วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

หนองหานกุมภวาปีกับความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ
สภาพภูมิศาสตร์ (กายภาพ)
หนองหานกุมภวาปี เป็นหนองน้ำจืดขนาดใหญ่ ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกะทะหงายรองรับน้ำฝนและน้ำจากลำห้วยสาขามีพื้นที่ประมาณ 22,500ไร่ ( ในเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงสาธารณประโยชน์ระบุว่าหนองหานมีเนื้อที่ประมาณ 18,025 ไร่ 3 งาน 18 3/10 ตารางวา ซึ่งเล็กกว่าในอดีตเนื่องจากการทำโครงการโขง ชี มูล ทำคันไดร์ฟรอบหนองหาน) มีความลึกเฉลี่ย2.10 เมตร ในฤดูฝนจะลึกเฉลี่ยประมาณ 4 เมตร จุดที่ลึกที่สุดคือแอ่งน้ำปุ้น ที่อยู่บริเวณดอนหลวง
หนองหานกุมภวาปีไหลผ่านพื้นที่5 ตำบล 2 อำเภอ คือ ตำบลอุ่มจาน กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม ตำบลเชียงแหว ตำบลแชแล ตำบลตูมใต้ ตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี
หนองหานกุมภวาปีเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำปาวที่ไหลลงสู่เขื่อนลำปาวและไหลลงสู่แม่น้ำชีต่อไปลำห้วยต่างๆที่ไหลลงสู่หนองหานมีจำนวนหลายลำห้วยคือ ห้วยบ้านแจ้ง ห้วยไพจาน ห้วยโพนไฟ ห้วยสามพาด ห้วยน้ำฆ้อง ห้วยหัวเลิง ห้วยโนนสา (เชียงเครือ) ห้วยน้ำเค็ม ห้วยหัวเลิง ห้วยนาโน ห้วยหนองกุด ห้วยวังแสง ห้วยแต่ละห้วยเป็นห้วยลำน้ำธรรมชาติและเป็ฮองน้ำที่ชาวบ้านใช้ลำเลียงน้ำเข้าสู่พื้นที่ไร่นาเพื่อทำการเกษตร ต่อมาก็ได้มีการขุดลอกทำให้กว้างมากขึ้นกว่าในอดีต
นอกจากลำห้วยต่างๆแล้ว ภายในหนองหานยังมีดอนต่างๆซึ่งเป็นเนินดินที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำดอนเหล่านี้ในอดีตจะมีพันธ์ไม้ขนาดเล็กขึ้นอยู่แต่ปัจจุบันได้ถูกตัดเผาและทำลายลงไปเพื่อทำการเพาะปลูก และปลูกสิ่งก่อสร้างเช่น เพิงสำหรับพักเมื่อเวลาหาปลา สภาพของดอนในปัจจุบันจึงเป็นเนินดินที่มีหญ้าและพืชน้ำเช่นผักไผ่หวาน ผักเฟื้อยและอื่นๆเกิดขึ้นอยู่มาก ดอนต่างๆในหนองหาน เช่น ดอนเตา ดอนโน ดอนดินจี่ ดอนกลาง ดอนสวน ดอนหลวง
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบลุ่มนาทุ่ง บางพื้นที่น้ำท่วมถึง ก็จะใช้ทำนาทาม และที่ราบลุ่มที่อยู่สูงขึ้นไปที่เรียกว่านาโคก ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายและดินดำ ดินทามซึ่งมีอินทรียวัตถุทับถมกันเป็นเวลานานในยุค ควอเตอร์นารี ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์มาก และบริเวณที่เป็นดินโป่งที่มีเกลือโผล่ขึ้นบริเวณผิวดินซึ่งพบมากบริเวณใกล้บ่อเกลือ ขอบคันคู คลองชลประทาน และท้ายฝาย
สภาพทางชีวภาพ
บริเวณหนองหานเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายทางด้านชีวภาพ ในพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ได้เป็นแหล่งรวบรวมพันธ์พืช พันธ์สัตว์ไว้หลายชนิด จากการศึกษาสรุปได้ดังนี้
1.พันธุ์ปลาน้ำจืดในหนองหาน จากการศึกษาร่วมกับชาวบ้านพบว่าพันธ์ปลาในหนองหานสามารถจำแนกได้ 2 ประเภทคือ ปลาตามธรรมชาติและปลาเลี้ยงซึ่งในหนองหานพบว่ามีปลามากกว่า50 ชนิด บางชนิดก็แทบจะไม่พบเห็นหรือสูญหายไป มีดังนี้คือ
