วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

วิเคราะห์สัญลักษณ์ที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญ ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ การธำรงชาติพันธุ์ การสร้างความทรงจำร่วมและการสร้างชุมชนในจินตนาการ
1.ฉากที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญ
การแสดงทะแยมอญของคณะหงษ์ฟ้ารามัญในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาปรับปรุงองค์ประกอบต่างๆในการแสดง ซึ่งสะท้อนให้เห็นพื้นฐานและแนวคิดเรื่องของชาติและชาติพันธุ์ เนื่องจากการแสดงทะแยมอญมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์และสภาพสังคมต่างๆที่อยู่รอบตัว ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยี วัฒนธรรมตะวันตก และวัฒนธรรมไทยเองก็ไหล่บ่าเข้ามาในชุมชนมอญอย่างรวดเร็ว การแสดงทะแยมอญของคณะหงษ์ฟ้ารามัญเลยต้องมีการเปลี่ยนแปลง และปรับรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฉาก ทำนอง เนื้อร้อง ที่มีทั้งของมอญและไทยผสมกัน เป็นต้น
ในเรื่องของฉาก ที่คณะหงษ์ฟ้ารามัญใช้ในการแสดงทะแยมอญ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่จะไม่มีฉาก ในการแสดง จึงมิใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจที่จะสร้างชุมชนในจินตนาการที่เกือบจะสูญหายไป พร้อมกับประวัติศาสตร์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ถึงแม้ว่าปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ถือได้ว่าเป็นชนชาติที่ไร้แผ่นดิน และมีความหลังทางประวัติศาสตร์อันเจ็บปวด ในการสูญเสียเอกราชให้กับพม่า แต่ความคิดเกี่ยวกับชาติพันธุ์และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของพวกเขาก็ยังอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยเชื้อสายมอญอยู่ตลอดเวลา และมันได้ถูกสร้างขึ้นอีกครั้งโดยใช้การแสดงทะแยมอญ เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการถ่ายทอดความรู้ทางประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีและตอกย้ำถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์มอญให้ดำรงอยู่ต่อไป
ฉากของการแสดงทะแยมอญ ของคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ที่ผมพบเห็นในการแสดงมีอยู่ 2 ฉากคือ
1.1 ฉากเจดีย์ชะเวดากอง ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญของคนมอญ โดยมีประวัติว่า “หลังจากพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว ตะปุสสะ และกิลลิกะ สองพี่น้องชาวมอญที่เป็นพ่อค้ามาจากเมืองสะเทิม ได้เข้าไปนมัสการและอันเชิญพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จำนวน 8 เส้น เพื่อเป็นอนุสรณ์และเครื่องสักการะของคนมอญ จึงนำกลับมาถวายให้แก่พระเจ้าโอกลาปะ เพื่อสร้างเจดีย์ ไกยักแหล่ะเกิง หรือชะเวดากอง ตามชื่อเรียกของพม่า ซึ่งในตอนแรกพระเจ้าโอกลาปะ ทรงสร้างไว้สูงเพียง 4 วา เดิม (ราว 27 ฟุต) ต่อมาก็ได้มีการบูรณะเรื่อยๆ สุดท้ายเจดีย์ชะเวดากอง มีความสูง 56 วา 1 ศอก หรือราว 370 ฟุต “ ซึ่งปัจจุบันเจดีย์ชะเวดากอง ที่เป็นทีเคารพสักการะของคนมอญก็ได้กลายเป็นของที่พม่าใช้อวดอ้างถึงความเจริญรุ่งเรืองต่อชาวโลก แต่เจดีย์ชะเวดากองก็ยังเป็นที่เคารพนับถือของคนมอญและคนทั่วไปอยู่เสมอ
คุณลุงกัลยาหัวหน้าคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ได้พูดถึงฉากเจดีย์ชะเวดากองว่า “เจดีย์ชะเวดากอง สวยนะ เราได้ภาพมาติดอยู่ทุกบ้าน ข้างบนมีอัฐิพระพุทธเจ้า พระธาตุพระพุทธเจ้า เมื่อก่อนผมทำฉากแสดงทะแยมอญเป็นรูปเจดีย์ชะเวดากอง มารุ่นหลังก็มีเจดีย์สามองค์ มารุ่นหลังก็อนุรักษ์ไว้ มีฉากด้วย…” ความผูกผันระหว่างคนมอญกับเจดีย์ชะเวดากอง ในปัจจุบันยังคงมีอยู่อย่างมิเสื่อมคลาย ซึ่งชาวมอญในชุมชนบางกระดี่และชุมชนมอญต่างๆในประเทศไทย ยังคงระลึกถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองในอดีตของคนมอญอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากการที่คนไทยเชื้อสายมอญ มักจะไปเที่ยวและนมัสการพระเจดีย์ชะเวดากองที่ประเทศพม่า อย่างไม่ขาดสายเป็นประจำทุกปี ดังที่ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านบางกระดี่บอกว่า “ทุกๆปี มีเงินมีทอง คนบางกระดี่ มีญาติไม่มีญาติ แต่ยังคิดถึง เขาไปนมัสการองค์พระธาตุชะเวดากอง นั่นของมอญสร้างโดยตรง ไม่ใช่พม่านะ สร้างมาแต่ดั้งเดิม ประวัติศาสตร์มี พม่ามันไม่เคยซ่อม ต่อเติม มันกลัวมอญยึดได้อีก…”
