วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

อุดมการณ์ ความฝันของคนรุ่นใหม่ บนเส้นทางของความเป็นจริงในสังคม
“ไถ่ถามถึงความฝัน”
เธอใช่ไหม.... ว่าจะฟื้นดวงใจด้วยใฝ่ฝัน
ว่าจะเสพเสรีแห่งชีวัน ว่าจะร่ำรำพันกาพย์สัญจร
ว่าจะท่องทุกท้องถนนเยี่ยงคนกล้า ว่าจะไต่รุ้งฟ้าฝ่าสิขร
ว่าจะเป่าใบไม้ร่ายเพลงพร ว่าจะร่อนเร่ผ่านธารแสงดาว
ว่าจะลุยรอยไถในท้องทุ่ง ว่าจะมุ่งปลูกไถในนาข้าว
ว่าจะเกี่ยวรวงทองอันพร่องพราว ว่าจะร่วมรวดร้าวกับผองชน
วันนี้เธออยู่ไหน...หรือหลงทางร้างไกลไร้แห่งหน
ยังหมาดหมายปรารถนาฝ่าทุกข์ทน หรือหมดไฟไหม้หม่นเยี่ยงคนแพ้!
(กวีนิพนธ์ คือแรงใจและไฟฝัน โดยไพวรินทร์ ขาวงาม,2535)
อุดมการณ์ และความฝัน มีความสัมพันธ์กันบนรอยต่อแห่งกาลเวลา ที่นำพาชีวิตมนุษย์ไปสู่การเปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้ายในด้านต่างๆทั้งชีวิตตัวเอง สภาพสังคมที่อาศัยอยู่และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายรอบตัว การบ่มเพาะ การเรียนรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ณ ตำแหน่งแห่งที่หนึ่ง ช่วงเวลาหนึ่ง นำพาให้มนุษย์ในแต่ละที่มีความแตกต่างหลากหลายกันทั้งทางด้านเชื้อชาติ ระดับชนชั้นในสังคมและ ฐานะทางเศรษฐกิจ มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่โดยลำพัง โดยปราศจากการเรียนรู้ การถ่ายทอด ความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ จากสังคมที่อาศัยอยู่ กระบวนการปลูกฝัง ส่งผ่านความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เริ่มแรกที่สุดก็คือ ครอบครัว จากปู่ย่าตายายสู่ลูกหลาน จากพ่อแม่สู่ลูก แต่เมื่อสังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น หน้าที่ของการขัดเกลาทางสังคม จึงได้โยกย้ายถ่ายโอนไปสู่สถบันการศึกษาซึ่งก็คือโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ที่จะช่วยปลูกฝังแนวคิด อุดมการณ์ ธรรมเนียมการประพฤติปฎิบัติตัวในสังคมไปสู่คนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า New Generation ในปัจจุบัน
มุมมองที่ต่าง เกิดจากช่องว่าง ที่ต่างกัน การขัดเกลาทางสังคมที่ต่างกัน ความคิดที่สะท้อนต่อโลกทางสังคมที่ตัวเองอยู่จึงแตกต่างกัน แต่สิ่งเหล่านี้มิได้หมายความว่ามนุษย์จะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยพื้นฐานของมนุษย์ก็คือสิ่งมีชีวิต เป็นสัตว์สปีชีส์ หนึ่งที่มีความต้องการ อาหารสำหรับดำรงชีวิต ที่อยู่อาศัยสำหรับหลับนอน ยารักษาโรคยามเจ็บป่วย และเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นปกปิดร่างกาย แม้ว่านักจิตวิทยาบางคนอย่าง Maslow พยายามชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีความต้องการเป็นลำดับขั้น จากความต้องการอย่างหยาบๆพื้นฐาน ไปสู่ความต้องการขั้นสูงที่ละเอียดอ่อน นั่นก็คือ ความรัก การได้รับการยอมรับการมี ชื่อเสียงเกียรติยศ และสุดท้ายคือการบรรลุถึงความเข้าใจและความจริงในตัวตนของตัวเอง เราก็มิอาจปฎิเสธได้ว่า ที่เราดำรงชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ก็เพื่อตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของชีวิตเป็นสำคัญ จนมีคำกล่าวที่ว่า” ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ก่อนแล้วค่อยช่วยเหลือคนอื่น” แน่นอนว่า เป้าหมายเหล่านี้ก็เพื่อชีวิต ชีวิตซึ่งเป็นของแต่ละบุคคล ที่สอดคล้องกับแนวคิดเชิงปัจเจกชนนิยม ที่คนรุ่นใหม่ ถูกหล่อหลอมด้วยเบ้าหลอมเดียวกัน คือระบบการศึกษา ที่มีรากเหง้ามาจากตะวันตก ที่ให้ความสำคัญต่อแนวคิดปัจเจกชนนิยม(Individualism) และเสรีนิยม(Liberalism) เพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ชีวิตของมนุษย์ยุคปัจจุบัน จึงมีลักษณะไม่หยุดนิ่ง ต้องเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ก็คือ การต่อสู้แข่งขัน และการดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอดได้ในสังคม ดังเราจะพบเห็นปรากฎการณ์เหล่านี้ในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่ความสามารถของคนถูกวัดค่าด้วยแผ่นกระดาษ, GPA ,และสถาบันที่มีชื่อเสียง ที่จะช่วยสนับสนุนให้คนเหล่านั้นไปสู่เป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็วกว่าคนอื่น การแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้เข้าเรียน เข้าทำงาน ในองค์กรหรือสถาบันต่างๆโดยไม่สนใจถึงเรื่องการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความมีคุณธรรมและจริยธรรม ที่เป็นพื้นฐานอันดีงามในอดีตจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในสังคมไทยปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ถูกผลิตโดยใคร และกระทำผ่านใคร คำตอบก็ชัดเจนก็คือระบบสังคม ผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคม ที่เป็นตัวกำหนดนโยบายการบริหารจัดการความเป็นมนุษย์ พลเมืองที่ดีของสังคม ที่ได้เชื่อมโยงคามคิด อุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับตะวันตก กับโลก เข้ามาเป็นเครื่องมือ /หลักสูตร กฎหมายกฎระเบียบ ในการหล่อหลอมและผลิตซ้ำอุดมการณ์แบบทุนนิยม บริโภคนิยมและปัจเจกชนนิยม ให้กับหนุ่มสาวนรุ่นใหม่ ผ่านสถาบันการศึกษาและสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ดังนั้นการเกิดขึ้นของ กระบวนการทำให้เป็นอเมริกันนิยม(Americanization) ญี่ปุ่นนิยม(Japanization )วัฒนธรรมแบบMac หรือแดกด่วนทันเวลาที่มีอิทธิพลจากวัฒนธรรมบริโภคไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า มันจึงกลายเป็นลักษณะของเด็กไทยยุคใหม่พันธุ์ผสมที่ตัวเป็นไทยแต่รสนิยมมีความหลากหลาย ผสมปนเปทางเชื้อชาติมากขึ้น นี่คือช่องว่างที่ต่างเวลาที่ห่างกันระหว่างช่วงอายุของคน จึงไม่ควรแปลกใจที่เด็กกรุงเทพฯบางคนไม่เคยเห็นควาย เพราะเด็กกลุ่มนี้เกิดมาในสภาพสังคมอีกช่วงหนึ่ง ถ้าเกิดในสมัยร.4-5 ที่มีการชลประทานขุดคลองรังสิต สภาพพื้นที่ในกรุงเทพฯยังเป็นที่นาหรือเกษตรกรรม ก็คงจะยังเห็นควายบ้าง แต่นี่พวกเขาเกิดมาในยุคหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บ้านเมืองโดยเฉพาะศูนย์กลางการบริหารปกครองอย่างกรุงเทพฯ ก็เปลี่ยนแปลงกลายเป็นตึกรามบ้านช่อง สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างมากมายโดยรอบปริมณฑล แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเด็กกรุงเทพฯ หรือคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จะไม่มีความอยากรู้อยากเห็นในพื้นที่อื่นๆ ที่พวกเขาไม่เคยได้สัมผัส บางครั้งคำบอกเล่าของเด็กบ้านนอกที่มาเรียนในกรุงเทพฯ ที่พูดถึงทุ่งนา ป่าเขา วัวควาย ประเพณีที่แปลก รวมทั้งความยากจนแร้นแค้นปัญหาต่างๆ ได้จุดประกายให้คนหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้นต้องการที่จะเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตและทำงานพัฒนาในหมู่บ้าน ซึ่งในช่วงนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคของการแสวงหา คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน คุณต้องลงไปเรียนรู้ด้วยตัวเองคุณเองคุณถึงจะเข้าใจอย่างแท้จริง อาจกล่าวได้ว่าแม้จินตภาพเกี่ยวกับชุมชนของหนุ่มสาวเหล่านี้ อาจจะมีลักษณะโรแมนติก สายลมแสงแดด แต่นัยหนึ่งมันได้สร้างพลังสร้างสรรค์อย่างมหาศาล เพราะเรามีอดีตเราจึงมีเราในวันนี้ หากไม่มีหนุ่มสาวกลุ่มนี้ใยกระแสแนวคิดท้องถิ่นนิยม วัฒนธรรมชุมชนหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงยังดำรงอยู่และถูกกล่าวขานกันอย่างมากมาย และเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ท่ามกลางกระแสทุนนิยม โลกาภิวัฒน์ที่คลืบคลานเข้ามาในชุมชนอย่างหนักหน่วง ภาพความคิดของหนุ่มสาวในยุคนันสะท้อนผ่านงานเขียน บทความ เกี่ยวกับชุมชนหมู่บ้าน กรณีปัญหาและการต่อสู้ของชาวบ้านที่พวกเขาได้สัมผัสและมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลง
อุดมการณ์และความศรัทธา เมื่ออยู่บนโลกใบนี้ สังคมตรงนี้แล้วเราต้องทวนกระแสหรือตามกระแส ผู้เขียนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองและสังคม ว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร และอะไรทำให้เรายึดมั่นในสิ่งที่เราคิดเราเป็น หรือทำให้เป็นตัวเรา ความเป็นสมัยนิยมในช่วงนั้น หรือนัยของกระแส ที่เป็นสิ่งครอบงำความคิดหลักของคนในสังคมปัจจุบัน กระแสกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพล ชักจูงและโน้มน้าวให้คนคิดและปฎิบัติ เหมือนดังสมัยหนึ่งที่หนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่เป็นปัญญาชน ในมหาวิทยาลัย เชื่อมั่นและศรัทธาในแนวทางของสังคมนิยม ที่มีหลักการอยู่บนความเท่าเทียมความเสมอภาคในผลประโยชน์และเสรีภาพ ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ รีดนาทาเร้นทางชนชั้น และต้องการนำพาสังคมไปสู่สังคมในอุดมคติที่เรียกว่าUTOPIA อันทำให้เกิดการต่อต้านระบบดั้งเดิมคือศักดินาและเผด็จการ ที่สร้างช่องว่างของความเท่าเทียมกันและขูดรีดเอาผลประโยชน์จากชาวนาและชนชั้นกรรมาชีพ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ไทำให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งเข้าป่าเพื่อร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงมิใช่ความผิดพลาดอันเกิดจากความไม่รู้ หรือถูกกระแสดังกล่าวครอบงำเท่านั้น แต่เป็นเพราะ แรงขับดันจากสภาพบริบททางสังคมในช่วงนั้นที่ระบบทุนนิยมได้เข้าทำลายความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางสังคม และตัดขาดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยลักษณะแบบปัจเจกชน ตัวใครตัวมัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา วัฒนธรรมดั้งเดิมอันดีงามถูกทำลายภายใต้การพัฒนาแบบตะวันตก ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น/สังคม การแหกวงล้อมออกจากกระแสหลักของทุนนิยมที่ครอบงำสังคม จึงเสมือนการขบถและต่อสู้กับกระแสหลัก เป็นการต้านกระแสไม่ใช่ปล่อยไปตามกระแสเหมือนหนุ่มสาวส่วนใหญ่หรือคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ดัวยความที่มันเป็นกระแสมันจึงไม่หยุดนิ่ง แต่มันมีการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอด เพราะกระแสอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล ที่ถูกเชิดชู ส่งผ่าน และแพร่กระจาย ดังนั้นนัยของมันจึงคลุมเคลือ ไม่แน่นอน เป็นเสมือนวาทกรรมที่ครอบงำหรือมีอำนาจเหนือบุคคลในช่วงเวลาหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจ ที่แนวคิดอุดมการณ์แบบสังคมนิยม เริ่มถูกตั้งคำถามอย่างท้าทาย จากนักคิดและปัญญาชนรุ่นใหม่ ที่เชื่อมั่นและศรัทธา ระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ได้กลายมาเป็นวาทกรรมกระแสหลักที่ถูกพูดถึงควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ และมันยังมีการปะทะและต่อสู้กันระหว่าง 2 กระแสดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน การพัฒนาประเทศกลายเป็นประเด็นหลัก พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เพื่อรับใช้ระบบตลาด เศรษฐกิจแบบทุนนิยม มนุษย์กลายเป็นแรงงานทางมันสมอง และกำลังกาย เพื่อรับใช้การพัฒนาประเทศ อุดมการณ์เหล่านี้ถูกผลิตและส่งผ่านไปยังหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆที่เติบโตและถูกขัดเกลาโดยระบบการศึกษาสมัยใหม่ ที่ได้สร้างร่างกายและตัวตนในอุดมคติ ว่าโตขึ้นจะต้องเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นอาจารย์ เป็นวิศวกร เป็นข้าราชการ มีชื่อเสียงเกียรติยศ ไม่มีเด็กคนไหนที่บอกว่า อยากเป็นนักพัฒนาเอกชน หรือNGO เพราะว่าภาพเหล่านี้ไม่เคยถูกเชิดชู หรือมองว่าเป็นแรงงานหรือคนที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในทางตรงกันข้ามกับมองว่าเป็นพวกรับเงินต่างชาติและทำงานให้ชาวต่างประเทศ ซ้ำร้ายยังถูกมองว่าเป็นพวกขัดขวางความเจริญของบ้านเมือง ภาพลักษณ์ที่ถูกถ่ายทอดและผลิตซ้ำผ่านปากของผู้นำประเทศและสื่อต่างๆ ทำให้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ไม่สนใจที่จะเข้าทำงานในแวดวงพัฒนาเอกชน แต่ใช่ว่าประเทศชาติหรือสังคมของเรา จะหมดหวังกับคนรุ่นใหม่ซะทีเดียว เพราะว่าความเป็นปัจเจกชนมันก็มีข้อดีคือ มันมีความแตกต่างหลากหลาย ไม่สามารถหลอมรวมหรือกลมกลืนกันได้เป็นเนื้อเดียว ดังนั้นแม้ว่าอุดมการณ์แบบทุนนิยม จะถูกผลิตซ้ำ และส่งผ่านไปให้คนรุ่นใหม่มากเพียงใดก็ตาม คนรุ่นใหม่ทุกคนก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ทุนนิยมแบบเดียวกันหมด มันก็ยังมีพวกแหกคอก หรือพวกขบถ ที่ต้องการฟันฟ่าหรือต่อสู้กับกระแสที่สร้างความไม่เท่าเทียม สร้างปัญหาหรือสร้างความอยุติธรรมในสังคม ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมในมหาวิทยาลัย การออกค่ายอาสาของชุมนุมชมรมต่าง ที่หล่อหลอมให้คนหนุ่มสาวนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ประสบบการณ์ชีวิต เรียนรู้ปัญหาของชุมชนและร่วมแก้ปัญหากับชุมชน ซึ่งมีหลายคนที่หลังจากจบการศึกษาแล้วได้เข้าทำงานพัฒนาทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อร่วมแก้ปัญหาให้กับสังคม
อุดมคติ กับความเป็นจริงที่ไม่กลมกลืนกันนำไปสู่ความต่างของเส้นทาง ภาพของชุมชนที่เคยบริสุทธิ์ เรียบง่าย พึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติ รวมถึงการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน กับภาพของชุมชนที่กลายเป็นตลาดของวงจรทางเศรษฐกิจ(Economic Market) เป็นชุมชนบริโภคนิยม เศรษฐกิจแบบเน้นเงินตรา การเป็นหนี้สิน จากการซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง การขายผลผลิตการเกษตรของพ่อค้าคนกลาง เจ้าของโรงสี การกู้ยืมเงินนอกระบบในระบบ การจัดสรรเงินของกองทุนหมู่บ้าน โครงการพัฒนาต่างๆ ความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ทำให้นักพัฒนารุ่นใหม่หลายคนเริ่มสับสน ขัดแย้งและตั้งคำถามกับความจริงที่ปรากฎ ในเมื่ออุดมคติที่ยึดมั่นกับความเป็นจริงที่แสนเจ็บปวด บางคนที่ยังคงคิดว่าสภาพปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นมันสามารถแก้ไขได้ ถึงมันไม่สามารถกลับไปสู่อดีตอันงดงามได้ แต่มันก็สามารถต้านทานไม่ให้สิ่งเหล่านี้ถูกทำลายไปจนย่อยยับ ด้วยความเชื่อว่าชุมชนยังมีรากเหง้า มีภูมิปัญญา มีสิ่งดีงามที่ยังหลงเหลืออยู่ พวกเขาก็พร้อมที่จะยืนหยัดบนเส้นทางสายนี้ ด้วยอุดมการณ์และความเชื่อที่แน่วแน่ ว่าชุมชนสังคมต้องดีขึ้น ในขณะที่บางคนเริ่มท้อแท้ ถูกกดดันจากปัจจัยต่างๆและไม่แน่ใจกับเส้นทางสายนี้ ก็อาจเปลี่ยนเส้นทางไปสู่ถนนสายอื่นที่คิดว่าดีกว่า แต่บางคนก็ยังมีความหวังว่า ไม่ว่าจะอยู่บนเส้นทางสายเดียวกันหรือไม่ ในเมื่อเป้าหมายและอุดมการณ์เดียวกัน แม้จะเดินไปคนละเส้นแต่ก็เป็นเส้นทางคู่ขนานไปด้วยกัน ไม่ได้แยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอมาตั้งแต่ต้น จึงต้นการชี้ให้เห็นว่า อิทธิพลที่สำคัญต่อบทบาทของคนรุ่นใหม่ โดยพื้นฐานแล้วมันคือเรื่องของระบบคิด ว่าระบบคิดเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือตามกระแสวาทกรรมที่ครอบงำความคิดของคนในสังคม อีกทั้งความคิดนั้นรับใช้ใคร รับใช้สังคมเป็นอุดมการณ์เพื่อสังคมผู้ด้อยโอกาส ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือเป็นอุดมการณ์เพื่อรับใช้ทุนนิยม รับใช้ระบบเศรษฐกิจ ด้วยผู้เขียนเชื่อว่า อุดมการณ์เพื่อสังคม อุดมการณ์ทางประชาธิปไตย มันดำรงอยู่ของมันในสังคมตลอดเวลา แต่เพราะว่ากระแสทุนนิยมที่มันไล่บี้อุดมการณ์ต่างหากที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดคนละทิ้งอุดมการณ์เดิมของตนที่มีอยู่ หันมาจับสิ่งที่สัมผัสได้ คือเงินตรา