1.ปลาขาวไทย 2.ปลาโด(ชะโด) 3.ปลาค้อ(ปลาช่อน) 4.ปลาดุกนา
5.ปลาดุกอุย 6.ปลาดุกดั๊ก 8.ปลาดุกรัสเซีย 9.ปลาดุกคันสั่ง
10.ปลาดุกสัน 11.ปลาค้อกั้ง 12ปลาไหล 13ปลาสลิด
14ปลาสร้อย 15ปลาปักเป้า 16ปลาช้างเหยียบ 17ปลากด
18ปลาคล้าว 19ปลาอีสพ 20ปลาเข็ง (ปลาหมอ) 21ปลาก่า
22ปลาอีแป่ง 23ปลาผา 24ปลาตองกราย 25ปลาตองลาย
26ปลาเจ๊ง 27ปลาสวาย 28ปลาบู่ 29ปลาบึก
30ปลาก้างธุง 31ปลานาง(เนื้ออ่อน) 32ปลาแข้ 33ปลากระแยง
34ปลาซิวแก้ว 35ปลาซิวอ้าว 36ปลาซิวหางแดง 37ปลาอีด
38ปลาคาบของ 39ปลาขาวเจ 40ปลาขาวมน 41ปลาขาวสร้อย
42ปลานิล 43ปลาใน 44ปลาหมอเทศ 45ปลานวลจันทร์
46ปลาจีน 47ปลาตะเพียน 48ปลาสบธง 49ปลากัด
50ปลาหมัด 51ปลาหลด 52ปลากระทุงเหว 53ปลาเข็ม
54ปลาจล 55ปลาเสือ 56ปลาหมู 57ปลากระดี่
58ปลาแม่นกเขา 59ปลาขาวควยล่าม 60ปลาสูท 61ปลาเฟื้อย หม้อ
62ปลาแปป 63ปลารากกล้วย 64ปลากระดี่นาง 65ปลากระดี่หม้อ 66ปลาบึก 67ปลาขาวหัวแข็ง 68ปลาสวาย

2.พันธุ์ผักในหนองหาน
พันธุ์ผักในหนองหานมีมากมายหลายชนิดส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำมาใช้ในการบริโภค มักจะเป็นผักที่ขึ้นตามริมน้ำ จากการศึกษามีดังนี้
1.ผักบัวแดง 2ผักบัวขาว 3ผักบัวหลวง 4ผักบุ้ง 5ผักตบ 6ผักถ่อ
7ผักกูด 8ผักหนาม 9ผักกระนองม้า 10ผักขี้ควาย 11ผักแหน 12บอน 13ผักกระแยง 14ผักแพงควย15ผักเฟื้อย 16ผักตบปอด 17บักถั่วน้ำ 18ผักอีหีน 19ผักแว่น 20ผักกะโตนา21ผักกระเฉดน้ำ 22ผักผาย 23ผักแก่นขม 24ผักแก่นส้ม 25ผักตานา 26ผักบัวแบ้ 27ผักจอก 28ผักกระโดนน้ำ
ผักทั้งหมดข้างต้นจะพบได้ทั่วไปในบริเวณริมฝั่ง ตามโนน ตามพงต่างๆซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านแล้วยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงและอนุบาลลูกปลาชนิดต่างๆที่อาศัยอยู่ในบึงแห่งนี้
3.พันธุ์นกชนิดต่างๆที่อยู่ในหนองหาน
พันธ์นกชนิดต่างๆที่พบอยู่บริเวณหนองหานมีมากมาย เนื่องจากบริเวณหนองหานมีพืชจำพวก สนม พงทับทมกันอยู่มากมายจนแน่นหนา จึงเหมาะที่จะเป็นที่กำบังหลบภัย สร้างรังและหากิน ในบริเวณนี้ จากการรวบรวมพันธ์นกต่างๆร่วมกับชาวบ้านพบว่ามีนกอยู่มากกว่า 20 ชนิดที่เป็นนกพื้นเมือง และนกอพยพมาจากถิ่นอื่นซึ่งมาหากินบริเวณหนองหาน ซึ่งมีดังนี้คือ
1 นกไก่นา 2 นกกระสา 3 นกคอกล้า 4 นกเฮิบ 5 นกเป็ดแดง 6 นกกะลา 7นกกระจาบ 8นกอีโก้ง 9 นกกระจอก 10 นกกระจิบ 11นกไก่คุ้ม 12นกตูม
13นกกระยาง 14 นกแซงแซว 15 นกกระเต็นน้อย 16นกเอี้ยง 17 นกแล่นแซว
18 เหยี่ยว 19แร้ง 20 กา 21 นกกระเต็นใหญ่ 22 นกจ่าวหม้อ 23นกจ่าวบ้าน
24 นกจ่าวเป็ด 25 นกคุ่มไฟ 28 นกเขา 29นกกรวก 30นกเค้าแมว 31นกฮูก 31นกจ่าวลาย 32นกจ่าวแดง