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์มอญ ในชุมชนบางกระดี่ยังคงระลึกถึง ความเจริญรุ่งเรืองศิลปวัตถุที่บรรพบุรุษของเขาได้สร้างขึ้น สำนึกของความเป็นเจ้าของ และความเคารพนับถือสักการะของคนมอญทุกคน ถึงแม้ว่าปัจจุบันพวกเขาจะอยู่ในผืนแผ่นดินไทยและผสมผสานจนเป็นคนไทยและมีสัญชาติไทย ภายใต้รัฐไทย จนแทบจะมองไม่เห็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์ดั้งเดิมของพวกเขา แต่สิ่งที่คณะหงษ์ฟ้ารามัญได้สะท้อนให้เห็นผ่านฉากของการแสดงทะแยมอญ ที่เป็นรูปของเจดีย์ชะเวดากอง ก็คือสัญลักษณ์ที่ทำให้เราเห็นภาพดินแดนสมมุติ ซึ่งเป็นชุมชนในจินตนาการ ที่เคยเป็นของพวกเขาในอดีต ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่สามารถเคลื่อนที่ข้ามพรมแดนทางแผนที่ และสามารถที่จะอยู่ในทุกพื้นที่ ทั้งที่มีคนมอญอาศัยอยู่และที่ไม่ใช่คนมอญ เป็นชุมชน ที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และเป็นชุมชนที่เชื่อมความรู้สึกนึกคิดและจิตสำนึกทางชาติพันธุ์ ของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต “ชะเวดากอง” ก็คือตัวแทนหรือภาพสะท้อนของสิ่งที่เรียกว่า ความเจริญรุ่งเรืองของมอญ ภาพทุกภาพฉากทุกฉากล้วนมีความหมาย และสะท้อนให้เห็นระบบคิดของผู้สร้าง โดยการสร้างสรรค์งานศิลปะทางวัฒนธรรม ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ แต่เป็นการกระทำที่มีเหตุผลมีความหมาย และให้คนทั่วไป และคนเชื้อชาติมอญ ได้นึกถึงความเจริญรุ่งเรืองและเกิดสำนึกทางชาติพันธุ์ ซึ่งผู้ชมทุกคนล้วนสามารถเข้าถึงชุมชนในจินตนาการนี้ ด้วยการตีความหมายและให้คุณค่าของสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเอง ดังเช่นที่ผู้อาวุโสสองท่านได้พูดถึงความประทับใจและความคิดเกี่ยวกับฉากการแสดงทะแยมอญ ของคณะหงษ์ฟ้ารามัญว่า “ ฉากเจดีย์ชะเวดากอง เอะอันนี้ของคนมอญนี่ เจอปุ๊ปรู้เลย ของมอญดั้งเดิม” “ ทะแยมอญ เป็นการแสดงของคนมอญ ฟังแล้วคิดถึงบ้าน คิดถึงอดีต ถ้าเราไม่ถูกพม่ายึดครองคงได้อยู่บ้านเรา ฟังทะแยมอญ แล้วก็ช่วยให้คลายเหงา ให้ความเพลิดเพลิน เรารู้ว่าอันนี้ของมอญ เจดีย์ชะเวดากอง ก็บอกลูกหลานเวลาไปดู ให้เขารู้จักชาติมอญ ของเก่าแก่เรา รักษาไว้ สืบทอดต่อไป”
ดังนั้นฉากในการแสดงทะแยมอญ จึงเสมือนเรื่องเล่าที่สามารถสื่อความหมายด้วยตัวมันเองกับคนที่มีประสบการณ์ร่วมกันชุดหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ความเป็นมา และความเป็นเจ้าของร่วมกัน และเป็นเรื่องเล่าที่ถูกถ่ายทอดและตีความจากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่ง ดังเช่นคนรุ่นหลังที่เกิดมาใหม่เขาอาจไม่รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติมอญและเจดีย์ชะเวดากองเลย ถ้าไม่มีผู้ให้คำแนะนำหรือบอกเล่าโดยการสะท้อนผ่านภาพที่เห็น ความทรงจำที่มี เพื่อธำรงรักษาสำนึกนี้ไว้ไม่ให้สูญหายไป
1.2 ฉากรูปเจดีย์สามองค์
“ฉากรูปเจดีย์สามองค์ เป็นฉากไม้ ขนาด 4 แผ่น ยาวประมาณ2.5 ฟุต กว้าง ประมาณ 0.8 ฟุต พื้นฉากเป็นสีขาว องค์ประกอบของภาพเขียนในฉาก มี รูปเจดีย์สามองค์อยู่ตรงกลาง เจดีย์เป็นสีขาวเหลือง มีสะบงจีวรสีน้ำตาลพันรอบ มีรูปภูเขา และมีหงษ์สองตัวบ นอยู่เหนือท้องฟ้า นอกนั้นก็เป็นรูปต้นไม้ ดอกไม้ ด้านบนมีอักษรมอญเขียนอ่านว่า “ปัว แก๊ก กวาน บางกระดี่” แปลเป็นไทยว่า “ทะแยมอญบางกระดี่” …“
เจดีย์สามองค์เป็นเจดีย์ที่อยู่ระหว่างชายแดน ไทย-พม่า แทบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางที่มอญใช้อพยพเข้ามาในเมืองไทยเมื่อครั้งอดีต เพื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ไทย และกษัตริย์ไทยก็เคยแต่งตั้งให้คนมอญเป็นเจ้าเมืองคอยคุมเมืองหน้าด่าน เวลาที่พม่าจะรุกเข้ามาฝั่งไทยบริเวณนั้น วึ่งไทยก็ได้ใช้เส้นทางนี้ในการเข้าไปทำสงครามกับพม่าและกวาดต้อนเฉลยศึกเข้ามาในแผ่นดินไทย ความเป็นมาและความคิดที่ใช้รูปเจดีย์สามองค์เป็นฉากคุณลุงกัลยาบอกว่า “ เจดีย์สามองค์ มอญหนีออกมาทางนั้น อพยพมา และอาศัยอยู่ทางนั้น เยอะ เจดีย์สามองค์มีความหมาย องค์หนึ่งแทนฝั่งไทย องค์หนึ่งฝั่งมอญ องค์หนึ่งของพม่า หงส์ก็แทนหงสาวดี ธงก็มีรูปหงส์ ธงสีแดง อันนี้ธงมอญ สัญลักษณ์มอญ”
