี่ยวกับการระลึกชาติของพวกกรีกอย่างในพระพุทธศาสนา แต่ในกรีกไม่ได้มีการระบุเรื่องเกี่ยวกับกรรมของส่วนบุคคลแต่อย่างใด
โซเครตีส (Socretes) มีข้อคิดเกี่ยวกับเรื่อวิญญาณ (Soul) ของมนุษย์ว่า
“วิญญาณเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดชีวิตและเป็นลมปราณซึ่งเกิดขึ้นเองและเป็นอมฤต” ดังคำสอนของโซเครตีสที่เคยให้ไว้กับชาวเอเธนส์ให้ ระวังรักษาจิตวิญญาณของตนเอง ซึ่งวิญญาณในทัศนะของโซเครตีสนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ (Divine) ซึ่งผูกพันกับส่วนของมนุษย์ที่เป็นอมตะ วิญญาณเป็นที่ตั้งของบุคลิกลักษณะ(Character) และความรู้ (Knowledge)ของมนุษย์ ดังเช่นที่ศาสตราจารย์ A.T. Tylor กล่าวว่า ตามคำสอนของโสเครตีสแล้ว วิญญาณของคนคือ ตัวคนนั้นเอง ต่อมาภายหลังจึงมีความเชื่อว่า วิญญาณคือสิ่งที่ซึ่งอาศัยร่าง
แนวคิดของอริสโตเติล ซึ่งมีพ่อเป็นนายแพทย์ของพระเจ้าฟิลิปแห่งรัฐ Macedonia ต่อมาเขาได้กลายป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แม้ว่าอริสโตเติลเคยเข้าไปเป็นศิษย์ของเพลโตที่อะคาเดมีก็ตาม แต่แนวความคิดทางปรัชญาของเขาทั้งสองคนก็มีความแตกต่างกันมาก
ในเรื่องของผัสสะ เพลโตมองว่า “ผัสสะลวงตาเราแต่ความคิดได้ให้ความจริงแก่เรา” และเราสามารถเอาความรู้เหล่านี้ไปขยายเป็นความคิดอื่นๆได้ ในขณะที่อริสโตเติล วิจารณ์ความคิดเรื่องรูปสมบูรณ์ของเพลโต เขามองว่ามันเป็นเสมือนจินตนาการ หาได้มีอยู่จริงไม่ เขาเชื่อในความมีอยู่ของแต่ละสิ่ง เมื่อเพลโตพูดถึงเรื่องกุหลาบดอกหนึ่ง ว่ารูปสมบุรร์ของดอกกุหลาบมีอยุ่จริง แต่ดอกกุหลาบดอกหนึ่งมีอยู่ไม่จริงนั้น อริสโตเติล แย้งว่า ดอกกุหลาบดอกหนึ่งเป็นของจริง ส่วนรูปสมบูรณ์ของมันนั้นไม่มีอยู่จริง เป็นจินตนาการหรือความฝันเท่านั้น
จากวิวาทะหรือข้อถกเถียงทางปรัชญาดังกล่าว นำไปสู่คู่ของความขัดแย้งทางปรัชญาในยุคปัจจุบันหลายประเด็น ทั้งแนวความคิดเรื่องสสารนิยม (Materialism) กับจิตนิยม (Idealism) และแนวคิดเรื่องของร่างกาย (Body ) กับจิต (Soul) โดยเฉพาะการแยกระหว่างร่างกายกับจิตของนักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่อย่าง เคอเน่ เดคาร์ต (Rene Decart) ที่ให้ความสำคัญของมนุษย์ที่รู้ได้เอง คิดได้เอง เพราะมนุษย์คิดได้จึงทำให้มีตัวมนุษย์ หาใช่ความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า พระวจนะของพระเจ้า หรือเจตจำนงของพระเจ้าแต่อย่างใด