ดังที่เราเชื่อว่าเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะนำพาประเทศเราไปสู่การพัฒนา ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีงานทำ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราเลือกนายกที่เป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่นักพัฒนา นักต่อสู้เคลื่อนไหวที่อยากเห็นสังคมดีงามและยุติธรรม เพราะเรายึดมั่นกับแนวความคิดเรื่องปากท้องของตัวเองมากกว่าเรื่องของคนรอบข้าง สิ่งแวดล้อมและสังคม
พื้นที่ในการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ถูกจำกัด เกิดการแสวงหาพื้นที่ใหม่เพื่อแสดงตัวตน ในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่เพียงพื้นที่ในทางกายภาพ ที่เป็นชุมชน หมู่บ้านพื้นที่กิจกรรมในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงพื้นที่ในองค์กรพัฒนาเอกชน ที่จะเปิดรับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีไฟในงานพัฒนาได้เข้ามาทำงาน รวมถึงพื้นที่ใหม่ที่เรียกว่าCyber Space ที่เป็นพื้นที่ในสังคมสมัยใหม่ที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างกว้างขวาง เป็นเวทีที่คนหนุ่มสาวได้แสดงตัวตนและทำกิจกรรม พบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยน ทั้งในพื้นที่เวปไซต์ และพื้นที่ข้างนอก ทิศทางของการทำงานรณรงค์เผยแพร่จึงควรที่จะเข้าถึงและใช้พื้นที่เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ แม้ว่าทุกคนที่มีใจนักหรือความมุ่งมั่นในการพัฒนา จะไม่สามารถเข้ามาทำงานในองค์กรพัฒนาอกชนได้เนื่องจากเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ แต่สิ่งที่ทุกคนจะต้องมีส่วนกันคืออุดมการณ์และจิตสำนึกเพื่อสังคม หลายคนทำงานในองค์กรพัฒนาของรัฐ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลตามกระบวนการกระจายอำนาจ คนรุ่นใหม่เหล่านี้จึงมีโอกาสได้ทำงานและคลุกคลีกับคนในชุมชนอย่างใกล้ชิด ดังนั้นทำอย่างไรเราจึงจะสามารถปลูกฝังจิตสำนึกในอุดมการณ์ทางสังคมให้กับคนเหล่านี้ เพราะผู้เขียนเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้ มีหลายคนที่เรียนมาทางสายการพัฒนาชุมชน มีประสบการณ์การออกค่ายอาสา การทำกิจกรรม เรียนรู้ปัญหาและการทำงานร่วมกับชุมชน และเมื่อพวกเขาเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนในองค์กรท้องถิ่น จึงมีความสำคัญ ที่จะนำพาท้องถิ่นไปสู่การพัฒนา และรู้จักสิทธิของตนเองในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรในชุมชนอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่ มอส.จะต้องหนุนเสริมปัญญาชนในหาวิทยาลัย คนหนุ่มสาว เยาวชนในชุมชนหมู่บ้านหรือคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ในพื้นฐานของอุดมการณ์ความคิดเกี่ยวกับสังคมและ การทำงานพัฒนาเพื่อสังคม ก่อนที่บุคคลเหล่านี้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในบริษัท องค์กร ส่วนราชการต่างๆ หากพื้นฐานหรือเป้าหมายทางความคิดของเราว่าเราต้องสร้างคนและปลูกฝังอุดมการณ์ บุคคลเหล่านี้ก็คือหนุ่มสาวรุ่นใหม่และเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น