ด่านเจดีย์สามองค์ถือเป็นเส้นทางสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชนชาติมอญเป็นเส้นทางที่ใช้อพยพเมือถูกรุกรานจากพม่าและแม้ในปัจจุบันจะสูญสิ้นเเอกราชไปแล้วแต่ขบวนการมอญกู้ชาติก็ยังปักหลักอยู่บริเวณแนวชายแดนนี้ สำหรับหงส์สองตัวของคณะหงส์ฟ้ารามัญนี้ มีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่าสัญลักษณ์ที่ใช้แทนเมืองมอญหรือหงสาวดี หากเราจะสืบหาที่มาของหงส์ เราจะพบว่ามันมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การตั้งบ้านแปลงเมืองและความเชื่อเกี่ยวพระพุทธศาสนาว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้เสด็จผ่านมายังดินแดนที่มีคนมอญอาศัยอยู่นี้ ได้ทรงพบเห็นหงส์ทองสองตัวผัวเมีย และทรงทำนายว่าดินแดนแห่งนี้จะมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต และในปี1368 พระเจ้าสามะละก็ได้เสวยราชสมบัติและตั้งกรุงหงสาวดีขึ้นที่บริเวณที่ราบลุ่มสามเหลี่ยม ริมแม่น้ำอิระวดี ความเชื่อในพระรัตนตรัย พระพุทธศาสนา ของมอญจึงมีความเข้มแข็งมาก เชื่อในพุทธทำนาย เชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด เชื่อว่าสักวันหงส์ทองจะต้องกลับมา มอญจะต้องได้เอกราชคืนจากพม่าและสร้างความเจริญรุ่งเรืองได้อีกกครั้ง ดังที่คุณลุงสมบูรณ์บอกว่า “เมืองของปู่ย่าตาทวดตั้งรกราก สัญชาติมอญอยู่นั่น นี่แหละคนไทยเชื้อสายมอญ คนมอญเรียกร้องเอกราชได้ไปแน่ เราทำเพื่อประเทศชาติเรา บุญกุศลอย่างหนึ่งที่ได้กอบกู้ชาติ”
สำหรับรูปภูเขาที่อยู่ด้านหลังเจดีย์สามองค์ ก็คือเทือกเขาตะนาวศรี ที่เป็นสิ่งที่กั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า คนมอญจะอาศัยอยู่แนวบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี เขตรอยต่อกับ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ของไทย ดังที่สุมิตร ปุณณะการี ได้เขียนบรรยายเกี่ยวกับ การอพยพของชาวมอญว่า “ชาวมอญส่วนใหญ่ที่อพยพที่อพยพมาจากประเทศพม่า เมื่อมาถึงด่านเจดีย์สามองค์ และบ้านป๊อปจู่ (แปลว่า หงส์พัก) แล้วข้ามายังอำเภอสังขละบุรี พร้อมกับนมัสการหลวงพ่ออุตตมะ ผู้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร แก่ชนทุกชาติทุกภาษา หลวงพ่อจะแนะนำว่าให้มาทำมาหากินอยู่ที่อำเภอสังขละบุรี เมื่อทางสหประชาชาติรู้ถึงข่าวความทุกข์ยาก ของชาวมอญที่อพยพมาจากประเทศพม่า จึงได้จัดตั้งหน่วยบรรเทาสาธารณภัยกับประชาชนมอญ โดยจัดให้ผู้อพยพรวมกันอยู่ที่บ้านป๊อบจู่ ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า8,000 คน และเป็นค่ายใหญ่ที่รัฐบาลพม่าบีบให้รับบาลไทยผลักดันคนมอยอพยพเหล่านี้กลับสู่พม่า…”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเจดีย์ชะเวดากอง ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอารยธรรมทางศิลปวัตถุ และความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของคนเชื้อชาติมอญ และเจดีย์สามองค์ซึ่งถือเป็นพรมแดนที่เป็นประตูเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมอญ เมื่อถูกรุกรานจากพม่า ที่ได้กลายมาเป็นที่พักพิงอาศัยของผู้อพยพชาวมอญ ที่หนีภัยการสู้รบเข้ามายังฝั่งไทย และสัญลักษณ์ของหงส์ ที่เป็นสิ่งที่ใช้แทนคนมอญ และเมืองหงสาวดี อาณาจักรแรกเริ่มของมอญ และความสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฎให้พบเห็นได้ทั่วไป ในชุมชนมอญที่มีวัดมอญตั้งอยู่ สิ่งนี้คือสิ่งที่Brian L. Foster บอกว่าคือ “เสาหงส์คือสิ่งที่ใช้นิยามลักษณะและเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ” ซึ่งภาพหงส์ที่ปรากในฉากการการแสดงทะแยมอญ จึงเป็นเสมือนเป็นสื่อหรือสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ของความเป็นคนมอญที่เป็นสิ่งที่คนมอญทุกคนรับรู้ว่าหงส์ มีความหมายแทนเมืองหลวงของมอญในอดีต (หงสาวดี) เป็นสัญลักษณ์แทนคนมอญ ประเทศมอญ (ธงชาติสีแดงมีรูปหงส์ทองอยู่ตรงกลาง) เป็นทางประเพณีวัฒนธรรม (การแห่เสาหงส์ธงตะขาบ) และเป็นสัญลักษณ์แทนสถานที่ ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนมอญเคารพนับถือ (วัดมอญต้องมีหงส์คู่)