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นยังมีนกอีกมากมายที่อาศัยอยู่บริเวณหนองหานแต่ชาวบ้านและผู้ศึกษาก็ไม่สามารถรู้ได้ว่านกที่เหลือคือนกอะไร ซึ่งนกชนิดต่างๆในหนองหานก็สามารถจำแนกได้กว้างๆ 2 ชนิดคือ นกกินพืช และนกกินสัตว์(รวมถึงปลา หอย และแมลงต่างๆ) บริเวณหนองหาน ซึ่งเป็นการช่วยรักษาสมดุลย์ของระบบนิเวศน์ แต่ปัจจุบันนกเหล่านี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเพราะชาวบ้านได้ทำการล่า เพื่อมาเป็นอาหารและบุคคลภายนอกที่ล่าเพื่อความสนุกสนาน จึงน่าที่จะได้มีการกำหนดพื้นที่บริเวณพง สนม ดอนต่างๆที่มีนกอาศัยอยู่เป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ เพื่อขยายพันธุ์นกเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป
นอกจากนี้บริเวณหนองหานยังมีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอื่นๆ เช่น กบ เขียดบัว(เขียดจิก) เขียดตะปาด เขียดตานา เขียดขาคำ เขียดขาเหลือง เขียดบักแอน้อย หอยต่างๆ หอยกิ๊บกี่ หอยเชอร์รี่ หอยโข่ง หอยปรัง รวมถึงเต่าต่างๆ ตะพาบน้ำ ซึ่งในอดีตชาวบ้านบอกว่าที่บึงหนองหานมีจรเข้อยู่เป็นจำนวนมากแต่ปัจจุบันไม่เคยพบเห็นเลย นอกจากนี้ยังมีงูชนิดต่างและอีเห็นซึ่งอาศัยอยู่ตามพง สนมอีกด้วย สัตว์ทุกชนิดบริเวณหนองหานถือว่าเป็นตัวจักรสำคัญในการควบคุม ปริมาณพืชและแมลงต่างๆในบริเวรหนองหานให้อยู่ในสภาพที่สมดุล แม้แต่พง หญ้า สนมต่างๆ ก็เป็นแอ่งเล็กๆของปลาที่สามารถใช้วางไข่และอาศัยหลบภัย แต่ในทางกลับกัน มันก็ทำให้ง่ายในการที่มนุษย์จะจับมัน โดยใช้เครื่องมือต่างๆที่มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ และทำลายพันธ์ปลาอย่างสิ้นซาก ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาในการอธิบายทำความเข้าใจให้ชาวบ้านเห็นถึงความสำคัญของ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และระบบนิเวศน์ต่างๆรอบหนองหาน โดยเฉพาะ การจับปลาในฤดูวางไข่ การจับลูกปลาขนาดเล็ก เพื่อให้ปลาสามารถขยายพันธ์และเติบโตเป็นอาหารให้เขาได้อย่างยาวนาน
ลักษณะทั่วไปของหนองหานที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะกล่าวได้ว่าหนองหานมีลักษณะของพื้นที่ชุ่มน้ำ [WETLAND] ซึ่งตามคำนิยามของอนุสัญญาแรมซาร์[RAMSAR CONVENTION] ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำ ซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ ที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม น้ำขัง ที่พรุแหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่น้ำนิ่ง น้ำไหล มีน้ำชั่วคราว หรือถาวร เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม แต่จะต้องมีความลึกลดลงต่ำสุดไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งหนองหานก็สามารถจัดเข้าไปอยู่ในเขตแรมซาไซค์ได้เช่นกัน เพราะเป็นหนองน้ำจืดที่รองรับน้ำฝน และน้ำจากลำห้วยต่างๆที่ไหลลงมา ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของลำปาว ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะถูกจำกัดเขตทำให้น้ำนิ่ง โดยการสร้างคันคูดินรอบ ตามโครงการฝายกุมภวาปี และโครงการโขง ชี มูล เพื่อเป็นอ่างกักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้ง แตความหลากหลายทางชีวภาพก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์นก พันธุ์ปลา โดยเฉพาะพันธุ์ปลาเนื่องจากหนองหานมีพงหญ้า และพืชน้ำต่างๆ เช่นสาหร่าย บัว