แต่ในประเด็นเรื่องของจิตวิญญาณ แนวความคิดของกรีกในยุคนั้นก็ก้ำกึ่งกันระหว่างความเชื่อแบบสสารนิยม กับจิตนิยม และมีความโน้มเอียงไปในทางชีวิตนิยม (Hylozoism) ที่เชื่อว่า มีชีวิตที่ใดก็มีวิญญาณที่นั่น วิญญาณทำให้สิ่งมีชีวิตแสดงออกมาซึ่งกัมมันตภาพหรือกิจกรรม (Activity) วิญญาณของมนุษย์ซึ่งรู้คิด มีเหตุผล เป็นวิญญาณขั้นสูงสุดของชีวิต ในความเห็นของอริสโตเติล ก็ยังมองว่า พืชก็มีวิญญาณเช่นกัน นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ จึงไม่ใช่พวก ทวิลักษณ์นิยม (Dualist) ที่มองว่า ร่างกายกับวิญญาณเป็นคนละสิ่งกัน แต่พวกเขามองว่า เป็นสิ่งเดียวกัน โดยเชื่อว่านามรูปของพระเจ้า วิญญาณของมนุษย์ก็ต้องอยู่ในร่างมนุษย์ จะอยู่ในร่างสัตว์ไม่ได้ และวิญญาณจะตั้งอยู่เป็นเอกเทศโดยตัวเองไม่ได้ ซึ่งแนวความคิดของอริสโตเติลก็คล้ายๆกับนิพพานทางพระพุทธศาสนา หรือนิรวาณของพราหมณ์ ว่า ธาตุอันสูงส่งในวิญญาณของมนุษย์อันก่อให้เกิดการระลึกเหตุและผลนั้นมาจากภายนอก แล้วเข้าไปภายใน ธาตุนี้จะยังคงอยู่หลังจากร่างกายดับขันธ์ไปแล้ว แล้วจะอยู่ในสภาพเป็นบุคคล หรือไปรวมกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น แต่อริสโตเติลไม่ได้กล่าวไว้ตรงๆ เช่นเดียวกับเพลโต ที่เชื่อว่า สรรพสิ่งมีทั้งรูป(โครงสร้าง)และเนื้อ ของสิ่งเดียวกันต้องมีทั้งรูปและเนื้อตรงกัน เช่น แจกันและเชิงเทียนทำจากทองเหมือนกัน หากผิดรูปหรือรูปผิดกันก็เป็นของสองสิ่ง รูปและเนื้อนี้แยกออกจากกันไม่ได้ คือ ไม่มีเนื้อที่ไร้รูป และไม่มีรูปที่ไร้เนื้อ แต่อาจมีรูปที่เนื้อคนละอย่าง หรืออาจมีเนื้อคนละรูป เป็นต้น
2.จากจิตวิญญาณสู่ความคิดเรื่องความตาย
2.1 แนวคิดเรื่องความตายของนักปรัชญา
โสเครตีส (470-399 B.C) กล่าวว่า ไม่มีปัจเจกบุคคลที่ดำรงชีวิตอยู่คนใดสามารถที่จะรู้เกี่ยวกับความตาย (No living Individual could know death) เขาได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับความตายที่สามารถจะเป็นไปได้ คือ ความตาย เป็นทั้ง การนอนหลับที่ไร้ความฝัน (Dreamless Sleep) หรือการเดินทางของจิตวิญญาณไปยังโลกอื่น (Dale V. Hardt , 1946 : 3-4 ) เขาอ้างถึงว่า ความตาย เช่นเดียวกับ การแช่แข็ง (Freezing) และการแยกของจิตวิญญาณออกจากร่างกาย ความตายคือกระบวนการปลดปล่อยจิตวิญญาณที่เสรี จากความรู้สึกเหล่านี้และนำไปสู่ความสามารถที่จะค้นพบความจริง เช่นเดียวกับนักปรัชญาอย่าง เพลโต เชื่อว่า ความตายเป็นวิธีการที่ง่ายที่จะปลดปล่อยจิตวิญญาณ (Soul) ออกจากร่างกาย จิตวิญญาณไม่มีวันที่จะถูกทำลาย แต่มันเป็นสิ่งที่เป็นอมตะ (Immortality) ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ร่างกายมีการตาย ในขณะที่จิตวิญญาณของพระเจ้า (Divine Soul) เป็นสิ่งที่นิรันดร์ ในความปรารถนาของมัน ที่จะเป็นอิสระ จากความกลัว (Fear) ความรู้สึกเจ็บปวด (Passion) และความชั่วร้ายที่ดำรงอยู่ของมนุษย์ โดยดำเนินการไปยังการดำรงอยู่พร้อมกับพระเจ้า สิ่งที่เพลโตพูดถึงเกี่ยวกับการพิจารณาเกี่ยวกับความตาย และชีวิตหลังความตาย เป็นสิ่งที่ถูกกล่าวซ้ำ โดยพระเยซูคริสต์ ในช่วง 400 ปีต่อมา