สิ่งที่คณะหงษ์ฟ้ารามัญ ได้สร้างขึ้นในฉากอันสวยงามที่ใช้ในการแสดง ล้วนสะท้อนให้เห็นความหมายทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ความเชื่อ ในสิ่งที่บรรพบุรุษของพวกเขาได้ถ่ายทอดสืบต่อมา และยังสะท้อนให้เห็น เรื่องราวการต่อสู้ การเรียกร้องเอกราชของคนชาติมอญ ฉากในการแสดงทะแยมอญนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยตอกย้ำ และสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน เป็นเครื่องหมายและเป็นสื่อที่ทำให้เกิดสำนึกทางชาติพันธุ์และสร้างชุมชนในจินตนาการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้ในช่วงเวลาปัจจุบัน เพราะมันคือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของคนมอญ และเป็นความทรงจำเป็นประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์ที่เชื่อมโยงความรู้สึกจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน ดังเช่นที่คุณลุงกัลยากล่าวว่า “ ไม่ว่าจะแสดงที่ไหนก็เอาฉากไปถ้าสถานที่เขาอำนวย เป็นการแสดงออกว่า นี่คือสัญลักษณ์ของคนมอญอย่าลืม …”

2. เครื่องแต่งกาย

เครื่องแต่งกายที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญ เป็นการแต่งกายแบบพื้นบ้านของมอญ ที่เราสามารถพบเห็นได้เมื่อเวลามีงานเทศกาลสำคัญต่างๆเช่นงานประเพณีสงกรานต์ ตักบาตรน้ำผึ้ง ตักบาตรดอกไม้ และอื่นๆ การแต่งกายของคนมอญ ดังที่ผู้อาวุโสท่านหนึ่งของหมู่บ้านบางกระดี่บอกกับผมว่า “ สิ่งที่แสดงถึงความเป็นมอญ ก็คือ แต่งชุดมีสไบเฉียง สีไหนก็ได้ มีไม้ปักผม เกล้ามวยผม นุ่งผ้าซิ่น ผู้ชายเสื้อธรรมดาทั่วไป นุ่งผ้าขาวม้า ผ้าสโร่ง ผ้าไหม ผู้หญิงเวลาไปวัดต้องมีสไบ…”
ในการแสดงทะมอญนั้น การแต่งกายของนักร้องรำชาย-หญิง และนักดนตรี มีการแต่งกายดังนี้ คนร้องผู้ชายใส่เสื้อแขนสั้น คอกลม ลายดอกไม้ มีผ้าสไบพาดคอหรือ พาดบ่า นุ่งผ้าคล้ายๆโจงกระเบนแบบไทย แต่นุ่งแบบโสร่ง เป็นผ้าผืนเดียวไม่เย็บเป็นวง มีสีเดียวเป็นพื้น เวลานุ่งอาจคาดเข็มขัด หรือใช้ผ้าขาด มีการแต่งหน้าแต่งตา ปะกระแจะ(ทาปากแดง)และถัดอกไม้ที่หู คนร้องผู้หญิงจะใส่เสื้อแขนกระบอกทั้งแบนสั้นแขนยาว นุ่งผ้าซิ่นผ้าไหม คาดเข็มขัดเงิน-ทอง มีผ้าสไบเฉียงไหล่ เกล้ามวยผม มีปิ่นและดอกไม้ปักที่มวยผมมีการแต่งหน้าแต่งตาให้ขาวผ่องทาปากกะแจะเหมือนผู้ชาย สำหรับนักดนตรีก็แต่งกายคล้ายคนร้องชาย แต่ผ้านุ่งอาจจะเป็นโสร่ง หรือผ้าขาวม้าก็ได้และไม่ต้องแต่งหน้าทัดดอกไม้ ทุกอย่างก็เหมือนกัน
การแต่งกายที่สะท้อนให้ผู้ชมได้เห็น ในการแสดงทะแยมอญ ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์และอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่สะท้อนให้เห็น ในเรื่องการแต่งกาย เสื้อผ้า ที่เราไม่สามารถพบเห็นได้บ่อยนักในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและอิทธิพลของการแต่งกายแบบตะวันตกที่ทันสมัย เครื่องแต่งกายเหล่านี้เราสามารถที่จะพบเห็นเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ และผู้ใหญ่ที่มักจะแต่งไปในวัด เมื่อมีงานประเพณีสำคัญต่างๆ แต่ในการแสดงทะแยมอญนี้อัตลักษณ์ของชาติพันธุ์มอญ ที่ปรากฎในการแต่งกาย ไม่จำกัดแค่เพียงช่วงเวลาตามบุญประเพณี และสถานที่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นวัดมอญหรือ ชุมชนมอญ แต่ทุกที่ทีพวกเขาไปแสดงก็คือการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ทำให้คนที่พบเห็นได้รับรู้ ว่านี่คือคนไทยเชื้อสายมอญที่อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมและการแต่งกาย แบบดั้งเดิมไว้ไม่ให้สูญหายไป
ดังนั้นความทรงจำในเรื่องเครื่องแต่งกายก็คือความทรงจำที่ถูกถ่ายทอดและแสดงออกให้เห็นในชีวิตประจำวัน และคนในกลุ่มชาติพันธุ์มอญก็ยังเห็นว่ามีความสำคัญ เพราะมันคือสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของความเป็นคนมอญ และควรที่จะมีการธำรงรักษาและการสืบทอดไว้ในปัจจุบัน โดยปัจเจกชนแต่ละคนก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความเหมาะสม แต่ก็ยังคงปฎิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งที่คณะหงส์ฟ้ารามัญ ได้แสดงให้เห็นถึงถึงการแต่งกายแบบมอญ ในการแสดงการละเล่นพื้นบ้านแขนงนี้ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาและตอกย้ำความทรงจำร่วมในกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่กำหนดอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนมอญ
3. เนื้อหาในการแสดงทะแยมอญ
อย่างที่กล่าวไปในช่วงต้นว่า ทะแยมอญเป็นศิลปะชั้นสูงของชนชาติมอญที่ใช้การร้องรำโต้ตอบกันระหว่างชายกับหยิง โดยที่แต่ละคนจะมีบทร้องเป็นของตัวเอง ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝน ดังที่คุณลุงกัลยาหัวหน้าคณะและผู้ฝึกสอนเด็กรุ่นใหม่ๆบอกว่า “มีบทของแต่ละคน เวลาร้อง เช่นเรื่องพระเวสสันดร ผู้หญิงก็ร้องไป เป็นนางมัทรี ผู้ชายก็เป็นพระเวสันดร ร้องตอบกันไป มีชูชก บทใครบทมัน ออกมา2-3 คน สมมุตินามตามท้องเรื่องก็แสดงพูดโต้ตอบกัน…”
