1.3 อิทธิพลของสสารนิยม(Materialism)ในยุคแรก
ในยุคทางปัญญาของกรีก แนวความคิดเรื่องสสารนิยม ก็มีอิทธิพลมาจากแนวคิดเรื่องการบูชา น้ำและไฟของอินเดีย ความเชื่อในเรื่องธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลมและไฟ ในช่วงเวลา640-550 ปีก่อนคริสตกาล ทาเลส (Thales) ได้นำเสนอเกี่ยวกับการกำเนิดของมนุษย์บนโลก ที่เขาเชื่อว่าน้ำ เป็นส่วนประกอบ พื้นฐาน หรือเป็นต้นตอของทุกๆสิ่ง เช่นเดียวกับอียิปต์มีความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าแห่งเมืองบาดาล ที่ชื่อโอซิรีส (Osiris) หรือแนวคิดของ Anaximenes (590-525 B.C) เชื่อว่าอากาศประกอบขึ้นเป็นสากลของโลก ในยุคแรกเริ่มแม้จะบอกว่า ธาตุดั้งเดิมเป็นสิ่งที่เรารู้ไม่ได้ หยั่งไม่ถึง แต่ธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้เกิดการระเหยและการกลั่นตัวเป็นกระบวนการซึ่งทำให้เกิดสรรพสิ่งขึ้นจากธาตุดั้งเดิมนั้น
นักคิดกลุ่มนี้ เลิกอ้างว่าวิญญาณอันเป็นเทพเจ้า เป็นเหตุบังเกิดสากลโลก แต่ยืนยันและไล่เลียงกำเนิดไปจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติด้วยกัน แต่นักคิดเหล่านี้ก็ไม่ได้พ้นไปจากทรรศนะวิญญาณนิยม และค่อนข้างเชื่อมั่นว่า สสารกับจิตอยู่ร่วมกันอย่างแยกไม่ออก ดังนั้นพวกเขาจึงเป้นพวกชีวิตนิยม (Hylozoist) มากกว่าพวกสสารนิยม
1.4 ปรัชญาของพวก โซฟิสท์ (Sophists) และสโตอิก (Stoicism)
แนวคิดของนักปรัชญาของพวกกลุ่มนี้ ไม่เหมือนแนวคิดพวกกรีกโบราณที่เน้นไปในแนวทางของพวกสสารนิยม ที่เน้นศึกษาธรรมชาติ แม้ว่าแนวคิดของสองกลุ่มนี้จะอยู่ก้ำกึ่งระหว่างสสารนิยมและจิตนิยมแต่ก็โน้มเอียงไปทางจิตนิยม โดยพวกโซฟิสท์มองว่า แนวความคิดเป็นเหตุให้คนเรากระทำสิ่งต่างๆ โลกนี้ก็เป็นโลกแห่งมโนภาพหรือจินตนาการของมนุษย์ไม่ได้มีอยู่เองโดยปราศจากมนุษย์ คือไม่เชื่อความจริงในวัตถุนั้นเอง ในขณะที่พวกสโตอิก มองว่า ความรู้ได้มาด้วยผัสสะ และความรู้สึกทางผัสสะ (Sense Impression) ก็สร้างความจริงขึ้นมา โดยพวกเขามองว่า วิญญาณ (Soul) เป็นที่ตั้ง แห่งกระบวนการทางความรู้สึกโดยทั่วไป และให้คำสอนตามเฮราคริตุส ที่ว่าไฟเป็นธาตุแท้ดั้งเดิมที่สุด ทำให้พวกนี้มองว่า ธรรมชาติเป็นสสาร เป็นเอกภาพที่มีชีวิตและเคลื่อนไหวอยู่เสมอ
รากฐานของจิตนิยม(Idealism) ดังกล่าวพัฒนามาจากวิญญาณนิยม (Animism) ของพวกมนุษย์ถ้ำซึ่งเชื่อว่า คนตายไปแล้วไม่สูญ เพราะวิญญาณของเขาจะมีอยู่ต่อไป ดังนั้นวิญญาณจึงเป็นความแท้จริงอย่างหนึ่ง ที่มีอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่เกี่ยวกับสสารวัตถุ (Matter) ถือได้ว่าเป็นแนวคิดพื้นฐานสำคัญของปรัชญาจิตนิยม และเป็นปรัชญาเริ่มแรกที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีปรัชญาเกี่ยวกับวัตถุนิยมเข้ามาโต้แย้งก็ตาม แต่ความเชื่อของมนุษยชาติบนโลกเกี่ยวกับการกราบไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ บรรพชนก็ยังปรากฏอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความยิ่งใหญ่ของจิตที่ไม่แตกดับไปพร้อมกับร่างกาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น