สำหรับอริสโตเติล (384-322 B.C) ในอีกด้านหนึ่ง ทัศนะของความตายเกี่ยวกับมนุษย์ เช่นเดียวกับการสิ้นสุดของทุกๆสิ่งยกเว้นเหตุผลของเขา เหตุผลอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกนิยามหรือให้คำจำกัดความ เช่นเดียวกับบางสิ่งที่ถูกเรียนรู้ โดยมนุษย์ทุกคน และเป็นสิ่งที่มีอยู่ในพวกเขาเสมอ และ ไม่มีวันตาย
ในสังคมของเพลโตและอริสโตเติล มีความแตกต่างจากสังคมอื่นๆปัจจุบัน ในสังคมของเพลโตทัศนะเกี่ยวกับความตาย เขามองว่า สังคมของเขาปฏิเสธเกี่ยวกับการระลึกหรือเข้าใจความตาย ว่าเป็นเช่นเดียวกับกระบวนการ ปฏิเสธความเชื่อว่าคนทุกคนหรือสัตว์โลกจะต้องตาย ปฏิเสธกับการยอมรับความตายเป็นสิ่งสุดท้าย และพวกเขากลัวความตายเช่นเดียวกับสิ่งชั่วร้าย
ซึ่งนักปรัชญายุคต่อๆมา ก็แผ่ขยายแนวความคิดของอริสโตเติล เพลโตและโสเครตีส จนกระทั่ง มาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ ซึ่งเป็นนักปรัชญาแนว Existentialist ชาวเยอรมัน ได้พิจารณาความตายในทางปรัชญาซึ่งแตกต่างจาก เพลโตและอริสโตเติล โดยเขาเชื่อว่าการตายไม่ได้แยกจิตวิญญาณออกจากร่างกาย แต่ค่อนข้างจะ Bind พวกเขาเข้าด้วยกัน และเป็นการสร้างความสมบูรณ์ของการดำรงอยู่ทั้งมวลของมนุษย์
มาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ (Martin Heidegger) มองว่า ความตายไม่ใช่เหตุการณ์ที่ซึ่งเป็นความสิ้นสุดของชีวิต (Ends Life) แต่มันคือส่วนหนึ่งของชีวิต (Part of Life) รวมทั้งความตายไม่ใช่สิ่งที่วางอยู่ในอนาคต (Future) แต่มันอยู่กับเราที่นี่และตอนนี้ ดังนั้นปรัชญาของมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ในเรื่อง Being and Times ก็คือ
• 1.ให้ความสำคัญกับความหมายของความเป็นอยู่หรือการดำรงอยู่ของมนุษย์ ในแง่ที่มันคือความมีชีวิตชีวามากที่สุด เพราะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต
• 2.การตระหนักถึงตัวเองของมนุษย์ ที่ขึ้นอยู่กับเรื่องความรู้สึกและเรื่องเวลา ว่าวันหนึ่งเราต้องตาย ซึ่งเป็นธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ การที่มนุษย์รู้ว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตาย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้มนุษย์มองตัวเองและจัดการกับตัวเอง เผื่อว่าวันพรุ่งนี้สำหรับตัวเองอาจจะไม่มีก็ได้
• 3.การกังวลต่อความตายและความกลัวต่อความตาย ส่วนนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกและเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ ที่สัมพันธ์จากประสบการณ์เกี่ยวกับความตายที่ได้รับ จากคนรอบข้าง จากสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เพลง และวรรณกรรมต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น