ทะแยมอญเป็นการะเล่นพื้นบ้านที่ใช้แสดงในทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นงานขึ้นมงคล งานอวมงคล เช่นงานบุญ งานบวช งานแต่งงาน งานโกนจุก งานแก้บน งานกฐินผ้าป่า งานทำบุญให้คนตาย งานวันชาติ และอื่นๆ การแสดงทะแมอญก็มักจะถูกจัดหาไปให้กลุ่มชาติพันธุ์มอญที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้ชมอยู่เป็นประจำ ซึ่งเนื้อหาที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญของคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ก็จะมีการปรับเปลี่ยนไปไปตามวัตถุประสงค์และรูปแบบของงานแต่ละประเภท ว่าเป็นงานชนิดไหน แต่โดยหลักๆแล้วจะเน้นที่ความสนุกสนานและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ มากกว่าที่จะโศกเศร้าเหมือนการแสดงทั่วๆไปของมอญเช่นมอญร้องไห้ ปี่พาทย์มอญ รำมอญ เป็นต้น ลักษณะที่สำคัญของการแสดงประเภทนี้คือ การร้องโต้ตอบกัน ระหว่างชายหญิง ตามเนื้อหาเรื่องราวต่างๆที่ได้ฝึกฝนและการใช้ปฎิภาณไหวพริบเฉพาะหน้าของแต่ละคน ในแต่ละงานที่แสดงเนื้อหาในการแสดงก็จะแตกต่างกันดังนี้คือ
งานบุญ งานกฐิน ผ้าป่า เพลงที่ใช้เล่นก็จะเป็นเพลงที่มีเนื้อหา เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ เรื่องราวความรู้พระพุทธศาสนา การบวช การทำบุญทำทาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า การเสวยชาติของพระพุทธเจ้า ที่นิยมเล่นคือตอนพระมหาเวสันดรชาดก กับนางมัทรี “คนมอญชอบฟังกันมาก เพราะเนื้อหากินใจและซาบซึ้งถึงการบริจาคทานบารมี การต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง มาบำเพ็ญเพียรที่เขาวงกต และการต้องสูญเสียสองกุมารให้กับชูชก ให้ความรู้สึกเศร้าโอดครวญ ถึงการพลัดพรากจากบ้านเมือง ซาบซึ้งมาก คนติดอกติดใจ ถูกใจคนเฒ่าคนแก่ “ ซึ่งในท้ายที่สุดด้วยความเพียรบารมีของพระเวสสันดร ก็สามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง ได้สองกุมารกลับคืนและได้กลับสู่บ้านเมืองตนเอง นี่เป็นสิ่งที่ผมมองว่าเป็นความรู้สึกร่วม ความทรงจำร่วมกันโดยใช้ทะแยมอญเป็นสื่อ ในการแสดงออกทางวัฒนธรรมและเชือมความรู้สึกทางประวัติศาสตร์และสำนึกทางชาติพันธุ์ที่อยู่เบื้องหลัง หากจะมองว่า ชูชกก็คือตัวแทนของพม่า ที่เอาสองกุมารซึ่งก็เปรียบเสมือนตัวแทนชาติพันธุ์คนมอญไป จากพระเวสันดรและพระนางมัทรี ทำให้ทุกคนต้องพลัดพรากจากกันไปคนละทิศคนละทาง แต่สุดท้ายด้วยความเพียรพยายามและความดีที่สร้างไว้ก็ทำให้พระเวสันดร พระนางมัทรี และกัณหา ชาลี ได้พบหน้ากันอีกครั้งหนึ่ง และได้กลับไปอยู่บ้านเมือง เช่นเดียวกับความรู้สากของคนมอญทุกคนที่มีความทรงจำและความรู้สึกทางประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดร่วมกัน แต่พวกเขาก็ยังมีความหวังว่าสักวันหนึ่งก็คงจะมีโอกาสกับไปอยู่ในดินแดนของบรรพบุรุษ ซึ่งการแสดงทะแยมอญของคณะหงษ์ฟ้ารามัญ ก็ได้ทำหน้าที่ในการสะท้อนความคิดเรื่องชุมชนในจินตนาการ การธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และสำนึกทางชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ไม่ให้สูญหายไป
งานแต่งงาน ซึ่งเป็นงานอีกประเภทหนึ่งที่นำเอาทะแยมอญ ไปใช้เป็นมหรสพเพื่อสร้างความรื่นเริงบันเทิง เนื้อหาในเพลงที่ใช้ในการแสดง ก็จะเป็นเรื่องหนุ่มสาว เรื่องรักใคร่ การเกี้ยวพาราสี ของหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแต่งงานของคนมอญ ดังที่คุณลุงกัลยาเล่าว่า “ ถ้าเป็นงานแต่งงาน เราก็จำลองภาพหนุ่มสาว มีคนถามว่าถามกันว่า เจอกันอย่างไร สินสอดเท่าไร คนที่แสดงเป็นหนุ่มสาวก็ตอบ เรือนหอมีอะไร ข้อปฏิบัติหญิงชายมีอะไร ทำนองนี้ งานแต่งงานแสดงช่วงกลางคืนกินเลี้ยง งานแต่งงานส่วนใหญ่จะเป็นงานคนมอญ คนไทยก็มี อย่างปลัดบางกระดี่บางขุนเทียน แกเป็นคนไทย แต่งกับผู้หญิงมอญ แกเอาทะแยมอญไปแสดง อนุรักษ์ของหมู่บ้านเรา…” ทะแยมอญมีความหมายที่สำคัญที่มากไปกว่าความสนุกสนานรื่นเริง ก็คือการสะท้อนภาพชีวิตในอดีตของหนุ่มสาวชาวมอญ ข้อปฏิบัติของหนุ่มสาว การใช้ชีวิตคู่ ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญในการถ่ายทอด อบรมธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามของคนมอญไม่ให้สูญหายไป