ทำให้เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของปลาชนิดต่างๆ ทั้ง ปลาสลิด ปลาชะโด ปลาช่อน ปลาหมอช้างเหยียบ ปลากด ปลาดุก ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความอุดมสมบูรณ์ของหนองหานได้รับการกล่าวขานจากคนรุ่นเก่าว่า ปลาขนาดเท่าโคนขา ต้นเสา ก็หาได้ไม่ยากในหนองน้ำแห่งนี้ แต่ทุกวันนี้พันธ์ปลาบางชนิดเริ่มลดลง และสูญหายไป ปลาชะโดถูกล่ามากขึ้น ปลาสลิด ปลานาง ปลาคล้าว เริ่มที่จะไม่พบในหนองน้ำจืดแห่งนี้ ที่ยังพอจะหามารับประทาน ทำปลาร้า ปลาส้ม และขายเพื่อสร้างรายได้ ก็มีเพียง ปลาช่อน ปลาไหล ปลาขาว และปลานิลเป็นส่วนใหญ่
น่าเสียดายที่หนองหานถูกทำให้เปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านระบบนิเวศน์ การสร้างคันคูดินล้อมรอบ เพื่อทำให้เป็นอ่างเก็บน้ำได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านนิเวศน์ วัชพืชต่างๆทับถมมากขึ้น หนองหานตื้นเขินลง มีผลต่อออกซิเจนในน้ำซึ่งส่งผลถึงระบบการดำรงชีวิตของปลา การขยายพันธ์ ไม่เพียงเท่านั้นมันยังได้เปลี่ยนมิติทางสังคม รูปแบบความสัมพันธ์ของชาวบ้านที่อยู่รอบหนองหานด้วย
ภาพในอดีต ของนาข้าว บึงบัว ดอนต่างๆที่เคยเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ มีต้นไม้ต่างๆขึ้นเช่น ต้นฉำฉา ต้นตาล ต้นพุทธา ต้นโพธิ์ พงสนมต่างๆ ปลัก ตม แอ่ง ทางน้ำไหล ระบบต่างๆที่มันเคยทับซ้อนกันอยู่ในหนองหาน ตามแบบของพื้นที่ชุ่มน้ำ กำลังหายไป ดอนต่างๆเริ่มที่จะถูกน้ำท่วม บ่อ ปลักตม ที่ชาวบ้านเคยขุดล่อปลา พาวัวควายมาเลี้ยง นาข้าวที่ชาวบ้านเคยเข้ามาจับจอง กลายเป็นพื้นน้ำขาวพรึบไปหมด แซมด้วยบึงบัวต่างๆเช่นบัวหนาม บัวแบ้ บัวแดง บัวทอง บัวขาว สาหร่ายชนิดต่างเช่น หางกระรอกและพืชน้ำอื่นๆเช่น จอก แหน ผักตบ ดอกจอก ต้นธูปฤษี ต้นผือ พงหญ้า บอนต้นอ้อ สนม พงต่างๆที่ทับทมกันมากขึ้นเนื่องจากการสร้างฝายทำคันดินล้อมรอบ
หนองหานกุมภวาปีเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ในอีกหลายๆพื้นที่ในประเทศไทย ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ควรได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งในประเทศไทยมีทั้งหมด 61 แห่ง ที่กำลังรอขึ้นทะเบียน รวมถึงหนองหานด้วย และยังเป็นพื้นที่ที่กำลังจะได้รับการเสนอให้เป็นพื้นที่ RAMSAR SITE ในอีกไม่ช้า แต่หนองหานก็ได้ถูกบรรจุให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับความคุ้มครองและฟื้นฟู เพื่อให้ระบบนิเวศน์ไม่ถูกทำลายมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทความที่ดีมากครับ และพื้นที่ตำบลผมอยู่ติดหนองหานด้วยครับ จึงใคร่ขออนุญาตคุณต้นตาวันพันดาวนำบทความนี้ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานครับ www.umjan.com ทางผู้บริหารกำลังประสานงบประมาณขุดลอกบางส่วนของหนองหานครับ โครงการพัฒนาพื้นที่ดอนสวน และแปลงสาธิตปลูกผักลอยน้ำในหนองหานครับ ผลประการใดขอความกรุณาแจ้งด้วยนะครับ ขอบคุณครับ worawuth1974@gmail.com

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณเนื้อหาดีๆนะค๊ะ ^^

    ตอบลบ