งานศพ เป็นงานที่เกี่ยวกับการตายและความโศกเศร้า ก็นิยมมีนำการแสดงทะแยมอญไปแสดงเพี่อคลายความเศร้าโศกเช่นกัน โดยเนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับสังขาร อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การทำบุญสุนทาน แล้วก็จะได้อานิสงส์ติดตัวไป ความไม่เที่ยงแท้ของสังขารของร่างกาย การสร้างบุญสร้างกุศล เพื่อจะได้ติดตัวไปเมื่อละสังขารและการเกิดใหม่ในภพหน้า ซึ่งมักจะแสดงหลังจากสวดอภิธรรมเสร็จแล้วประมาณ 3 ทุ่ม
งานวันชาติ ถือเป็นงานที่ใหญ่และสำคัญงานหนึ่งของคนมอญที่อยู่ทั่วโลก ที่จะแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ของชนชาติมอญ ความเป็นมาของชนชาติ กษัตริย์วีรบุรุษของคนมอญ เช่น มะกะโท ราชาธิราช ดังที่หัวหน้าคณะหงษ์ฟ้ารามัญกล่าวว่า “ ประวัติเกี่ยวกับราชาธิราช ชนช้าง คนมอญหนีพม่ามา ..หนีเข้ามาเมืองไทย มอญโกรธพม่า เหลือเกิน เจอกันก็ฆ่ากัน กษัตริย์มอญมี กษัตริย์ที่ชนช้าง ราชาธิราช เมืองย่างกุ้ง เมืองหลวงของมอญเดิม เจดีย์ชะเวดากองของมอญสร้าง ถูกพม่ายึดหมดแล้ว มอญต้องรวมตัวกัน…” เนื้อหาของเพลงที่ใช้ในการทะแยมอญในงานวันชาติจะเห็นได้ว่าเป็น เนื้อหาที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ และสำนึกของความเป็นชาติและความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ในประเทศไทย ที่มักจะถูกใช้ในการแสดงเกือบทุกงานของวงทะแยมอญคณะหงส์ฟ้ารามัญ ของชุมชนมอญบ้านบางกระดี่ สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อรักษาเรื่อราวประวัติสาสตร์ทางชาติพันธุ์ในอดีตไม่ให้สูญหายไป ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของผู้คิดค้น และความสามารถทางวรรณกรรมที่จะสร้างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผ่านการขับร้อง ผ่านภาษามอญซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น และนำมาใช้บอกเล่าหรือบรรยายเรื่องราวทางสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มอญให้คนรุ่นหลังได้รู้และเข้าใจ
งานสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญของคนมอญและมีชื่อเสียงมาก ตัวอย่างเช่นการไปแสดงที่พระประแดง จ.สมุทรปราการ เนื้อหาก็เป็นเร่องการท่องเที่ยวประเพณีวัฒนธรรม เช่นการละเล่นพื้นบ้านสะบ้า ประเพณี12 เดือน ความเป็นมาของสงกรานต์ ประวัตินางสงกรานต์ คุณลุงกัลยาบอกว่า “เราก็พูดและร้องไปตามบท แห่นกแห่ปลา ข้อมูลหมู่บ้าน สถานที่สำคัญ เชิญชวนว่า บ้านเรามีงานสงกรานต์ปีละครั้งหนุ่มสาว ก็กลับมารดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ไปอยู่ที่อื่นบ้านใกล้บ้านไกลก็กลับมา รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่แสดงมุทิตาต่อผู้ใหญ่ “ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเนื้อหาที่ใช้แสดงช่วยย้ำถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญและมีชื่อเสียงของคนมอญ ที่สมุทรปราการคือ ประเพณีสงกรานต์ และความความรู้เกี่ยวกับประเพณีและวิถีชีวิตของชาวมอญให้ผู้อื่นที่มิใช่คนมอญและคนมอญรุ่นใหม่ให้ทราบด้วย
จากเนื้อหาที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญ สามารถแบ่งได้ เป็น 2 ประเภทคือ 1.เนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และอดีต ที่เป็นตำนาน ประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์ เกี่ยวกับ พระพุทธเจ้า กษัตริย์ของมอญ และ2. เนื้อหาที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความทรงจำในลักษณะที่เป็นความทรงจำที่ไกลออกไปจนแทบจะไม่หลงเหลือ กับความทรงจำที่ใกล้ตัว ที่ยังปฎิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเนื้อหาที่คณะหงส์ฟ้ารามัญ ได้นำมาใช้ในการแสดงจึงน่าสนใจ ตรงที่ว่า ความหมาย ที่อยู่เบื้องหลังในการแสดงเรื่องนั้น และทำไมคนจึงนิยมฟัง เรื่องนั้น ซึ่งผมจะวิเคราะห์ เนื้อหาในเรื่อง พระเวสสันดร ซึ่งเป็นเรื่องของการเสวยชาติของพระพุทธเจ้า เป็นกษัตริย์ที่ยึดมั่นในมหาทานบารมี กับ มะกะโท กษัตริย์ของคนมอญที่กอบกู้ชาติคืนจากพม่า ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวมอญ ในเนื้อเรื่องและวาทกรรมที่ปรากฎในเนื้อเรื่อง ที่สะท้อนให้เห็นความคิดและวาทกรรมที่มีลักษณะเป็นคู่ตรงกันข้าม ระหว่างความดี /ความชั่ว พระเอก / ผู้ร้าย กรพลัดพราก/ การกลับคืน ซึ่งวิเคราะห์ได้ดังนี้
พระเวสสันดร มะกะโท
- พระเอกเป็นกษัตริย์ คนชั้นสูง มีความดี - มะกะโทสามัญชนธรรมดา
- พระเอกยึดมั่นในทานบารมีในพระพุทธศาสนา - พระเอกเดินทางมาค้าขายในสยาม
- พระเอกเป็นที่รักของประชาชน - เกิดฟ้าผ่าที่คานหาบสินค้า
- พระเอกบริจาคช้างเผือกให้เมืองอื่น - เป็นคนทำความสะอาดโรงช้าง
- บ้านเมืองแห้งแล้ง อดอยาก - ใช้ปัญญาเอาเมล็ดผักจากแม่ค้า
- ประชาชนต่อต้านและขับไล่จากเมือง - ถวายผักที่ปลูกแก่กษัตริย์ไทย
- พระเอกออกจากบ้านเมืองมาอยู่ป่า - ได้รับตำแหน่งสูงขึ้นในราชวัง
- ชูชกมาขอสองกุมาร - พาธิดากษัตริย์ไทยหนีไปพม่า
- พระอินทร์ขอนางมัทรี - รวบรวมสมัครพรรคพวกกู้ชาติ
- ชูชกตายและสองกุมารอยู่กับปู่ย่า - กู้ชาติได้สำเร็จและได้เป็นกษัตริย์
- พระเอกได้กลับบ้านเมือง - กลับมาตอบแทนคุณกษัตริย์ไทย
จะเห็นได้ว่า ทั้งสองเรื่อง มีเนื้อหาคล้ายกัน ตรงที่การต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง และการกลับคืนสู่บ้านเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกใช้เชื่อมความทรงจำร่วมของคนมอญ ในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในอดีตกับสภาพที่แท้จริงในปัจจุบัน และจินตนาการเกี่ยวกับชุมชนของพวกเขา ความรู้สึกถึงแผ่นดินเกิด ความหวังและการได้กลับสู่บ้านเมืองของตนเอง ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับความดีที่ย่อมชนะความชั่วร้าย และอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งความสำนึกในพระคุณของแผ่นดินไทย และกษัตริย์ไทยที่ช่วยเหลือ และให้พักพิงอาศัย ซึ่งมะกะโท ถึงแม้จะกอบกู้บ้านเมืองคืนจากพม่าได้ ก็ได้ถวายเครื่องบรรณาการต่อพระมหากษัตริย์ไทย เพื่อแสดงถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระมหากษัตริย์ไทยต่อชาวมอญคนนี้ และเป็นสิ่งที่คนเชื้อชาติมอญทุกคนที่อยู่ในเมืองไทยก็รู้สึกเช่นเดียวกัน สิ่งที่คณะหงส์ฟ้ารามัญนำมาใช้ในการแสดงและร้อยเรียงเป็นถ้อยคำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ให้คนได้ชม จึงเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่มีความหมายในการสร้างสำนึกทางชาติพันธุ์ และย้ำถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ที่เป็นเรื่องราวเนื้อหาเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ต่างๆเช่น การแต่งกาย การครองเรือน บุญสงกรานต์ การโกนผมไฟ การปลูกเรือนเป็นต้น ที่บอกเล่าผ่านการแสดงทะแยมอญ ซึ่งถือเป็นความทรงจำร่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมอญทั่วไปได้ปฎิบัติสืบต่อกันมาในชีวิตประจำวัน


4.เครื่องดนตรีและทำนองที่ใช้ในการแสดง


ในการแสดงทะแยมอญ เครื่องดนตรีหรือวงปี่พาทย์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์เคยกล่าวว่า “ มอญแพ้พม่าด้านแสนยานุภาพแต่สามารถชนะพม่าได้อย่างแท้จริงด้านวัฒนธรรม” โดยเฉพาะวงปี่พาทย์มอญ ที่ในอดีตผู้บรรเลงมักจะเป็นชาวรามัญจนเมื่อนักดนตรีปี่พาทย์ไทยเริ่มที่จะเรียนเพลงมอญ ปัจจุบันจึงได้เห็นการผสมผสานกันระหว่างวงปี่พาทย์มอญและวงปี่พาทย์ไทย มีการใช้เพลงทั้งทำนองมอญและไทยในการบรรเลง
ทำนองที่ใช้ในการแสดงทะแยมอญโดยทั่วไปมีอยู่2 ทำนองคือ เพลงของฝ่ายชาย ที่เรียกว่า “เจิ้ก-มั่ว” เป็นเพลงที่ฝ่ายชายร้องนำขึ้นก่อนและผู้หญิงร้องแก้ หรือร้องตอบฝ่ายชาย ให้เข้าเรื่องเข้าราวกัน อีกอันคือเพลงของฝ่ายหญิงที่เรียกว่า “โป้ต-เซ่” เป็นเพลงที่ฝ่ายหญิงร้องนำขึ้นก่อนแล้วฝ่ายชายเป็นผู้ร้องแก้หรือตอบเช่นกัน ซึ่งการแสดงประเภทนี้ต้องใช้ปฎิภาณและไหวพริบเฉพาะตัวในการแสดงอย่างมากจึงต้องมีการฝึกฝน ดังที่หัวหน้าคณะหงส์ฟ้ารามัญบอกว่า “ทะแยมอญ ร้องเพลงมอญต้องฝึก ต้องท่องตามบทไป จะได้แก้กันถูก ไม่อย่างนั้นเนื้อหาสาระมันจะไม่เข้ากัน ถ้าคนหนึ่งร้องไปอย่างหนึ่ง คนหนึ่งตอบมาอย่างหนึ่ง…”
เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นทะแยมอญประกอบด้วย 1.ซอมอญ ที่มีรูปร่างคล้ายซอสามสาย และมีการแกะสลักลวดลายหางหงส์ที่ตรงปลาย 2. ขลุ่ย 3. กลองเล็กสองหน้าหรือเปิงมาง 4. จระเข้ 5. ฉิ่ง ที่เป็นเครื่องดนตรีบางชิ้นในวงปี่พาทย์มอญ และเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นจระเข้ หรือซอสามสาย คุณลุงกัลยา ปรุงบางกระดี่ หัวหน้าทะแยมอญคณะหงส์ฟ้ารามัญ เป็นผู้สร้างและประดิษฐ์เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นด้วยด้วยตนเอง
เนื้อร้องและทำนองในอดีตจะใช้เนื้อร้องมอญและทำนองมอญ ปัจจุบันเมื่อเพลงสมัยใหม่เพลงไทยได้รับความนิยม ก็มีการประยุกต์นำเอาทำนองเพลงไทยที่ไพเราะและคุ้นหูมาใส่เนื้อร้องภาษามอญ เช่นเพลงทำนองออกแขกของสุรพล เพลงหนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ เป็นต้น นักดนตรีในวงทะแยมอญของคณะหงส์ฟ้ารามัญ มีประมาณ6-7 คน อายุประมาณ50-80 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่อายุมากเท่านั้นเล่นได้ คุณลุงกัลยาเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงทำนองเพลงว่า “ ตอนนี้เราประยุกต์เอาทำนองไทย ใส่เนื้อร้องมอญเข้าไป เดิมเขามีแต่แบบที่เปิดให้ฟัง(เปิดเทปทะแยมอญทำนองมอญเนื้อมอญ) นั่นแบบเก่าดั้งเดิม ประยุกต์ใหม่ เพราะบางคนบอกว่า ร้องเพลงไทยมั่ง เอ้าได้ เขาขอมา…” การประยุกต์เนื้อร้องใส่ทำนองไทยถือว่ามีความน่าสนใจ ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนและการผสมผสานทางวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับความนิยมในสังคมปัจจุบัน ที่อิทธิพลของเพลงไทยและวัฒนธรรมบางอย่างเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวัน ซึ่งคนที่พูดและฟังภาษามอญได้ก็มีน้อยลง ยกเว้นคนเฒ่าคนแก่ ทำนองเพลงมอญที่เป็นเพลงลักษณะคล้ายเพลงไทยเดิม เช่น มอญรำดาบ มอญชมจันทร์ มอญดูดาว มอญกะ มอญแปลง มอญร้องไห้และอื่นๆ อันมีความไพเราะและลักษณะอันโดดเด่น เศร้าสร้อยเป็นส่วนมาก ซึ่งแตกต่างจากเพลงไทยสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากเพลงลูกทุ่ง ที่มีจังหวะคึกคัก สนุกสนาน เร้าใจ และคุ้นหูคนฟังทั่วไปมากกว่า ดังนั้นการประยุกต์ที่นำทำนองเพลงไทย เนื้อร้องไทยบางส่วนเข้ามา ก็เพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและสร้างความนิยมให้กับคนฟังทุกเพศทุกวัย ดังที่หัวหน้าคณะหงส์ฟ้ารามัญ ได้ร้องเพลงออกแขกทำนองเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ โดยใส่เนื้อร้องมอญเข้าไปให้ผมฟังว่า “อะลาง อะลาง อะลาง แปะมนตุตัน ละเล รอป๋วย กะรอฮาเฮ ตุไนปะเล ปะวาจะหิการัง “ แปลว่า “ ฟัง ฟัง ฟัง เชิญมาฟังเพลงทะแยมอญ จะร้องให้ฟัง พี่ป้าน้าอาอย่าอยู่เฉยๆ เดี๋ยวเราจะเปรยให้ฟัง…ให้สาวมอญร้องทะแยมอญให้ฟัง…” หรือเพลงหนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ ก็เป็นเพลงที่เอาทำนองเพลงไทยและใส่เนื้อร้องมอญเข้าไป แต่ความหมายก็ยังคงเดิม และเป็นเพลงคู่ที่ใช้แสดงบ่อยๆ เพราะสะท้อนภาพชีวิต การทำนาทำการเกษตร คนมอญ ดั้งเดิมทำไร่ทำนา
สำหรับเนื้อร้องไทยใส่ทำนองมอญ (มอญดูดาว) ก็มี เช่นเรื่องราชาธิราช ตอนพระยาน้อยชมตลาด ซึ่งจะมีบทร้องทั้งชายหญิง ร้องว่า
ชาย ร้องนำว่า“ พญามอญ กระดุมทอง เขาเดินเมียงมอง เพื่อชมตลาด พ่อค้าและแม่ค้า มากหน้าหลายตา ช่างดาระดาษ ขายฝักขายแฝงแตงกวา นั่นขายคะน้า นั้นขายผักกาด นี่เงาะ นู่นลางสาด เสียงร้องประกาศให้ก้องเอย
หญิง ก็ร้องแก้ “เชิญแวะ ละพี่นะ มนต์ขลัง ค้าแป้งน้ำมัน ขัดแล้วผ่องใส หอมระรื่นชื่นใจ ตลอดวัน…”
นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความสามารถทางด้านวรรณกรรม ในการถ่ายทอดศิลปะการแสดงของการขับร้องบทกลอน ที่มีทั้งท่วงทำนองแบบมอญและท่วงทำนองแบบไทย ทั้งเนื้อร้องของมอญและไทย ที่คนทุกคนสามารถฟังได้ และรับรู้ถึงความความเป็นไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี โลกทัศน์ ความคิด ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ที่ผ่านการแสดงศิลปะพื้นบ้าน ในรูปแบบวรรณกรรมมุขปาถะ ที่น่าสนใจและน่าอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สืบไป ซึ่งการทะแยมอญก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเช่นมีการนำทำนองไทยและเนื้อร้องไทยเข้ามา เพราะคนที่พูดและฟังภาษามอญได้ก็มีน้อยลง แต่ภาษาไทยที่คนส่วนใหญ่เข้าใจและรับรู้กันได้ทั่วไป คณะหงส์ฟ้ารามัญจึงต้องมีการผสมผสานกันและปรับรูปแบบเพื่อให้ศิลปะแขนงนี้ดำรงอยู่ และทำหน้าที่ในการสร้างความทรงจำร่วมในประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และสร้างชุมชนในจินตนาที่เกี่ยวกับชาติ ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่อยู่ในชุมชนต่างๆ และทำให้เกิดการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนมอญต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น